น้ำมันหอมระเหย และสุคนธบำบัด

11343

น้ำมันหอมระเหย (Essential oils) หมายถึง น้ำมันที่สกัดได้จากพืชมีคุณสมบัติระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง มีกลิ่นหอม และมีกลิ่นที่หลากหลายตามชนิดของพืช

น้ำมันหอมระเหยมักสกัดจากส่วนต่างๆของพืชที่มีลักษณะให้กลิ่นออกมา เช่น ใบ ดอก ผล เปลือก แก่น และราก ตัวอย่างพืชที่นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ใบยูคาลิปตัส แก่นต้นกฤษณา ดอกมะลิ กานพลู เป็นต้น

สุคนธบำบัด (Aromatherapy) หมายถึง ศาสตร์การบำบัดโรคที่อาศัยกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากธรรมชาติเพื่อช่วยในการรักษา การบรรเทา และการฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยต่างๆทั้งทางร่างกาย และจิตใจ

ประเภทสุคนธบำบัด และการใช้น้ำมันหอมระเหย
1. การบำบัดโรค และเพื่อสุขภาพ
เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อการบำบัดหรือการบรรเทาโรคต่างๆของร่างกาย และจิตใจ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
– การนวด โดยการใช้น้ำมันหอมระเหยในรูปของน้ำมันบริสุทธิ์เหลวชโลมนวดตามอวัยวะต่างๆของร่างกายเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย และผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ

– การสูดดม โดยการใช้น้ำมันหอมระเหยในรูปของการสูดดมไอระเหยของน้ำมันโดยที่ไม่มีการสัมผัสผ่านผิวหนัง แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การสูดดมจากไอระเหยโดยตรง และการสูดดมโดยมีไอน้ำเป็นตัวนำพา

น้ำมันหอมระเหย

2. ความสวย ความงาม
เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อการบำบัด ฟื้นฟู หรือชะลอความเสื่อมสภาพในด้านความสวย ความงาม การใช้น้ำมันหอมระเหยในลักษณะนี้มีการใช้ทั้งในรูปน้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ เช่น น้ำหอม และในรูปของส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ครีมบำรุงผิว โลชั่น แชมพู ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น ส่วนมากใช้เพื่อการให้กลิ่นหอม การบำรุงผิวพรรณ การรักษาริ้วรอย เป็นต้น

ตัวอย่างน้ำมันหอมระเหยจากพืช
– น้ำมันไพล : เหง้าไพล
– น้ำมันกานพลู : ดอกกานพลู
– น้ำมันยูคาลิปตัส : ใบ เปลือก
– น้ำมันตะไคร้ : หัว ลำต้น ใบ
– น้ำมันมะกรูด : ใบ ผล
– น้ำมันโหรพา : ใบ

ตัวอย่างน้ำมันหอมระเหยแยกตามกลิ่น
– เปปเปอร์มิ้นท์ : ใบสะระแหน่
– ยูคาลิปตัส : ใบ เปลือกยูคาลิปตัส
– ลาเวนเดอร์ : ดอกไม้ชนิดต่างๆ
– โรสแมรี่ : ดอกโรสแมรี่
– เบอร์กามอท : ผล ใบมะกรูด
– เลมอน : เปลือกมะนาว
– ออเร้นจ์ : เปลือกส้ม
– จัสมิน : ดอกมะลิ
– โรส : ดอกกุหลาบ
– เมโรลิ : ดอกส้ม
– ซีดาร์วู๊ด : เปลือกต้นซีดาร์วู๊ด
– คาโมไมล์ : ดอกคาโมไมล์
– แซนเดิลวู๊ด : เปลือกไม้หอมชนิดต่างๆ
– อีลัง : ดอกกระดังงา
– เจอเรเนียม : ดอกเจอเรเนียม
– โคลฟ์ออย : เปลือก และดอกกานพลู
– จูนิเปอร์ : ดอกของสน
– ชินามอน : เปลือก และดอกอบเชย
– นัทแม็ค : ลูกจันเทศ
– ไพน์ : เปลือกสน
– ทีทรีออย์ : ใบชา

วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยที่นิยม
1. การกลั่น
การกลั่นเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากง่าย ประหยัด และให้น้ำมันที่รวดเร็ว เป็นวิธีการสกัดที่ต้องใช้ความร้อนโดยมีน้ำเป็นตัวกลาง แบ่งเป็น 2 แบบ คือ

การกลั่นด้วยน้ำ เป็นการสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยให้พืชต้มเดือดในน้ำร้อน เมื่อน้ำเดือดจนเกิดไอน้ำ ไอน้ำจะนำเอาน้ำมันหอมระเหยออกมาด้วย พร้อมกับควบแน่นเป็นน้ำ และน้ำมันหอมระเหยลอยแยกส่วนกัน

การกลั่นด้วยไอน้ำ เป็นการสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยไม่ให้พืชสัมผัสกับน้ำ แต่จะให้สัมผัสกับไอน้ำแทน ด้วยการนำใส่พืชในตะแกรงวางบนภาชนะต้มน้ำ เมื่อน้ำเดือด ไอน้ำจะผ่านพืช และนำเอาน้ำมันหอมระเหยออกมาในรูปของไอน้ำ และควบแน่นเป็นน้ำ และน้ำมันหอมระเหยลอยแยกส่วนกัน

2. การสกัดด้วยสารเคมี
เป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ได้น้ำมันหอมระเหยที่มีความเข้มข้นสูง โดยการสกัดด้วยการใช้สารเคมีในกลุ่มของตัวทำละลาย เช่น เบนซีน อีเทอร์ เฮกเซน เป็นต้น

3. การบีบอัด
เป็นการสกัดด้วยแรงบีบอัดจากเครื่องบีบอัดมักใช้ในส่วนของพืชที่เป็นผล เปลือก ใบ ลำต้นที่มีลักษณะบวมน้ำ และอ่อนนุ่ม วิธีนี้ทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นใกล้เคียงกับพืช แต่มีข้อเสียที่มีความบริสุทธิ์น้อย มีน้ำปนมาก มีกลิ่นหืน เสียง่าย ทำให้ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน แต่สามารถแก้ไขได้โดยการนำมากลั่นด้วยความร้อนอีกครั้งได้

ข้อควรระวังในการใช้
1. สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ต่อน้ำมันหอมระเหยบางชนิด ควรทำการทดสอบเสียก่อนว่ามีอาการแพ้หรือไม่ และควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยนั้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่อาจมีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยชนิดนั้น เช่น น้ำมันหอมระเหยในพืชจำพวกโหระพา อบเชย กานพลู สะระแหน่ มักทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย

2. ผู้ที่เป็นโรคลมชัก และความดันโลหิตสูงควรระวัง และหลีกเลี่ยงน้ำมันหอมระเหยที่มีผลต่อภาวะความดันเลือด เช่น โรสแมรี่ เซจ เป็นต้น

3. ผู้ป่วยในกลุ่มโรคหลอดลมอักเสบ (Homeopathic) ควรหลีกเลี่ยงน้ำมันหอมระเหยจากพืชจำพวกพริกไท การบูร ยูคาลิปตัส สะระแหน่ เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง และทำให้หลอดลมอักเสบมากขึ้น

4. หญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงน้ำมันหอมระเหยจากพืชบางชนิด เช่น โหระพา กานพลู เปปเปอร์มินต์ โรสแมรี่ กุหลาบ เซจ ไทม์ เมอร์ มาร์โจแรม และวินเทอร์กรีน

5. น้ำมันหอมระเหยบางชนิดมีผลทำให้ผิวหนังมีความไวต่อแสง เช่น น้ำมันมะกรูด  และน้ำมันมะนาว เป็นต้น จึงควรหลีกเลี่ยงจากการสัมผัสแสงหากใช้ภายใน 4 ชั่วโมง