รก (placenta) คือ โครงสร้างที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสารอาหาร และออกซิเจนจากมารดาเข้าสู่ทารก และแลกเปลี่ยนของเสียจากทารกออกมาสู่มารดา โดยส่งผ่านหลอดเลือดตามความยาวของ สายสะดือ รวมถึงทำหน้าเป็นต่อมไร้ที่ในการผลิตฮอร์โมนที่ใช้ทำงานร่วมกับฮอร์โมนเพศชนิดอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์
รกถูกสร้างขึ้นหลังการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว และจะถูกสร้างขึ้นในปริมาณมาก และบางส่วนจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งสามารถใช้ทดสอบการตั้งครรภ์ได้
ลักษณะ และโครงสร้างของรก
รกมีลักษณะคล้ายจาน ประกอบด้วย villus chorion และ decidua basalis และแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ
1. รกส่วนของทารก (embryonic surface/fetal portion)
รกส่วนนี้ ประกอบด้วย chorionic plate, chorionic villi และ trophoblastic shell โดยจะถูกล้อมรอบด้วย intervillous space
2. รกส่วนมารดา (maternal surface/maternal portion of the placenta)
รกส่วนนี้ คือ decidual basalis ซึ่งเป็นชั้นในสุดของรกที่ประกอบด้วยเซลล์ decidual ที่เป็นเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันขนาดใหญ่ เซลล์มีรูปไข่ และรียาว มีนิวเคลียส 1-2 นิวเคลียสในเซลล์เดียวที่สามารถย้อมติดสีเข้มได้ เซลล์ชนิดนี้จะมีมากในระยะแรกของการตั้งครรภ์ และจะสลายน้อยลงเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น
หน้าที่ของรก
1. กระบวนเมตาบอลิซึม
รกทำหน้าที่ในการเกิดเมตาบอลิซึมต่างๆ ได้แก่ การสังเคราะห์ไกลโคเจน กลูโคส และกรดไขมัน เพื่อเป็นสารอาหาร และแหล่งพลังงานให้แก่ทารก
2. การแลกเปลี่ยนสารอาหาร ก๊าซ และของเสีย
สารอาหาร ก๊าซ และของเสียจะเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างทารกกับมารดาในรก โดยแลกเปลี่ยน และส่งผ่านทางหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำตามที่กล่าวข้างต้น
3. การสร้างฮอร์โมน
รกจะเจริญ และพัฒนาหลังจากตัวอ่อนเข้าฝังในเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งจะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์หลายชนิด ได้แก่
– Estrogen
– Progesterone (สามารถสร้างได้สูงสุด 250 มก./วัน)
– hCG
– hCS
– hPL
– ฯลฯ
4. กรองแยกสารพิษไม่ให้เข้าสู่ทารก
สารพิษหรือยาบางชนิดที่มารดารับประทานเข้าไป บางส่วนจะถูกกรอง และสกัดกั้นไม่ให้ไหลเข้าสู่ทารก แต่ยาบางชนิดที่มีโมเลกุลขนาดเล็กก็สามารถผ่านเข้าสู่ทารกได้เช่นกัน
กระบวนการเกิดรก
1. การปฏิสนธิ และการฝังตัวของตัวอ่อน
เมื่อน้ำอสุจิเข้ามาสู่ช่องคลอด ตัวอสุจิจะพัฒนาหัวเป็นลิ่ม และวิ่งเข้าสู่ปากมดลูก และเข้าสู่ท่อนำไข่ ซึ่งการปฏิสนธิระหว่างไข่กับตัวอสุจิจะเกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่บริเวณ ampulla หลังจากนั้น ไข่จะพัฒนาเป็นตัวอ่อน และเดินผ่านมาทางท่อนำไข่จนมาฝังตัวบริเวณผนังมดลูก ซึ่งขณะเดินทาง ไข่จะแบ่งตัวแบบไมโตซิสจนเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า morula ที่มีหลายเซลล์
โดยขณะไข่เดินทางในท่อนำไข่ ฮอร์โมน estrogen จะกระตุ้นกล้ามเนื้อชั้น circular ให้หดตัวกั้นไว้ หลังจากนั้น ฮอร์โมน progesterone จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อ isthmus คลายตัวเพื่อให้ตัวอ่อนเคลื่อนเข้าสู่โพรงมดลูกได้ โดยมีฮอร์โมน estrogen ทำหน้าเร่งการพัฒนาของตัวอ่อน และช่วยโบกพัดนำพาตัวอ่อนเข้ามาที่โพรงมดลูก ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 3-4 วัน หลังการปฏิสนธิ
การฝังตัวที่มดลูกของตัวอ่อนจะเริ่มจากตัวอ่อนมีการหลั่งสารน้ำให้เข้าแทรกระหว่างเซลล์ของตัวอ่อน เรียกระยะนี้ว่า blastocyst ที่ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมาก ต่อมา zona pellucida ที่หุ้มรอบตัวอ่อนจะสลายตัวออก ประกอบกับฮอร์โมน progesterone มีปริมาณสูงขึ้น จึงทำให้ตัวอ่อนเข้าฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ซึ่งส่วนมากจะฝังตัวบริเวณผนังด้านหลังส่วนบนของมดลูก โดยการฝังตัวจะเกิดขึ้นประมาณวันที่ 10 หลังการปฏิสนธิ
2. การพัฒนาเป็นรก
ตัวอ่อนจะเจริญ และลุกล้ำเข้าแทรกในเซลล์เยื่อบุมดลูก ซึ่งประมาณวันที่ 9 ของการตั้งครรภ์เยื่อบุโพรงมดลูกจะเกิดช่องว่างของเซลล์ด้วยการแผ่ขยายออก พร้อมกับหลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดงของเยื่อบุโพรงมดลูกมีการพัฒนา และแทรกเข้าไปใน chorionic villi และ lacuna ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นรก (placenta) ที่มีเลือดมารดาเข้ามาขังตัว ต่อมามีการพัฒนาของหลอดเลือดของตัวอ่อนขึ้น ซึ่งจะถูกล้อมรอบด้วยเลือดของมารดา ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนสารอาหาร ออกซิเจน และของเสียระหว่างมารดากับตัวอ่อนหรือทารก
การแลกเปลี่ยนสารระหว่างรกกับทารก
การแลกเปลี่ยนสารอาหาร และออกซิเจนระหว่างมารดากับทารกจะนำออกจากรกผ่านทางหลอดเลือดดำ 1 เส้น (umbilical vein) ที่มีความดันเลือดประมาณ 20 มม. ปรอท และแลกเปลี่ยนของเสียผ่านทางหลอดเลือดแดง 2 เส้น (umbilical artery) เข้าสู่รก ที่มีความดันเลือดประมาณ 50 มม.ปรอท ซึ่งหลอดเลือดทั้ง 3 เส้น จะอยู่ภายในสายสะดือ (umbilical cord)
การหมุนเวียนเลือดภายในรกจะมีเลือดหมุนเวียนประมาณ 600 ลูกบาศก์เซนติเมตร/นาที โดยเลือดที่มีออกซิเจนสูงจากมารดาจะไหลจาก spiral artery บริเวณรกของส่วนมารดา (decidual basalis) ที่มีความดันเลือดประมาณ 70 มม.ปรอท แล้วผ่านเลือดเข้าสู่รกในส่วนของทารก ซึ่งจะมีความดันลดลงเหลือ 10 มม.ปรอท โดยจะถูกดันเข้าตามจังหวะของการเต้นของหัวใจของมารดา และจะไหลเข้าสู่รกในส่วนของทารกอย่างช้าๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารอาหาร ก๊าซต่างๆ และของเสียเกิดขึ้นบริเวณนี้ โดยมีสารอาหาร และก๊าซต่างๆที่แลกเปลี่ยนแล้วจะไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำ (umbilical vein) ส่งไปยังทารก และของเสียที่ถ่ายเทแล้วจากหลอดเลือดแดง (umbilical artery) ที่มาจากทารกจะกลับเข้าสู่ระบบเลือดของมารดา
ขอบคุณภาพจาก http://www.the-scientist.com