ฝ้า (melasma) หมายถึง ลักษณะของผิวหนังที่เกิดความผิดปกติของเม็ดสีเมลานิน ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของเม็ดสีเมลานินมากขึ้นจนทำให้ใบหน้ามีลักษณะเป็นผื่นสีน้ำตาลดำ โดยจะพบมากบริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง ฝ้านี้สามารถพบได้ทั้งในเพศชาย และหญิง แต่พบมากในเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ โดยมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ พันธุกรรม ฮอร์โมน แสงแดด และอายุ เป็นต้น
ฝ้าที่เกิดขึ้นบนใบหน้าจะมีสีน้ำตาลดำเป็นหย่อมเท่ากันทั้งสองด้าน โดยจะพบมาก และเห็นชัดในบริเวณหน้าผาก โหนกแก้ม จมูก บริเวณเหนือริมฝีปาก โดยเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับแดดมากๆ มีลักษณะของจำนวน ขนาด และรูปร่างที่แตกต่างกันในแต่ละคน เมื่อเริ่มเป็นในระยะแรกจะพบรอยฝ้าขนาดเล็ก และจะค่อยๆลามขยายออกเป็นวงกว้างที่มีรูปร่างไม่แน่นอน ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีตามปัจจัยที่ส่งเสริม
ชนิดของฝ้า
1. ฝ้าตื้น เป็นฝ้าจากเม็ดสีเมลานินที่อยู่ในชั้นหนังกำพร้า มีลักษณะเป็นผื่นสีน้ำตาลดำ มีขอบเขตเห็นชัดเจน เมื่อใช้แสงสีม่วงส่องจะมองเห็นขอบเขตได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะเม็ดสีเมลานินอยู่ตื้นตามชั้นหนังกำพร้า รวมถึงชั้นขี้ไคล
2. ฝ้าลึก เป็นฝ้าที่เกิดจากเม็ดสีเมลานินที่อยู่ในชั้นหนังแท้ มีลักษณะเป็นปื้นสีเทาผสมสีน้ำเงินอ่อนๆ มีขอบเขตไม่ชัดเจน เมื่อใช้แสงสีม่วงชนิดเข้มส่องจะมองเห็นชัดน้อยลง พบเซลล์ที่ถูกกินหรือเซลล์ที่ถูกทำลายเม็ดสีเมลานินบริเวณชั้นบนของหนังแท้ พบได้หลายจุด อาทิ หน้าผาก โหนกแก้ม เป็นต้น
3. ฝ้าผสม เป็นฝ้าที่เกิดจากเม็ดสีเมลานินที่อยู่ทั้งในชั้นหนังกำพร้า และหนังแท้รวมอยู่ด้วยกัน
4. ฝ้าที่แยกชนิดไม่ชัดเจน เป็นฝ้าที่เกิดในคนผิวคล้ำมาก เมื่อใช้แสงสีม่วงส่องไม่สามารถแยกแยะเป็นฝ้าตื้นหรือฝ้าลึก รวมถึงฝ้าแบบผสมได้
ลักษณะการกระจายของฝ้า
1. แบบแวนโทรเฟเซียล (centrofacial pattern) เป็นรอยฝ้าที่พบบริเวณแก้ม หน้าผาก หนวด จมูก และคาง
2. มาลาร์ (malar pattern) เป็นรอยฝ้าที่พบบริเวณแก้ม และจมูก
3. แมนดิบูล่าร์ (mandibula pattern) เป็นรอยฝ้าที่พบบริเวณด้านข้างของคางใกล้กับขากรรไกรล่าง
สาเหตุการเกิดฝ้า
1. แสงแดด ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของเม็ดสีบริเวณผิวหนังมากขึ้นเมื่อผิวสัมผัสกับแสงแดด
2. ฮอร์โมน อาทิ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ รวมถึงการรับประทานยาคุมกำเนิดที่ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
3. การรับประทานยาบางชนิด อาทิ การคุมกำเนิดที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน และยากันชักบางชนิด ซึ่งพฤติกรรมการรับประทานยาเหล่านี้มักพบอาการเกิดฝ้าตามมา
4. เครื่องสำอาง การใช้เครื่องสำอางบางชนิดที่มีผลต่ออาการแพ้ รวมถึงความเข้มข้นของเครื่องสำอางหรือการออกของเครื่องสำอางที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเม็ดสีเมลานินบนผิวหนังเพิ่มมากขึ้น
5. พันธุกรรม โดยพบว่า บุคคลที่มีประวัติเครือญาติเป็นฝ้ามักมีโอกาสเป็นฝ้าด้วยเช่นกันกว่า 20-70% ของบุคคลอื่นที่ไม่มีประวัติเครือญาติเป็นฝ้า
กลไกการเกิดฝ้า
กลไกการเกิดฝ้าจะขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงปริมาณของเม็ดสีเมลานินเป็นสำคัญ ได้แก่
1. มีการสร้างเม็ดสีเมลานินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ แสงแดดหรือฮอร์โมน โดยอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นหนังกำพร้าหรือมีการเปลี่ยนพลัดของเม็ดสีเมลานินลงในชั้นหนังแท้ร่วมด้วย
2. มีการสะสมของเม็ดสีเมลานินอันเกิดจากการสร้างสารเคราตินมากขึ้นหรือสารเคราตินมีการเปลี่ยนถ่ายช้า เช่น การเกิดกระเนื้อ
3. การเพิ่มขึ้นของจำนวนเม็ดสีเมลานินทำให้สารเมลานินในชั้นหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้เพิ่มขึ้น
การวินิจฉัยฝ้า
ฝ้าที่เกิดอย่างชัดเจนแล้วจะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากผื่นแดงทั่วไป สามารถแยกแยะว่าฝ้าออกจากผื่นหรือรอยโรคอื่น เช่น กระ ไฝหรือปาน ได้ง่ายขึ้น แต่ฝ้าในระยะแรกอาจทำการวินิจฉัยจากรอยโรคอื่นได้ยาก เนื่องจากมีลักษณะจาง และไม่ชัดเจน แต่สามารถแยกแยะฝ้าด้วยการตรวจด้วยวูดแลมป์ ดังนี้
1. ฝ้าชนิดเม็ดสีเมลานินในชั้นหนังกำพร้า เมื่อส่องด้วยวูดแลมป์ในห้องมืดจะเห็นสี และขอบเขตชัดขึ้น
2. ฝ้าชนิดเม็ดสีเมลานินในชั้นหนังแท้ เมื่อส่องด้วยวูดแลมป์ในห้องมืดจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
3. ฝ้าชนิดในชั้นหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้ เมื่อส่องด้วยวูดแลมป์ในห้องมืดจะเห็นสี และขอบเขตชัดในบางบริเวณ และมีบางบริเวณที่ไม่เปลี่ยนแปลง
การตรวจด้วยวูดแลมป์โดยใช้แสงเหนือม่วง เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของสีผิวหรือโรคผิวหนังอื่นๆ แสงนี้จะสะท้อนเรืองแสงกัลมาเมื่อสัมผัสกับสารเม็ดสีเมลานินในผิวหนัง ซึ่งความชัดของแสงสะท้อนจะขึ้นกับความลึกของสารเมลานินฝังตัวอยู่ เช่น ฝ้าเมลานินในชั้นหนังกำพร้าจะสะท้อนแสงที่ชัดขึ้น ส่วนฝ้าในชั้นหนังแท้ที่ลึกกว่าจะสะท้อนกลับมาตามค่าเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากแสงไม่ทะลุผ่านจนถึงชั้นหนังแท้
เกณฑ์การประเมินฝ้า
MASI Score เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้สำหรับประเมินความรุนแรงของฝ้า พัฒนาขึ้นโดย Kimbrough Green โดยการประเมินฝ้าบริเวณใบหน้า 4 ตำแหน่ง คือ หน้าผาก แก้มด้านขวา แก้มด้านซ้าย และคาง มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยมีเกณฑ์ให้คะแนน ดังนี้
1. เอ (A) กำหนดพื้นที่ใบหน้าทั้งหมดเป็น 100% มีค่าคะแนน ดังนี้
– ค่า 0 เป็น 0% หมายถึง ไม่มีฝ้า
– ค่า 1 มีฝ้า 1-9% ของใบหน้า
– ค่า 2 มีฝ้า 10-29% ของใบหน้า
– ค่า 3 มีฝ้า 30-49% ของใบหน้า
– ค่า 4 มีฝ้า 50-69% ของใบหน้า
– ค่า 5 มีฝ้า 70-89% ของใบหน้า
– ค่า 6 มีฝ้า 90-100% ของใบหน้า
การรักษา
1. ชะลอการสร้างเม็ดสีเมลานินให้ช้าลง ด้วยการหลีกเลี่ยงแสงแดด และลดการใช้น้ำหอม
2. การใช้ยาหยุดการสร้างเม็ดสี เช่น ยาที่มีองค์ประกอบของสารไฮโดรควิโนน ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการสร้างเม็ดสีเมลานินในชั้นผิวหนังได้ แต่สารนี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง เพราะสารชนิดนี้เมื่อใช้ในระยะเวลาหนึ่งจะทำให้ผิวหนังเป็นรอยด่าง
ปัจจุบัน ยาที่ใช้ในการรักษาฝ้าส่วนใหญ่จึงหันมาใช้สารเคมีอื่นๆผสมแทน อาทิ กรด kojic, กรด derivative, กรด azelaic, กรด licoric PT40 และวิตามินซี แต่สารเหล่านี้ไม่สามารถรักษาฝ้าให้หายเป็นปกติได้ โดยเฉพาะฝ้าชนิดในชั้นผิวหนังแท้
การรักษาฝ้าด้วยเทคนิคต่างๆที่ได้ผล
1. Chemical peeling เป็นวิธีการลอกหน้าเพื่อลด malanosome ในชั้นผิวหนังด้วยสาร Trichloroacetic acid (TCA) หรือ Alphahydroxy acid (AHA) โดยการทาทิ้งไว้สักครู่ แล้วล้างออก แต่สารเหล่านี้มีความเข้มข้นสูง ดังนั้น ผู้ใช้บางรายอาจมีอาการแพ้ และเกิดอาการระคายเคืองต่อผิวจึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และควรปรึกษาแพทย์เป็นแนวทางดีที่สุด
2. การใช้สาร และเร่งปฏิกิริยา เพื่อกระตุ้นการกำจัดฝ้าให้เร็วยิ่งขึ้น ได้แก่
– การใช้กรดวิตามินเอที่สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังชั้นในได้รวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือ การใช้กรดวิตามินเออาจทำให้ผิวหน้าแดง มีอาการแสบ และหน้าลอก
– การทำ Iontophoresis ด้วยการให้ประจุไฟฟ้ากระตุ้นสารกำจัดฝ้า เพื่อเร่งตัวยาให้เข้าสู่ชั้นผิวที่ลึกได้ แต่มีข้อเสียคือ สามารถผลักดันตัวยาได้ลึกเพียงชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ไม่สามารถกระตุ้นตัวยาให้ซึมลึกสู่ชั้นหนังแท้ได้
3. การทำ skin needing หรือเรียก derma roller, mouse roller เป็นวิธีการรักษาที่คล้ายกับวิธี Fractional Photothermolysis SR 1500 mm. วิธีการนี้จะใช้ครื่องมือที่มีลักษณะเป็นเข็ม มีด้ามจับ และมีระดับความยาวต่างๆ ใช้งานโดยการกลิ้งบนผิวริเวณรอยฝ้าเพื่อให้พลังงานไปทำลายเซลล์เมลานิน และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนขึ้นแทน
4. การใช้เลเซอร์ เป็นวิธีการทำลายเม็ดสีเมลานินด้วยแสงเลเซอร์ ได้แก่ แสงเลเซอร์ในกลุ่ม Q-switched ruby 694 nm., Q-switched ND:YAG 532 และ 1064 nm., Q-switched Alexandrite 755 nm. กลุ่มนี้ใช้เฉพาะบริเวณโหนกแก้ม ส่วน Plused dye 510 nm. ใช้เฉพาะบริเวณตื้นๆเท่านั้น แต่การรักษาด้วยเลเซอร์ในกลุ่มทั้งสองยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก จึงใช้วิธีการลอกหน้าด้วยเลอเซอร์ของสาร CO2 ที่ความยาวคลื่น 10600 nm. แทน แต่ปัจจุบันได้นำวิธี Fractional Photothermolysis SR 1500 mm. ที่ความยาวคลื่น 1500 nm. มาใช้รักษาฝ้าแทน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผล และนิยมมากที่สุด
5. การทานยาหรือฉีดสารกำจัดเม็ดสีเมาลานิน สารเหล่านี้ ได้แก่ Tranexamic acid เป็นสารที่ออกฤทธิ์มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดทำให้บริเวณที่ได้รับสารมีความขาวมากขึ้น แต่มีผลต่อระบบไหลเวียนเลือด เช่น ภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอหรือเกิดภาวะเส้นเลือดอุดตันได้
6. การักษาด้วยวิธี Fractional Photothermolysis SR 1500 mm. เป็นวิทยาการรักษาฝ้าที่ถูกคิดค้นโดย ดร.ร็อกซ์ แอนเดอร์สัน แพทย์สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเลเซอร์ ถือเป็นวิธีที่ช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิว และช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิวเก่า พร้อมกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทนโดยมีการพัฒนามาจากวิธี Fractional Photothermolysis SR 750 mm. รวมไปถึงสามารถใช้รักษาริ้วรอย รอยปุ๋มของผิว รอยแผลเป็น รอยสิว กระ และจุดด่างดำ รวมถึงปัญหาผิวพรรณในด้านอื่นๆ