โรควัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง สามารถเกิดวัณโรคได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น กระดูก ต่อมน้ำเหลือง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นวัณโรคที่ปอด ซึ่งปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญของระบบร่างกายมนุษย์เรา
ประเภทของวัณโรค
วัณโรคเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย อย่างไรก็ตามกว่า 80 % มักเกิดขึ้นที่ปอด เราแบ่งวัณโรคออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. วัณโรคปอด (Pulmonary TB)
1.1 วัณโรคย้อมเสมหะพบเชื้อ (Pulmonary TB, Smear Positive) วินิจฉัยได้จากการตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง หรือ พบเชื้อ 1 ครั้ง ร่วมกับผลการฉายรังสีทรวงอกที่บ่งชี้ว่าเป็นวัณโรค หรือ พบเชื้อ 1 ครั้ง ร่วมกับการเพาะเชื้อที่ให้ผลบวก
1.2 วัณโรคปอดย้อมเสมหะไม่พบเชื้อ (Pulmonary TB Smear Negative) วินิจฉัยโดยการอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยไม่พบเชื้อ แต่มีผลการฉายรังสีทรวงอกที่บ่งชี้ว่าเป็นวัณโรค หรือ ผลการเพาะเชื้อให้ผลบวก แต่การตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์ไม่พบเชื้อ
2. วัณโรคนอกปอด (Extrapulmonary TB)
หมายถึง การติดเชื้อหรือมีการกระจายเชื้อวัณโรคเข้าสู่อวัยวะอื่นนอกเหนือจากปอด เช่น เยื่อหุ้มปอด, ต่อมน้ำเหลือง, กระดูก และข้อ, ช่องท้อง, ผิวหนัง, เยื่อหุ้มสมอง, ทางเดินปัสสาวะ และ ระบบสืบพันธ์
การวินิจฉัยโดยการตรวจเพาะเชื้อจากชิ้นเนื้อแล้วให้ผลบวกหรือผลการตรวจร่างกายอื่นๆบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเป็นวัณโรค
สาเหตุของการเกิดโรค
วัณโรค เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ ว่าไมโคแบคทีเรียม ทูเบอคูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ที่สามารถติดต่อถึงกันได้ผ่านทางละอองเสมหะในอากาศจากการไอหรือจาม รวมถึงการติดต่อผ่านการสัมผัสกับผู้ป่วย และเชื้อผ่านเข้าระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อ HIV โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดตามมา
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือป่วยเป็นวัณโรคปอด เมื่อไอหรือจามจะทำให้เชื้อวัณโรคปน (ขนาดเล็ก 1-3 ไมครอน) ออกมากับละอองเสมหะล่องลอยอยู่ในอากาศ เมื่อมีการสูดหายใจของผู้ไม่ป่วยเอาละอองเสมหะนั้นเข้าสู่ร่างกาย เชื้อวัณโรคจะเข้าสู่หลอดลมส่วนปลายเข้าสู่ถุงลมเล็กๆ และฝังตัวในเนื้อปอด หลังจากนั้น เชื้อจะอาศัยออกซิเจนในการเจริญเติบโต และเพิ่มจำนวนมากขึ้น
การติดต่อ และแพร่เชื้อ
1. ทางระบบทางเดินหายใจ (Respiratory System) โดยที่ผู้ป่วยวัณโรคไอหรือจามออกมา เชื้อวัณโรคก็จะปนออกมาในละอองเสมหะน้ำลายด้วย แล้วกระจายไปในอากาศหรือจากการที่ผู้ป่วยขากเสมหะทิ้งลงบนพื้น เมื่อเสมหะแห้งเชื้อวัณโรคในเสมหะก็จะปลิวไปกับฝุ่นละออง คนที่สูดหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าไปก็มีโอกาสติดเชื้อวัณโรคได้
2. ทางระบบทางเดินอาหาร จากการรับประทานอาหาร (Ingestion) เช่น การรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อวัณโรคเข้าไป เช่น การรับประทานนมวัวที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เป็นต้น
3. ทางผิวหนัง (Skin ) ได้แก่ การเข้าทางบาดแผลหรือผิวหนังที่ถลอก การติดต่อด้วย
วิธีนี้พบได้ค่อนข้างน้อย
อาการที่บ่งบอกถึงการเป็นโรค
สังเกตได้จากอาการป่วย การไอเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 3 อาทิตย์ขึ้นไป หรือเวลาไอมีเลือดออก เจ็บหน้าอก มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง เป็นไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน มีลักษณะการบวมที่คอ ขาหนีบ และใต้แขน หรืออาจมีอาการแทรกซ้อนได้ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องร่วงเรื้อรัง ซูบผอม เสียงแหบ แต่อาจสังเกตอาการผิดปกติที่มีอาการไอต่อเนื่องตั่งแต่ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งอาจบ่งบอกถึงมีการติดเชื้อแล้ว นอกจากนี้ในบางรายอาจไม่มีอาการป่วยร่วมด้วยก็ได้ อาการต่างๆเกิดได้ ดังนี้
1. อาการไอ
เป็นอาการที่พบได้บ่อยเริ่มจากไอน้อยๆ ไอแห้ง เมื่อเป็นมากขึ้นจะมีเสมหะออกมาด้วย ขณะไอจะรู้สึกเจ็บชายโครง เสมหะเหนียวข้น และมีสีเขียว มีกลิ่นเหม็น เมื่ออาการหนักขึ้น มักพบมีเลือดปนกับเสมหะออกมาด้วย สังเกตจากเสมหะมีสีน้ำตาลหรือสีแดงหรือเป็นเลือดสดๆ ถ้าเลือดออกมากก็อาจจะเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
2. อาการไข้
เริ่มตั้งแต่รู้สึกไม่สบาย ครั่นเนื้อครั่นตัว มีอาการตัวร้อนเล็กน้อย และมักเป็นตอนบ่ายหรือเย็น อาการไข้ของผู้ป่วยวัณโรคจะเป็นเพียงไข้ต่ำ ถ้าวัดปรอทจะขึ้นสูงไม่เกิน 10 องศาฟาเรนไฮด์
3. อาการอ่อนเพลีย
ผู้ป่วยมักรู้สึกอ่อนแรง แต่ร่างกายยังสามารถทำงานได้ตามปกติ ต่อมาจะมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้นจนอาจต้องหยุดทำงาน
4. ผอม
ระยะแรกผู้ป่วยยังไม่รู้สึกว่าผอมมากเพราะผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะเป็นคนที่ผอมอยู่แล้วแต่เมื่อมีอาการไข้และไอผู้ป่วยจะผอมลงอย่างรวดเร็ว
5. ผิว
ผิวหนังจะมีลักษณะซีด และมีสีเหลือง การมองเห็นของในเวลาเช้ามักจะมัว แต่จะมองเห็นชัดขึ้นในเวลากลางคืน และพบตาขาวมีสีออกสีฟ้า
6. เหงื่อออก
เวลานอนกลางคืนมักมีไข้ในตอนหัวค่ำ และส่างไข้ตอนดึก พร้อมมีเหงื่อออกมากจนเปียกเสื้อผ้า ทำให้นอนไม่หลับ
7. อาการเลือดออก
เลือดออกจะเกิดขึ้นในปอด เนื่องจากหลอดเลือดในปอดรั่ว ทำให้มีอาการเลือดออก อาการเลือดออกมีได้ 3 ลักษณะ คือ
– เลือดออกปนกับเสมหะ (Blood Splitting)
– เวลาไอไม่มีเลือดออก แต่จะกระอักเลือดออกมาเป็นลิ่มๆ (Blood Streaked Sputum)
– การอาเจียนออกมาเป็นเลือด (Massive Hemoptysis)
เนื่องจากเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ระยะเวลาในการคงอยู่ของโรคมักใช้เวลานานหลายเดือน อาจจะเป็นปี การเที่ยวดึก สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้าจัด พฤติกรรมเหล่านี้มักทำให้บดบังอาการของวัณโรค และเริ่มมีอาการไอ และมีอาการมากจึงไปพบแพทย์ ทำให้ยากต่อการรักษา เนื่องจากเนื้อปอดถูกทำลายไปมากจนทำให้เนื้อปอดที่เหลืออยู่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ในผู้หญิงที่เป็นวัณโรคอาจมีประจำเดือนมาไม่ปกติ
อาการวัณโรคนอกปอด
– วัณโรคต่อมน้ำเหลือง มีการติดเชื้อวัณโรคที่ต่อมน้ำเหลืองทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต แต่ไม่รู้สึกเจ็บหรือมีอาการร้อน ต่อมน้ำเหลืองช่วงแรกค่อนข้างแข็ง ระยะต่อมาจะนุ่ม และอาจแตกเป็นหนองหรือยุบตัว
– วัณโรคของกระดูก และข้อ มีอาการปวดตามกระดูก และข้อที่มีการติดเชื้อทำให้เคลื่อนไหวได้น้อยลง มีอาการบวม อาจมีหนองไหลผ่านผิวหนังบริเวณนั้นออกมา
– วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง มักมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ มีอาการคอแข็ง มึนงง ความคิดสับสน หรือมีอาการชักร่วมด้วย
– วัณโรคช่องท้อง มีอาการท้องมาน ปวดท้อง มีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองโต อาจถ่ายอุจจาระเหลว หรือท้องผูก อาจพบก้อนวัณโรคแพร่กระจาย
– วัณโรคของกล่องเสียง ทำให้เกิดอาการเสียงแหบ แห้ง และปวดบริเวณกล่องเสียง
– วัณโรคของอวัยวะสืบพันธ์ และทางเดินปัสสาวะ มักเกิดในผู้หญิงมีผลทำให้เป็นหมัน
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยทางคลีนิค ด้วยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การถ่ายภาพรังสีทรวงอก รวมถึงการย้อมสี และส่องกล้อง เป็นการย้อมเสมหะของผู้ป่วยเพื่อตรวจหาเชื้อซึ่งสามารถทราบผลที่แน่นอน
การรักษาโรค
ผู้ป่วยใหม่ และผู้ป่วยเก่า แบ่งเป็น 6 ประเภท คือ
1. ใหม่ (New) : ผู้ป่วยที่ไม่เคยป่วยเป็นวัณโรคมาก่อนหรือผู้ป่วยที่เคยได้รับเชื้อวัณโรคไม่เกิน 1 เดือน
2. กลับเป็นซ้ำ (Relapse) : ผู้ป่วยที่เคยรับยาวัณโรคและได้รับการวินิจฉัยว่าหายแล้วต่อมากลับพบว่าเป็นโรคอีก มีผลตรวจเสมหะเป็นบวก (อาจเป็น Direct Smear หรือ Culture Positive) ก็ได้
3. รับโอน (Transfer In) : ผู้ป่วยที่รับโอนมาจากสถานพยาบาลอื่น โดยได้รับการขึ้นทะเบียนรักษาแล้ว ได้รับยาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
4. ล้มเหลว (Failure) :
– ผู้ป่วยวัณโรคเสมหะชนิดบวก (M+) ได้รับการรักษา แต่ผลการตรวจเสมหะเมื่อเดือนที่ 5 ยังเป็นบวก (Remained Positive) หรือกลับเป็นบวก (Become Positive)
– ผู้ป่วยวัณโรคเสมหะชนิดลบ (M-) หรือผู้ป่วยวัณโรคปอด ได้รับการรักษาแต่ผลตรวจเสมหะเมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 2 เป็นบวก
5. ขาดยาแล้วกลับมารักษา (Treatment after Default) : ผู้ป่วยวัณโรคกลับมารักษาอีกภายหลังขาดยา 2 เดือน ติดต่อกัน
6. อื่น ๆ (Other Case) : ผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่สามารถจัดกลุ่มเข้าในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวข้างต้น
ผู้ป่วยในระยะแรก ควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่น ไม่ควรไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด สำหรับการรักษาในปัจจุบันจะใช้วิธีการรับประทานยา ได้แก่ isoniazid, streptomycin, pyrazinmide, ethambutol, thiacetazone เป็นต้น จากสถิติพบว่า ต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่า 6 เดือนขึ้นไป แต่บางรายอาจเกิดดื้อยาจึงต้องใช้เวลาในการรักษานานหลายปี นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เป็นประจำ ปฏิบัติตามแพทย์สั่ง และดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เพราะหากดูแลตนเองไม่ดีแล้วอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลง อย่างต่อเนื่อง และอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่คนใกล้ชิดได้
แนวทางการป้องกัน
1. เข้ารับการตรวจวัณโรค อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
2. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิด การสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรค แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้สวมผ้าปิดจมูกทุกครั้ง
3. รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น โรคเอดส์ โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
5. มั่นทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงสถานที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ
6. หากมีอาการที่สงสัยจะเป็นโรควัณโรค ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย