ยุง (mosquito) จัดเป็นแมลงพาหะนำโรคหลายชนิด อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเลีย โรคเท้าช้าง โรคเด็งกิ และโรคไข้สมองอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข ประกอบด้วยยุงที่สำคัญ ได้แก่ ยุงลาย ยุงก้นปล่อง ยุงรำคาญ และยุงเสือ
ยุง เป็นแมลง 2 ปีก หนวดยาวมีจำนวน 13 ปล้อง เส้นปี และขอบปีกด้านท้าย ( posterior margin of wing ) ปกคลุมด้วยเกร็ด ( scales ) ปากเป็น proboscis ยาว
ยุงอยู่ใน family Culicidae ยุงมี 300 species 140 family แบ่งออกเป็น 3 subfamily คือ
1. Anophelinae
2. Culicinae
3. Toxorhynchitinae
วงจรชีวิต
วงจรชีวิตยุงประกอบด้วย 4 ระยะ ได้แก่
1. ตัวเต็มวัย ( adult/imago)
ยุงตัวเต็มวัยที่ฟักออกจากดักแด้จะเอาส่วนหัวออกจากรอยแตกด้านหลังของ cephalothorax ใช้เวลาการฟักเพียง 2-3 ชั่วโมง เมื่อออกจากคราบแล้วจะพักตัวชั่วครู่ให้ปีกแห้ง แล้วจึงบิน โดยยุงตัวเมียที่ฟักตัวแล้วจะกินเลือดภายใน 24 ชั่วโมง
2. ไข่ยุง ( egg )
ยุง อาจวางทีละฟอง ( Aedes และ Anopheles) เป็นแพ หรือ raft ( Culex, Coquilletidia และ Culiseta ) เป็นกลุ่มคล้ายดอกไม้ cluster ( Mansonia ) จำนวนไข่แต่ละครั้ง 51-150 ฟอง จำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาด และชนิดของเลือดที่กิน
ตลอดชีวิตของยุงจะออกไข่หลายครั้ง ภายใน 2-4 วัน ไข่ของ Anopheles, Culex และ Mansonia เมื่อถึงเวลา ถ้าไม่แช่น้ำ ตัวลูกน้ำภายในไข่จะตาย แต่ไข่ของยุงลาย ตัวอ่อนภายในจะไม่ตาย อยู่ได้เป็นปี เมื่อนำมาแช่น้ำจะฟักตัวเป็นลูกน้ำได้ ยุงในเขตหนาวออกไข่ 1 ครั้ง ไข่จะฟักตัวเมื่อหิมะละลาย โดยในเขตร้อนบริเวณน้ำท่วม เมื่อยุงออกไข่แล้วจะฟักตัวไม่พร้อมกัน โดยส่วนมากไข่จะฟักตัวในคราวน้ำท่วมครั้งแรก แต่ไข่บางฟองจะฟักตัวในคราวน้ำท่วมครั้งต่อไป
3. ลูกน้ำ ( larva/wrigglers )
ลูกน้ำมี 4 ระยะ จากการลอกคราบ ( moult, cast, pelt ) 4 ครั้ง กลายเป็นดักแด้ ไม่กินอาหาร ใช้เวลา 1-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ อาหาร และชนิดของยุง โดยลูกน้ำหายใจเอาอากาศเข้าทางรูเปิดที่ท่อปากดูด (siphon) แต่บางชนิดหายใจทางผิวหนัง
ลูกน้ำยุงเสือใช้ท่อปากดูดเจาะในรากพืชดึงเอาออกซิเจนจากพืชมาใช้ สำหรับ gill ไม่ใช้หายใจ แต่ใช้บังคับ แรงดันของตัวลูกน้ำ โดยเป็นตัวดูด chloride เข้าออก ดังนั้น ยุงน้ำกร่อยจะมีเหงือกใหญ่
4. ดักแด้ ( pupa/tumblers )
ดักแด้ประกอบด้วยส่วน cephalothorax และ abdomen มี paddle ท่อหายใจอยู่บริเวณอก ไม่กินอาหาร ใช้เวลา 2-3 วัน กลายเป็นตัวเต็มวัย
อายุขัยของยุง ( Longevity )
ตามปกติยุงตัวผู้มีอายุ 6-7 วัน แต่ถ้าให้อาหารพวกคาร์โบไฮเดรตอย่างเพียงพอ และมีความชื้นสูงจะชีวิตได้นาน 30 วัน ยุงตัวเมียอาจมีชีวิตได้ 4-5 เดือน โดยเฉพาะถ้าจำศีล (hibermation ) โดยยุง Aedes sticticus Meigen มีชีวิตได้ถึง 104 วัน และ Aedes vexans Meigen มีชีวิตได้ถึง 113 วัน
ลักษณะนิสัย
แหล่งเพาะพันธุ์ แบ่งได้ ดังนี้
1. น้ำไหล ได้แก่ ยุงก้นปล่อง Anopheles minimus อยู่บริเวณริมลำธาร มีน้ำไหลเอื่อย มีต้นหญ้าขึ้น
2. น้ำนิ่ง
– มีน้ำถาวร ได้แก่ ยุงก้นปล่อง และยุง Culicine พวกที่ไม่ใช่ Aedes
– มีน้ำอยู่ชั่วคราว ได้แก่ ยุง Aedes
– น้ำในรูปู แอ่งหิน บ่อ น้ำซับ ได้แก่ Culicine และ Anopheline
3. น้ำในภาชนะรับน้ำจากคนทำขึ้น โพรงไม้ กระบอกไม้ไผ่ โคนก้านกล้วย หรือสับปะรด หรือต้น
Abacca ที่เก็บน้ำระหว่างต้นกับก้าน (axil) หม้อข้าวหม้อแกงลิง (pitcher) กลีบดอกไม้ bract, spathes ใบไม้ร่วง กะลามะพร้าว เปลือกหอย ถ้วย กระป๋อง ยางรถยนต์เก่า โอ่งน้ำ ยุงพวกนี้ ได้แก่ Toxorhynchites, Anopheles subgenus, Kerteszia, Sabethine และยุง Aedes
แหล่งเพาะพันธุ์ยุง Aedes aegypti ไข่ในน้ำสะอาดในภาชนะ, ยุง Culex quinquefasciatus วางไข่ ในน้ำเน่ามีอินทรีย์สูง, ยุง Mansonia ไข่บนพืชน้ำ เช่น จอกหูหนู แหน ผักตบชวา, ยุง Anopheles minimus ไข่ในลำธารมีน้ำไหลเอื่อยๆ ตรงบริเวณที่มีต้นหญ้าอยู่, ยุง Anopheles sundaicus เพาะพันธุ์ในน้ำกร่อย และ ยุง Aedes australis และ Aedes detritus พบในน้ำทะเล
การหาอาหาร
ยุงตัวผู้ และยุงตัวเมีย กินน้ำหวานจากพืช ส่วนใหญ่เป็นดอกไม้หรือน้ำผึ้งเพื่อใช้สร้างพลังงาน ส่วนยุง Malaya jacobsoni มีวิวัฒนาการมากขึ้น โดยอาศัยอาหารจากปากมด Crematagaster ซึ่งหากินอยู่ตามหน่อไม้ไผ่ ยุงพวกนี้ จะคอยอยู่ตามเส้นทางที่มดจะเดินกลับลงมาแล้วใช้ proboscis ยื่นเข้าไปดูดอาหารจากปากมด
ยุงตัวเมียโดยทั่วไปต้องกินเลือด เนื่องจาก โปรตีนในเลือดมีความสำคัญในการสร้างไข่ และใช้เป็นพลังงานเลือดนี้ได้จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือ สัตว์เลื้อยคลาน ยุงบางพวกไม่กินเลือดก็ออกไข่ได้ เนื่องจาก มีการใช้อาหารที่สะสมไว้ในตัวในการสร้างไข่รุ่นแรก ยุงพวกนี้ เรียกมี autogeny เช่น ยุง Culex molestus ยุง Aedes togoi ในมาเลเซีย และไทย
ยุงกินเลือดมากกว่าน้ำหนักตัว 1- 1.5 เท่า น้ำที่เป็นองค์ประกอบในเลือดจะถูกกำจัดออก โดยยุง Aedes aegypti จะขับน้ำออกมาทางก้นภายใน 5-15 นาที ประมาณ 1.5 ลูกบาศก์มิลลิลิตร หรือ 2-3 หยด แรกๆเป็นกรดยูริก และต่อมาเป็นนินอดรินปฏิกิริยาบวก นอกจากนั้น เป็นเม็ดเลือดแดง สิ่งที่ขับถ่ายนี้มาจาก Malpighian tubules ส่วนยุงก้นปล่อง จะมีเลือดออกจากก้นเลย ปริมาณเลือดที่กินเมื่อคำนวณโดยใช้สารรังสีไอโซโทป Cerium ใส่ปนไปในอาหารของยุง Aedes aegypti ได้ค่าเฉลี่ย 4.2 ลูกบาศก์มิลลิเมตร เพิ่มจากคำนวณตามปกติ 2.5-2.7 ลูกบาศก์มิลลิเมตร และมีของเหลวถูกขับออก 1.5 ลูกบาศก์มิลลิเมตร ส่วนยุง Culex quiquefasciatus กินเลือดไก่ได้ 10.2 ลูกบาศก์มิลลิเมตร ทั้งนี้ อาหารพวกคาร์โบไฮเดรตถูกย่อยใน diverticula ส่วนโปรตีนถูกย่อยใน mid gut
ยุงกินเลือดคนเรียกเป็น anthropophilic ถ้ากินเลือดสัตว์เรียก zoophilic ยุงที่มีนิสัยกัดคนในบ้านเรียก endophagic ถ้ากัดคน และสัตว์นอกบ้านเรียก exophagic ยุงที่กัดในบ้านหลังกินเลือดแล้วบางชนิดก็พักอยู่ในบ้าน (resting) เพื่อรอให้ไข่สุกแล้วจึงบินออกวางไข่ พวกนี้เรียก endophilic ส่วนยุงที่กัดนอกบ้านจะเกาะพักบริเวณนอกบ้านตามใบไม้ ใบหญ้า พงไม้ หรือตามรอยดินแยก เรียกยุงพวกนี้ว่า exophilic ส่วนยุงลาย aegypti ชอบกินเลือดคนก็มีวิวัฒนาการปรับนิสัยเข้ามาอยู่อาศัยใกล้ชิดกับคน วางไข่ในภาชนะต่างๆที่มีน้ำขัง ซึ่งส่วนมากเป็นภาชนะที่มีใช้กันตามบ้านที่อยู่อาศัย และบริเวณรอบรอบบ้าน
นิสัยของยุงอาจเปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างในกรณียุงก้นปล่องชนิดที่เป็นพาหะของไข้มาลาเรียชนิดที่1 ซึ่งเป็นพวกกัดคนในบ้าน (indoor) และเมื่อกินเลือดแล้วยังเกาะพักเพื่อรอให้ไข่สุกภายในบ้านเมื่อใช้ยาฆ่าแมลงพ่นในบ้านทำให้ยุงหมดไป มาลาเรียก็หายไป ในระยะนี้ มีการพัฒนาการเกษตรโดยใช้เครื่องจักรยานมากขึ้นประชาชนไม่ใช้แรง วัวควายบ้านเมืองเจริญเติบโตเร็วเป็นเมืองอุตสาหกรรมมีการขยายเมืองออกสู่ชนบท ยุงที่เป็นพาหะของไข้มาลาเรียชนิดที่2 เดิมจะพบเฉพาะกับสัตว์นอกบ้าน (outdoor) เมื่อขาดสัตว์ก็หันมากัดคน และกัดภายในบ้านในที่สุด
เวลาออกหากินของยุงแต่ละชนิดจะต่างกัน เช่น
– ยุงลาย aegypti และยุงลาย albopictus หากินเวลากลางวัน
– ยุงรำคาญ quiauefasciatus หากินเวลากลางคืนจนถึงเราราวๆเที่ยงคืน
– ยุงก้นปล่อง dirus ออกหากินเวลากลางคืน 21.00-03.00 นาฬิกา ในที่โล่ง และ 22.00-04.00 นาฬิกา ในตัวอาคาร ส่วนยุงก้นปล่อง minimus ออกหากินตลอดคืน และยุงก้นปล่อง maculatus ออกหากินเวลา 18.00 – 02.00 นาฬิกา
– ยุงเสือออกหากินในตอนหัวค่ำ 1 ชั่วโมง ( 18.00-19.00 นาฬิกา) และตอนใกล้รุ่งอีก 1 ชั่วโมง (04.00-05.00 นาฬิกา) เป็น crepuscular
– สำหรับ Ma.Africana เชื่อว่ายุ่งอายุน้อย และยุงอายุมาก ออกหากินในเวลาต่างกัน
การที่อยู่กับเป็นจังหวะหรือระยะ เชื่อว่า ยุงมีวงจรภายในที่เป็นจังหวะ (endogenous circadian ryhthms) ทำหน้าที่คล้ายนาฬิกาทางสรีระวิทยา และถูกกระตุ้นจากภายนอก โดยการเปลี่ยนแปลงของแสงจากกลางวันเป็นกลางคืน ยุงตัวเมียจะมีความถี่ในการออกหากินสูง และยุงตัวผู้ก็จะบินจับเป็นกลุ่ม (swarming) เพื่อรอผสมพันธุ์
การวางไข่
ยุงลายออกไข่มากน้อยเป็นจังหวะใน 24 ชั่วโมง (thythmical oviposition) โดยอาศัยจังหวะที่แสงลดน้อยลงในตอนเย็น โดยในวันที่กลางวันยาวกว่ากลางคืน และกลางวันสั้นกว่ากลางคืน ถ้ามีแสงตลอดจะออกไข่ไม่เป็น cycle แต่ถ้ามืดตลอดจะออกไข่เป็น cycle แสดงว่ามี endogenous cycle เมื่อถูกแสงครั้งหนึ่ง
ความสามารถในการบิน
ยุง Haemagogus บินได้ไกล 7-10 กิโลเมตร ยุงน้ำเค็มอาจบินได้ไกล 50 – 65 กิโลเมตร ยุง Aedes aegypti บินได้ 90 เมตร ยุง Culex quiquefasciatus บินได้ไกลกว่าเล็กน้อย และยุงก้นปล่องบินได้ 1-2 กิโลเมตร
นิสัยการผสมพันธุ์
ยุงที่ผสมพันธุ์ (mate) ในที่แคบ เช่น ในหลอดแก้วธรรมดา เรียกว่า stenogamy ตัวอย่างเช่น ยุง Aedes aegypti ตัวผู้บินไปหาตัวเมียตามเสียง ยุงพวกนี้เลี้ยงง่ายในห้องทดลอง พวกที่ผสมพันธุ์ในที่กว้าง เรียก eurygamy ตัวผู้รวมเป็นกลุ่มเป็น swarm แล้วตัวเมียบินเข้าไป เมื่อถูกผสมพันธุ์จะหล่นลงมา ส่วนความสำเร็จในการผสมพันธุ์ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของ genitilai male และความสูงของการผสมพันธุ์ ตัวอย่างเช่น ยุง Anopheles dirus , An. maculatus, An. Minimus และ Anopheles ส่วนใหญ่ (ยกเว้น Anopheles stephensi และ An. balabacensis Perlis from) พวกที่ผสมพันธุ์ในที่กว้าง ถ้าเลี้ยงในห้องทดลองต้องทำการผสมเทียม (artificial mating)
ลักษณะ
ตัวเต็มวัยขนาดเล็ก 3-6 มิลลิเมตร ประกอบด้วยส่วนหัวอก และท้องเห็นได้ชัดเจน
– ส่วนหัว มีขนาดเล็ก มีตาใหญ่หนึ่งคู่ และหนวดหนึ่งคู่ ซึ่งยาวมี 14-15
– ส่วนท้องแบ่งออกเป็นปล้องๆ ปล้องยุงตัวผู้หนวดดก (plumous) แต่ยุงตัวเมียหนวดไม่ดก (pilose) proboscis ยาว palpi ของ maxilae มี 4-5 ปล้อง ใช้แยกเพศตัวเมีย ยุงรำคาญ (Culicine) มี palpi สั้น แต่ตัวผู้มี palpi ยาว บางตัวปลายมีขนเหมือนไม้กวาด แต่ palpi ของยุงก้นปล่อง (Anopheline) ยาวทั้งสองเพศ และของเพศผู้ปลายเป็นกระบอง (club) เหนือตาเป็น vertex (broad decumbent scales) หรือเกล็ดแคบนอน (narrow decumbent scales) หรือเกล็ดตั้ง (erect scales)
ส่วนนอกประกอบด้วย 3 ส่วน คือ prothorax , mesothorax และ metathorax ในส่วนของ mesothorax จะมีปีก 1 คู่ และมีส่วนท้ายของ mesothorax และมี rudimentary wing อีก 1 คู่ ออกจาก metathorax เรียก haltere มีหน้าที่ในการทรงตัว และที่ส่วนท้ายของ mesothorax จะมีส่วนที่แยกออกมาเรียกว่า scutellum ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันในระหว่างยุงรำคาญ และยุงก้นปล่อง แต่ละส่วนของอกจะมีขาส่วนละ 1 คู่
ส่วนท้อง ปล้องท้องมี 8 ปล้อง ต่อจากปล้องที่ 8 มี paddle อัน ใช้ในการว่ายน้ำ เมื่อเอา pupa แผ่ออกมองจากหน้าไปหลังจะเห็น dorsal apotome นอกจากนั้น จะเห็นส่วนของ mesothoracic wing และส่วนของ mesothorax มี trumpet 1 คู่ ไว้หายใจ ซึ่งมีลักษณะต่างกันในแต่ละ genus
ความสำคัญทางการแพทย์
1. พาหะนำโรคมาลาเรีย
ยุงที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย คือ ยุงก้นปล่อง แบ่งเป็น
– แถบเอเชียใต้ ได้แก่ Anopheles balabacensis และ An. dirus, An. minimus, An. maculatus, An. sundaicus, An. umbrosus, An. leucosphyrus, An. aconitus, An. annularis, An. barbirostris group และ hyrcanus group
– บนเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ An. punctulatus complex
– ในอินเดีย และศรีลังกา ได้แก่ An. culicifacies
– เอเชียตะวันตก ได้แก่ An. stephensi, An. fluviatillis, An. pulcherrimus
– แอฟริกาใต้ ได้แก่ An. gambiae complex, An. funestus, An. moucheti, An. nill
– แถบเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่ An. labranchiae, An. sacharovi, An. sergenti, An. superpictus, An. pharoensis
– อเมริกากลาง และใต้ ได้แก่ An. psuedopunctipennis, An. bellator, An. cruzil, An. darlingi, An. aqusalis, An. albums, An. albitarsis, An. Nuneztovari
2. พาหะนำโรคเท้าช้าง
ยุงที่เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง Wuchereria bancrofti คือ ยุงลาย และรำคาญ โดยยุงรำคาญ ได้แก่ Culex quinquefasciatus ยุงลาย ได้แก่ Aedes polynesiensis ส่วนยุงที่เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง ชนิด Brugia malayi คือ ยุงก้นปล่อง และยุงเสือ
3. พาหะนำโรคไวรัส
ยุงที่เป็นพาหะนำโรคไวรัส โดยก่อโรคที่สำคัญ คือ ไข้เลือดออก และไข้สมองอักเสบ ประกอบด้วยยุงมากกว่า 150 ชนิด ที่สำคัญ ได้แก่ Aedeomyia, Aedes, Anopheles, Culex, Culiseta, Deinnocerites, Eretemapodite, Limatus, Mansonia, Psorophora, Sabethes, Trichoprosopon, Wyeomyia
4. ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการกัด เนื่องจากอาการแพ้น้ำลาย
ยุงชนิดต่างๆ
1. ยุงลาย (Aedes)
ยุงลายที่สำคัญอยู่ใน subgenus Stegomyia และ Finkaya
1. Subgenus Stegomyia ที่สำคัญ ได้แก่ Aedes aegypti, Aedes albopictus, Aedes seatoi, Aedes vittatus, Aedes scutellaris group
2. Subgenus Finlaya ได้แก่ Aedes poicillius และ Aedes niveus group Aedes harveyi เป็นยุงใน Aedes chrysolineatus group
ยุงลาย Aedes aegypti Linnaeus เป็นพาหะนำโรคจากไวรัส คือ ไข้เหลือง (yellow fever) ไข้เด็งกี ไข้เลือดออก (Dengue and Dengue hemorrhagic fever) และชิกุนกุนยา (Chikungunya) พบอาศัยอยู่ในเขตเส้นรุ้ง 40 องศาทั้งเหนือ และใต้ เป็นยุงลายที่มีพื้นลำตัวดำ มีแถบหรือคาดสีขาวหรือขาวเหลือง อกด้านบนมีลายคล้ายพิณ ( lyrelike) เส้นขาวนอก 2 เส้น โค้ง เส้นขาวขนานกัน 2 เส้น เหมือนเส้นพิณ ขามีปล้องขาว ขาหลังปลายปล้องสุดท้ายขาวหมด หัวมีเกล็ดกว้างแบนราบ มีเกล็ดเป็นส้อมตั้ง 1 แถวเท่านั้น
ยุงลายวางไข่ทีละฟองในภาชนะขังน้ำฝนหรือน้ำสะอาดต่างๆ ตรงระดับน้ำหรือบริเวณใกล้ๆ ในถังน้ำตุ่มน้ำ แจกัน ถ้วยรองตู้กับข้าว กระป๋องต่างๆ กะลามะพร้าว ยางรถยนต์ที่มีน้ำขัง หรือซอกก้านกล้วยที่มีน้ำขัง และอาจเพาะพันธุ์ในน้ำกร่อยได้
ไข่ยุงลายมีสีดำ วางไข่ครั้งละ 140 ฟอง ไข่ฟักตัวภายใน 4 วัน ไข่ทนความแห้งแล้งได้เป็นปี ลูกน้ำมี siphon สั้น และดำ ลำตัวตั้งเกือบตรง ว่ายน้ำคล้ายงูเลื้อย ไม่ชอบแสง มีช่วงเติบโต 4 ระยะ เมื่อลูกน้ำอายุประมาณ 9 วัน ก็จะเป็นดักแด้ (ประมาณ 4-7 วัน ในอากาศอบอุ่น) ดักแด้มี trumpet เป็นสามเหลี่ยมกว้าง และอีก 2-3 วัน เป็นยุงตัวเต็มวัย หลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง ผสมพันธุ์กินเลือด แล้วอีก 2-3 วัน วางไข่
ยุงลายชอบกินเลือดคน บางครั้งกินเลือดสัตว์ ออกหากินเวลากลางวัน ถ้ากลางคืนแสงสว่างพอก็กินเลือดด้วย ยุงลายจะเข้ากัดคนด้านมืดหรือมีเงา เข้ามาทางด้านล่างบริเวณข้อเท้า แต่หากนอน มักจะกัดบริเวณหู และใบหน้า
2. ยุงก้นปล่อง (Anopheline)
ยุงก้นปล่องกินเลือดแล้ว 4 วันจึงออกไข่ ไข่จะติดกันบนผิวน้ำ โดยแม่ยุงจะลอยตัวบนผิวน้ำหรือปล่อยทิ้งไข่ลงน้ำบินเรี่อยๆ โดยวางไข่ทีละฟอง ไข่ใหม่จะมีสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ โดยยุงก้นปล่อง An. freeborni, An. punctipennis, An. psuedopunctipennis ออกไข่ได้ 200, 203, 151 ฟองตามลำดับต่อครั้ง และสามารถวางไข่ได้อย่างน้อย 3 ครั้งตลอดชีวิต ไข่ยุงก้นปล่องฟักตัวเป็นตัวภายใน 2 วัน ไข่ทนความแห้งแล้งได้ไม่นาน อาจทนได้ 2 สัปดาห์ เมื่อเป็นลูกน้ำใช้เวลาประมาณ 15-16 วัน จึงเป็นตัวดักแด้ ไม่กินอาหาร และภายใน 2 วัน จึงเปลี่ยนเป็นตัวเต็มวัย
นิสัย แตกต่างกัน แล้วแต่ละ species ส่วนใหญ่มักเพาะพันธุ์ในป่า ยุงก้นปล่องในประเทศไทยมี 2 subgenus คือ Anopheles (150 ชนิด) และ Cellia (160 ชนิด)
3. ยุงรำคาญ (Culex)
ยุงใน genus Culex เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง นำเชื้อไวรัสหลายชนิด และเป็นพาหะนำโรคมาลาเรียในนก ชอบออกหากินในเวลากลางคืน ชอบกินเลือดนก ยุง genus Culex แยกเป็น 7 subenus คือ Lutzia, Culex, Thaiomyia, Culiciomyia, Lophoceraomyia, Mochthogenus Neoculex
ยุงรำคาญที่มีความสำคัญทางการแพทย์ คือ Culex quinquefasciatus เพราะเป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง ไวรัสไข้เลือดออก และโรคชิกุนกุนย่า ส่วนยุงรำคาญ Culex tritaeniorhychus, Cx. Gelidus, Cx. Fuscocephala เป็นพาหะโรคไข้สมองอักเสบ Japanese encephalitis
ยุงรำคาญวางไข่เป็นแพลอยน้ำ 1 แพ แต่ละแพมีประมาณ 153 ฟอง ไข่ในระยะแรกๆมีสีขาว ภายใน 2-3 ชั่วโมงกลายเป็นสีดำ ถ้ากินเลือดนกจะวางไข่มากกว่ากินเลือดคน ไข่ฟักตัวภายใน 1 วันกว่าๆ ลูกน้ำใช้เวลา 6-8 วัน เป็นดักแด้ และอีก 40 ชั่วโมงเป็นยุงตัวเต็มวัย มีแหล่งเพาะพันธุ์ คือ น้ำเน่า มีสารอินทรีย์สูง เช่น ท่อน้ำทิ้ง ท่อระบายน้ำ ขนาดตั้งแต่ 2-3 ลิตร ถึง 2-3 ลูกบาศก์เมตร อยู่ได้ทั้งที่ร่ม และกลางแดดในภาชนะที่ยุงลายไข่ เช่น ยางรถยนต์ที่มีน้ำขัง และตุ่มใส่น้ำ เป็นต้น
ยุงรำคาญบินไม่ไกลประมาณ 100 เมตร หลังจากฟักแล้วภายใน 24-36 ชั่วโมง ก็จะผสมพันธุ์ แล้วออกกินเลือดในเวลากลางคืน ถ้าคนนั่งมักกัดใต้หัวเข่า แต่ถ้าคนนอนจะกัดทุกส่วน ยุงรำคาญเกาะพักทั้งใน และนอกบ้าน ยุงกัดทั้งคืน และยุงแก่มักกัดเลยเที่ยงคืนแล้ว
4. ยุงเสือ Mansonia และ ยุง Coquilleidia
ยุงเสือ มีลักษณะพิเศษที่ลูกน้ำ และดักแด้ใช้ออกซิเจนจากพืชน้ำ โดยลูกน้ำมีท่อหายใจแหลมเป็นกรวย (conical) ซึ่งลักษณะพิเศษ พบเฉพาะในยุงเสือ ไม่พบในลูกน้ำยุงอื่น ยกเว้น Ficalbia ยุงเสือเดิมมี 2 subgenus คือ
1. subgenus Mansonoides ปัจจุบันเป็น (genus Mansonia) เป็นยุงนำโรคเท้าช้างบรูเกีย มาลาไย เกร็ดปีกกว้าง ลายปีกจากเกล็ดขาวออกไม่ symmetry กัน
2. subgenus Conquillettdia ปัจจุบันเป็น genus แล้ว เป็นยุงชอบกัดนก เกล็ดปีกแข็ง ชื่อพ้องของ Mansonia คือ Taeniorthynchus
ในแอฟริกา และอเมริกาใต้ยุง genus Mansonia หลังจากกินเลือด 4 วันแล้ว ลูกน้ำในระยะนี้ว่ายน้ำ และหายใจจากผิวน้ำ จากนั้น ใช้ท่อหายใจแทรกรากพืชน้ำเพื่อหายใจเอาออกซิเจน และเกาะติดกับรากพืชหรือลำต้นพืชน้ำ
ยุงเสือจะมีแหล่งเพาะพันธุ์ต่างกัน เช่น ยุงเสือ Mn. uniformis, Mn. idiana, Mn. annulifera, Cq.crassipes ชอบ open swamp Mn. annulata ชอบชายป่า ส่วนยุงเสือ Mn. bonneae, Mn. dives และ Cq. nigrosignata ชอบ swamp forest ส่วน Cq. ochracea เพาะพันธุ์ในทุกแห่ง
Mn. Annulifera ที่ Kerala เท่านั้นที่เกาะพักในบ้าน biting cycle เริ่มทันทีหลังพระอาทิตย์ตกดิน มี peak ใหญ่ หัวค่ำ และ peak เล็กก่อนสว่าง Mn. dives กัดทั้งระดับพื้นดิน และบนที่สูง 50 ฟุต เท่าๆ กัน Mn. dives และ Mn. bonneae บินกระจายไปในรัศมี 3 กิโลเมตร ถ้าในที่โล่งแจ้งยุง Mansonia บินได้ไม่เกิน 500 เมตร ความสำคัญทางการแพทย์ คือ เป็นพาหะนำเชื้อไวรัส และโรคเท้าช้างชนิดบรูเกียมาลาไย
5. ยุงยักษ์ (Toxorhynchites)
ยุงยักษ์ หรือ Elephant mosquito หรือ megarhine อยู่ใน subfamily Toxorhynchites มีเพียง 1 genus คือ Toxorhynchites ลำตัวมีสีสันสวยงาม โดย proboscis ส่วนโคนใหญ่ปลายแหลมเล็กอ่อน งอเข้าหาลำตัว ดูคล้ายเป็นตะขอ กัดดูดเลือดไม่ได้ จะกินแต่น้ำหวาน
ยุงยักษ์ไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ โดยบินเรี่ยผิวน้ำแล้วปล่อยไข่ลงน้ำ ไข่มีลักษณะเหมือนไข่ไก่ มักชอบไข่เวลาบ่าย ชอบไข่ในแหล่งน้ำเล็กๆ เช่น ลำไม้ไผ่ที่ถูกตัด และมีน้ำขัง โพรงไม้ กะลามะพร้าว ยางรถยนต์เก่าๆ และในพืชที่มีน้ำขัง ลูกน้ำกินสิ่งมีชีวิต เป็น predator กินสัตว์อื่นหรือ cannibalism (กินกันเอง) โดยลอยนิ่งรอจังหวะให้ลูกน้ำว่ายผ่านมา แล้วจึงแว้งกัด สามารถกินลูกน้ำยุงลาย 195 ตัวได้ภายใน 12 วัน ลูกน้ำทนอดอาหารได้ดี [1]
ความแตกต่างระหว่าง 4 ชนิด [1]
ลักษณะ | ยุงก้นปล่อง (Anopheles) |
ยุงลาย(Aedse ) | ยุงรำคาญ (Culex ) | ยุงเสือ (Mansonia) |
• ไข่ | ||||
– การวางไข่ | เดี่ยวๆ เป็นฟองๆบริเวณที่ชื้นเหนือระดับน้ำหรือไข่ บริเวณผิวน้ำ | เดี่ยวๆ บริเวณที่ชื้น เหนือระดับน้ำ | แพลอยน้ำ | กลุ่มคล้ายดอกไม้ติดใต้ใบพืชน้ำ |
– ลักษณะไข่ | รูปรี ผิวมีลายลูกไม้ มี flaoat และ deck | รูปรี ผิวมีAir membrane ไม่มี float | รูปรี ผิวเรียบมี corolla ไม่มี float | รูปขวด ไม่มี float |
– ความทนทานของไข่ | เก็บไม่ได้ | เก็บไว้ได้นานเป็นปี | เก็บไม่ได้ | เก็บไม่ได้ |
• ลูกน้ำ | ||||
– ลักษณะการลอยตัว | ขนานผิวน้ำ | ทำมุมกับผิวน้ำ | ทำมุมกับผิวน้ำ | เกาะติดพืชน้ำ |
– Siphon | ไม่มี | สั้น มี pectin 1 เส้น | ยาว, เรียว มี pectin | สั้น, แหลม มี pectin |
– Siphon hair tuft | ไม่มี | มีฟัน | มากกว่า 1 เส้น | 1 เส้น |
– Comb scale | ไม่มี | ไม่มี | เป็นครุย | เป็นแท่ง 2 คู่ |
– Palmate hair | มี | ไม่มี | ไม่มี | ไม่มี |
– Tergal plate | มี | ไม่มี | ไม่มี | ไม่มี |
• ดักแด้ | ||||
– การลอยตัว | ลำตัวส่วนใหญ่สัมผัสผิวน้ำ | ส่วนน้อย | ส่วนน้อย | อยู่ใต้ผิวน้ำ |
– Trumpet | ปากแตร | สั้น | ยาว ปลายไม่กว้าง | ปลายแหลม |
– Posterotateral Margin ของ Abdomen | มี spine แข็งตรงมุม | มีขนไม่อยู่ตรงมุมแต่ปล้องที่ 8 อยู่ตรงมุม | มีขนไม่ตรงมุม | มีขนไม่ตรงมุม |
– ปลาย paddle มีขน | 2 เส้น apical และ sub apical | 1 คู่ apical | 1 คู่ paddle แบ่งเท่ากัน | 1 คู่ paddle แบ่งไม่เท่ากัน |
• ตัวเต็มวัย | ||||
– ลักษณะการเกาะพัก | Proboscis* หัว,อก และท้องมักเป็นเส้น ตรงมุม 45-90 องศากับพื้น | ตัวขนานกับพื้น | ตัวขนานกับพื้น | ตัวขนานกับพื้น |
– อก | หลังไม่โกง | หลังโกง | หลังโกง | หลังโกง |
– Scutellum | กลม | 3 lobes | 3 lobes | 3 lobes |
– Palpi ตัวผู้ | ยาวปลายพองออก(club) | ยาวปลายแหลม หักหัวขึ้น | ยาวปลายแหลมหักหัวขึ้น บางครั้ง Bloom like | ยาวปลายแหลมหักหัวขึ้น |
– Palpi ตัวเมีย | ยาวเท่ากับ Proboscis | สั้นกว่า | สั้นกว่า | สั้นกว่า |
– หนวด | ไม่มี | ไม่มี | โคนหนวดปล้องแรกยาวกว่าปล้องถัดไป | ไม่มี |
– Spermatheca | 1 อัน | 1 อัน | 2-3 อัน | 2 อัน |
– Pulvilli | ไม่มี | ไม่มี | มี | ไม่มี |
– ปีก | ปีกมีลายจุด | ไม่ลาย | ไม่ลาย ยกเว้น Cx. mimuilus | เกล็ดปีกกว้าง สีขาว สลับดำเข้ม asymmetrically arranged |
– ท้อง | มีเกล็ด ปลายท้องทู่ | มีเกล็ด ท้องแหลม และทู่ | มีเกล็ดปลายท้องทู่ | มีเกล็ดปลายท้องทู่ |
– Spircular | ไม่มี | ไม่มี | ไม่มี | ไม่มี |
– Postspiracular | ไม่มี | มี | ไม่มี | ไม่มี |
– Claw | simple | tooth | simple | simple |
*ยกเว้น Anopheles culicifacies เวลาเกาะลำตัวขนานกับพื้นเหมือน Culex
มาตรการป้องกันยุงกัด
1. การใช้สารเคมีเพื่อฆ่ายุง
– การพ่นละอองฝอย หรือการพ่นแบบ Ultar Low Volume (ULV) เป็นการพ่นน้ำยาสารเคมีจากเครื่องพ่น ละอองน้ำยาจะกระจายอยู่ในอากาศ และสัมผัสกับตัวยุงที่บินอยู่
– การพ่นหมอกควัน ( Thermal Fogging ) เป็นการพ่นน้ำยาเคมีออกจากเครื่องพ่นโดยใช้อากาศร้อนพ่นเป็นหมอกควัน ให้น้ำยาฟุ้งกระจายในอากาศ เพื่อให้สัมผัสกับตัวยุง
– การพ่นสารเคมีชนิดมีฤทธิ์ตกค้าง ( residual spray) เป็นการพ่นสารดังกล่าวลงบนฝาผนังหรือตามที่ยุงเกาะพัก สารเคมีจะซึมผ่านขาของยุง เข้าไปฆ่ายุงได้
2. การใช้กับดัก
เป็นการล่อให้ยุงบินเข้ามาติดกับดัก เพื่อทำให้ยุงตายต่อไป เช่น กับดักแบบใช้แสงล่อ ( แสงสว่างจากหลอด Black light ) กับดักยุงไฟฟ้า กับดักยุงแบบใช้คลื่นเสียง เป็นต้น
3. การป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด
– นอนในมุ้ง จะใช้มุ้งธรรมดา หรือมุ้งชุบสารเคมีก็ได้ หรือจะนอนในห้องที่หน้าต่างและประตูปิดด้วยมุ้งลวด และต้องแน่ใจว่าในห้องนั้นไม่มียุงเล็ดลอดเข้าไปอาศัยอยู่
– สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และควรใช้สีอ่อน
– ใช้สารทากันยุง
– ใช้ยาจุดกันยุง ( mosquito coil )
– ใช้การรมควันสมุนไพร เช่น ควันตะไคร้ เป็นต้น
ที่มา : [1]
เอกสารอ้างอิง
[1] จุฬารัตน์ นุราช, 2544, การศึกษาประสิทธิภาพของโลชั่นกันยุง
จากน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากดอกดาวเรือง.