พยาธิตัวตืด/พยาธิตืดหมู/พยาธิตืดวัว

    25172

    พยาธิตัวตืด จัดเป็นพยาธิตัวแบนชนิดหนึ่งที่พบแพร่ระบาดทั้งในคน และสัตว์ พยาธิตัวตืดที่พบมาก ได้แก่ พยาธิตัวตืดหมู พยาธิตัวตืดวัว พยาธิตัวตืดแคระ และพยาธิตัวตืดปลา

    1. พยาธิตัวตืดหมู และซิสติเซอร์โคสิส (Taeniasis solium and cysticercosis)
    พยาธิตัวตืดหมู เป็นพยาธิที่สามารถทำให้เกิดโรคในคนได้สองอย่าง โรคแรก คือ โรคพยาธิตัวตืดหมู ที่เกิดจากมีพยาธิตัวแก่เข้าไปอาศัยอยู่ในลำไส้ ส่วนโรคที่สอง คือ โรค cysticercosis เป็นโรคที่เกิดจากตัวอ่อนของพยาธิในระยะ cysticercus มีการฝังตัวในเนื้อเยื่อ โดยมีถุงซิสต์หุ้มล้อมรอบ

    ชื่ออังกฤษอื่น
    – Pork tapeworm infection
    – Taenia solium infection

    รูปร่างลักษณะ
    พยาธิตัวตืดหมูตัวเต็มวัยจะมีความยาวได้ถึง 2-4 เมตร ลำตัวมีลักษณะเป็นปล้อง แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
    1. ส่วนหัว อยู่ด้านบนสุด มีรูปร่างกลม ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร มีปากแบบเกาะดูดที่มีรูปคล้ายถ้วยอยู่ 4 อัน แต่ละปากดูดจะมีขอเล็ก ๆ ล้อมเป็นวงอยู่ 2 แถว
    2. ส่วน คอ ถือเป็นส่วนที่สั้นที่สุด มีความยาวประมาณ 5 – 10 มิลลิเมตร เป็นแผ่นเนื้อเดียวกัน ไม่เป็นปล้อง
    3. ส่วน ลำตัว จะอยู่ถัดจากคอมา ส่วนนี้มีลักษณะเป็นปล้องสั้นๆต่อกันหลายปล้อง ประมาณ 800 – 900 ปล้อง แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ
    – ปล้องอ่อน เป็นปล้องที่ยังไม่มีการพัฒนาอวัยวะเพศที่สมบูรณ์
    – ปล้องแก่ เป็นปล้องที่มีอวัยวะเพศของทั้งสองเพศอยู่ในปล้องเดียวกัน ซึ่งมีการพัฒนาเต็มที่แล้ว มีรูอวัยวะเพศอยู่ทางด้านข้าง ซึ่งรูนี้จะใช้ร่วมกันทั้งสองเพศ ซึ่งอาจอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของปล้อง ภายในมีรังไข่ที่มีลักษณะ 3 พู
    – ปล้องแก่จัด เป็นปล้องที่อวัยวะเพศพัฒนามาก โดยพัฒนาจนมีมดลูกอยู่ตรงกลางปล้อง และแยกย่อยออกเป็นแขนงที่ 2 ข้างของลำตัว ข้างละ 5-13 แขนง ปล้องแก่นี้ จะมีมดลูกที่มีไข่บรรจุอยู่ เฉลี่ยปล้องละ 30,000-50,000 ฟอง

    ตืดหมู

    พยาธิตัวตืด

    ไข่พยาธิตัวตืดหมูมีรูปร่างกลม ขนาดไข่ประมาณ 30-43 ไมครอน เปลือกไข่ด้านนอกค่อนข้างบาง และใส ส่วนเปลือกไข่ด้านในมีสีน้ำตาล เปลือกมีลักษณะค่อนข้างหนา และมีรอยขีดรอบเปลือก

    ภายในไข่จะมีตัวอ่อน อองโคสเฟียร์ และ มีขอเล็ก ๆ อยู่ 6 อัน ทั้งนี้ ไข่ของพยาธิตัวตืดหมู และไข่ของพยาธิตัวตืดวัว จะมีลักษณะเหมือนกันมาก จนไม่สามารถแยกแยะว่าเป็นไข่ของพยาธิชนิดใดได้

    ตัวอ่อนที่อยู่ในระยะเม็ดสาคู (cysticercus) ตัวอ่อนระยะนี้จะมีขนาด 5×10 มม. และปากดูดจะผลุบอยู่ด้านใน ทำให้มองเป็นเป็นจุดสีขาวขุ่น คล้ายเม็ดสาคู

    การระบาด
    1. พยาธิตัวตืดหมูสามารถพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ยังนิยมรับประทานหมูดิบ หรือปรุงไม่สุก แต่ชนชาติที่นับถืออิสลามจะพบพยาธิตัวตืดหมูน้อยมาก ส่วนประเทศไทยจะพบพยาธิตัวตืดหมูมากในแถบภาคอีสาน และภาคเหนือ แต่ยังพบน้อยกว่าพยาธิตัวตืดวัว
    2. พยาธิตัวตืดหมูในระยะตัวแก่จะได้เฉพาะในคน ส่วนพยาธิในระยะตัวอ่อนจะพบได้มากในหมู คน และสัตว์อื่นๆ เช่น สุนัข และแมว เป็นต้น แต่ในสัตว์อื่นมักพบน้อยมาก

    3. การระบาดที่เกิดจากคนจะเกิดจากการใช้ส้มที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ส่วนการระบาดในหมูมักเกิดจากระบบการเลี้ยงที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาทิ การปนเปื้อนไข่พยาธิในอาหารเลี้ยงหมู รวมถึงการจัดการอุปกรณ์การเลี้ยง และโรงเรือนที่ไม่สะอาด

    การติดต่อ
    1. ติดต่อเข้าสู่ร่างกายทางอาหารดิบหรือปรุงไม่สุก อาทิ ลาบหมูดิบ แหนมหมูดิบ เป็นต้น ซึ่งมักติดพยาธิในระยะตัวอ่อน cysticercus
    2. ส่วนโรค cysticercosis จะเกิดการรับไข่พยาธิตัวตืดหมูเข้าร่างกายทั้งการกินอาหาร และน้ำ รวมถึงในอาหารมีการปนเปื้อนของปล้องพยาธิในระยะแก่จัดที่มีไข่

    วงจรชีวิต
    พยาธิตัวตืดหมู เป็นพยาธิที่มีอายุยืนได้ถึง 25 ปี มีวงจรการแพร่ และเติบโต เริ่มจากที่หมูได้รับไข่พยาธิจากการปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำดื่ม ไข่พยาธิจะฝักตัวบริเวณลำไส้เล็ก หลังจากนั้น จะซอนไซเข้าสู่เนื้อเยื่อ เข้าสู่กระแสเลือด รวมถึงระบบน้ำเหลือง ทำให้ตัวอ่อนเข้าฝังในเนื้อเยื่อต่างๆของหมู ซึ่งตัวอ่อนจะสร้างถุงหุ้มตัวเองที่มีลักษณะคล้ายเม็ดสาคูแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อหมู

    เมื่อคนกินเนื้อหมูที่มีตัวอ่อนในระยะเม็ดสาคู เข้าไป ตัวอ่อนนี้จะโผล่ออกมาจากถุงในบริเวณลำไส้ แล้วใช้ปากดูดเกาะติดกับผนังลำไส้ส่วนการติดพยาธิที่มีเฉพาะส่วนหัว ส่วนหัวนี้จะค่อยๆงอกเป็นปล้องออกมาใหม่จนเติบโตเป็นตัวแก่ที่ลำไส้ซึ่งจะใช้เวลาในการงอก และเติบโตประมาณ 2 – 3 เดือน

    พยาธิตัวตืดหมูที่มีปล้องแก่จะตายไปทำให้ปล้องแก่ที่มีไข่จำนวนมากหลุดเปื้อนออกมากับอุจจาระ หรือตัวแก่จะใช้วิธีปล่อยไข่ปนออกมากับอุจจาระ ทำให้ไข่พยาธิปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดิน และพืช แล้วเข้าสู่วงจรทั้งเข้าสู่หมู และคนโดยตรง

    วงจรตืดหมู

    อาการหลังการติดพยาธิ
    หลังจากไข่พยาธิฟักตัวเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนจะเริ่มดูถูกแย่งสารอาหารในลำไส้ ซึ่งทั่วไปจะไม่ปรากฏอาการที่รุนแรงออกมา แต่ผลจากการมีพยาธิอาศัย และแย่งอาหาร ซึ่งอาจเกิดอาการต่างๆ อาทิ
    – การระคายเคืองของเยื่อบุลำไส้จากสารพิษของพยาธิ
    – เยื่อบุลำไส้อักเสบจากที่พยาธิซอนไซเข้าเนื้อเยื่อ
    – หากพยาธิมีจำนวนมากจะเกิดการอุดตันบริเวณลำไส้
    – เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ร่างกายซูบผอม
    – มีอาการปวดท้อง ท้องอืด
    – มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
    – อุจจาระบ่อย
    – วิงเวียน
    – กระสับกระส่าย นอนไม่ค่อยหลับ
    – พบอาการแพ้ คันตามผิวหนังหรือ เป็นลมพิษ

    ส่วนอาการของโรค cysticercosis หลังจากที่ตัวอ่อนพยาธิเข้าอาศัยอยู่ในกล้ามเนื้อ มักทำให้เกิดอาการต่างๆ อาทิ
    – เกิดอาการอักเสบบริเวณที่พยาธิฝังตัว
    – พบเซลล์เม็ดเลือดขาวบริเวณที่พยาธิฝังตัว
    – เนื้อเยื่อเป็นตุ่มหรือก้อนแข็งที่เกิดจากซิสต์มีเนื้อเยื่อพังผืดมาหุ้ม หรือ มีหินปูนมาจับ

    • ซิสต์เกิดที่ตา
    – ปวดตา
    – สายตาพร่ามัว
    – สายตาผิดปกติ
    – อาจตาบอด

    • ซิสต์ที่สมอง
    – มีอาการปวดศีรษะ
    – คลื่นไส้ อาเจียน
    – ตามัวหรือตาพร่า
    – ประสาทตาบวม
    – เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกาย
    – เกิดความผิดปกติของระบบรับความรู้สึก เช่น เป็นอัมพาต
    – เกิดอาการชัก หรือ มีความผิดปกติทางจิต

    การวินิจฉัย
    1. โรคพยาธิตัวตืดหมู
    – การติดพยาธิตัวตืดหมูหรือไม่ ปัจจุบันจะใช้วิธีการส่องกล้องตรวจหาไข่ในอุจจาระ และใช้วิธีสก๊อตเทปไข่ของพยาธิ
    – การส่องกล้องหาปล้องแก่ในอุจจาระ โดยการแยกแยะแขนงมดลูกข้างลำตัว ซึ่งพยาธิตัวตืดหมูจะมีแขนง 5 – 13 แขนง ส่วนพยาธิตัวตืดวัว จะมากกว่า 13 แขนง
    – ใช้กล้องส่องเพื่อแยกแยะลักษณะของปากดูดที่ส่วนหัว โดยหัวพยาธิตัวตืดหมูที่ปากดูดจะมีโรสเทลลัม และขอ ส่วนหัวของพยาธิตัวตืดวัว จะไม่พบอวัยวะนี้
    2. โรค cysticercosis
    โรค cysticercosis สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีการคลำหาตุ่มใต้ผิวหนัง และหากนำเนื้อเยื่อไปตรวจ หากมีการเป็นโรคจะตรวจพบถุงน้ำที่มีพบพยาธิตัวอ่อนระยะ cysticercus อยู่ด้านในถุง นอกจากนั้น สามารถใช้การภาพถ่ายรังสีเพื่อวินิจฉัยร่วมด้วย ซึ่งวิธีนี้ จะสามารถตรวจพบเมื่อตัวอ่อนมีแคลเซียมมาหุ้มแล้ว

    การรักษา
    การรักษาโรคพยาธิตัวตืดให้หายขาดนั้น จะต้องใช้ยาถ่ายพยาธิ และต้องทำให้ส่วนหัวหลุดออกมาด้วย รวมถึงส่วนปล้องแก่ต้องไม่ตกค้างในลำไส้ เพราะหากมีส่วนหัวเหลืออยู่ พยาธิจะงอกปล้องใหม่ หรือ หากมีปล้องแก่เหลือค้าง ไข่ในปล้องจะฟักตัวออกมาใหม่

    สำหรับการให้ยาถ่ายพยาธิตัวตืดเพียงอย่างเดียว อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรค cysticercosis ได้ เนื่องจาก ผู้รับประทานยาอาจเกิดอาเจียน ทำให้ไข่พยาธิย้อนกลับเข้าในลำไส้เล็ก และเข้าฝังตัวในเนื้อเยื่อได้ ดังนั้น จึงควรรับประทานยากันอาเจียนก่อนที่รับประทานยาถ่ายในทุกครั้ง พร้อมกับรับประทานยาถ่ายดีเกลืออิ่มตัวร่วมด้วยหลังการรับประทานยาถ่าย ทั้งนี้ ยาถ่ายพยาธิที่ใช้สำหรับถ่ายพยาธิตัวตืดหมู ได้แก่
    1. นิโคลสาไมด์
    – ตัวยาขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม รับประทานครั้งเดียว
    – รับประทาน 4 เม็ด
    – เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน
    2. มีเบนดาโซล
    – ตัวยาขนาดเม็ดละ 100 มิลลิกรัม รับประทานให้เช้า-เย็น นาน 4 วัน
    – รับประทาน 2 เม็ด (200 มิลลิกรัม)
    3. ปวกหาดหรือมะหาด
    – ยาสมุนไพร ขนาดตัวยา 5 กรัม (แก่นไม้มะหาด)
    – ใช้ละลายน้ำดื่มในช่วงตี 4-5
    – รับประทานยาถ่ายดีเกลืออิ่มตัว หลังจากรับประทานยามะหาดแล้ว 2 ชั่วโมง

    • การรักษาโรค cysticercosis
    โรคนี้ ยังไม่มีวิธีที่รักษาให้หายขาด เนื่องจากตัวอ่อนมีการฝังตัวในเนื้อเยื่อที่มีซีสต์หุ้ม ทำให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้ยาก ซึ่งปัจจุบันมีการใช้วิธีการผ่าตัดซีสต์ออก ซึ่งจะใช้ได้เพียงเฉพาะจุดเท่านั้น

    การป้องกัน
    1. การป้องกันที่คน
    – ปรุงอาหารที่ทำจากเนื้อหมูหรือเนื้อจากสัตว์อื่นให้สุกทุกครั้ง
    – หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบจำพวกลาบ หรือเนื้อที่ย่างหรือต้มไม่สุก
    – ใช้ส้วมให้ถูกสุขลักษณะ ไม่ถ่ายอุจจาระโดยไม่ใช้ส้วม
    – ตัดวงจรจากคนด้วยการให้ยาถ่ายพยาธิแก่ผู้ติดพยาธิ
    – ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหารรับประทาน
    – การป้องกันโรค cysticercosis ให้รับประทานยาแก้อาเจียนก่อนรับประทานยาถ่ายทุกครั้ง

    2. การป้องกันที่หมู
    – เลี้ยงหมูในโรงเรือน ไม่ควรปล่อยหมูออกหาอาหารนอกโรงเรือน เพื่อป้องกันการติดเข้าพยาธิเข้าร่างกาย
    – มั่นทำความสะอาดอุปกรณ์การเลี้ยง และทำความสะอาดรงเรียนเป็นประจำ
    – อาหารเลี้ยงหมูจากธรรมชาติควรทำสุกเสียก่อน
    – นำเนื้อเยื่อหมูเข้าตรวจหาตัวอ่อนในระยะสาคูก่อนส่งจำหน่าย และเพื่อเฝ้าระวังการติดพยาธิในฟาร์ม

    2. โรคพยาธิตัวตืดวัว (Taeniasis saginata)
    โรคพยาธิตัวตืดวัว (Taeniasis saginata) เป็นโรคที่มีพยาธิตัวตืดวัว ในระยะตัวแก่เข้าอาศัยอยู่ในร่างกายคน ซึ่งแตกต่างจากโรคพยาธิตืดตืดหมูที่สามารถพบได้ในทุกระยะในร่างกายคน

    ชื่อภาษาอังกฤษอื่นๆ
    – Beef tapeworm infection
    – Taenia saginata infection

    รูปร่างลักษณะ
    พยาธิตัวตืดวัว ตัวแก่มีความยาวประมาณ 5 – 10 เมตร ส่วนหัวมีรูปร่างกลมขนาด ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีปากดูดรูปถ้วยอยู่โดยรอบ 4 อัน คล้ายกับหัวของพยาธิตัวตืดหมู แต่ไม่มีโรสเทลลัม และขอเล็กๆ ปล้องมี 3 ชนิดเรียงต่อ ๆ กันประมาณ 1,000 – 2,000 ปล้อง ปล้องอ่อนเป็นปล้องที่อวัยวะเพศยังไม่พัฒนาสมบูรณ์ ปล้องแก่มีรูเปิดร่วมของอวัยวะเพศทั้งสอง อยู่ทางด้านข้าง ด้านใดด้านหนึ่งของปล้อง ภายในปล้องมีอวัยวะเพศผู้ และเพศเมียที่เจริญเต็มที่ มีรังไข่แบ่งออกเป็น 2 พู (พยาธิตัวตืดหมูมี 3 พู) ปล้องแก่จัดมีลำต้นของมดลูกอยู่ตรงกลางปล้อง และแตกแขนงย่อย ๆ ออกสองข้าง ข้างละมากกว่า 13 แขนง (พยาธิตัวตืดหมูมีประมาณ 5 – 13 แขนง) ภายในมดลูกและแขนงมดลูกมีไข่บรรจุอยู่ปล้องละประมาณ 100,000 ฟอง

    ไข่รูปร่างเหมือนกับไข่ของพยาธิตัวตืดหมู เปลือกนอกบางใส และมักไม่ค่อยเห็นเปลือกในสีน้ำตาล หนา และมียอดขีดเป็นเส้นรัศมีอยู่โดยรอบ ตัวอ่อนภายในไข่ เรียกว่า อองโคสเฟียร์ หรือเฮ๊กซาแคนท์ เอ็มบรีโอ มีขอบเล็ก ๆ อยู่ 6 อัน
    ตัวอ่อนเรียกว่าสารหรือเม็ดสาคูในเนื้อวัว ควาย หรือซีสติเซอร์คัส โบวิส รูปร่างคล้ายสารหรือเม็ดสาคูในเนื้อหมู ผิดกันตรงที่สารหรือเม็ดสาคูในเนื้อวัวควายไม่มีขอเล็ก ๆ

    การระบาด
    1. เป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ชอบรับประทานเนื้อวัวเนื้อควายดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ จะพบพยาธินี้มาก สำหรับประเทศไทย โรคพยาธิตัวตืดวัว พบได้บ่อยกว่าโรคพยาธิตัวตืดหมูและพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมากกว่าภาคอื่นๆ
    2. พยาธิตัวแก่พบในคนเพียงอย่างเดียว ส่วนซิลติเซอร์คัส โบวิส พบในวัว ควาย และ แพะ

    การติดต่อ
    1. คนเป็นโรคพยาธิตัวตืดวัว ได้โดย รับประทานเนื้อวัวควายดิบ หรือนำมาประกอบอาหารรับประทาน สุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ พล่า และยำ โดยที่อาหารดังกล่าวมีซิสติเซอร์คัส โบวิส อยู่ในนั้น
    2. สาเหตุที่ทำให้โรคพยาธิตัวตืดวัว คงอยู่ในท้องที่นั้น ๆ คือ
    – อุปนิสัยที่ชอบรับประทานเนื้อวัวควายดิบ หรือสุก ๆ ดิบๆ
    – อุปนิสัยของการไม่ใช้ส้วม ชอบถ่ายอุจจาระลงบนพื้นดิน

    วงจรชีวิต
    วงจรชีวิตของพยาธิตัวตืดวัว คล้ายกับวงจรชีวิตของพยาธิตัวตืดหมู ผิดกันตรงที่พยาธิตัวตืดวัว มีโฮสท์กึ่งกลางเป็นวัว ควาย และแพะ ส่วนพยาธิตัวตืดหมูมีโฮสท์กึ่งกลางเป็นหมู (รวมทั้งคน) ตัวอ่อนซึ่งเป็นสารหรือเม็ดสาคูในเนื้อวัวควาย เรียกว่า ซิสติเซอร์คัส โบวิส เกิดขึ้นได้โดยวัวควายกินหญ้าทีมีไข่ของพยาธิตัวตืดวัว เข้าไป คนเป็นโรคพยาธิตัวตืดวัว โดยที่รับประทานเนื้อวัวดิบ ควายดิบ หรือ สุก ๆ ดิบ ๆ ที่มีซิสติเซอร์คัส โบวิส จึงจะเป็นโรคพยาธิตัวตืดวัว มีอายุยืนนานถึง 25 ปี

    วงจรตืดวัว

    อาการหลังติดพยาธิ
    พยาธิตัวตืดวัว มีอันตรายน้อยกว่าพยาธิตัวตืดหมู เนื่องจากพยาธิตัวตืดวัว ควายไม่ทำให้เกิดซิสติเซอร์โคสิสในคน อาการและอาการแสดงตลอดจนพยาธิกำเนิดที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคพยาธิตัวตืดวัว คล้ายคลึงกับโรคพยาธิตัวตืดหมู ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วทุกประการ มีรายงานว่าเคยพบผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากมีการอุดตันของไส้ติ่งโดยปล้อง
    พยาธิตัวตืดแล้วต่อมาเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม

    การวินิจฉัย
    การวินิจฉัยโรคพยาธิตัวตืดวัว ทำได้เช่นเดียวกับพยาธิตัวตืดหมู การแยกชนิดระหว่างพยาธิตัวตืดวัว และพยาธิตัวตืดหมูทำได้โดยสังเกตความแตกต่างของสโกเล็กซ์ปล้องแก่ และปล้องแก่จัดตามรูปร่างลักษณะดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว

    การรักษา
    – รักษาด้วยวิธีเดียวกับพยาธิตัวตืดหมู

    การป้องกัน
    1. เนื้อวัวควายที่จะนำออกจำหน่าย หรือนำไปปรุงเป็นอาหารต้องได้รับการตรวจจาก สัตวแพทย์ ว่าไม่มีสารหรือเม็ดสาคู
    2. รับประทานเนื้อวัวควายที่ทำให้สุกแล้ว ไม่รับประทานเนื้อวัวควายดิบหรือ สุกๆ ดิบๆ
    3. ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
    4. ให้ยาถ่ายพยาธิแก่คนเป็นโรคนี้

    3. พยาธิตัวตืดแคระ
    พยาธิตัวตืดแคระ Hymenolepis nana เป็นพยาธิตัวแบนที่เล็กที่สุดที่ติดต่อในคน มีส่วนหัวและลำตัวยาว 2 – 4 ซม. ประกอบด้วยปล้องสั้นๆ 200 ปล้อง อาศัยอยู่ใน ileum

    วงจรชีวิต
    พยาธิตัวแก่มีชีวิตอยู่ได้เพียง 2 – 3 สัปดาห์ มีวงจรชีวิตจะสมบูรณ์อยู่ในลำไส้เล็ก หลังจากไข่ออกจากปล้องแก่ใน Lumen ของลำไส้เล็ก จะออกมากับอุจจาระ และเป็นแหล่งติดต่อของ host ใหม่ ไข่ในลำไส้จะฟักออกเป็นตัวอ่อนเรียก oncosphere ซึ่งจะไช intestinal Villi และกลายเป็น bladder larvae ที่เรียกว่า cysticercoid ที่เจริญเต็มที่แล้วจะมาอยู่ใน Lumen ของลำไส้เล็ก และกลายเป็น adult วงจรชีวิตตั้งแต่ฟักจากไข่จนกระทั่งออกเป็นไข่ กินเวลา 2 – 3 สัปดาห์

    การระบาด
    พบได้ทั่วโลก ไม่เหมือนพยาธิตัวตืดอื่น และมักเป็นในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

    การทำให้เกิดโรค
    ผลที่ทำให้พยาธิสภาพขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิตัวตืด จำนวนอาจมีได้หลายพันตัว และมักจะควบคุมได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพภูมิคุ้มกัน host และจำนวนของ protien ในอาหาร

    การป่วยพยาธินี้อย่างมากทำให้เกิด enteritis ชนิด subacute จากการระคายเคืองที่ mucosa และการทำลายที่ villi การดูดซึมของลำไส้จะเสียไป เข้าใจว่า metabolite ของพยาธินี้อาจเป็น neuritoxic

    อาการหลังการติดพยาธิ
    ถ้าเป็นน้อยหรือปานกลางอาจไม่มีอาการ แต่ถ้าเป็นมากก็มีอาการเกี่ยวข้องกับท้อง เช่น เบื่ออาหาร ปวดเกร็งท้อง และท้องร่วง ปกติแล้วจะทำให้เด็กที่ป่วยสุขภาพไม่ดีหงุดหงิด วิงเวียน เป็นลมง่าย

    การวินิจฉัย
    – ตรวจหาไข่ในอุจจาระ

    การป้องกัน
    เนื่องจากเป็นการติดต่อทาง fecal – oral สุขภาพอนามัยและการสุขาภิบาลเป็นมาตรฐานสำคัญในการป้องกัน การระบาดของโรคอาจป้องกันได้โดยการตรวจหาผู้ป่วยใหม่ๆ และให้การรักษาผู้ป่วย

    การรักษา
    1. T. saginata
    ให้ Niclosamide 2 กรัม ครั้งเดียวในตอนเช้าระหว่างท้องว่าง สำหรับผู้ใหญ่ ส่วนเด็ก 2 – 5 ปี ให้ 0.5 กรัม เด็กโตให้ 1 กรัม เม็ดควรเคี้ยวให้ละเอียด หรือให้ Praziquantel ขนาด 5 – 10 มก./กก. นน.ตัว ให้กินครั้งเดียว
    2. T. solium
    ให้ Niclosamide ขนาดครั้งเดียว ส่วน Praziquantel ไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากยา เกี่ยวกับการมี cysticercosis ในสมองและตาการรักษาที่ทำให้เกิดการอาเจียน เช่น mepacrine หรือ Saline purgative ไม่แนะนำให้ใช้ในการรักษา T. solium
    3. D. latum
    ให้ Niclosamide 2 กรัม ครั้งเดียวในตอนเช้าระหว่างท้องว่าง หรือให้ Praziquantel ขนาด 5 – 10 มก.กก.นน.ตัว
    4. H. nana
    ให้ Niclosamide และ Praziquantel แต่ถ้ามีพยาธิจำนวนมาก อาจต้องให้การรักษาโดยใช้ Niclosamide 2 กรัม สำหรับผู้ใหญ่ และเด็ก 60 มก./กก.นน.ตัว 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์

    4. พยาธิตัวตืดปลา
    พยาธิตัวตืดปลา เป็นพยาธิตัวแบนยาวที่สุด (ยาวถึง 15 เมตร) แตกต่างไปจากพยาธิตัวตืดที่ติดต่อคนอื่นๆ อย่างมาก มีส่วนหัวที่ยาว (ขนาด 2 – 3 มม.) มีปุ่มดูดเกาะ 2 อัน มีปล้อง 3,000 – 4,000 ปล้อง ซึ่งกว้างกว่าด้านยาว มีมดลูกเป็นรูป Rosette ตรงกลาง ปล้องแก่จะปล่อยไข่ออกมาวันละ 1 ล้านฟอง ออกมาใน lumen ของลำไส้เล็ก

    ไข่ที่มีฝาปิดจะฟักตัวอ่อนในน้ำและกลายเป็น larva ว่ายน้ำได้ เรียกว่า Coracidium ซึ่งต่อไปก็เจริญกลายเป็นตัวอ่อนที่ยาว เรียกว่า procercoid อยู่ในตัวของ Copepoda ต่อไป procercoid ก็จะเจริญต่อไปเป็น plerocercoid ในกล้ามเนื้อหรือเยื่อผูกพัน
    ของปลาน้ำจืดหลายชนิด ซึ่งกินตัว Copepoda เข้าไป plerocercoid ก็เป็นระยะติดต่อยังคน

    ระยะวงจรชีวิตตั้งแต่ออกจากคนกินเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ไข่จะถูกผลิตขึ้นหลังจากกิน Plerocercoid ไปแล้วประมาณ 3-5 สัปดาห์ ตัวแก่จะมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 30 ปี

    การทำให้เกิดโรค
    Diphyllobothriasis จะทำให้เกิดพยาธิสภาพลำไส้เล็กน้อย เนื่องจากการดูดซึมวิตามินบี 12 มากเกินไปของพยาธิ จะทำให้เกิด macrocytic hyperchromic anemia การขาด วิตามินบี 12 จะรุนแรงเมื่อพยาธิตัวตืดปลาอยู่ในบริเวณ proximal ของ jejunum

    อาการหลังการติดพยาธิ
    การป่วยด้วยพยาธิตัวตืดปลา ทำให้เกิดอาการเกี่ยวกับท้องเล็กน้อย เช่น เบื่ออาหาร ปวดเกร็งท้อง ปกติแล้วไม่มีปล้องแก่หลุดออกมา ในผู้ป่วยบางคนจะมีอาการของโรคโลหิตจางร่วมด้วย

    การวินิจฉัย
    โดยการตรวจหาไข่พยาธิในอุจจาระซึ่งหาง่าย เพราะไข่พยาธิชนิดนี้มีจำนวนมาก

    การรักษา
    รักษาด้วยวิธีเดียวกับพยาธิตัวตืดหมู

    การป้องกัน
    วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การไม่กินปลาน้ำจืดดิบ ๆ การถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ การไม่ถ่ายอุจจาระลงในแม่น้ำลำคลองเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุด

    ที่มา : แก้วกล้า ทาสาลี , (2544)(1)

    เอกสารอ้างอิง
    1