มะเร็งกระดูก (Bone Tumor) หมายถึง เซลล์มะเร็งที่มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติจากเซลล์กระดูกจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง พบได้บ่อยในเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ตอนต้น และวัยผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของกลไกการเกิดโรค
ชนิดมะเร็งกระดูก
1. มะเร็งปฐมภูมิกระดูก
เป็นมะเร็งกระดูกที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์กระดูกเป็นต้นกำเนิดจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งลุกลาม และแพร่กระจายภายในกระดูก เรียงจากการเกิดมากไปหาน้อย คือ
1. มะเร็งกระดูกออสทิโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด โดยพบในเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
2. มะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคมา (Ewing’s sarcoma)
3. มะเร็งกระดูกคอนโดรซาร์โคมา (Chondrosarcoma)
4. มะเร็งเนื้อเยื่อไฟบรัสของกระดูก (Malignant fibrous histiocytoma of the bone)
2. มะเร็งทุติยภูมิ
เป็นมะเร็งกระดูกที่เกิดจากเซลล์มะเร็งจากอวัยวะที่เป็นต้นกำเนิดอื่นนอกกระดูก แล้วแพร่กระจายเข้ามาในเซลล์กระดูก ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
การผลิตเซลล์กระดูกจะอาศัยเซลล์มีเซนไคน์ (mesenchyme) ที่เจริญมาจากเนื้อเยื่อชั้นมีโซเดิร์ม (mesoderm) โดยเมื่อร่างกายเจริญเติบโตเซลล์นี้จะเจริญไปเป็นเซลล์กระดูก และเซลล์เนื้อเยื่อที่อยู่รอบกระดูกได้แก่ เซลล์กล้ามเนื้อลาย (striated muscle cells), เซลล์กล้ามเนื้อเรียบ (smooth muscle cells), เซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(connective tissue), เซลล์ไขมัน (fat cells), เซลล์สร้างกระดูกออสทิโอบลาส (osteoblast), เซลล์สร้างกระดูกอ่อน(chondroblast), เซลล์สร้างเยื่อหุ้มเส้นประสาท (nerve sheath), เซลล์สร้างผนังหลอดเลือด (vessel wall), เซลล์ไขกระดูก (reticulum) และ เซลล์เยื่อหุ้มข้อ(synovium)
เซลล์กระดูกประกอบด้วย
– เซลล์ชนิดออสทิโอบลาส (osteoblast) ทำหน้าที่สร้างเซลล์กระดูก โดยการผลิตสารเมทริกซ์ต่างๆ มีการสร้างสารคล้ายกระดูก เรียกว่า ออสทิออยด์ (osteiod) สร้างโปรตีนสารคอลลาเจน (collagen) และสารพื้น (ground substance)
– เซลล์ชนิดออสทิโอคลาส (osteoclast) ทำหน้าที่สลายกระดูก และเกลือแร่ที่อยู่ในกระดูก
– เซลล์ชนิดออสทิโอไซด์ (osteocyte) ทำหน้าที่ในการปรับความสมดุลระหว่างการสร้าง และการสลายของเซลล์กระดูก
กลไกการเกิดโรคมะเร็งกระดูก
โรคมะเร็งกระดูกเกิดในระยะแบ่งตัวของเซลล์เริ่มต้นที่มีความผิดปกติ คือ เซลล์ชนิดมีเซนไคน์ ที่เจริญไปเป็นเซลล์กระดูก เซลล์กระดูกอ่อน และเซลล์ไขกระดูก สำหรับสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ เมื่อเซลล์กระดูก เซลล์กระดูกอ่อน และ เซลล์ไขกระดูกมีการแบ่งตัวผิดปกติจะทำให้เซลล์ดังกล่าวมีการสร้างสารระหว่างเซลล์ (intercellular ground substance) อย่างผิดปกติ เช่น
– มะเร็งกระดูกชนิดออสทิโอซาร์โคมา มีเซลล์กระดูกชนิดออสทิโอบลาสทำหน้าที่สร้างสารออสทิออยด์ ออกมามากกว่าปกติ ทำให้เซลล์กระดูกถูกทำลาย และจะเกิดเกลือมีลักษณะเฉพาะ
– มะเร็งกระดูกอ่อนจะมีเซลล์คอนโดรบลาส (chondroblast) ทำหน้าที่สร้างเซลล์กระดูกอ่อนอย่างผิดปกติ
– มะเร็งในไขกระดูกเกิดจากความผิดปกติในการแบ่งตัวของเซลล์ไขกระดูก (reticulum) ทำเกิดความผิดปกติของการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ
การแบ่งตัวของมะเร็งกระดูกที่มีความผิดปกติจะทำให้เกิดการทำลายของเซลล์กระดูก โดยสามารถมองเห็นได้จากการถ่ายภาพรังสี มีลักษณะ 3 แบบ คือ
1. การทำลายเซลล์กระดูกมีขอบเขตอย่างชัดเจนแตกต่างกับลักษณะกระดูกที่ปกติ
2. การทำลายเซลล์กระดูกที่มีมากกว่าหนึ่งแห่ง ไม่สามารถแบ่งขอบเขตได้อย่างชัดเจน
3. การทำลายเซลล์กระดูกที่ไม่สามารถแบ่งขอบเขตได้ อัตราการทำลายกระดูกรวดเร็ว และมีความรุนแรง
ผลจากการทำลายเซลล์กระดูกทำให้มวลกระดูกบางลง ทำให้เป็นเป็นสาเหตุเกิดกระดูกหักง่าย เนื่องจากกระดูกมีการสร้างเยื่อหุ้มกระดูกที่มีลักษณะแตกต่างกัน สามารถมองเห็นได้จากภาพถ่ายรังสี เช่น มะเร็งกระดูกชนิดออสทิโอซาร์โคมา สามารถมองเห็นกระดูกบริเวณที่เกิดเซลล์มะเร็งเป็นรูปคล้ายแสงพระอาทิตย์ (sunrays)
นอกจากนี้มะเร็งกระดูกชนิดออสทิโอซาร์โคมายังมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปตามเนื้อเยื่อได้อย่างรวดเร็ว ตำแหน่งที่มีการแพร่กระจายมากที่สุด คือ ปอด และกระดูกต่างๆในร่างกาย
อาการโรคมะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูกชนิดออสทิโอซาร์โคมาเป็นมะเร็งที่เกิดมากที่สุด และเกิดในเด็ก วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี มีอาการ คือ อาการปวดกระดูกในเวลากลางคืน และการบวมหรือมีก้อนตามแขนหรือขา พบมากบริเวณกระดูกท่อนยาว ได้แก่ กระดูกขาท่อนบนใกล้หัวเข่า (distal femur) กระดูกแขนท่อนบนส่วนต้น (proximal humerus) และกระดูกทิเบียส่วนต้น (proximal tibia) ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างจำกัด ก้อนมะเร็งมีมีขนาดใหญ่ เกิดเป็นแผลเรื้อรัง และมีการตายของเนื้อเยื่อ เมื่อถ่ายภาพรังสีวินิจฉัยจะพบว่ามีมวลกระดูกบางลงจากมวลกระดูกถูกทำลาย
การรักษาโรคมะเร็งกระดูก
การรักษามะเร็งกระดูก มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการกลับเป็นซ้ำเฉพาะที่ และควบคุมการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ทำให้ร่างกายทำหน้าที่ได้ตามปกติ และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้มากที่สุด
วิธีการรักษามะเร็งกระดูก ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี และการใช้เคมีบำบัด โดยมะเร็งกระดูกชนิดออสทิโอซาร์โคมา ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด พบว่า อัตราการรอดชีวิตในระยะ 5 ปี ของผู้ป่วยในระยะที่มะเร็งยังไม่แพร่กระจายมีประมาณ ร้อยละ 20-60 สำหรับอัตราการรอดชีวิตในระยะ 5 ปี ของผู้ป่วยในระยะที่มีแพร่กระจาย ประมาณ ร้อยละ 40
การรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นวิธีการผ่าตัดเพื่อตัดเอาก้อนมะเร็งออกให้มากที่สุด และพยายามรักษาอวัยวะไว้ให้มากที่สุด แบ่งการผ่าตัดออกเป็น 4 ชนิด คือ
1. การตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก เป็นวิธีการรักษาผ่าตัดเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (intracapsularexcision)
2. การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกถึงขอบภายนอก (marginal excision) การผ่าตัดชนิดนี้ไม่สามารถเอาก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมด โดยยังเหลือก้อนมะเร็งบางส่วนอยู่ ทำให้มีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งขึ้นมาใหม่ได้
3. การผ่าตัดถึงเนื้อเยื่อปกติ โดยผ่าตัดถึงขอบเขตเซลล์ปกติที่ห่างจากขอบของก้อนมะเร็ง 3-5 เซนติเมตร (wide excision) การผ่าตัดชนิดนี้ ทำให้เซลล์มะเร็งถูกผ่าตัดออกได้ทั้งหมด ทำให้มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำน้อยมาก
4. การผ่าตัดก้อนมะเร็ง และอวัยวะร่างกายทั้งหมดที่มีก้อนมะเร็งออก (radical excision) เช่น การตัดแขนหรือขา (amputation) ในระดับต่างๆ
ผู้ป่วยมะเร็งกระดูก และมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด มักมีอาการเหนื่อยล้าซึ่งจะเกิดอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 2 ปี หรือมากกว่า หลังการผ่าตัด โดยอาการเหนื่อยล้าของผู้ป่วยที่หายแล้ว ในระยะ 1-2 ปี คิดเป็น 43% ในระยะ 4-5 ปี คิดเป็น 21% ทั้งนี้ อาการเหนื่อยล้าจะมีความสัมพันธ์กับปัจจัยด้านร่างกาย ภาวะอารมณ์ และความทุกข์ด้านจิตใจ
การรักษาด้วยรังสีรักษา จะพิจารณาสำหรับรักษาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หรือใช้เสริมการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง โดยการใช้รังสีมีบทบาทแบบประคับประคองอาการ ช่วยลดขนาดก้อนมะเร็ง บรรเทาความเจ็บปวด และเพื่อลดอาการข้างเคียง
การรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัด แบ่งเป็น 4 วิธี คือ
1. การรักษาด้วยเคมีบำบัดก่อนการรักษาด้วยวิธีอื่น (neoadjuvant chemotherapy) เพื่อให้เคมีบำบัดเข้าทำลายก้อนมะเร็งให้มีขนาดเล็กลง ทำให้ให้การรักษาด้วยการผ่าตัดได้ผลดีขึ้น และช่วยลดความพิการหลังการผ่าตัด
2. การรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัดหลังการรักษาด้วยวิธีอื่น (adjuvant chemotherapy) เพื่อควบคุม และกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจเหลืออยู่เสริมการรักษาจากวิธีอื่น เช่น การใช้เคมีบำบัดหลังการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิต และลดการกลับเป็นซ้ำของโรค
3. การรักษาด้วยเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งในระยะการแพร่เป็นวิธีแรก (induction chemotherapy) เพื่อลดการแพร่กระจาย และเพิ่มอัตราการมีชีวิตรอดที่นานขึ้น
4. การรักษาด้วยเคมีบำบัดเฉพาะตำแหน่ง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะที่ (regional chemotherapy) เช่น การใช้เคมีบำบัดในหลอดเลือดแดงของผู้ป่วยมะเร็งกระดูกชนิดออสทิโอซาร์โคมา
หลักการรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัดในผู้ป่วยมีวัตถุประสงค์ของการรักษา คือ
1. เพื่อควบคุมการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งไปสู่อวัยวะอื่น
2. เพื่อชะลอการตัดอวัยวะ และรักษาอวัยวะไว้ให้นานที่สุด
3. เพื่อส่งเสริมการรักษาจากวิธีอื่น เช่น การผ่าตัด เนื่องจากเคมีบำบัดสามารถทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง
4. เพื่อประเมินการตอบสนองต่อเคมีบำบัด และใช้เป็นแนวทางการรักษาต่อไป