ฟันสึกกร่อน สาเหตุ และวิธีป้องกันฟันสึกกร่อน

23460

ฟันสึกกร่อน (tooth erosion) คือ การสูญเสียเนื้อฟันจากกระบวนการทางเคมีเกิดขึ้นจากกรด ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด หรือเกิดจากฟันสัมผัสกับไอระเหยของกรดในบรรยากาศ หรือเกิดจากปัจจัยภายใน ได้แก่ กรดในกระเพาะอาหาร โดยที่กรดนั้นไม่ได้เป็นผลมาจากกระบวนการเผาพลาญอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก

กระบวนการฟันสึกกร่อน
สภาวะปกติภายในช่องปากจะมีค่าความเป็นกรด – ด่างของน้ำลายอยู่ในช่วง 6.5 – 7.5 ที่ค่าความเป็นกรด – ด่างนี้ น้ำลายจะมีการรักษาสภาวะความอิ่มตัวอย่างยิ่งยวดระหว่างแร่ธาตุที่อยู่ในฟัน และในน้ำลาย แร่ธาตุที่อยู่ในเคลือบฟัน (Enamel) ประกอบด้วยแคลเซียม และฟอสเฟตซึ่งจะอยู่ในรูปของผลึกไฮดรอกซี่อะพาไทด์ (Hydroxyapatite= CA10(PO4)6OH2 ) ส่วนแร่ธาตุในน้ำลายจะอยู่ในรูปของไอออนจำนวนมากรวมทั้งแคลเซียม และฟอสเฟตไอออน เมื่อฟันสัมผัสกับกรดที่มาจากปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกร่างกายจนทำให้สูญเสียสภาวะความอิ่มตัวอย่างยิ่งยวด เมื่อค่าความเป็นกรด – ด่างลดลงจนถึงค่าวิกฤติที่ 5.5 แคลเซียมและฟอสเฟตที่เคลือบอยู่ในฟันจะมีการสลายตัวออกมา ดังแสดงในสมการ

Ca10(PO4)6 OH2 + 8H+ ⇌ 10Ca2+ + 6PO2-4 + 2H2O

สาเหตุฟันสึกกร่อน
สาเหตุจากปัจจัยภายใน
สาเหตุจากปัจจัยภายใน เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารมีระดับความเป็นกรดสูงมากอยู่ในช่วงค่าความเป็นกรด – ด่าง 1 – 1.5 กรดจะสัมผัสกับฟันได้จากการอาเจียนหรือสำรอกออกมาทำให้กรดในกระเพาะอาหาร สัมผัสกับผิวฟันลักษณะอาการเช่นนี้พบได้ใน
1. โรคระบบทางเดินอาหารได้แก่ โรคแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอักเสบเรื้อรัง ลำไส้อุดตัน
2. โรคระบบประสาทส่วนกลางที่ทำให้เพิ่มความดันภายในกะโหลกศีรษะ เช่น สมองอักเสบ เนื้องอก โรคทางระบบประสาท เช่น อาการปวดศีรษะข้างเดียว (Migraine headaches)
3. โรคเกี่ยวกับเมตาบอลิซึม และระบบต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน ภาวะต่อมไร้ท่อทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไป และภาวะตั้งครรภ์
4. ผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมี โดยมีผลกระตุ้นศูนย์กลางการอาเจียน หรือทำให้เกิดการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร
5. โรคเกี่ยวข้องกับจิตและกาย เช่น ความเครียด ภาวะเบื่ออาหาร (Anorexia) ภาวะหิวไม่หาย (Bulimia nervosa)
6. กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารปิดไม่สนิท
7. การเพิ่มความดันภายในช่องท้อง เช่น คนอ้วน การตั้งครรภ์
8. การเพิ่มปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร เช่น หลังมื้ออาหาร การหดเกร็งของหูรูด

ในผู้ป่วยกลุ่มที่ยกตัวอย่างทั้งหมดนี้มีลักษณะฟันสึกกร่อนที่บริเวณด้านทางเพดานของฟันหน้าบน และพบฟันสึกกร่อนจากปัจจัยภายในประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยฟันสึกกร่อนทั้งหมด

สาเหตุจากปัจจัยภายนอก
1. จากสิ่งแวดล้อม (Environmental factor) ได้แก่ กลุ่มคนที่มีอาชีพทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีไอระเหยของกรดซัลฟูริกจากโรงงานทำปุ๋ย โรงงานแบตเตอรี่ กรดไฮโดรคลอริกจากโรงงานชุบสังกะสี นักว่ายน้ำสัมผัสกับคลอรีนซึ่งมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนเมื่อรวมตัวกับน้ำ
2. จากการรับประทานยา (Medicament) หรือ วิตามินเสริมที่มีความเป็นกรดเป็นประจำ เช่น ยาเสริมธาตุเหล็กมีค่าความเป็นกรด – ด่าง 1.5 ส่วนวิตามินซีประกอบด้วยกรดแอสคอร์บิก มีค่าความเป็นกรด – ด่าง ต่ำกว่า 5.5 และยาแอสไพรินมีกรดอะเซติลซาริไซริก (Acetylsalicylic acid)
3. จากรูปแบบในการดำเนินชีวิต เช่น คนที่ชอบรับประทานผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวเป็นประจำ คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติซึ่งเป็นผลไม้ที่มีความหยาบหรือผ่านการหมักดอง มีความเป็นกรดสูง และคนที่ชอบอมอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันสึกกร่อนอยู่ในช่องปากเป็นเวลานาน ทั้งหมดนี้พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดฟันสึกกร่อน
4. จากการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เช่น ผลไม้ และน้ำผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล มะนาว สับปะรด หรือเครื่องดื่มอัดลม

สภาพฟันสึกกร่อน
สภาพของฟันสึกกร่อนที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเว้าเข้าด้านในเป็นบริเวณกว้าง และผิวเรียบในชั้นเคลือบฟัน เมื่อรอยโรคดำเนินไปถึงชั้นเนื้อฟัน ในฟันหลังบนด้านบดเคี้ยวจะมีลักษณะเหมือนถ้วย (Cupping shape) และมีลักษณะเป็นร่อง ส่วนฟันหน้า (Incisal groove) บริเวณปลายฟันมีลักษณะโปร่งแสง (Translucency) ส่วนฟันที่อุดด้วยอมัลกัมจะมีการสูญเสียเนื้อฟันรอบวัสดุ จนทำให้วัสดุมีลักษณะยกตัวขึ้น (Amalgam Island) บริเวณที่มีการสึกกร่อนจะไม่สบสนิทกับจุดสบฟัน

ลักษณะฟันสึกกร่อนกับรอยโรคอื่น
ฟันสึกกร่อนจะเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัยฟันสึก (Tooth wear) ที่แบ่งเป็นฟันสึกจากการบดเคี้ยว (Tooth attrition) ฟันสึกจากการขัดสี (Tooth abrasion) และฟันสึกกร่อน (Tooth erosion) ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกัน

ฟันสึกจากการบดเคี้ยว (Tooth attrition) เป็นผลมาจากการสัมผัสกันโดยตรงของฟัน มักจะพบในผู้ที่นอนกัดฟัน (Bruxism) หรือมีพฤติกรรมการกัดเค้นเวลาเครียด (Clenching) ทำให้ฟันสึกจากการบดเคี้ยว มีลักษณะแบนราบที่บริเวณปลายฟันหน้า ปุ่มฟันในฟันหลัง และพบว่าคู่สบของฟันก็จะมีการสึกเหมือนกันในปริมาณที่ใกล้เคียงกันทั้งฟันในขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง ในฟันที่อุดด้วยอมัลกัมจะมีลักษณะมันวาวเหมือนอมัลกัมที่ได้รับการขัดมัน

ส่วนฟันสึกจากการขัดสี (Tooth abrasion) จะมีสาเหตุมาจากอาหารที่มีความหยาบ ผงขัดฟันในยาสีฟัน การแปรงฟันที่ผิดวิธี หรือแปลงฟันบ่อยครั้งเกินไปในแต่ละวัน ในกรณีที่เกิดจากการแปลงฟันมักจะเกิดรอยโรคที่บริเวณคอฟันด้านแก้มของฟันเขี้ยว และฟันกรามน้อย เนื่องจากตำแหน่งของฟันที่อยู่ตรงความโค้งของขากรรไกร ลักษณะของรอยโรคจะมีความกว้างมากกว่าความลึก ถ้ามีสาเหตุมาจากอาหารที่มีความหยาบจะพบรอยโรคที่หลุมร่องฟันทางด้านแก้มและด้านลิ้นของด้านบดเคี้ยว (Sluiceway groove)

ดัชนีบ่งชี้ภาวะฟันสึกกร่อน
ดัชนีชี้วัดตำแหน่ง และระดับความรุนแรงของรอยโรคถูกใช้เพื่อสื่อความหมายสภาวะความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นในกลุ่มประชากร นอกจากนี้ ตำแหน่ง และด้านของซี่ฟันที่มีการสึกกร่อนรุนแรงยังเป็นตัวบอกถึงสาเหตุหรือที่มาของการเกิดฟันสึกกร่อนได้ ดัชนีที่ใช้ศึกษาฟันสึกกร่อนมีหลายดัชนี แต่ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในการศึกษาต่างๆ คือ ดัชนีบ่งชี้ภาวะฟันสึกกร่อนของ Lussi และดัชนีฟันสึกของ Smith และ Knight

ดัชนีบ่งชี้ภาวะฟันสึกกร่อนของ Lussi จำแนกรอยโรคออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านแก้ม (Buccal) ด้านบดเคี้ยว (Occlusal) และด้านลิ้น (Lingual) การจัดระดับคะแนนของด้านแก้มจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับตามความรุนแรง ได้แก่
• ระดับ 0 หมายถึง ไม่มีการเกิดฟันสึกกร่อน
• ระดับ 1 หมายถึง การสึกกร่อนเกิดขึ้นในชั้นเนื้อฟัน
• ระดับ 2 และ 3 จะเป็นการสึกกร่อนในชั้นเนื้อฟัน ถ้ารอยโรคลุกลามน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของความหนาของชั้นเนื้อฟันจะเป็นระดับ 2 แต่ถ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของความหนาของเนื้อฟันจะเป็นระดับ 3
ด้านบดเคี้ยว และด้านลิ้น แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 0, 1 และ 2 ซึ่งการเกิดฟันสึกกร่อนในชั้นเนื้อฟันจะไม่แบ่งระดับคะแนนออกเป็น 2 และ 3 เหมือนด้านแก้ม เมื่อรอยโรคลุกลามถึงชั้นเนื้อฟันจะถูกจัดระดับคะแนนเป็นระดับ 2

ดัชนีฟันสึกของ Smith และ Knight มีความแตกต่างจากดัชนีบ่งชี้ภาวะฟันสึกกร่อนของ Lussi คือ เพิ่มด้านคอฟัน (Cervical) อีก 1 ด้าน แยกออกจากด้านแก้ม และจัดระดับความรุนแรงออกเป็น 5 ระดับ จาก 0 ถึง 4 ได้แก่
• ระดับ 0 หมาย ถึงไม่มีฟันสึก
• ระดับ 1 เป็นการสึกในชั้นเคลือบฟัน
• ระดับ 2 และ 3 เป็นการสึกในชั้นเนื้อฟัน ถ้าการลุกลามของรอยโรค น้อยกว่าหนึ่งในสามของความหนาของเนื้อฟัน จัดเป็นระดับ 2 แต่ถ้ารอยโรคลุกลามมากกว่าหนึ่งในสามของความหนาของเนื้อฟันจัดเป็นระดับ 3
• ระดับ 4 เป็นการสึกถึงชั้นโพรงประสาท

การรายงานความรุนแรงของฟันสึกจะรายงานเป็นการสึกที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับไม่ได้ ซึ่งมีเกณฑ์ คือ
1. สึกถึงชั้นเนื้อฟันทางด้านแก้ม และลิ้น
2. สึกจนเห็นเป็นรอยบากชัดเจน
3. สึกเป็นรอยหวำที่ด้านตัด และด้านบดเคี้ยว
4. สึกทะลุโพรงประสาทฟัน ฟันตาย และไม่ตอบสนองต่อการทดสอบ (Vitality test) มีการสึกที่ขากรรไกรด้านใดด้านหนึ่งมากกว่า ฟันไม่สัมผัสกันในขณะที่เยื้องขากรรไกร (Excursion) วัสดุบูรณะมีการยกตัวสูงขึ้นกว่าผิวฟัน มีอาการเสียวฟัน และมีการสูญเสียความสูงของตัวฟัน ทำให้ฟันไม่ได้สัดส่วน

ทั้งนี้ ในแต่ละกลุ่มอายุจะมีการกำหนดระดับความรุนแรงที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับแตกต่างกันออกไป ในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากจะมีระดับคะแนนที่มีการสึกในเกณฑ์ที่ยอมรับไม่ได้สูงกว่า ยกตัวอย่างเช่น การสึกที่ด้านคอฟันของฟันกรามน้อยล่าง (Premolar) ในกลุ่มอายุ 26 – 35 ปี ระดับ 1 จัดว่าถืออยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับไม่ได้แล้ว ในขณะที่กลุ่มอายุ 46 – 50 ปี ต้องสึกถึงระดับ 2 จึงจัดว่าเป็นเกณฑ์ที่ยอมรับไม่ได้ และสมควรได้รับการรักษา ป้องกันไม่ให้รุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ดัชนีฟันสึกที่ใช้ของ Smith และ Knight จะรวมฟันสึกกร่อน ฟันสึกจากการบดเคี้ยว ฟันสึกจากการขัดสี หรือทุกอย่างรวมกันในขณะที่ดัชนีของ Lussi จะหมายถึงฟันสึกกร่อนเท่านั้น อย่างไรก็ตามดัชนีฟันสึกของ Smith และ Knight เหมาะสำหรับการศึกษาภาพรวมของการเกิดฟันสึกในกลุ่มประชากร ในกรณีที่ต้องศึกษาแยกเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดฟันสึกกร่อนควรใช้ดัชนีบ่งชี้ฟันสึกกร่อนโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการติดตามการดำเนินของรอยโรค หาสาเหตุ และหยุดยั้งการลุกลามของรอยโรคไม่ให้รุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ความชุกฟันสึกกร่อน
การเกิดฟันสึกกร่อน พบว่า มีภาวะฟันสึกกร่อนมากขึ้นในผู้ป่วยที่อายุมาก โดยการศึกษาของ Lussi และคณะ ที่สำรวจสภาวะฟันสึกกร่อนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ผู้ป่วยอายุ 26 – 30 ปี มีฟันสึกกร่อนถึงชั้นเนื้อฟันที่ด้านแก้ม ร้อยละ 7.7 ที่ด้านบดเคี้ยว ร้อยละ 29.9 และพบฟันสึกกร่อนเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยอายุ 46 – 50 ปี มีฟันสึกกร่อนถึงชั้นเนื้อฟันที่ด้านแก้มร้อยละ 13.2 ด้านบดเคี้ยว ร้อยละ 42.6

การศึกษาของ Smith และ Robb สำรวจประชากร 1007 คนในประเทศอังกฤษโดยใช้ดัชนีชี้วัดฟันสึกของ Smith และ Knight พบว่า ในกลุ่มอายุ 15 – 26 ปี มีฟันสึกในเกณฑ์ที่ยอมรับไม่ได้ ร้อยละ 5.7 และเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 8.2 ในกลุ่มอายุ 56 – 65 ปี

การศึกษาของพงศ์ทิพจักร และคณะ ได้สำรวจฟันสึกในประชากรภาคใต้ของประเทศไทยโดยใช้ดัชนีชี้วัดฟันสึกของ Smith และ Knight พบความรุนแรงของฟันสึกเพิ่มขึ้นในกลุ่มตัวอย่างประชากรที่มีอายุมาก ด้านบดเคี้ยวมีความรุนแรงของการศึกสูงสุด รองลงมาคือ ด้านคอฟัน ด้านลิ้น และด้านแก้ม ตามลำดับ

นอกจากการพบฟันสึกกร่อนในวัยผู้ใหญ่แล้ว ประชากรในวัยเด็กก็พบอุบัติการณ์ในการเกิดฟันสึกกร่อนเช่นกัน จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพในประเทศอังกฤษ โดย O’Brien พบว่า จากประชากรในวัยเด็กจำนวน 17,061 คน มากกว่าครึ่งของประชากรเด็กในกลุ่มอายุ 5 – 6 ปี มีฟันสึกกร่อน และในจำนวนนี้มีฟันน้ำนมร้อยละ 25 มีการสึกกร่อนถึงชั้นเนื้อฟัน

การศึกษาของ Milosevic และคณะ ในเด็กอายุ 14 ปีขึ้นไป จำนวน 1,935 คน ในเมืองลิเวอร์พูลประเทศอังกฤษ พบฟันสึกกร่อนถึงชั้นเนื้อฟันในบริเวณปลายฟันหน้าร้อยละ 30 ด้านบดเคี้ยว และด้านลิ้นพบร้อยละ 8

อาหารกับการเกิดฟันสึกกร่อน
อาหารเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำให้เกิดฟันสึกกร่อน และทำให้การลุกลามของรอยโรคดำเนินไปได้มากขึ้น อาหารที่ทำให้เกิดฟันสึกกร่อนมีหลายชนิด ได้แก่ ผลไม้ และน้ำผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล มะนาวสับปะรด เครื่องดื่มอัดลม เช่น โค้ก และเป็ปซี่ รวมไปถึงไวน์ และผลไม้ที่หมักหรือดอง เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีระดับความเป็นกรดสูง เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้สภาวะกายในช่องปากมีความเป็นกรดสูงขึ้น นั่นคือ ค่าความเป็นกรด – ด่างลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงค่าความเป็นกรด – ด่างวิกฤติของผลึกไฮดรอกซีอะพาไทต์ในชั้นเคลือบฟัน จากนั้น แร่ธาตุในผลึกจะแตกตัวมากขึ้น ทำให้ผิวฟันถูกทำลายเป็นชั้นๆ

การประเมินความสามารถของอาหารที่ทำให้เกิดฟันสึกกร่อน ในอดีตใช้การวัดระดับค่าความเป็นกรด – ด่างของอาหาร แต่ต่อมาพบว่าค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่วัดได้แสดงเฉพาะปริมาณไฮโดรเจนไอออน (H+) เท่านั้น ชนิดของกรดเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นำมาพิจารณา

โดยทั่วไปกรดอินทรีย์ที่อยู่ในผลไม้จะมีมากถึง 23 ชนิด แต่ที่จะเด่นชัดมี 3 ชนิด คือ กรดมาลิก (Malic acid) พบในแอปเปิ้ลแอปปริคอท กล้วย เชอรี่ องุ่น ส่วนกรดซิทริก (Citric acid) พบในมะนาว ส้ม ลูกเกด สับปะรด สตอเบอรี่ และกรดทาทาริก พบในองุ่น

กรดซิทริกทำให้แคลเซียมละลายตัวออกจากผลึกไฮดรอกซีอะพาไทต์ มากกว่ากรดมาลิก และทาร์ทาริก ทั้งที่ระดับค่าความเป็นกรด – ด่างใกล้เคียงกัน ในปัจจุบันมีการใช้ค่าไทเทรตเทเบิลอะซิดิที้เพื่อประเมินความสามารถของอาหารในการทำให้เกิดการสึกกร่อนกันอย่างแพร่หลาย การหาค่าไทเทรตเทเบิลอะซิดิที้ จะใช้สารละลายที่มีความเป็นด่างสูงมาปรับลดความเป็นกรดของอาหารลง ปริมาณด่างทั้งหมดที่ใช้จะเป็นค่าไทเทรตเทเบิลอะซิดิที้ ถ้าอาหารชนิดใดมีค่าไทเทรตเทเบิลอะซิดิที้สูง แสดงว่ามีความสามารถในการทำให้เกิดฟันสึกกร่อนสูงด้วยเช่นกัน

ปัจจัยทางชีวภาพการเกิดฟันสึกกร่อน
ภายหลังจากที่สภาวะความเป็นกรด – ด่างภายในช่องปากถูกรบกวนจากกรดที่มาจากทั้งปัจจัยภายใน และภายนอก ก่อนที่กรดจะสัมผัสกับผิวฟัน และมีการดำเนินของรอยโรคตามกระบวนการเกิดฟันสึกกร่อน ในแต่ละบุคคลจะมีปัจจัยทางชีวภาพที่ช่วยป้องกันไม่ให้กรดสามารถทำลายพื้นผิวฟัน และในทางตรงกันข้ามปัจจัยทางชีวภาพบางอย่างกลับส่งเสริมให้เกิดฟันสึกกร่อนได้มากขึ้นส่งผลให้ฟันสึกกร่อนมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ปัจจัยทางชีวภาพที่กล่าวถึงประกอบไปด้วย
1. องค์ประกอบ และโครงสร้างของฟัน ฟันที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุสะสมในฟันในปริมาณมากจะสูญเสียแร่ธาตุได้ยาก หรือผลึกฟลูออโรอะพาไทด์สามารถต้านทานการสึกกร่อนได้ดีกว่าไฮดรอกซี่อะพาไทด์
2. รูปร่างของฟัน และการสบฟัน รูปร่าง ความอูมนูน และตำแหน่งที่นูนเด่นในช่องปากจะทำให้เป็นจุดที่สัมผัสกับเครื่องดื่มขณะดื่มหรือกลืนทำให้ฟันสึกกร่อนได้ง่าย การสบฟันจะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ฟันสึกกร่อนจากกรดมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อมีฟันสึกจากการบดเคี้ยวร่วมด้วย และในผู้ป่วยที่นอนกัดฟันหรือมีการกัดเค้นฟันเวลาเครียดจะส่งเสริมให้เกิดฟันสึกกร่อนจากกรดได้ง่ายเช่นกัน
3. รูปร่างของเนื้อเยื่ออ่อนและการเคลื่อนไหว พบว่า ด้านเพดานของฟันหน้าบนเป็นตำแหน่งที่มีฟันสึกกร่อนมากที่สุด และเป็นตำแหน่งที่ลิ้นมีการสัมผัสมากเช่นกัน ซึ่งตำแหน่งที่ลิ้นมีการสัมผัสกับฟันเป็นตำแหน่งที่มีแนวโน้มที่จะเกิดฟันสึกกร่อนจากการขัดสีได้ง่าย
4. คุณสมบัติและองค์ประกอบของน้ำลาย เป็นปัจจัยทางชีวภาพที่สำคัญในการบ่งบอกถึงความสามารถในการต้านทานต่อการเกิดฟันสึกกร่อนของแต่ละบุคคลเนื่องจากน้ำลายมีบทบาทหน้าที่หลายอย่างในการปกป้องพื้นผิวไม่ให้มีการสูญเสียแร่ธาตุ และลดความรุนแรงของกรดลงไม่ให้ทำอันตรายต่อฟัน

วิธีป้องกันฟันสึกกร่อน
1. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด อาทิ น้ำอัดลม ผลไม้ดอง เป็นต้น รวมถึงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะนาว แอปเปิ้ล มะยม มะขาม เป็นต้น

2. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิดที่เป็นกรด อาทิ ยาเสริมธาตุเหล็ก วิตามินซี และยาแอสไพรินชนิดกรดอะเซติลซาริไซริก เป็นต้น

3. หลีกเลี่ยงภาวะความเครียด