พละ 4 ประการ หมายถึง พลังคุณธรรม 4 ประการ ที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติดีในการดำเนินชีวิตหรือประกอบอาชีพการงานทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองจนที่จะกระทำในสิ่งใดๆซึ่งจะเกิดประสิทธิผลแก่ตนเอง เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา และคนรอบข้าง (มักใช้คู่กับ สัปปุริสธรรม 7 ประการ)
พละ 4 ประการนี้ เป็นพละธรรมที่ท่านผู้รู้ได้บัญญัติไว้มาตั้งแต่เดิม และมีการบัญญัติเพิ่มเป็นพละ 5 ประการ ซึ่งแตกต่าง และเหมือนกันในบางอัน
ความสำคัญของพละ 4 ประการ
พละ 4 ประการ เป็นธรรมคำสอนที่เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ การงาน การศึกษาเล่าเรียน และโดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำต่างๆ เพื่อสร้างคุณธรรม และพลังที่จะช่วยทำให้การดำเนินงานหรือการทำกิจกรรมเกิดความมั่นใจ และส่งผลต่อความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับผู้นำหรือหัวหน้างานที่มีธรรมอยู่ในหัวใจ ย่อมเป็นศูนย์รวมใจของคนร่วมงาน และสามารถจัดการให้งานในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดีแล้ว ผู้นำจะต้องมีคุณธรรมตามแนวทางพุทธศาสนาอีกด้วยเป็นที่ยอมรับว่า คุณธรรม คือ คุณงามความดี เป็นตัวคอยกำหนดให้คนประพฤติชอบ ผู้นำในฐานะเป็นหัวหน้าต้องปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา สมควรต้องกระทำตนเป็นแบบอย่างแก่คนอื่น และจะต้องบังคับใจตนเองให้อยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงามอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น ผู้ที่มีพลังหรือมีกำลังที่เกิดจากคุณธรรมความประพฤติปฏิบัติที่เป็นหลักประกันชีวิต ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองนั้น จำเป็นต้องประกอบขึ้นด้วย กำลังแห่งความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนในเรื่องราว และกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง ตลอดจนกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจเหตุผล และสภาพความจริง
พร้อมกันนั้น พึงมีกำลังความเพียรด้วยความบากบั่นพยายามในการทำกิจกรรมทำหน้าอยู่ตลอดเวลา
ประกอบกับพึงมีกำลังความบริสุทธิ์ที่ปลูกฝังอยู่ในจิตใจด้วยการมีความประพฤติ และหน้าที่การงานสุจริต
และพึงพร้อมด้วยกำลังการสงเคราะห์ด้วยการให้ที่ตนสามารถเอื้อได้ต่อเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้างตามความสามารถของตน
พละ 4 ประการ
1. ปัญญาพละ (กำลังความรู้)
ดำรงค์ ชลสุข ให้ความหมายของกำลังความรู้ในเชิงที่ว่า คือ ความรู้ทั่วไป ความฉลาดเกิดเรียนและคิด ความเข้าใจชัดเจน ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่สามารถแยกว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรมีคุณมีโทษ และมีประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น ปัญญาในที่นี้ จึงเป็นลักษณะที่เรียกว่า รู้มากกว่าที่เห็น เข้าใจมากกว่าที่ได้ยิน ผู้ทำงานทั้งหลายจึงต้องเป็นผู้มีปัญญารอบรู้เท่าทัน คือ ต้องรู้คน รู้ตน และรู้งานหรือรอบรู้เกี่ยวกับงานในหน้าที่และรอบรู้ในบุคคลที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
พัชนี มานะวาณิชเจริญ ให้ความหมายของกำลังความรู้ในเชิงที่ว่า คือ ความฉลาดรู้เท่าทันความเป็นมาเป็นไปของสิ่งต่างๆ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุแห่งปัจจัย แล้วใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ โดยปฏิบัติให้สอดคล้องกับสภาวะธรรมดาธรรมชาตินั้นไปในทางที่ก่อให้เกิดผลสร้างสรรค์ จากนั้นก็วางใจอิสระคอยดูอย่างรู้เท่าทัน ไม่ต้องเข้าไปเกาะเกี่ยวติดพันจนกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่น
ประภาศรี สีหอำไพ ให้ความหมายของกำลังความรู้ในเชิงที่ว่า คือ วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ความเป็นผู้มีสติไตร่ตรอง วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา ตั้งสมมุติฐาน ทดลองและพิจารณาว่าสิ่งนั้นมีปัญหาจริงแล้ว จึงหาวิธีการแก้ไขด้วย การศึกษาจากภายนอกและการไตร่ตรองภายในใจด้วยอุบายที่แยบคาย
ดังนั้น กำลังความรู้ คือ พฤติกรรมของผู้ที่แสดงออกมาว่าเป็นผู้มีความรอบรู้ มีไหวพริบ สติปัญญาเฉียบแหลม รู้เท่าทันความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ รู้สิ่งผิดชอบชั่วดี รู้จักเหตุรู้จักผลรู้เกี่ยวกับตนเอง เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา และรู้เกี่ยวกับงานในหน้าที่
ปัญญา 3 ประการ
1. ปัญญาจากการศึกษา เป็นปัญญาที่ได้จากการศึกษาในตำราหรือบทเรียน อาทิ ปัญญาหรือความรู้ที่ได้จาการเล่าเรียนตั้งแต่ประถมจนถึงปริญญาตรี
2. ปัญญาจากประสบการณ์ เป็นปัญญาที่ได้จากการปฏิบัติหรือการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ผู้ปฏิบัติเรียนรู้จากการปฏิบัติได้โดยตรง เช่น ผู้ช่วยช่างซ่อมมอเตอร์ไซด์ที่ทำงานเป็นผู้ช่วยจนสามารถซ่อมมอเตอร์ไซต์ได้เหมือนกับช่างซ่อม
3. ปัญญาจากกระบวนการคิดวิเคราะห์ เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นภายในภายใต้พื้นฐานของปัญญาจากการศึกษา และประสบประการณ์ แล้วนำมาคิดวิเคราะห์ต่อสถานการณ์ต่างๆจนเกิดปัญญาหรือความรู้ใหม่ตามมา
2. วิริยพละ (กำลังความเพียร)
ดำรงค์ ชลสุข ให้ความหมายของกำลังความเพียรในเชิงที่ว่า คือ ผู้ทำงานส่วนมากจะพบกับอุปสรรคหรือปัญหาในการทำงานบ้างไม่มากก็น้อย ถ้าเป็นผู้นำมักจะพบกับเรื่องมากมายในการใช้คนการปกครองบังคับบัญชาการสั่งการและอื่นๆ ถ้าไม่ใช้ความเพียรหรือความขยันเพื่อต่อสู้หรือขจัดอุปสรรคให้หมดไปแล้ว ก็จะทำให้ตนเองท้อถอยหมดกำลังใจไปในที่สุดความเพียรหรือความขยันเป็นสิ่งสำคัญ
ฉันทนา จันทร์บรรจง ให้ความหมายของกำลังความเพียรในเชิงที่ว่า คือ ความขยันหมั่นเพียรความเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนได้สำเร็จ อย่างมีคุณค่าตรงเวลาไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ และสามารถแก้ปัญหาได้ลุล่วงด้วยสติปัญญาของตน
ดังนั้น กำลังความเพียร คือ พฤติกรรมของผู้ที่แสดงถึงการปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความรัก และพอใจ ต้องการผลสำเร็จของงาน มีความพยายามเข้มแข็ง อดทนไม่ท้อถอยพิจารณาใคร่ควรหาเหตุผลดำเนินงานด้วยการวางแผนปฏิบัติงานตรวจสอบแก้ไขปรับปรุงงานอยู่เสมอ
ความเพียร 5 ประการ
1. สังวรวิริยะ คือ ความเพียรระวังไม่ให้ประพฤติในอกุศลกรรมทั้งปวง
2. ปหานวิริยะ คือ ความเพียรในการละหรือลดอกุศลกรรมที่ตนทำให้เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป
3. ภาวนาวิริยะ คือ ความเพียรในการประพฤติให้เกิดกุศลกรรม
4. อนุรักขนาวิริยะ คือ ความเพียรรักษากุศลกรรมคงอยู่ และเจริญยิ่งขึ้น
3. อนวัชชพละ (กำลังความสุจริต)
ประภาศรี สีหอำไพ ให้ความหมายของกำลังความสุจริตในเชิงที่ว่า คือ ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง การปฏิบัติอย่างชื่อตรงด้วยการประพฤติทางกาย วาจา ใจ ทั้งต่อหน้า และหลับหลัง ทั้งต่อตนเอง และต่อผู้อื่น ยึดหลักแห่งความยุติธรรมซื่อตรงต่อตนเอง หน้าที่การงาน คำมั่นสัญญาแบบแผนกฎหมายที่ถูกต้องดีงาม
ฉันทนา จันทร์บรรจง ให้ความหมายของกำลังความสุจริตในเชิงที่ว่า คือ ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง การคิด การใช้วาจา และการกระทำที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอารัดเอาเปรียบ และไม่นำสมบัติของผู้อื่นหรือของส่วนรวมมาเป็นของตนเอง
สมชาติ กิจยรรยง ให้ความหมายของกำลังความสุจริตในเชิงที่ว่า คือ ความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยการมีความรับผิดชอบของหัวหน้างาน ทั้งในทางคำพูด การรักษาเวลา และมีความซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน การยอมรับผิดชอบในกิจกรรมที่ได้กระทำไป หรือความรู้สึกผูกพันของบุคคลที่ต้องการปฏิบัติงานในหน้าที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
สุริยา ศศิน ให้ความหมายของกำลังความสุจริตในเชิงที่ว่า คือ ความซื่อสัตย์สุจริต ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม และดีอยู่แล้ว ที่สำคัญมีความยึดมั่นต่อความจริง และคุณค่าด้วยความซื่อสัตย์ เป็นคุณสมบัติที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความน่าไว้วางใจ และการที่ไม่สามารถถูกติดสินบนได้โดยง่าย และไม่ทำความผิดใดๆ โดยการให้คำมั่นสัญญา
ดังนั้น กำลังความสุจริต คือ พฤติกรรมของผู้ที่แสดงถึงการปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความมีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ ประพฤติดีประพฤติชอบด้วยการกระทำ การพูด และการคิดในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม
สุจริต 3 ประการ
1. กายสุจริต คือ ความประพฤติชอบทางกาย ได้แก่
– ไม่ฆ่าสัตว์หรือพรากชีวิตผู้อื่น
– ไม่ลักทรัพย์ หรือ เอาทรัพย์ของผู้อื่นโดยเจ้าของเขาไม่ยินดีให้
– ไม่ประพฤติผิดในกามตามชาย-หญิงต้องห้าม
2. วจีสุจริต คือ ความประพฤติชอบทางวาจา ได้แก่
– การไม่พูดเท็จ
– การไม่พูดส่อเสียด
– การไม่พูดคำหยาบ
– การไม่พูดเพ้อเจ้อ
3. มโนสุจริต คือ ความประพฤติชอบทางใจ ได้แก่
– ไม่มีความโลภ
– ไม่มีความพยาบาท
– มีความคิดเห็นในคันรองคลองธรรม
4. สังคหพละ (กำลังการสงเคราะห์)
นพพงษ์ บุญจิตราดุล ให้ความหมายของกำลังการสงเคราะห์ในเชิงที่ว่า คือ การยอมรับในความเป็นมนุษย์ เคารพในความปรารถนาดีของคนอื่น และกลุ่มบุคคลที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายเป็นที่ยอมรับร่วมกัน มีมนุษย์สัมพันธ์ในการงาน โดยสร้างขึ้นจากพื้นฐานของความนับถือซึ่งกัน และกันมีไมตรีจิตจริงใจในศักดิ์ศรี และคุณค่าของมนุษย์ด้วยกัน ผู้นำต้องพัฒนาทักษะที่จะสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ กับสถานการณ์ทางสังคมที่ตนอยู่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
พระธรรมโกศาจารย์ ให้ความหมายของกำลังการสงเคราะห์ในเชิงที่ว่า คือ กำลังแห่งการสงเคราะห์หรือมนุษย์สัมพันธ์นี้ เป็นเครื่องมือแสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่า ผู้นำนั้นจะทำงานสำเร็จได้ก็ด้วยการอาศัยคนอื่น เมื่อไม่มีการสงเคราะห์หรือมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ก็ย่อมไม่มีใครช่วยทำงาน การงานก็สำเร็จลงไม่ได้ ดังนั้น ผู้นำจะต้องมีสงเคราะห์
สังหควัตถุ 5 ประการ (การสงเคราะห์)
1. ทาน คือ การให้หรือการบริจาค ได้แก่
– การบริจาควัตถุ คือ การทรัพย์สิ่งของให้แก่ผู้อื่น เช่น การบริจาคเงินทองให้แก่วัด
– การบริจาคความรู้ คือ การให้ความรู้ คำแนะนำให้แก่ผู้อื่น เช่น การสอนหนังสือเด็ก เป็นต้น
– การบริจาคอวัยวะ เช่น การบริจาคไต
– การบริจาคอารมณ์ คือ การละหรือลดซึ่งกิเลส 3 ประการ คือ ละซึ่งความโลภ ละซึ่งความโกรธ ละซึ่งความหลง โดยไม่ประพฤติตามใจหรือความต้องการของตน
2. ปิยวาจา คือ การพูดวาจาอ่อนหวาน ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดนินทา ไม่พูดให้ร้ายผู้อื่น
3. อัตถจริยา คือ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และส่วนรวมตามสภาพ และความสามารถของตน
4. สมานัตตตา คือ การประพฤติตนด้วยความดี และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้น การสงเคราะห์ คือ พฤติกรรมของผู้แสดงออกมาถึงการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละปรารถนาดี มีไมตรีช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ มีความยินดีเมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีสุข มีหลักการเหตุผลเที่ยงธรรม มีใจเป็นกลาง ให้ความช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
เพิ่มเติมจาก : พระมหาสมควร (2550) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ(1)
เอกสารอ้างอิง