ปัญหาครอบครัว คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับสมาชิกภายในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสามีภรรยาผู้เป็นหัวหน้าหรือผู้นำครอบครัว ที่เกิดมีปฏิสัมพันธ์ที่ขัดกัน อาทิ มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่รับรู้หรือไม่เข้าใจความรู้สึกของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันหรือมีบทบาทที่ไม่สอดคล้องกัน เป็นต้น ซึ่งความขัดแย้งนี้อาจนำไปสู่การจบความสัมพันธ์ลงได้ หากว่าคู่สมรสไม่พยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือไม่ร่วมมือกันหาทางเลือกที่ดีในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ภายหลังการแต่งงาน และเริ่มต้นชีวิตสมรส แม้ทั้งคู่จะมีพื้นฐานมาจากความรัก แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ การกระทบกระทั่งและมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่คู่สมรสไม่ได้คาดหวัง หรือปรารถนาให้เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา ดังนั้น การประคับประคองความสัมพันธ์ที่ดีของคู่สมรส รวมถึงการแก้ไขข้อขัดแย้งถือเป็นภาระที่สำคัญอีกประการหนึ่งของคู่สมรสเพื่อให้การครองรักของคู่สมรสสามารถผ่านมรสุมชีวิต และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
สาเหตุของปัญหาครอบครัว
1. ปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นระหว่างตัวสามีภรรยา
2. ปัญหาครอบครัวที่มีสาเหตุมาจากสังคม
ปัญหาในครอบครัวที่เกิดขึ้นระหว่างตัวสามีภรรยา
1. ปัญหาครอบครัวในด้านบทบาท
ภายหลังจากแต่งงานคู่สมรสทั้ง 2 จะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทของตนเองจากเดิมไปสู่บทบาทของสามีภรรยาซึ่งต่างก็มีบทบาทเฉพาะของตนเอง แต่การที่จะระบุชัดเจนว่า บทบาทใดเป็นของใครในลักษณะที่ตายตัวนั้น คงเป็นไปไม่ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ทั้งสามี และภรรยาต้องเคารพและยอมรับในบทบาทของกันและกัน มีการปฏิบัติตนได้เหมาะสมและสอดคล้องกับบทบาทของตน โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายในบทบาทของคู่สมรสจนกลายเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว
2. ปัญหาครอบครัวในด้านทัศนคติ และค่านิยม
จากความแตกต่างของครอบครัวเดิมที่หล่อหลอมด้วยพ่อแม่หรือบุคคลอื่นในครอบครัวก่อนที่จะมีการแต่งงาน ทำให้ทั้งคู่มีทัศนคติคำนิยม และวิถีปฏิบัติบางอย่างแตกต่างกัน เช่น ความคิดเห็นในเรื่องเศรษฐกิจ เงินทอง วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และทัศนคติทางเรื่องเพศ เป็นต้น หากคู่สมรสยังมีทัศนคติ และค่านิยมแตกต่างกันมาก สิ่งที่ตามมา คือ ปัญหาครอบครัว แต่หากทั้งคู่มีความเข้าใจ และพยายามปรับปรุงทัศนคติ และค่านิยมให้สอดคล้องกันได้ ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวก็จะไม่เกิดขึ้น
3. ปัญหาครอบครัวในด้านความประพฤติ
หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมปรับเปลี่ยนประพฤติของตนเอง และยังยึดติดอยู่กับรูปแบบการดำเนินชีวิตก่อนแต่งงาน โอกาสแห่งความขัดแย้งภายในครอบครัวที่จะนำมาสู่ปัญหาครอบครัวย่อมมีมาก ซึ่งสิ่งที่จะลดข้อขัดแย้งเหล่านี้ได้ ก็คือ การปรับตัวเข้าหากัน
4. ปัญหาครอบครัวในด้านภาวะทางอารมณ์
การตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาหรือการโต้ตอบต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกันของสามี และภรรยาอาจ อาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง บาดหมาง และไม่เป็นที่พอใจของอีกฝ่าย เพราะฉะนั้น ชีวิตสมรสจะประสบความสำเร็จได้ ย่อมขึ้นอยู่กับการประนีประนอม ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และความสามารถในการปรับตัวเข้าหากัน
5. ปัญหาครอบครัวในด้านการขาดความซื่อสัตย์
ความไม่ซื่อสัตย์ในชีวิตสมรสเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งของความล้มเหลวในชีวิตการแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน หรือเรื่องชู้สาวกับบุคคลอื่น ชีวิตสมรสที่มีความสุขควรอยู่กันอย่างเปิดเผยทั้ง 2 ฝ่าย มีความจริงใจซึ่งกันและกัน เพราะสิ่งที่ตามมาภายหลังการขาดความซื่อสัตย์ก็คือ ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งในที่สุด
6. ปัญหาครอบครัวในด้านทางเพศ
จากความสัมพันธ์ทางเพศที่เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ หากสอดคล้องกับความรัก ย่อมทำให้เกิดความสัมพันธ์ในหญิงชายที่มากขึ้น เพศสัมพันธ์จึงเป็นประเด็นร่วมที่ทั้งสามี และภรรยาต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจ เพื่อการปรับเปลี่ยน และปรุงแต่งให้เกิดความสมดุล
ปัญหาครอบครัวที่มีสาเหตุมาจากสังคม
1. ปัญหาครอบครัวในด้านวัฒนธรรม
พื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เช่น ศาสนา ภาษา ความเชื่อ และแผนการดำรงชีวิต หากวัฒนธรรมพื้นฐานที่สามีภรรยามีมาเหมือนกัน ก็ย่อมมีโอกาสเกิดความขัดแย้งที่น้อยลง แต่หากสามี และภรรยามีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ต่างกันมาก ก็ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งที่มีโอกาสเกิดมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการปรับตัว และยอมรับกับวัฒนธรรมของอีกฝ่ายให้ได้จึงจะช่วยลดความขัดแย้งให้น้อยลง
2. ปัญหาครอบครัวในด้านการประกอบอาชีพ
อาชีพเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องรับหน้าที่ทั้งสามี และภรรยา ซึ่งอาจะเป็นอาชีพของตนเอง หรือ ทำงานเป็นลูกจ้างนอกบ้าน หากสามีภรรยาไม่มีอาชีพทำมาหากินแล้ว ก็ย่อมไม่มีทรัพย์สินเงินทองที่จะมาใช้จ่ายจุนเจือแก่สมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดความยากจน ความอดอยากซึ่งจะนำมาสู่ความขัดแย้งกันในครอบครัว
3. ปัญหาครอบครัวเพราะครอบครัวเดิมของคู่สมรส
เครือญาติของทั้งสามีและภรรยา มีส่วนเป็นได้ทั้งผู้ส่งเสริมความมั่นคง และเป็นทั้งผู้ทำลายชีวิตการสมรสของคู่สามีภรรยา โดยเฉพาะกรณีที่สามีหรือภรรยาต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของคู่สมรสภายหลังการแต่งงาน ซึ่งประกอบด้วยพ่อแม่พี่น้องหรือเครือญาติของคู่สมรสอาศัยอยู่ด้วย ความขัดแย้งที่เกิดเพราะสาเหตุอันเนื่องมาจากเครือญาติจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้น หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้ง 2 ฝ่ายเป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และชอบนำเอาแนวคิดของบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากครอบครัวของตนเองมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
4. ปัญหาครอบครัวในด้านเศรษฐกิจ
ปัญหาทางด้านการเงินสำหรับชีวิตคู่มักเป็นปัญหาที่พบได้โดยทั่วไป และเป็นปัญหาที่สำคัญมากปัญหาหนึ่ง เพราะเงินทองเปรียบเสมือนตัวแทนของทุกสิ่งที่เอื้อประโยชน์ และความสุขให้ชีวิต ทำให้รายได้ของครอบครัวกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สังคมใช้เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการใช้ชีวิตคู่ ซึ่งจะได้รับความเคารพนับถือจากคนในสังคมหากครอบครัวนั้นมีความร่ำรวย
5. ปัญหาครอบครัวในด้านความคาดหวังของครอบครัว และสังคม
ความคาดหวังของครอบครัว และสังคมอันมีหลายปัจจัยรวมกัน อาทิเช่น ความร่ำรวย การศึกษา ความเป็นคนดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ย่อมเกิดความคาดหวังของสมาชิกในครอบครัว และจากบุคคลรอบข้างในสังคม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน หากสมาชิกในครอบครัวสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังเหล่านั้นได้ ก็ย่อมนำความสุขมาให้แก่คนในครอบครัว และเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคม แต่หากตรงข้ามกัน คือ ครอบครัวมีความยากจน ไร้การศึกษา ไร้สมาชิกที่เป็นคนดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความผิดหวังของสมาชิกในครอบครัว และความคาดหวังของสังคมเช่นเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัวตามมา
วิธีแก้ปัญหาครอบครัว
1. ความซื่อสัตย์ และไว้วางใจ
ความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่หมายรวมหลายด้าน อาทิ ความซื่อสัตย์ไม่นอกใจกัน ความซื่อสัตย์ในการเงิน ความซื่อสัตย์ทางวาจาด้วยการไม่พูดโกหก สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความไว้วางใจซึ่งกัน และกัน
2. ตอบสนองเรื่องเพศสัมพันธ์ให้ดี
การมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นความต้องการทางกามารมณ์พื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมี ซึ่งชายหญิงนั้นต่างก็มีความต้องการทางเพศตามวัยหรือสภาพร่างกายที่กำหนดระดับความต้องการ การตอบสนองความต้องการทางเพศของอีกฝ่ายได้จึงถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อีกฝ่ายไม่คิดนอกใจ เพราะหากไม่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ อีกฝ่ายก็มักสงสัยในความรักที่มีให้ สงสัยถึงความชื่อสัตย์ต่อกันว่ามีอยู่หรือไม่ และหากรุนแรงเกิน คือ อาจหาวิธีอื่นที่สามารถตอบสนองต่อตน เช่น การมีหญิงหรือชายอื่น แต่ทั้งนี้ มิใช่จะเกิดขึ้นในทุกคน แต่หากผู้ที่รู้จักหักห้ามความต้องการนั้นได้ด้วยการใช้หลักธรรมพิจารณาหรือคอยเตือนใจตนไม่ให้ประพฤติผิดก็ย่อมไม่ทำให้เกิดปัญหาปัญหาครอบครัวตามมาได้
3. ขยันทำงาน หาเงินทองจุนเจือครอบครัว
ในสังคมปัจจุบัน เรื่องเงินทองเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นปัจจัยที่จะช่วยจุนเจือครอบครัวให้มีอยู่มีกิน และให้เป็นปกติสุขได้ แต่การที่จะได้มาซึ่งเงินทองเหล่านั้น ก็ต้องรู้จักทำอาชีพการงาน มิใช่ไม่ทำอะไรเลย คอยแต่โชคลาภหรืออาศัยผู้อื่นคงไม่ได้ หากไม่มีเงินทองแล้ว คนในครอบครัวย่อมอดอยาก เป็นทุกข์ทางกาย และใจ นำมาสู่ความขัดแย้งกันในเวลาต่อมา
4. การทุ่มเทกำลังกาย และกำลังใจให้แก่กัน
การอุทิศตนให้แก่กันหรือการทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจให้แก่สมาชิกในครอบครัว เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความรัก และความห่วงใยที่มีให้แก่กัน สมาชิกครอบครัวที่ได้รับย่อมมอบความรักเป็นสิ่งตอบแทน และที่สำคัญ คือ การทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้จักทุ่มเทตนให้แก่ผู้อื่นเช่นกัน
5. การเอาใจใส่ดูแล และเอื้ออาทรต่อกัน
การเอาใจใส่ และเอื้ออาทร คือ การแสดงออกถึงความห่วงใจ ทั้งในด้านการอยู่อาศัย สุขภาพกาย และใจ เงินทองทรัพย์สินสำหรับใช้จ่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มีความจำเป็นต้องเกื้อหนุนซึ่งกัน และกัน ให้มีอย่างเพียงพอ
6. การยอมรับในตัวตนของกัน และกัน
การยอมรับในตัวตนของคู่ชีวิตหรือสมาชิกในครอบครัว เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงออกถึงความรักที่แท้จริง อันปราศจากความรังเกียจ การดูหมิ่นซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นทางรูปกาย ทางชาติตระกูล ทางฐานะเงินทอง ทางการศึกษา เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะต้องยอมรับให้ได้ก่อนที่จะมาแต่งงานอยู่ด้วยกันหรือหากรับรู้ภายหลังก็ต้องยอมรับในสิ่งเหล่านั้นจึงจะทำให้ชีวิตคู่ดำเนินไปได้ โดยไม่ให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา
7. การเคารพให้เกียรติคู่สมรส
การเคารพให้เกียรติต่อผู้เป็นสามีหรือภรรยา ถือเป็นการแสดงออกถึงการรู้จักคุณค่าของอีกฝ่าย รู้จักในสิทธิของอีกฝ่าย และเป็นการให้ความสำคัญต่ออีกฝ่าย สิ่งเหล่านี้ เมื่อสามีหรือภรรยาได้รับแล้ว ย่อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่ตนเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของอีกฝ่าย และจะแสดงออกด้วยการรู้จักให้การเคารพแก่เราเช่นกัน
8. รู้จักอดทน และให้อภัย
การใช้ชีวิตคู่ แต่ละคนอาจมีสิ่งที่เหมือน สิ่งที่แตกต่าง อาจมีสิ่งที่ชอบ และสิ่งไม่ชอบ จึงต้องกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่รู้จักอดทน ไม่รู้จักนิ่งเฉย หรือ ไม่รู้จักคำว่าขอโทษ และให้อภัย ก็ย่อมจะเพิ่มความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น แต่หากทั้งคู่รู้จักที่จะกระทำในสิ่งที่กล่าวมาก็ย่อมลดความขัดแย้งลงได้