ศีล 5 และการรักษาศีล 5

26905

ศีล คือ ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกาย และวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม โดยมีศีล 5 เป็นมาตรฐานวางไว้สำหรับกำหนดวัดความประพฤติของมนุษย์ในขั้นความเป็นกัลยาณชน ที่เรียกว่า มนุษยธรรม คนที่ประพฤติต่ำกว่ามาตรฐานนี้ถือว่า เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่น่าไว้ใจ

ความสำคัญของศีล
1. ศีล มีความสำคัญต่อการควบคุมกาย วาจา และใจของคนให้เรียบร้อย สงบร่มเย็น และเป็นสุข
2. ศีล มีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม หากคนในสังคม กลุ่มคนขาดศีลสังคมกลุ่มคนนั้นๆ ก็ไม่น่าอยู่ จะมีปัญหามากมายตามมา
3. ศีล เป็นระบบการควบคุมและขัดเกลาพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต มีผลต่อกิจกรรม พิธีกรรม พฤติกรรม ความเป็นไปของผู้คนในสังคม
4. ศีล เป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นหัวใจสำคัญต่อการประพฤติปฏิบัติชอบของชาวพุทธตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะศีล คือ สิ่งที่จะต้องมาก่อนมาอันดับแรกในการศึกษาและปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธ คือ เริ่มจาก ศีล สมาธิ ปัญหา ถ้าไม่มีศีลก็จะไม่มีสมาธิและจะเกิดปัญญาไม่ได้
5. ศีล มีความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ของคน คนกับมนุษย์จะมีความเหมือนกันเพียงร่างกายแต่จะแตกต่างกันที่มีศีล คนถ้าไม่มีศีลก็จะไม่แตกต่างจากสัตว์ทั่วๆไป อาจร้ายกว่าสัตว์ด้วยซ้ำ ศีลจะทำคนให้เป็นมนุษย์ได้ เพราะจะเป็นมนุษย์ได้จะต้องเป็นคนมีศีล ควบคุมกำกับจิตใจตลอดเวลา หลักมนุษยธรรมอันทำให้คนเป็นมนุษย์ก็คือ ศีลนั่นเอง

ศีล 5 หมายถึง ข้อปฏิบัติ 5 ข้อ ที่ควรละเว้นสำหรับควบคุมกาย และวาจาให้ตั้งอยู่ในคุณความดี เป็นความประพฤติพื้นฐานทางสังคม เพราะเป็นเครื่องส่งเสริมคุณความดี

ศีล5

องค์ประกอบสำหรับปฏิบัติตามหลักของศีล 5
1. ประพฤติตามหลักสุจริต 3 คือ
– กายสุจริต คือ การประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริต ประพฤติในสิ่งที่ดีงาม ละเว้นการประพฤติที่ขัดต่อศีลธรรม
– วจีสุจริต คือ การพูดด้วยวาจาสุจริต พูดสิ่งที่ถูกต้อง และดีงาม
– มโนสุจริต คือ การนึกคิดในสิ่งสุจริต และดีงาม ไม่นึกคิดในทางที่ผิดต่อศีลธรรมอันดีงาม

2. ประพฤติตามหลักอารยธรรมที่สอดคล้องกับหลักแห่งกุศลกรรมบถ 10 ประการ ได้แก่
2.1 ทางกาย 3 ประการ
– ละเว้นการฆ่าสัตว์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ และให้มีเมตตาช่วยเหลือผู้อื่นๆ และสรรพสัตว์ตามกำลังของตน
– ละเว้นการแย่งชิง การขโมยทรัพย์สิน การบีบคั้น การเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนต้องการ และให้เคารพในสิทธิของบุคคลอื่น
– ละเว้นการประพฤติผิดในกามสำหรับผู้มีคู่ครอง และละเว้นการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้อื่น ทั้งชาย และหญิงด้วยการใช้กำลังหรือการบีบบังคับไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ
2.2 ทางวาจา 4 ประการ
– ละเว้นการพูดเท็จ การกล่าวโกหกเพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อ ควรกล่าวคำสัตย์ที่เป็นจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น และตนเอง
– ละเว้นการพูดส่อเสียด การพูดให้ร้ายแก่ผู้อื่น รวมถึงละเว้นการพูดยุยงให้ผู้อื่นเกิดความบาดหมางกัน
– ละเว้นการพูดคำหยาบ คำไม่สุภาพที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดโทสะ เกิดความไม่สบาย ควรพูดแต่คำที่สุภาพนุ่มนวลที่ทำให้คนฟังเกิดความรู้สึกดีหรือสบายใจ
– ละเว้นการพูดโอ้อวด พูดเกินความเป็นจริง พูดเหลวไหลเพ้อเจ้อเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อหรือชื่นชอบในตัวตน
2.3 ทางใจ 3 ประการ
– ไม่คิดหาผลประโยชน์หรือกอบโกยทรัพย์สินจากผู้อื่นในทางที่ผิด ให้คิดเป็นผู้ให้ทั้งในทรัพย์สิน และการให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ไม่คิดเพ็งเล็งคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
– ไม่คิดมุ่งร้ายหรือเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งทางกาย ทางกลอุบาย ควรคิดปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นหลัก
– มีความคิดเป็นกลาง ถูกต้องตามหลักสัมมาทิฐิ เข้าใจในความเป็นไปของวัฏจักรที่ไม่มีความแน่นอนทั้งในชีวิต และทรัพย์สิน

ประโยชน์ของการรักษาศีล 5
1. ผู้ปฏิบัติเกิดจิตเมตตา เห็นอกเห็นใจ และชอบช่วยเหลือผู้อื่น
2. ผู้อื่นที่ได้รับปฏิบัติต่อที่ดีย่อมกล่าวการสรรเสริญ และยกย่องนับถือ
3. เป็นผู้มีจิตสงบ ไม่มีเรื่องวุ่นวายมีรบกวนจิตใจ
4. ทรัพย์สินที่ให้แก่คนอื่นย่อมเกิดความคุ้มค่าทางด้านจิตใจ
5. เกิดความสุขต่อครอบครัว ญาติพี่น้อง และบุคคลทั้งหลายที่อยู่ใกล้ชิด
6. มีผู้คนรู้จัก การทำมาค้าขายรุ่งเรือง
7. ไม่มีบุคคลอื่นมาคิดหวังร้ายหรือทำให้เกิดความเดือดร้อน
8. เกิดสมาธิ และสติปัญญา

เบญจศีล หรือ ศีล 5
ศีลขั้นต้นที่ถือว่าเป็นพื้นฐานแห่งศีลในหมวดอื่นๆทั้งปวง โดยศีล 5 ข้อ ที่พระพุทธองค์ทางบัญญัติไว้ เรียกว่า เบญจศีล หรือ ศีล 5 ประกอบด้วย
1. เบญจศีล ศีลข้อที่ 1 ในศีล 5
ปาณาติปาตา เวรมณี หมายถึง การละเว้นต่อการทำลายชีวิตของคน และสัตว์

จุดมุ่งหมาย : เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เกิดมีความเมตตา มองเห็นชีวิต และความสุขทางกาย และจิตใจของผู้อื่น และสัตว์ต่างๆเหมือนกับชีวิตของตน

ศีลข้อ1

ขอบเขตแห่งการกระทำทั้งที่เกิดโดยตรง และโดยอ้อม ที่ผู้รักษาศีลต้องละเว้นเพื่อให้รักษาศีลโดยบริบูรณ์ คือ
1. เว้นการฆ่า ด้วยการทำให้คนหรือสัตว์ตายไป ทั้งจากตนเองหรือการใช้ให้ผู้อื่นกระทำแทน
2. เว้นการทำร้ายร่างกายจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ
3. เว้นการทรมานกรรมทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เช่น การไม่ใช้งานทั้งคน และสัตว์เกินกำลัง การไม่กักขังหรือรั้งหน่วงเหนี่ยว การทรมานสัตว์เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อให้ลุแก่ความต้องการ การจับสัตว์ตีกัน ทั้งนี้ ผู้ที่ลุแก่ศีลหรือศีลขาดจะต้อง ปาณาติบาต ด้วยองค์ประกอบ 5 ประการ คือ
– คนหรือสัตว์นั้นยังมีชีวิต
– ผู้กระทำมีสติรับรู้ว่า คนหรือสัตว์นั้นยังมีชีวิต
– ผู้กระทำมีเจตนาจะฆ่าหรือทำให้ชีวิตคนหรือสัตว์ตายไป
– ผู้กระทำมีความพยายามจะฆ่าหรือทำให้ชีวิตดับหาย
– คนหรือสัตว์นั้นที่ถูกกระทำได้ตายไป

ทั้งผู้กระทำ และฝ่ายที่ถูกกระทำรวมเป็นองค์เดียวกันจนครบทั้ง 5 ประการข้างต้น ถือว่าผู้กระทำลุแก่ศีลหรือศีลขาด ถ้าหากขาดประการหนึ่งแต่ยังผลให้คนหรือสัตว์ตายไป ย่อมทำให้ศีลขาดได้เช่นกัน

2. เบญจศีล ศีลข้อที่ 2 ในศีล 5
อทินนาทานา เวรมณี หมายถึง การละเว้นด้วยการถือเอาหรือลักขโมยสิ่งของคนอื่นที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ด้วยการยินยอม

จุดมุ่งหมาย : เพื่อขัดเกลาให้คนมีความเคารพในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินหรือสิ่งของของผู้อื่น ไม่เบียดเบียนหรือกระทำด้วยเล่ห์กลเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือเพื่อหวังประโยชน์ในทางทุจริต

ศีลข้อ2

ขอบเขตแห่งการกระทำทั้งที่เกิดโดยตรง และโดยอ้อม ที่ผู้รักษาศีลต้องละเว้นเพื่อให้รักษาศีลโดยบริบูรณ์ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ โจรกรรม อนุโลมโจรกรรม และฉายาโจรกรรม

1. เว้นจากการโจรกรรม
เว้นจากการโจรกรรม หมายถึง เว้นจากการจับเอาหรือถือเอาสิ่งของของผู้อื่น โดยที่ผู้อื่นมิได้ยินยอม ประกอบด้วยการละเว้นในเจตนาแห่งโจรกรรม 14 ประการ คือ
– เว้นจากการลัก คือ เว้นจาการถือเอาหรือจับเอาทรัพย์สินของผู้อื่นที่เมื่อเจ้าของเขาไม่เห็น ที่เรียกว่า ขโมย
– เว้นจากการฉก คือ เว้นจากการชิงหรือแย่งเอาทรัพย์สินจากเจ้าของ ที่เรียกว่า ชิงทรัพย์ หรือ วิ่งราว
– เว้นจากการกรรโชก คือ เว้นจากการข่มขู่แก่ผู้อื่นเพื่อให้เขากลัว และมอบทรัพย์ให้แก่ตน หรือที่เรียกว่า การกรรโชกทรัพย์
– เว้นจากการปล้น คือ เว้นจากการข่มขู่ด้วยอาวุธเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งอาจทำคนเดียวหรือร่วมกับคนอื่น
– เว้นจากการตู่ คือ เว้นจากการอ้างสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานหรือความเป็นจริง เช่น เก็บกระเป๋าเงินได้บนถนน แล้วอ้างว่าเป็นกระเป๋าเงินของตน
– เว้นจากการฉ้อฉล คือ เว้นจากการอ้างหลักฐานเท็จเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินแก่ตน เช่น ทำเอกสารสิทธิ์ในที่ดินปลอมซ้อนทับที่ดินผู้อื่น และอ้างสิทธิ์ในที่ผืนนั้น
– เว้นจากการหลอก คือ เว้นจากการแต่งเรื่องเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อแล้วให้ทรัพย์แก่ตน
– เว้นจากการลวง คือ เว้นการใช้เครื่องมือ หรือ สื่อ เพื่อนำเสนอหวังให้ผู้อื่นเชื่อแล้วให้ทรัพย์แก่ตน
– เว้นจากการปลอม คือ เว้นจากการทำของปลอมหรือลอกเลียนแบบ เพื่อให้สิ่งของของตนขายได้หรือนำไปแลกทรัพย์สินที่มีค่ากว่าแก่ตน
– เว้นจากการตระบัด คือ เว้นจากการผิดคำพูดหรือคำสัญญาที่ให้ไว้เพื่อหวังทรัพย์สินจากผู้อื่น
– เว้นจากการปิดบัง คือ เว้นจากการปกปิดหรือซ่อนทรัพย์ของผู้อื่นจนเจ้าของทรัพย์หาไม่พบแล้วยึดครองเป็นของตน
– เว้นจากการสับเปลี่ยน คือ เว้นจากการสับเปลี่ยนทรัพย์ของตนกับทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อหวังทรัพย์ของผู้อื่นที่มีค่ากว่า
– เว้นจากการลักลอบ คือ เว้นจากการหลีกเลี่ยงหรือหลบหลีกการจ่าย เช่น การเลี้ยงภาษี
– เว้นจากการยักยอก คือ เว้นจากการเอาทรัพย์ของผู้อื่นด้วยการใช้อำนาจหน้าที่ของตน
– เว้นจาการฟอกทรัพย์ คือ เว้นจากการเปลี่ยนแหล่งที่มาของทรัพย์สินจากทรัพย์สินที่ได้มาด้วยการไม่สุจริตเป็นทรัพย์สินที่ถูกต้องตามกฏหมาย

2. ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม หมายถึง การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ในทางทุจริต ที่ถือไม่เป็นการโจรกรรม มี 3 ประการ คือ
– เว้นจากการสมโจร หรือ ส่งเสริมให้คนอื่นทำการโจรกรรม
– เว้นจากการปอกลอก หรือ แสร้งทำคบคนอื่นเพื่อหวังประโยชน์แก่ทรัพย์สิน
– เว้นจากการรับสินบน หรือ รับเอาทรัพย์ที่เขาให้เพื่อเอื้อประโยชน์แก่เขาในทางที่ผิด

3. เว้นจากกิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
เว้นจากกิริยาเป็นฉายาโจรกรรม หมายถึง การละเว้นจากการกระทำต่อทรัพย์สินหรือสิ่งของของผู้อื่นที่อาจทำให้เกิดความสูญหาย สูญหาย หรือลดน้อยลงเพียงเพื่อให้ทรัพย์สินนั้นตกอยู่กับตน ประกอบด้วย 2 ประการ คือ
– เว้นจาการเบียดเบียน ได้แก่ เว้นจากการกระทำที่เป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเกิดความเสียหาย เช่น ลอบเผาบ้าน ลอบเผาไร่อ้อย เป็นต้น
– เว้นจากการหยิบฉวย ได้แก่ เว้นจากการหยิบเอาสิ่งของผู้อื่นมาด้วยการไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของ เช่น หยิบเอาเหรียญสิบของเพื่อนที่วางอยู่บนโต๊ะไปใช้โดยไม่บอกเพื่อนให้ทราบ

3. เบญจศีล ศีลข้อที่ 3 ในศีล 5
กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี หมายถึง การละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม และเมถุนทั้งปวง

จุดมุ่งหมาย : เพื่อขัดเกลาให้เกิดจิตใจมั่นคง มีความรักเดียวใจเดียว ไม่มักมากในกาม ซึ่งทั้งหญิง และชาย ต้อละเว้นการประพฤติผิดในกามด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ประกอบด้วย

ศีลข้อ3

1. หญิงต้องห้ามสำหรับชาย ได้แก่
– หญิงที่มีสามี และยังครองคู่กันอยู่ในปัจจุบัน
– หญิงที่มีผู้ปกครอง และดูแล เช่น บิดา มารดา และไม่เกิดความยินยอมทั้งจากฝ่ายหญิง และผู้ปกครอง
– หญิงที่จารีตห้าม เช่น แม่ แม่ยาย ย่า ยาย ลูก หลาน เหลน ที่อยู่ในวงศ์ศาคณาญาติของตน

หญิงทั้ง 3 ประเภทข้างต้น เมื่อชายประพฤติล่วงในกาม ด้วยการยินยอมหรือไม่ยินยอมของฝ่ายหญิง ย่อมทำให้ชายลุแก่ศีลหรือศีลขาด

2. ชายต้องห้ามสำหรับหญิง ได้แก่
– ชายอื่นทุกคนที่มีภรรยาครองคู่กันอยู่
– ชายที่จารีตห้าม เช่น ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาอื่นๆ

สำหรับหญิงหรือชายที่มีพฤติกรรมเจตนาด้วยการพูดเกี้ยวพาราศีเพื่อหวังในกาม แม้จะไม่ทำให้ศีลขาด แต่ย่อมทำให้ด่างพร้อยได้ ทั้งนี้ การลุแก่ศีลหรือศีลขาดย่อมเกิดจากปัจจัยที่ครบทั้ง 4 ประการ คือ
1. หญิงหรือชายนั้นเป็นผู้ต้องห้าม
2. มีเจตนาต้องการเสพกาม
3. มีการกระทำแห่งกิจในกาม และอวัยวะเพศล่วงล้ำเข้าสู่ของอีกฝ่ายเพียงเท่าเมล็ดงา

4. เบญจศีล ศีลข้อที่ 4 ในศีล 5
มุสาวาทา เวรมณี หมายถึง การละเว้นจากการพูดเท็จ การพูดโกหกเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ

จุดมุ่งหมาย : เพื่อขัดเกลาให้จิตใจให้เป็นผู้มีวาจาอันสุจริต ไม่พูดเท็จ ไม่พูดโกหก ไม่พูดให้เกิดความแตกแยกในหมู่คณะ พึงพูดแต่ความจริงที่จะเกิดประโยชน์แก่ตน และคนรอบข้าง

ศีลข้อ4

ลักษณะที่เกี่ยวข้องกับมุสา 4 อย่าง
1. มุสา แปลว่า เท็จ คือ ความไม่จริง ส่วน วาทะ คือ คำกล่าว/คำพูด รวมเรียกว่า การพูดเท็จ เป็นการแสดงออกด้วยอาการเท็จใน 2 ทาง คือ วาจาเท็จ คือ พูดเท็จ ส่วนอีกทาง คือ กายเท็จ ด้วยการประพฤติเท็จด้วยกายที่แสดงออกอันเป็นเท็จ เช่น การเขียนบันทึกที่เป็นเท็จเพื่อเป็นหลักฐาน การเขียนรายงานเท็จ การปลอมแปลงเอกสาร หรือ การพยักหน้าด้วยความเท็จ เป็นต้น

2. อนุโลมมุสา คือ การพูดในลักษณะ 5 อย่าง ด้วยไม่มีเจตนาจะกล่าวเท็จ หรือเพียงเพื่อให้ผู้อื่นรู้สึกเจ็บใจได้แก่
– พูดเสียดแทง พูดประชด เพื่อให้ผู้อื่นเจ็บใจ
– พูดใส่ความผู้อื่นให้เจ็บใจด้วยความที่เกินจริง
– พูดด่าว่าให้เสียหาย เพื่อให้ผู้อื่นเจ็บใจ
– พูดสับปลับกลับคำ ด้วยความคะนอง โดยมิได้ตั้งใจให้ผู้อื่นเข้าใจผิด
– พูดคำหยาบ คำไม่สุภาพ

3. ปฏิสสวะ คือ การกล่าวรับคำผู้อื่น ด้วยเจตนาเพียงด้วยความชื่อสัตย์หรือสุจริตใจ แต่กลับมีจิตสำนึกไม่ทำตามคำที่กล่าวรับไว้ แต่ตนยังสามารถที่จะทำตามคำรับนั้นได้อยู่ ได้แก่
– การผิดสัญญาที่ตนได้นัดไว้กับผู้อื่น (ตนให้สัญญากับผู้อื่น มีการระบุการกระทำ และเวลาที่ชัดเจน)
– การคืนคำที่ตนได้รับปากไว้กับผู้อื่น (รับคำจากการขอของผู้อื่น ไม่มีการระบุการกระทำ และเวลาที่ชัดเจน)
– การเสียสัตย์ที่ตนปฏิญาณไว้ต่อตนหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

4. ยถาสัญญา 4 อย่าง ได้แก่
1. โวหาร คือ การพูดตามสำนวนโวหารที่มีผู้แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการอุปมาอุปไมย หรือ โวหารต่างๆที่นิยมใช้จนเป็นธรรมเนียม เช่น ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ เป็นต้น
2. นิยาย คือ การเล่านิยายที่ถูกแต่งมาหรือแต่งขึ้นเองเพื่อการสอนหรือความเพลิดเพลิน เช่น การเล่านิยาย เรื่องนางสิบสองให้เด็กฟัง
3. สำคัญผิด คือ การพูดด้วยการเข้าใจหรือสำคัญตนเองว่าถูก แต่ความจริงแล้วไม่ถูก
4. พลั้ง คือ การพูดด้วยอาการที่พลั้งเผลอ โดยมิได้ตั้งใจ

การกล่าวอนุโลมมุสา ปฏิสสวะ และยถาสัญญา ไม่จัดเป็นมุสาวาท ผู้ที่กล่าวย่อมไม่ศีลขาด แต่เพียงทำให้ศีลด่างพร้อยได้ และหากเป็นมุสาวาทที่ถือว่าศีลขาด ต้องพร้อมด้วยองค์ 4 ประการ คือ
– เป็นเรื่องเท็จ
– มีเจตนาในพูด
– มีการพูดหรือแสดงออกไปแล้ว
– ผู้ฟังเข้าใจในคำพูดหรือกิริยานั้นๆ

โทษหรือผลกรรมจากการกล่าวมุสาวาทจะมีมากมีน้อย ท่านให้พิจารณาผลหรือโทษจากการกล่าวเป็นสำคัญ กล่าวคือ หากสร้างความเสียหายมาก ย่อมได้รับผลกรรมมาก หากสร้างความเสียหายน้อย ย่อมได้รับผลกรรมน้อย ตามลำดับแห่งกรรมที่ผู้อื่นได้รับ

การละด้วยมุสาวาท ได้แก่
1. พึงละเว้นจากการพูดปด คือ การละเว้นจากคำพูดโกหกในเรื่องใดๆทั้งปวง
2. พึงละเว้นจากการทนสาบาน คือ ไม่ทนสาบานหรือรับคำเพียงเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อ
3. พึงละเว้นจากการทำเล่ห์กะเท่ห์ คือ การไม่พูดอวดอ้างในสิ่งที่มิใช่ความจริงเพียงเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ เช่น อวดอ้างว่าตนเป็นอรหันต์ อวดอ้างว่าตนเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ เป็นต้น
4. พึงละเว้นจากการประพฤติมายา คือ การประพฤติด้วยอาการหลอกลวง เพียงเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อ เช่น การแสร้งทำเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเจ็บ ซึ่งอาจเจ็บจริงหรือไม่เจ็บจริง หรือ เพียงเจ็บเล็กน้อย แต่ทำเป็นเจ็บมาก เป็นต้น
5. พึงละเว้นจากการพูดเลศ คือ การละเว้นจากการพูดเล่นสำนวน หรือ พูดคลุมเครือเพียงเพื่อให้อื่นคิดหลงผิด และเกิดประโยชน์แก่ตน เช่น นาย ก. มีบ้านอยู่ใกล้ป่าที่รู้เห็นนายทุนลักลอบตัดไม้ผิดกฎหมาย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบกลับพูดปัดไปหรือโยงแม่น้ำทั้งห้าในเรื่องอื่นเพียงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ไม่รับรู้ถึงความจริง
6. พึงละเว้นจากการเสริมความ คือ ละเว้นจากการพูดเติมแต่งเรื่อง เพิ่มเติมเรื่องในทางที่ผิด ทำให้ผู้อื่นหลงเข้าใจผิดมากขึ้น เช่น การโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณมากเกินจริง การพูดหรือเล่าเรื่องผู้อื่นด้วยการเพิ่มเติมเรื่องในสิ่งที่เกินความ
7. พึงละเว้นจากการอำความ คือ เป็นการพูดที่ตรงข้ามกับการพูดเสริมความ พูดเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อจากเรื่องใหญ่ให้หลงเชื่อว่าเป็นเรื่องเล็ก

5. เบญจศิล ศีลข้อที่ 5 ในศีล 5
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน เวรมณี หมายถึง การเว้นจากการกระทำที่เป็นเหตุทำให้ขาดสติสัมปัชชัญญะด้วยเครื่องมึนเมา ทั้งในรูปของการดื่ม และการเสพในวิธีต่างๆ

จุดมุ่งหมาย : เพื่อขัดเกราจิตใจให้ละเว้นการดื่มหรือการเสพเครื่องมึนเมาหรือสารเสพติดทุกชนิด และถือครองสติสัมปัชชัญญะของตนให้เป็นนิจ

ศีลข้อ5

ขอบคุณภาพทั้ง 6 ภาพ จาก www.dmc.tv

ขอบเขตแห่งการกระทำทั้งที่เกิดโดยตรง และโดยอ้อม ที่ผู้รักษาศีลต้องละเว้นเพื่อให้รักษาศีลโดยบริบูรณ์ ประกอบด้วย 2 ด้าน ในทางตรง คือ
1. เว้นจากสุรา ที่เป็นน้ำที่ได้จากการกลั่น หรือเรียกว่า เหล้า
2. เว้นจากเมรัย ที่เป็นน้ำเมาที่ได้จาการหมัก และยังไม่ได้กลั่น เช่น เบียร์ ไวน์ สาโท และกระแช่ เป็นต้น

ทางอ้อม คือ เว้นจากยาหรือสารเสพติดให้โทษทุกชนิด เช่น ฝิ่น กัญชา ทินเนอร์ เป็นต้น และการลุศีลหรือการกระทำที่ทำให้ศีลขาดนั้น ประกอบด้วย 4 ประการ คือ
– เครื่องดื่มหรือสารนั้นทำให้มึนเมา และขาดสติ
– ผู้นั้นมีเจตนาที่จะดื่มหรือเสพของมึนเมา
– ผู้นั้นมีความพยายามที่จะดื่มหรือเสพ
– น้ำเมาล่วงไหลลำคอหรือสูดดมผ่านจมูก

เพิ่มเติมจาก รุ่งรัชนี วงศ์ละคร (2548)(1)

เอกสารอ้างอิง
1