โรคพยาธิใบไม้ในตับ เป็นโรคพยาธิชนิดหนึ่งที่พบมากในคนไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่นิยมรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ อาทิ ลาบเนื้อ ลาบหมู ปล้าร้า ปลาส้ม ปลาจ่อม และอาหารอื่นๆที่ไม่ปรุงสุก รวมถึงผักสดที่อาจปนเปื้อนไข่พยาธิ โรคนี้จะไม่แสดงอาการที่เด่นชัดถึงแม้จะมีพยาธิในร่างกายจำนวนมากก็ตาม และเป็นโรคที่มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น
สาเหตุโรคพยาธิใบไม้ในตับ
โรคพยาธิใบไม้ในตับเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ ชื่อ โอพิทอคิสไวเวอร์รินาย (Opisthorchis Viverrini)ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางอาหารที่รับประทานเข้าไป อาหารเหล่านี้ มักเป็นอาหารที่ไม่ปรุงสุก เช่น เนื้อดิบ ปลาดิบ รวมถึงพืชผักที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ
โอกาสเสี่ยงของการได้รับตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ในตับจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการปรุงหรือการประกอบอาหาร เช่น การทำก้อยหรือลาบปลา นิยมทำจากปลาขาวหรือปลาซิวที่นำมาล้างแล้วขอดเกล็ดออก เอาขี้ปลาออก แล้วสับปลาให้เป็นชิ้นเล็กๆหรือปลาซิวที่มีขนาดเล็กก็ใช้วิธีสับหรือตำในครก พร้อมผสมด้วยข้าวคั่ว พริกป่น ต้นหอม ใบมะกรูดหั่นฝอย และมะนาว แล้วปรุงรสด้วยน้ำปลาหรือเกลือ และผงชูรส พร้อมรับประทานดิบๆ
ส้มปลาดิบ นิยมนำปลาดิบ ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาขาวสร้อย ที่นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วขอดเกล็ด เอาขี้ออก ตัดครีบ แล้วผ่าก้างออกหรือสับให้ละเอียด แล้วนำมาคลุกกับข้าวนึ่ง กระเทียม เกลือหรือน้ำปลา ผงชูรส เพื่อให้มีรส แต่บางครั้งอาจผ่าปลาเป็นครึ่งซีกหรือแล่เอาเฉพาะเนื้อปลา และนำไปแช่ในน้ำแช่ข้าว เพื่อให้เนื้อปลาดูขาว และแข็ง หลังจากนั้นเอาปลาผสมกระเทียมทุบ และใส่เกลือ ผงชูรส ใส่ข้าวเหนียวนึ่ง และคลุกจนเข้ากันดี แล้วนำไปห่อใบตอง มัดทิ้งไว้ 2-3 คืน จึงนำมารับประทานดิบๆ
พฤติกรรมการรับประทานอาหารดิบหรือปรุงไม่สุกเหล่านี้ จึงเสี่ยงต่อการได้รับตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับมากกว่าการทำอาหารให้สุก
ส่วนปลาร้า เป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันมากเกือบทุกภาค ที่ทำจากปลาชนิดต่าง ๆ หลายชนิด เช่น ปลาตะเพียน ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาซิว รวมถึงเล็กๆของปลาทุกชนิดที่จับได้ โดยวิธีนำมาหมักกับเกลือ และรำข้าวหรือข้าวคั่ว โดยมีระยะเวลาการหมักนานหลายเดือนจนมีน้ำเกลือไหลออกมาท่วมปลา เนื้อปลาจะลักษณะสีแดง ซึ่งแสดงว่าเป็นปลาร้าแล้ว
ไพโรจน์ ไววานิชกิจ และคณะ ได้ศึกษาปริมาณเชื้อพยาธิใบไม้ในตับจากปลาร้า โดยเก็บจากหมู่บ้าน จำนวน 16 ตัวอย่าง พบว่า ไม่พบเจือปนของพยาธิใบไม้ในตับ สอดคล้องกับการศึกษาของ ประภาศรี จงสุขสันติกุล และคณะ (2542) ที่พบว่า ตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับในตัวอย่างปลาร้าจะอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรง ซึ่งหากมีระยะเวลาการหมักนาน และมีความเข้มของเกลือมากพอจะทำให้ตัวอ่อนของพยาธิตายจนหมดได้ สอดคล้องกับการศึกษาของประพิมพร สมนาแซง และคณะ (2535) ที่พบว่า ลักษณะของตัวอ่อนพยาธิที่ตรวจพบจากเนื้อปลาร้านั้น จะเป็นตัวอ่อนพยาธิที่ตายแล้ว แม้การหมักปลาร้าเพียง 24 หรือ 48 ชั่วโมง ก็พบว่า ตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ในตับตายหมดแล้ว
ประภาศรี จงสุขสันติกุล และคณะ (2542) ศึกษาตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ในตับในส้มตำที่ใส่ปลาร้าดิบไม่พบตัวอ่อนพยาธิแต่อย่างใด
ส่วนปลาจ่อม ที่นิยมใช้ปลาตัวเล็กๆ ล้างทำความสะอาดโดยไม่ต้องขอดเกล็ดหรือเอาขี้ออก แล้วนำมาหั่นหรือสับเป็นชิ้น และคลุกใส่เกลือ ผงชูรส น้ำปลา ข้าวคั่ว หัวหอมแดง ตะไคร้ กระเทียม มะเขือขื่น แล้วคลุกให้เข้ากัน นำใส่กระปุกปิดไว้ 2- 3 วัน แล้วนำมารับประทาน ถือว่าเสี่ยงต่อการได้รับตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับมากกว่าปลาร้าที่หมักนานกว่า แต่มีโอกาสเสี่ยงน้อยกว่าการรับประทานลาบปลา ก้อยปลา และปลาส้ม
ลักษณะ และวงจรชีวิตพยาธิใบไม้ในตับ
พยาธิใบไม้ในตับมีลักษณะรูปร่างคล้ายใบไม้ (ใบกระถิน) ลำตัวมีลักษณะแบนยาว ส่วนท้ายกว้างกว่าส่วนหน้า ลำตัวมีขนาดยาว 5-10 มิลลิเมตร กว้าง 2-3 มิลลิเมตร สีเนื้อลำตัวบางใส มีปากดูด (oral sucker) อยู่บริเวณเกือบปลายสุดของส่วนหน้า มีคอหอยมีขนาดเล็ก หลอดอาหารในลำตัวสั้น ลำไส้แยกเป็นสองแขนง ยาวจากด้านข้างลำตัวถึงส่วนท้าย
พยาธิใบไม้ในตับแบ่งเป็น 2 เพศในตัวเอง บริเวณอวัยวะเพศผู้มีลักษณะของถุงอัณฑะรูปร่างกลม เรียงซ้อนกันคล้ายดอกจิก (lobed testes) มีต่อมวิทเทลลาเรีย (vitellaria) บริเวณสองข้างลำตัวเรียงเป็นกระจุก อวัยวะเพศเมียมีรูเปิดของติดกับรูเปิดของอวัยวะเพศผู้
วงจรชีวิตของปรสิตต่างๆรวมถึงพยาธิ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1. วงจรชีวิตแบบง่าย (Simple lift cycle) เป็นวงจรชีวิตที่ปรสิตไม่อาศัยโฮสต์กึ่งกลาง ในการดำรงชีพ และขยายพันธุ์ เช่น พยาธิไส้เดือนพยาธิปากขอ
2. วงจรชีวิตแบบซับซ้อน (Complex life cycle) เป็นวงจรที่ปรสิตต้องอาศัยโฮสต์กึ่งกลางในการดำรงชีพ และขยายพันธุ์ เช่น พยาธิใบไม้ตับ การติดต่อของปรสิตจากโฮสต์หนึ่งไปยังโฮสต์อื่นที่มีความจำเพาะในวงจรชีวิตจะเกิดขึ้นในระยะติดต่อ (infective stage) หากโฮสต์จำเฉพาะได้รับปรสิตในระยะอื่นที่ไม่ใช่ระยะติดต่อนั้นจะไม่มีการติดเชื้อ (infection) เกิดขึ้น
วงจรชีวิตของพยาธิใบไม้ในตับ
ระยะตัวเต็มวัย
ระยะตัวเต็มวัยจะมีลักษณะดังที่กล่าวข้างต้น มักจะอาศัยอยู่บริเวณท่อทางเดินน้ำดี และท่อน้ำดีในตับของคนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว เป็นต้น พยาธิตัวเต็มวัย 1 ตัว จะออกไข่ได้ประมาณ 900 ใบ/วัน
ระยะไข่
ไข่ของพยาธิใบไม้ตับมีรูปร่างกลมรี มีสีน้ำตาลปนเหลือง ไข่ของพยาธิใบไม้ตับจะถูกวางไข่ในอวัยวะท่อทางเดินของร่างกายมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และจะถูกขับปนออกมากับอุจจาระ เมื่อลงสู่ในน้ำ ไข่จะพัฒนาเป็นตัวอ่อนด้านใน เรียกว่า ไมราซิเดียม (miracidium) และจะไม่ฟักออกจากไข่จนกว่าจะถูกหอยน้ำจืดตระกูลบิไทเนีย (Bithynia) กินเข้าไป
ระยะตัวอ่อน
เมื่อไข่ถูกหอยน้ำจืดตระกูลบิไทเนีย (Bithynia) กินเข้าไป ไมราซิเดียมที่อยู่ในไข่จะฟักออกในทางเดินอาหารของหอย และไชทะลุลำไส้ของหอยเข้าสู่ลิมฟ์ไซนัส (lymph sinus) และเจริญเติบโตจนมีรูปร่างเป็นสปอร์โรซิสท์ (sporocyst) รีเดีย (redia) และเซอร์คาเรีย (cercaria) ซึ่งเป็นระยะติดต่อจากโฮสต์หนึ่งไปยังอีกโฮสต์หนึ่ง ดังนั้น หอยจึงเป็นพาหะตัวที่หนึ่ง (first intermidiate host)
หอยชนิดบิไทเนีย ฟูนิคูเลท (Bithynia funiculate) ที่พบมากในภาคเหนือ ซึ่งเป็นหอยที่มีการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ 0pisthrochis Viverrini ได้มากกว่าหอยชนิดไซแอมเมนซีส โกนิอัมฟาลอส (Bithynia Siamensis goniomphalos) ที่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหอยชนิดบิไทเนีย ไซแอมเมนซีส ไซแอมเมนซีส (Bithynia Siamensis siamensis) ที่พบมากในภาคกลาง
การเปลี่ยนจากโฮสต์หนึ่งไปยังอีกโฮสต์หนึ่งในระยะตัวอ่อนจะเกิดขึ้นในระยะเซอร์คาเรียที่เป็นตัวอ่อนระยะแรก ซึ่งจะมีหางยาว รูปร่างปราดเปรียวสามารถซอนไชออกจากหอยว่ายไปในน้ำได้ เมื่อพบปลา ตัวอ่อนเซอร์คาเรียจะไชเข้าไปใต้เกล็ด และฝังตัวเข้าในเนื้อปลา โดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด เช่น ปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาช่อน ปลาหมอ เป็นต้น ซึ่งปลาเหล่านี้จัดเป็นพาหะกึ่งกลางตัวที่ 2 (second intermidiate host)
บริเวณที่เซอร์คาเรียจะชอบฝังตัวมากที่สุดจะอยู่ที่บริเวณหัวปลา แต่พบกระจายมากที่สุดคือในเนื้อปลา โดยเฉพาะส่วนเนื้อบริเวณโคนครีบของปลา เมื่อเซอร์คาเรียไชเข้าเนื้อปลาแล้ว ตัวอ่อนจะสร้างผนังมาล้อมรอบเป็นถุงซีสต์ แล้วเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า เมตตาเซอร์คาเรีย (metacercaria) ซึ่งจัดเป็นระยะติดต่อจากปลาสู่คนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินปลาเข้าไป แต่ในระยะนี้จะไม่คงทนต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถ้าอยู่ในน้ำกลั่นอุณหภูมิ 25–30 องศาเซลเซียส จะอยู่ได้นานเพียง 14 วัน และหากสัมผัสความร้อนที่อุณหภูมิ 50, 70 และ80 องศาเซลเซียส ก็จะตายหมดในเวลา 5 ชั่วโมง, 30 นาที และ15 นาที ตามลำดับ ส่วนเมื่อสัมผัสน้ำเกลือเข้มข้น 0.9%, 5%, 10%, 20% และ30% ก็จะมีชีวิตอยู่ได้นานเพียง 10 วัน, 36 ชั่วโมง, 12 ชั่วโมง, และ 1 ชั่วโมง ตามลำดับ เท่านั้น
ในสภาวะความเป็นกรด-ด่าง ที่ pH ตั้งแต่ 4.4 – 9.4 สามารถอยู่ได้นานกว่า 24 ชั่วโมง สำหรับอาหารประเภทก้อยปลาที่ใส่มะนาว ตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับระยะเมตตาเซอร์คาเรียจะตายหมดหลัง 24 ชั่วโมง หากใช้น้ำมะนาวเข้มข้น 4 % ทั้งนี้ การเจริญเติบโตในระยเมตตาเซอร์คาเรียที่อยู่ในเนื้อปลา นับตั้งแต่ไชเข้าสู่เนื้อปลาจนถึงระยะติดต่อจะใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์
เมื่อคนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว เป็นต้น กินปลาดิบหรือปลาสุก ๆ ดิบ ๆ ที่มีการปนเปื้อนของตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับระยะเมตตาเซอร์คาเรียเข้าไป ตัวอ่อนพยาธิจะฟักตัวที่กระเพาะอาหาร และจะไชออกจากถุงซีสต์แล้วเมื่อถึงลำไส้เล็กส่วนต้น และซอนไซไปตามทางเดินน้ำดีจนถึงท่อน้ำดีส่วนปลายของตับ หลังจากนั้น จะเจริญเป็นตัวเต็มวัย และออกไข่ต่อไป เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ตัวอ่อนถูกกินเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยพร้อมออกไข่จะใช้เวลาประมาณ 16 สัปดาห์ และมีการศึกษาพบว่าพยาธิใบไม้ตับสามารถมีชีวิตอยู่ในคนได้นาน 15-20 ปี เลยทีเดียว
การระบาดโรคพยาธิใบไม้ในตับ
การระบาดของโรคพยาธิใบไม้ในตับ นิยมใช้วิธีการวัดเป็นร้อยละของการติดเชื้อหรือวัดที่อัตราความชุก (prevalence rate) และความหนาแน่นของการติดเชื้อ (intensity of infection)
การระบาดของพยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchis Viverrini) ในคนพบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของประเทศไทย โดยพบสาเหตุการแพร่ระบาดหลักมาจากการรับประทานอาหารดิบหรือปรุงไม่สุกจากปลาที่มีเกล็ด เช่น ก้อยปลา ปลาส้ม ปลาจ่อม เป็นต้น
อัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับจะสูงขึ้นมากในช่วงฤดูหนาวเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ ซึ่งจะสูงสุดในเดือนตุลาคม และจะต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม
ความสัมพันธ์ของการเกิดพยาธิใบไม้ในตับ และอายุของคน พบว่า การเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับสามารถเกิดได้ในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กอายุต่ำกว่าหนึ่งปีจนถึงวัยผู้ใหญ่ และวัยชรา ซึ่งขึ้นอยู่กับนิสัย และพฤติกรรมการรับประทานอาหารดิบหรือไม่ปรุงสุก โดยมีรายงานเด็กอายุน้อยที่สุดที่ป่วยเป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับ คือ อายุ 8 เดือน
การกระจายของโรคพยาธิใบไม้ในตับมีอัตราน้อยในเด็ก แต่จะเพิ่มขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น โดยจะพบอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นมากในช่วงอายุ 10–24 ปี และจะมีอัตราการเกิดโรคที่ระดับเท่ากัน ในกลุ่มที่อายุมากกว่า 24 จนถึงมากกว่า 60 ปี
จันทรา ทวยมีฤทธิ์ (2542) ได้ศึกษาความสัมพันธ์การเกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับในจังหวัดลำปาง พบว่า เพศหญิงมีอัตราการเกิดโรคมากกว่าเพศชาย และสอดคล้องกับการศึกษาของประภาศรี จงสุขสันติกุล และคณะ (1996) ที่ศึกษาการเกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด พบว่า เพศหญิงมีอัตราการเกิดโรคมากกว่าเพศชายเช่นกัน
อาการ และภาวะแทรกซ้อน
อาการที่แสดงของผู้ที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับ ส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏอาการ และจะไม่ทราบว่าเป็นโรคนี้ จนกว่าจะมีการตรวจพบไข่พยาธิในอุจจาระ หรือจนกว่าจะมีอาการของทางเดินน้ำดีอักเสบหรืออุดตัน ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าอาการปรากฏ โดยมักพบอาการเริ่มแรกเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน แบ่งออกได้ 4 กลุ่ม คือ
1. ไม่มีอาการ
โดยจะพบพยาธิใบไม้ในตับในร่างกายน้อย ประมาณ 100–200 ตัว ผู้ป่วยจะไม่มีอาการร่างกายผิดปกติใดๆ ถึงแม้จะได้รับการตรวจร่างกายก็ตาม แต่อาจตรวจะพบไข่พยาธิในอุจจาระ แต่ก็มีจำนวนน้อยกว่า 1,000 ใบต่ออุจจาระ 1 กรัม
2. อาการอย่างอ่อน
ในช่วงนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องเฟ้อ เป็นครั้งคราว โดยมักเกิดหลังรับประทานอาหาร อาจรู้สึกร้อนบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือลิ้นปี่ เมื่อคลำตับจะยังไม่พบตับโต ไม่มีอาการกดเจ็บบริเวณตับ ไม่มีอาการเหลือง ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้จะพบไข่พยาธิใบไม้ในตับในอุจจาระประมาณ 1,000-9,999 ใบต่ออุจจาระ 1 กรัม ซึ่งระยะนี้ หากได้รับการรักษาด้วยยาจะได้ผลหายเป็นปกติ
3. อาการปานกลาง
อาการของผู้ป่วยจะแสดงออกได้ชัดเจน เนื่องจากมีพยาธิใบไม้ในตับค่อนข้างมาก มักตรวจพบไข่พยาธิในอุจจาระประมาณ 10,000-30,000 ใบต่ออุจจาระ 1 กรัม อาการของผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องเฟ้อ เป็นประจำ มีอาการอาหารไม่ย่อย เจ็บใต้ลิ้นปี่ และชายโครงขวา หรือชายโครงทั้ง 2 ข้าง มีอาการร้อนบริเวณหน้าท้อง มีอาการปวดหลัง อ่อนเพลียง่าย ต่อมาจะมีกลุ่มอาการทางเดินน้ำดีอักเสบ เช่น ดีซ่าน มีไข้ เจ็บบริเวณตับ ตับมีขนาดโต เบื่ออาหาร ผอมและเริ่มมีอาการบวม
4. อาการรุนแรง
เป็นระยะสุดท้ายของโรค เนื่องจากมีพยาธิใบไม้ในตับจำนวนมาก และเกิดอาการของกลุ่มอาการทางเดินน้ำดีอักเสบนานหลายปี จนมีอาการตับโต เบื่ออาหาร ซูบผอม อ่อนเพลีย ขาบวม ท้องบวม เกิดเส้นเลือดดำหน้าท้องที่เห็นชัด ท่อน้ำดีถูกอุดตัน ตัวเหลืองมาก อุจจาระสีซีด ตับโตมากขึ้น และอาจเป็นซีสต์ (cyst) ในตับ เมื่อคลำพบถุงน้ำดีจะมีลักษณะโป่งพอง ผู้ป่วยในระยะนี้มักเสียชีวิตจากโลหิตเป็นพิษ หรือตับ และไตล้มทำงานล้มเหลว ส่วนภาวะแทรกซ้อนหรือโรคแทรกซ้อนขณะป่วย ได้แก่ ท่อน้ำดีอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงเร็ว และเสียชีวิตได้ง่าย
ผู้ป่วยที่มีพยาธิใบไม้ในตับในร่างกายมาก และติดต่อกันเป็นเวลานาน จะมีโอกาสเกิดมะเร็งท่อน้ำดีสูง ที่เชื่อว่าสาเหตุเกิดจากพยาธิดูดเกาะผนังท่อน้ำดีจนทำให้เกิดการระคายเคือง และ การอักเสบของท่อน้ำดีที่เกิดจากสิ่งขับถ่ายจากตัวพยาธิ
การวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ในตับ
การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับนั้น สามารถตรวจได้หลายวิธี ดังนี้
1. การตรวจทางปรสิตวิทยา
1.1 การตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ในตับในอุจจาระ
เป็นวิธีตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับที่ดีที่สุด และเชื่อถือได้มากที่สุดในปัจจุบันแบ่งได้หลายวิธี ได้แก่ การตรวจชนิดธรรมดา (simple smear หรือ Direct fecal smear), วิธีตกตระกอนด้วยน้ำยาฟอร์มาลินและอีเทอร์ (quantitative modified formalin-ether sedimentation method) และวิธีของคาโต้ (Kato’s thick smear) สองวิธีหลังเป็นการตรวจแบบเข้มข้น สามารถตรวจพบไข่พยาธิที่มีจำนวนน้อยได้
วิธีคาโต้ ติ๊ค สเมียร์ (Kato’ thick smear) เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจพบไข่พยาธิได้ถึงร้อยละ 80 โดยมีวิธีการตรวจดังนี้ คือ
– ตักอุจจาระประมาณ 60–70 มิลลิกรัม ใส่บนกระจกสไลด์ แล้วปิดด้วยแผ่นกระดาษแก้วเซลโลเฟน
– ใช้จุกยางกดลงบนกระดาษเซลโลเฟน บริเวณที่มีอุจจาระอยู่ เพื่อให้อุจจาระกระจายสม่ำเสมอและบางพอที่จะส่องตรวจได้
– ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 1 ชั่วโมง หรือที่อุณหภูมิ 34–40 องศาเซลเซียส ประมาณ 20–30 นาที แล้วส่องตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
ผลการตรวจจำแนกตามจำนวนไข่พยาธิในอุจจาระ ดังนี้
1. การติดเชื้อน้อย ไม่รุนแรง (light) มีจำนวนไข่พยาธิ 1–999 ใบ/อุจจาระ 1 กรัม
2. การติดเชื้อปานกลาง (medium) มีจำนวนไข่พยาธิ 1,000–9,999 ใบ/อุจจาระ 1 กรัม
3. การติดเชื้อมาก (heavy) มีจำนวนไข่พยาธิ 10,000–29,999 ใบ/อุจจาระ 1 กรัม
4. การติดเชื้อรุนแรงมาก (very heavy) มีจำนวนไข่พยาธิตั้งแต่ 30,000 ใบ/อุจจาระ 1 กรัม
1.2 การตรวจหาตัวพยาธิในอุจจาระ
การตรวจด้วยวิธีนี้จะเป็นการตรวจหาตัวพยาธิในอุจจาระ ซึ่งจะตรวจหลังรับประทานยาถ่ายพยาธิ และให้ยาระบาย โดยเก็บอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมง มาตรวจด้วยวิธีตกตะกอน (sedimentation) ในน้ำเกลือ ถือเป็นการวินิจฉัยที่แน่นอน และบอกชนิดของพยาธิได้
1.3 การตรวจหาไข่ และตัวพยาธิในน้ำดี
จากที่พยาธิใบไม้ในตับตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในน้ำดี จึงสามารถตรวจพบไข่ และตัวพยาธิในน้ำดีได้ โดยอาจตรวจจากน้ำย่อยบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น จากตับ และถุงน้ำดีขณะผ่าตัดหรือตรวจศพ
2. การตรวจทางอิมมูโนวิทยา
เป็นการตรวจทางน้ำเหลือง เพื่อหาระดับภูมิคุ้มกันเฉพาะ (specific antibody) ในซีรั่มผู้ป่วย ซึ่งมักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจหาพยาธิในอุจจาระได้ เนื่องจากทางเดินน้ำดีอุดตันถาวร ผลการตรวจที่เป็นบวกจะพบกลุ่มพยาธิใบไม้ เช่น พยาธิใบไม้ในปอด, พยาธิใบไม้ในเลือด และพยาธิใบไม้ในลำไส้ เป็นต้น
การรักษาโรคพยาธิใบไม้ในตับ
การรักษาโรคพยาธิใบไม้ในตับจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ถ้าพบในระยะแรกโดย ที่ผู้ป่วยมีอาการน้อยหรือปานกลาง หากเป็นระยะที่มากกว่าที่มีภาวะแทรกซ้อนของตับ และท่อน้ำดีนั้น การรักษาจะเป็นเพื่อฆ่าพยาธิเท่านั้น ส่วนอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่จะรักษาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น
1. การใช้ยารักษา
ปัจจุบันมีการใช้ยาฆ่าพยาธิ ได้แก่ ยาที่ชื่อพราซิเควนเทล (Praziquentel) ที่ให้ผลดีในระยะที่มีอาการน้อย หรือปานกลาง และไม่มีโรคอื่นร่วม ยาจะไม่มีสี มีรสขมเล็กน้อย ยาจะดูดซึมได้รวดเร็ว ให้ความเข้มข้นสูงสุดภาย และอยู่นาน 1- 2 ชั่วโมง และจะถูกขับออกจากร่างกายประมาณ ร้อยละ 90 ของยา ทางปัสสาวะภายใน 24 ชั่วโมง
เมื่อได้รับยา 1 วัน พยาธิใบไม้ในตับจะออกมาในอุจจาระในลักษณะที่ตายแล้ว ขนาดยาที่ใช้ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 1 กิโลกรัม รับประทาน 3 ครั้ง หลังอาหาร เป็นเวลา 1 วัน สามารถรักษาหายได้ ร้อยละ 100 และตรวจอุจจาระไม่พบไข่พยาธิ ส่วนการให้ยาขนาด 40 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียวหลังอาหารก่อนนอน จะมีอัตราการหายที่ ร้อยละ 89–96
อาการข้างเคียง: อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ มีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือรู้สึกร้อน ๆ ตามตัว หรืออาจมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือสตรีระหว่างให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และในผู้ป่วยที่มีไข้จากโรคบางชนิด
2. การรักษาทางศัลยกรรม
การรักษาแบบศัลยกรรมจะใช้ในผู้ป่วยที่พบว่ามีโรคแทรกหรือเป็นมานานจนไม่สามารถรักษากลับคืนให้เป็นปกติได้ แม้ว่าตัวพยาธิจะถูกกำจัดไปแล้ว เช่น เกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง ซึ่งจะพิจารณาตัดถุงน้ำดีออก การมีนิ่วร่วม และทางเดินน้ำดีอุดตันถาวร ก็จะรักษาด้วยการผ่าตัด