โรคพยาธิปากขอ (Hookworm disease) เป็นโรคปรสิตของพยาธิตัวกลมที่เกิดจากพยาธิปากขอ 2 ชนิด ได้แก่ Necater americanus และ Ancylostoma duodenale ส่วนพยาธิปากขอที่พบในสัตว์ เช่น สุนัข แมว โค กระบือ ฯลฯ จะเป็นชนิด Ancylostoma braziliense และ Ancylostoma canium ซึ่งระยะตัวอ่อนสามารถซอนไซเข้าสู่ผิวหนังคนได้ แต่ไม่สามารถเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้
การดำรงชีพ และแพร่สู่มนุษย์
ไข่พยาธิ และตัวอ่อนของพยาธิปากขอมักพบอาศัยในดินที่มีความชื้น ดินที่มีซากพืช ซากสัตว์เน่าเปื่อย และมีฮิวมัสสูง ชอบอาศัยในดินที่มีอุณหภูมิในช่วง 24-32 องศาเซลเซียส ตัวอ่อนสามารถเคลื่อนไหวได้ในทุกทิศทาง ทั้งแนวราบตามผิวดิน และแนวตั้งตามชั้นดิน หากบริเวณใดที่ผิวดินมีอุณหภูมิสูง ตัวอ่อนสามารถซอนไซลงลึกได้มากกว่า 30 เซนติเมตร เพื่อหาแหล่งอาศัยที่มีอุณหภูมิเหมาะสม โดยเฉพาะตัวอ่อนของพยาธิปากขอชนิด Ancylostoma duodenale สามารถปรับตัว และอาศัยในดินได้นานกว่าชนิด Necater americanus ทั้งนี้ ไข่ของพยาธิทั้ง 2 ชนิด จะไม่สามารถฟักออกได้เมื่ออยู่ในสภาวะไร้ออกซิเจน
ตัวอ่อนของพยาธิสามารถซอนไซเข้าสู่สัตว์น้ำหรือสัตว์หน้าดินได้ และอาศัยอยู่ในสัตว์เหล่านั้น ซึ่งจะสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หากรับประทานสัตว์น้ำเหล่านั้น นอกจากนั้นตัวอ่อนของพยาธิสามารถซอนไซเข้าสู่ผิวหนังของมนุษย์ และอาศัยอยู่ตามกล้ามเนื้อ บางส่วนซอนไซเข้าสู่ลำไส้ และสู่ปอด
ไข่ของพยาธิยังมักพบปะปนในแหล่งน้ำ เกาะอยู่ตามพืชน้ำ รวมถึงพืชผักที่มนุษย์นำมารับประทาน จึงทำให้มีโอกาสที่ไข่พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางอาหารที่มีการปนเปื้อน ไข่ของพยาธิ A. duodenale สามารถไข่ได้ถึงวันละ 25,000-35,000 ฟอง ส่วนพยาธิ N. americanus ไข่ได้ถึงวันละ 6,000-20,000 ฟอง และสามารถอาศัยอยู่ในลำไส้ได้นานมากกว่า 10 ปี
ในระยะตัวเต็มวัยจะพบพยาธิซอนไซมาอาศัยอยู่บริเวณลำไส้เล็ก ใช้ฟัน และเพลทเกาะกินเยื่อบุลำไส้ และเม็ดเลือดเป็นอาหารเพื่อเจริญเติบโต และออกไข่
ไข่พยาธิ และตัวอ่อนบางส่วนจะออกมากับอุจจาระปะปนสู่สิ่งแวดล้อม และแพร่กระจายในสัตว์อื่น และมนุษย์ต่อไปได้
อาการโรคพยาธิปากขอ
1. ตัวอ่อนที่ซอนไซเข้าสู่ผิวหนังผ่านง่ามมือง่ามเท้าหรือจุดอื่นๆ บริเวณดังกล่าวในระยะ 10-14 วัน จะมีอาการผื่นแดง คัน อักเสบ เป็นตุ่มแดง และอาจเห็นเป็นจุดเลือดเมื่อผ่านไปประมาณ 2-3 วัน ในบางรายอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้บวม และเกิดหนอง ซึ่งจะหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์
2. เมื่อพยาธิซอนไซผ่านบริเวณปอด ผู้ป่วยจะมีอาการไอ และมีไข้
3. เกิดแผลบริเวณลำไส้ ร่วมกับมีเลือดออก และเยื่อบุลำไส้ตายเป็นหย่อมๆ
4. เกิดภาวะโลหิตจาง เมื่อมีพยาธิอาศัยอยู่จำนวนมาก
– A. duodenale สามารถดูดเลือดได้วันละมากกว่า 0.03-0.05 ลบ.ซม./ตัว
– N. americanus สามารถดูดเลือดได้วันละมากกว่า 0.14 ลบ.ซม./ตัว
การเป็นโลหิตจางจากพยาธิปากขอชนิด Hypochromic microcytic anemia จะมีลักษณะของเม็ดเลือดแดงขนาดเล็ก และติดสีจาง เหมือนภาวะโลหิตจางจาการขาดธาตุเหล็ก
5. เมื่อพยาธิตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในลำไส้มาก ผู้ป่วยจะรู้สึกจุกเสียด แน่นท้อง โดยเฉพาะบริเวณยอดอก (Epigastrium) ร่วมด้วยกับอาการปวดท้อง และนานวันจะมีอาการเสียเลือดเรื้อรัง ทำให้ร่างกายซูบผอม รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตัวซีด ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีปริมาณพยาธิน้อยมักไม่ปรากฏอาการ หรืออาจมีอาการน้อยมากจนนึกว่ามาจากสาเหตุอื่น
– พบพยาธิน้อยกว่า 50 ตัว และมีไข่พยาธิน้อยกว่า 2,100 ฟองต่ออุจจาระ 1 กรัม ผู้ป่วยมักไม่ปรากฏอาการ
– พบไข่พยาธิระหว่าง 2,100-5,000 ฟองต่ออุจจาระ 1 กรัม มักพบมีอาการซีดของร่างกาย
– พบไข่พยาธิเกินกว่า 11,100 ฟองต่ออุจจาระ 1 กรัม มักเกิดภาวะโลหิตจาง
การวินิจฉัย
1. การตรวจอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งหากพบตัวอ่อน หรือตัวเต็มวัยของพยาธิปากขอจะถือเป็นการวินิจฉัยที่แน่นอน ซึ่งควรตรวจภายใน 24 ชั่วโมง เพราะหากนานกว่านี้จะทำให้การวินิจฉัยยากเนื่องจากตัวอ่อนของพยาธิชนิดอื่นจะฟักออกมาทำให้ต้องแยกแยะตัวอ่อนของพยาธิปากขอได้ยากขึ้น
2. การเพาะเชื้อโดยวิธี Filter paper technique
การรักษา
1. การรักษาตามอาการ หากผู้ป่วยมีอาการซีด และโลหิตจาง รักษาด้วยการให้เฟอร์รัสซัลเฟต ชนิดเม็ด วันละ 3 ครั้ง ร่วมด้วยกับการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ไข่แดง เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ เป็นต้น
2. การใช้ยาถ่ายพยาธิ ด้วยยาชนิดต่างๆ ได้แก่
– Pyrantel pamoate ติดต่อกัน 2 วัน ขนาดยา 20 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.
– Mebendazole ติดต่อกัน 3 วัน ขนาดยา 100 มก.
– Thiabendazole ติดต่อกัน 3 วัน หลังอาหารเช้า-เย็น ขนาดยา 25 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.
– Terachloroethlene ขนาด 0.01 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ไม่ควรเกิน 4 มิลลิกรัม แต่ยานี้มักพบอาการแทรกซ้อนตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศรีษะ
– Levamisole ขนาด 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในระยะ 2-3 วัน ยานี้มักใช้ได้ผลดีในพยาธิกลุ่ม N. americanus มากกว่า A. duodenale
– การรับประทานผลมะเกลือ (Diospyros mollis) โดยนำผลดิบตำ และคั้นน้ำดื่ม 1 ผลกับอัตราอายุ 1 ปี แต่มากสุดไม่ควรเกิน 25 ผล
การป้องกัน
1. การกำจัดพยาธิจากคนด้วยการรับประทานยา
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสัตว์น้ำสุกๆดิบๆ
3. การรับประทานพืชผักหรือผลไม้ต่าง ควรล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง
4. การทำความสะอาดภาชนะรับประทานอาหาร และการล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
5. การถ่ายอุจจาระในสถานที่ที่ถูกสุขลักษณะ พร้อมการกำจัดสิ่งปฏิกูลจากส้วมที่ถูกวิธี