ศีล 8 และการรักษาศีล 8

70875

ศีล 8 หมายถึง ข้อปฏิบัติ 8 ข้อ อันเป็นเครื่องควบคุมตนให้สำรวมระวังในกาย และวาจา เพื่อให้ตนสามารถตั้งอยู่ในหลักประพฤติแห่งความดีได้ ประกอบด้วยศีล 8 ข้อ คือ
1. ไม่คร่าชีวิตสัตว์หรือมนุษย์
2. ไม่ขโมยทรัพย์สินผู้อื่น
3. ไม่ล่วงในทางเพศต่อสามีหรือภรรยาผู้อื่น รวมถึงชายหญิงต้องห้าม
4. ไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นจริง หรือ คำโกหก
5. ไม่ดื่มน้ำเมาหรือสารที่ทำให้เมาหรือเสพติด
6. ไม่บริโภคอาหารในยามวิกาล (หลังเที่ยงถึงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในอีกวัน)
7. ไม่ฟ้อนรำทำเพลง แสดงกิริยารื่นเริง รวมถึงละเว้นจากการแต่งสวยแต่งงามให้ร่างกาย
8. ไม่นั่งหรือนอนบนที่นั่งหรือที่นอนที่ทำให้นุ่ม และสูงจากพื้น

ศีล 8 หรือ ที่เรามักเรียกว่า ศีลอุโบสถ เพราะเป็นศีลที่มักปฏิบัติสำหรับผู้ที่นุ่งขาวห่มขาว โดยเข้าปฏิบัติ และนอนค้างคืนในวัดวาอารามตามระยะเวลาที่ตนจะปฏิบัติได้ ซึ่งมักพบมากตามชนบทที่ชาวบ้านมักเข้าวัดเพื่อรักษาศีล 8 ในวาระโอกาสต่างๆ เช่น ในวันศีลเล็กหรือศีลใหญ่ (วันพระ) ตลอดช่วงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งศีล 8 จะมีข้อปฏิบัติที่มากกว่าฆราวาสทั่วไปที่ถือเพียงศีล 5 ข้อ

ทั้งนี้ ศีล 8 มิได้มีจุดมุ่งหมายให้สามารถปฏิบัติได้เฉพาะผู้ที่นุ่งขาวห่มขาวหรือเข้าปฏิบัติในวัดเท่านั้น แต่ฆราวาสทั่วไปผู้รักษาศีล 5 ก็สามารถเพิ่มศีลอีก 3 ข้อ รวมเป็นศีล 8 ข้อ โดยและรักษาปฏิบัติโดยไม่ต้องนุ่งขาวห่มขาวหรือไม่ต้องเข้าปฏิบัติในวัดก็ได้

ประโยชน์ของการรักษาศีล 8
1. เป็นผู้มีจิตเมตตา รู้จักช่วยเหลือ และสงเคราะห์ผู้อื่น
2. เป็นผู้ไม่มีความอยากได้ ไม่มีความละโมบในทรัพย์สินของผู้อื่น
3. ทำให้ครอบครัวมีความสุข มีความรัก และเข้าใจกัน
4. ทำให้ผู้อื่นรัก ผู้อื่นอยากเข้าใกล้ ไม่สร้างศัตรู ไม่มีผู้ติฉินนินทา
5. มีทรัพย์เงินทอง และไม่เสื่อมในทรัพย์นั้นง่าย
6. เป็นผู้มีความอดทน สามารถรู้จักห้ามใจในความอยากทางกาย และทางใจของตนได้
7. เป็นผู้ไม่หลงมัวเมาในกิเลส ในความสุขอันไม่เที่ยง
8. เป็นผู้รู้จักประมาณตน รู้จักสำรวมตน รู้จักใช้ชีวิตอย่างความพอเพียง

ศีล8

อรรถาธิบายเพิ่มเติม และการรักษาศีล 8
ศีล 8 ข้อที่ 1 หมายถึง การละเว้นจากการฆ่า การทำร้ายร่างกาย และการกระกรรมผู้ให้อื่นได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะกระทำด้วยตนเองหรือให้ผู้อื่นกระทำ ได้แก่
1. ละเว้นจากการฆ่าคนและสิ่งมีชีวิตให้ตายไป

2. ละเว้นจากการทำร้ายร่างกายคน และสิ่งมีชีวิต ได้แก่
– ไม่ทำให้พิการ
– ไม่ทำให้คนหรือสัตว์สูญเสียอวัยวะบางส่วน
– การทำให้เสียโฉมหรือสูญเสียความงาม
– ไม่ทำให้บาดเจ็บหรือความทรมานทางกาย เช่น การชกต่อย การเฆี่ยนตี เพื่อให้เกิดการบาดเจ็บ

3. ละเว้นจากการทระกรรม หมายถึง การประพฤติเหี้ยมโหดแก่คนและสัตว์ดิรัจฉานโดย ไม่ปราณี ได้แก่
– ไม่ใช้งานอย่างไม่ปราณี
– ไม่กักขังคนหรือสัตว์ในที่คับแคบ และปล่อยให้อดอยากไม่ได้รับความสุข
– ไม่นำคน และสัตว์ไว้อย่างผิดอริยาบท จนได้รับความลำบากความลำบากทางกาย และจิตใจ เช่น ผูกขาไก่สองขาไว้เพื่อไม่ให้วิ่งได้
– ไม่นำคนละสัตว์มาเล่น เพื่อความสนุก เช่น เอาประทัดยัดใส่ปากคางคกแล้วจุดไฟ
– ไม่เอาคนหรือสัตว์ ต่อสู้กัน ชนกัน กัดกัน เช่น ชนโค ชนไก่ กัดปลา

ศีล 8 ข้อที่ 2 หมายถึง การละเว้นจากการลักทรัพย์ การขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่นหรือของส่วนรวม แล้วเอามาเป็นของตน ได้แก่ โจรกรรม การเลี้ยงชีพเยี่ยงโจรกรรม และกริยาเป็นฉายาโจรกรรม
1. ไม่โจรกรรม หมายถึง กริยาที่ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการเป็นโจรกรรม ได้แก่
1.1 ไม่ลัก ได้แก่ ไม่ถือเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินในอาการเป็นโจรด้วยการที่เจ้าของทรัพย์สินไม่รู้ แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
– ไม่ขโมย คือ ไม่เอาสิ่งของไปเมื่อเจ้าของเผลอ
– ไม่ย่องเบา คือ ไม่แอบลักลอบเข้าไปในบ้านเรือนผู้อื่นในเวลาสงัด แล้วหยิบเอาสิ่งของของผู้อื่นไป
– ไม่ตัดช่อง คือ ไม่งัด หรือเจาะประตูหน้าต่าง ฝา บานกระจกที่ตัดอยู่เข้าไปเผื่อเอาสิ่งของของเขา
1.2 ไม่ฉก ได้แก่ ไม่แสดงกริยาที่เอาทรัพย์สินหรือสิ่งของในช่วงขณะที่เจ้าของเผลอ มองไม่เห็น เช่น
– ไม่วิ่งราว คือ ไม่เข้าแย้งชิงเอาของของเขาแล้ววิ่งหนีไป
– ไม่ตีชิง คือ ไม่ทำร้ายเจ้าของทรัพย์เพื่อทำให้เจ็บ แล้วแย่งเอาทรัพย์ของเขาไป
1.3 ไม่กรรโชก ได้แก่ ไม่แสดงกริยาอาการที่ทำให้เจ้าของทรัพย์กลัวด้วยอำนาจ เพื่อให้เจ้าของทรัพย์มอบทรัพย์ให้
1.4 ไม่ปล้น ได้แก่ ไม่กระทำหรือแสดงอาการข่มขู่ให้เจ้าทรัพย์กลัวเพื่อมอบทรัพย์ให้แก่ตน ด้วยการใช้อาวุธ
1.5 ไม่ขู่ ได้แก่ ไม่แสดงอาการข่มขู่ด้วยวาจาเพื่อให้เจ้าของมอบกลัว และมอบทรัพย์ให้แก่ตน
1.6 ไม่ฉ้อโกง ได้แก่ ไม่เอาทรัพย์สินของผู้อื่นมาอยู่ในความดูแลของตนเองด้วยกลอุบายต่างๆ เช่น ฉ้อโกงเอาที่ดินที่มีผู้ให้อาศัยอยู่เป็นของตน เมื่อได้อาศัยอยู่เป็นเวลานาน
1.7 ไม่หลอก ได้แก่ การไม่เอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการพูดจาหลอกลวงหรือโกหก
1.8 ไม่ลวง ได้แก่ การไม่เอาทรัพย์สินของ ของผู้อื่นโดยใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย หรือเครื่องมือลวงให้เข้าใจผิด
1.9 ไม่ปลอม ได้แก่ การไม่ทำของไม่แท้ให้เห็นว่าเป็นของแท้ เพื่อเบียดเอาทรัพย์สิ่งของแท้ของผู้อื่นไป เช่น การเอาธนบัตรปลอมมาซื้อของ
1.10 ไม่ตระบัด ได้แก่ การไม่ยืมของเขาไปแล้วไม่ส่งคืนเจ้าของเดิม และยึดเป็นของตนเอง เช่น กู้หนี้ยืมสินมาแล้วไม่คืนทั้งต้นทั้งดอก
1.11 ไม่เบียดบัง ได้แก่ การไม่ถือเอาทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นของตน หรือไม่กินเล็กกินน้อย เช่น การจ่ายตลาดเพื่อทำอาหารกลางวันให้โรงเรียนแล้วเอาเงินที่จ่ายตลาดบางส่วนมา เป็นของตนเอง
1.12 ไม่สับเปลี่ยน ได้แก่ ไม่เอาขยะที่ไม่ดี ไม่เปลี่ยนเอาทรัพย์สินของที่มีของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง เช่น เอารองเท้าเก่าไปเปลี่ยนรองเท้าใหม่ของผู้อื่นโดยเจ้าของไม่รู้
1.13 ไม่ลักลอบ ได้แก่ ไม่เอาสิ่งของที่ต้องห้าม หรือ สิ่งของที่ต้องสำแดง เช่น การลักลอบขนของหนีภาษี ลักลอบขนยาเสพติด ลักลอบขนอาวุธเถื่อน ลักลอบขาย ซีดี เถื่อน
1.14 ไม่ยักยอก ได้แก่ ไม่เอาทรัพย์สินของคนอื่นที่ถูกริบมาหรือถูกยึดไว้ในทางกฏหมายไปเป็นของตน เองด้วยการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้แอบจัดทำเอกสารยึดไม้เท็จ แล้วนำไม้ไปขายเอง

2. ไม่เลี้ยงชีพเยี่ยงโจร หมายถึง การไม่แสวงหาทรัพย์สินจากบุคคลอื่นในทางที่ไม่สุจริต ซึ่งไม่นับเป็นการโจรกรรม แบ่งเป็น 3 ประการ
– ไม่รับซื้อของโจร คือ ไม่รับซื้อทรัพย์สินหรือสิ่งของที่ผู้อื่นนำมาขายจากการได้มาด้วยการโจรกรรม
– ไม่ปลอกลอก คือ ไม่มีเจตนามุ่งหมายจะเอาทรัพย์สินของเขาด้วยกลอุบายต่างๆเพื่อให้ทรัพย์สินของเขาหมดไป
– ไม่รับสินบน คือ ไม่รับเอาทรัพย์สิน เงินทองของผู้อื่นที่เข้าติดต่อการงาน เพียงเพราะต้องการเอื้อประโยชน์ในหน้าที่การงานให้แก่เขา เช่น ผู้ตรวจงานการก่อสร้างรับเงินสินบนจากผู้รับเหมาเพื่อให้การตรวจรับงานผ่าน ได้ง่ายๆ

3. ไม่ทำตัวเยี่ยงโจร หมายถึง ไม่ทำทรัพย์สินของผู้อื่นให้สูญเสียหรือหมดไป หรือทำให้ตกเป็นของตัวเอง มี 2 ลักษณะ ได้แก่
– ไม่ผลาญ คือ ไม่ทำอันตราย หรือ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น ไม่แกล้งเผาสวนอ้อย ไม่แกล้งเผาโรงเรียน ไม่เผาไล่ที่ เป็นต้น
– ไม่หยิบฉวย คือ ไม่ถือเอาสิ่งของของผู้อื่น ด้วยความที่ผู้อื่นไม่เห็น และไม่แจ้งบอกเจ้าของสิ่งของ เช่น หยิบเอาปากกา ดินสอ ของเพื่อนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

ศีล 8 ข้อที่ 3 หมายถึง การเว้นจากการกระทำผิดในกาม และการกระทำอันลามกอนาจาร ได้แก่
1. เว้นจากการกระทำผิดในกาม คือ
– การกระทำที่ชายหรือหญิงประพฤติร่วมประเวณีชายหญิงที่ไม่ใช่สามีภรรยาของตน เช่น ชายไปเที่ยวหญิงบริการ หรือ เมียเช่า เป็นต้น
– การร่วมประเวณีกับชายหรือหญิงที่ผู้ปกครองหรือเจ้าของไม่ได้ยกให้ เช่น ร่วมประเวณีกับหญิงที่อายุ 15 ปี และเยาวชนที่มีเพศสัมพันธ์กันโดยสมัครใจ แต่ พ่อ แม่ ผู้ปกครองยังไม่ได้ยกให้ เป็นต้น
– หญิงหรือชายที่จารีตห้าม ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร ชี พี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน บุพการี ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด เป็นต้น

2. เว้นจากการกระทำลามกอนาจาร คือ
– เว้นจากการแสดงของสงวนในร่างกายของหญิงหรือชาย อันควรปกปิดต่อสาธารณะ เช่น ถ่ายภาพโป้ลงในหนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต วีซีดี เป็นต้น
– เว้นจากการนำเอาของสงวนที่ปกปิดในร่างกายของชาย หญิง และเด็กมาเผยแพร่ เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ โดยผู้ปกครองหรือเจ้าของไม่อนุญาต เช่น แอบเอากล้อง วีดีโอ แอบถ่ายผู้หญิงเวลาทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ

ศีล 8 ข้อที่ 4 หมายถึง การเว้นจากการกระทำเป็นเท็จ กล่าววาจาที่เป็นเท็จ รับคำแล้วไม่ทำตามที่ตกลง ได้แก่
1. เว้นจากการไม่กล่าวเท็จ มี 6 ประเภท คือ
1.1 ไม่พูดปด คือ การไม่พูดเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยไม่อาศัยข้อเท็จจริง เช่น
– ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแยกกัน
– ไม่หลอกเพื่อจะโกงเขา
– ไม่ยอหรือยกย่องเขาด้วยความที่ไม่เป็นความจริง เพียงเพื่อให้เขามอบทรัพย์ สิ่งของหรือหวังประโยชน์อื่นๆ
– ไม่พูดสับปรับ กลับคำ เป็นต้น
– ไม่ทนสาบาน คือ การไม่พูดรับคำตัวเองว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อผู้อื่นหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งๆที่ตนเองไม่มีความมั่นใจว่าจะทำได้หรือรู้ว่าไม่สามารถจะทำได้ เพราะเพียงเพื่อหวังประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การรับปากกับเพื่อนว่าจะคืนเงินให้พร้อมกับดอกเบี้ยหนึ่งเท่าตัว หากเพื่อนให้ยืมเงินภายในวันนี้ เป็นต้น
1.2 ไม่ทำเล่ห์ คือ พูดเท็จด้วยการใช้กลอุบาย ไม่พูดตรงๆ เช่น พูดแอบอ้างว่าศักดิ์สิทธิ์สามารถให้ในสิ่งที่ขอได้ทุกประการหากนำอาหาร เงินทองมาเส้นไหว้ เป็นต้น
1.3 ไม่ทำมารยา คือ การไม่แสดงอาการเพื่อจงใจให้ผู้อื่นเห็นหรือรับรู้ด้วยเหตแห่งการแสร้งทำ และไม่จริงใจ เช่น แกล้งเป็นลมเพื่อให้ผู้อื่นเห็นอกเห็นใจ หรือแกล้งร้องให้เพื่อให้ผู้อื่นสงสาร เป็นต้น
1.4 ไม่ทำเลศนัย คือ การไม่พูดเท็จ หรือพูดเล่นคำ เล่นสำนวนเพื่อให้ผู้ฟังนำไปคิดต่อเอาเอง
1.5 ไม่เสริมความ คือ การไม่พูดโดยอาศัยความจริงซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อย แต่พยายามออกไปมาก เช่น การโฆษณาสรรพคุณยาเกินความเป็นจริง
1.6 ไม่อำความ คือ การไม่พูดที่ตัดใจความบางส่วนออกเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิดเป็นอย่าง อื่น เช่น ข้าราชการปิดบังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบางเรื่องไม่รายงานต่อผู้บังคับบัญชา ทั้งหมด ทำให้ผู้บังคับบัญชาเข้าใจผิด คนขายของบอกแต่ข้อดีของสินค้า แต่ปิดบังไม่บอกข้อเสีย เป็นต้น

2. เว้นจากการพูดที่เท่ากับการกล่าวเท็จ คือ การไม่พูดความจริง ที่เจตนาให้เกิดโทษแก่ผู้อื่น เช่น
– ไม่พูดยุยงส่อเสียด ไม่พูดให้เขาเกิดความเข้าใจผิดกัน
– ไม่พูดส่อเสียดที่จะทำให้ผู้อื่นไม่สบายใจหรือเจ็บใจ

3. เว้นจากการพูดกลับคำ คือ การไม่รับปากหรือไม่รับคำ ทั้งต่อผู้อื่น และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ แต่หลังจากนั้น กลับไม่ทำตามสิ่งที่ตนเคยกล่าวไว้ ได้แก่
– ไม่ผิดสัญญา เช่น ทำสัญญากู้ยืมเงินจากบริษัทแล้ว พอถึงกำหนดชำระ ก็ต้องนำเงินมาชำระในระยะเวลาที่กำหนดไว้
– ไม่เสียสัตย์ คือ เมื่อให้สัตย์ปฏิญาณแก่ใครแล้วต้องทำตาม เช่น ข้าราชการปฏิญาณตนจะซื่อสัตย์ต่อราชการก็ต้องไม่ทุจริต คอรัปชั่น
– ไม่คืนคำ คือ การรับปากว่าจะทำหรือไม่ทำสิ่งใดแล้วแม้นไม่มีสัญญาต่อมาภายหลังก็ทำตามที่ พูดไว้ เช่น สัญญากับลูกว่าวันอาทิตย์จะพาไปเที่ยวพอถึงวันอาทิตย์ก็พาลูกไปเที่ยวจริงๆ แม้นพ่อแม่จะไม่ว่างก็ต้องพาไป

ศีล 8 ข้อที่ 5 หมายถึง การละเว้นไม่ดื่มน้ำเมาหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงสารที่ทำให้เกิดความมึนเมาต่างๆ ได้แก่ เหล้า เบียร์ ไวน์ สารเสพติด และสารระเหยเสพติด เป็นต้น
1. การเว้นจากการดื่มสุรา คือ น้ำเมาซึ่งกลั่นแล้ว
– เว้นจากการดื่มสุราที่ทำด้วยแป้ง เช่น เหล้าขาว หรือ เหล้าโรง เหล้าเถื่อน
– การเว้นจากการดื่มสุราที่ทำด้วยขนม
– การเว้นจากการดื่มสุราที่ทำด้วยข้าวสุก
– การเว้นจากการดื่มสุราที่หมักด้วยเชื้อ เช่น วิสกี้
– การเว้นจากการดื่มสุราที่ปรุงด้วยเครื่องเทศต่างๆ เช่น เหล้าดองยา

2. การเว้นจากการดื่มเมรัย คือ น้ำเมาซึ่งยังไม่ได้กลั่น ได้แก่
– การเว้นจากการดื่มน้ำดองจากผลไม้ เช่น ไวน์ต่าง ๆ
– การเว้นจากการดื่มน้ำดองดอกไม้
– การเว้นจากการดื่มน้ำผึ้ง หรือน้ำดองน้ำหวาน
– การเว้นจากการดื่มน้ำดองน้ำอ้อย
– การเว้นจากการดื่มน้ำดองน้ำอ้อย

3. การเว้นจากการเสพสิ่งเสพติดทั้งปวงที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา ความเพลิดเพลิน แต่ทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ได้แก่
– สารเคมีที่เสพติด เช่น มอร์ฟีน แอมเฟสตามีน(ยาบ้า) เฮโรอีน ยาอี ยาเค ยาเสียสาว เป็นต้น
– พืชเสพติด เช่น ฝิ่น ใบกระท่อม และกัญชา เป็นต้น
– สารระเหยต่างๆ ที่สูดดมแล้วทำให้เสพติด และให้โทษแก่ร่างกาย เช่น ทินเนอร์ กาว เป็นต้น

ศีล 8 ข้อที่ 6 หมายถึง ไม่ประพฤติด้วยการรับประทานอาหารหรือของคบเคี้ยวในช่วงหลังเที่ยงวันจนถึงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นของอีกวัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อ
– ฝึกให้มีความอดทนต่อความทรมานทางกาย และใจ
– ฝึกให้รู้จักควบคุมความอยากทางใจ
– ฝึกให้รู้จักความพอเพียงในการบริโภค
– เพื่อช่วยให้ละเว้นจากศีลข้อ1 ได้

ทั้งนี้ ศีลข้อนี้มีความเข้าใจในชาวพุทธที่ยึดปฏิบัติ คือ ไม่รับประทานอาหารทั้งหลายที่เป็นของคบเคี้ยว แต่สามารถดื่มน้ำปาณะได้ น้ำปาณะในที่นี้ คือ น้ำปรุงรสด้วยน้ำตาลหรือน้ำที่ต้มจากพืช เช่น น้ำมะตูม น้ำเก๊กฮวย เป็นต้น ซึ่งมิได้หมายรวมถึงน้ำที่เป็นน้ำสกัดจากร่างกายสัตว์ เช่น น้ำซุปไก่ น้ำซุปหมอ เป็นต้น

ศีล 8 ข้อที่ 7 หมายถึง ไม่ประพฤติด้วยอาการฟ้อนเต้น ทำท่าเริงร่า คึกคะนอง หรืออาการสนุกสนาน รวมถึงละเว้นจากประคับประโคมตกแต่งร่างกายให้สวยงาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อ
– ไม่ให้เป็นผู้หลงมัวเมาในความสวยความงาม หลงในสิ่งของ หรือหลงในกายของตน
– เพื่อป้องกันมิให้เกิดตัณหาแก่ผู้อื่น

ศีล 8 ข้อที่ 8 หมายถึง ไม่ประพฤติด้วยการนั่งหรือนอนบนที่สูงที่ทำให้นุ่ม เช่น โชฟา เตียงนอน เป็นต้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อ
– เพื่อให้รู้จักประมาณตน รู้จักความพอเพียง
– เพื่อไม่ให้ยึดติดในทรัพย์ ในฐาน ในยศฐา
– การรู้จักใช้ความอดทน

ศีล81