สารก่อภูมิแพ้ (allergen) หมายถึง สารที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาอิมมูนทำให้ร่างกายเกิดภูมิไวต่อสารเหล่านั้นหรือที่เรียกว่าอาการภูมิแพ้ ส่วนใหญ่เป็นไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) ที่มีน้ำหนักโมเลกุลมากกว่า 1000 dalton สารก่อภูมิแพ้ที่พบทำให้เกิดอาการภูมิแพ้แบ่งได้หลักๆ คือ
สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ ได้แก่
1. สารจากไรฝุ่น (House dust mite allergrns)
ไรฝุ่นจัดอยู่ในกลุ่ม Arachnids ร่วมกับแมงมุม และตัวไร พบประมาณ 13 ชนิดที่พบในบ้าน ชนิดที่พบมาก และเป็นปัญหาของการเกิดภูมิแพ้ คือ Dermatophagoides pteronyssinus, Dermatophagoides farinae และ Dermatophagoides maynei นอกจากนั้นยังมีพวกไรโรงเก็บ เช่น Blomia tropicalis ที่ทำให้คนจำนวนมากเกิดโรคภูมิแพ้ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และไต้หวัน ส่วนชนิด Lepidoglyphus spp. เป็นชนิดก่อให้เกิดภูมิแพ้ในแถบทวีปยุโรป และสแกนดิเนเวีย ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ที่มาจากไรฝุ่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ และหอบหืด
ไรฝุ่นดำรงชีวิตด้วยการกินเศษคราบไคล รังแคและฝุ่นอินทรีย์ มักอาศัยอยู่ในที่ร่ม แสงสว่างน้อย ที่อับชื้น เช่น หมอน ผ้าห่ม ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น หายใจด้วยการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิว อาศัยการซึมซับน้ำจากอากาศเพื่อควบคุมระดับน้ำในร่างกายจึงมักพบในที่อับชื้น และไม่ชอบสถานที่อับแห้ง สารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้จากไรฝุ่นจะถูกสร้างในระหว่างการเจริญเติบโต และการลอกคราบ
การเรียกชื่อสารที่ก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นจะตั้งชื่อตาหลักสากล โดยใช้อักษร 3 ตัวแรกเป็นชื่อของ genus ตามด้วยอักษรตัวแรกของชื่อ species และตามด้วยกลุ่มของสารก่อภูมิแพ้ เช่น Der p 1, Blo t 5 เป็นต้น
สารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นจะมาจาก 2 ส่วน คือ
– ส่วนที่มาจากมูล ไร (Fecal allergen) ชื่อ Der p 1 เป็นสารที่พบมากที่สุดจึงจัดเป็น major allergen ที่พบในมูลไร
– จากตัวไร (Mite body allergen) ที่เกิดจากการลอกคราบ และเศษตัวไรที่หลุดลอกออก จัดเป็น minor allergen เช่น Der p 2
ค่ามาตรฐานสากลที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกกำหนดสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นของ Der p 1 ในฝุ่นที่เกิน 2 ไมโครกรัม/ฝุ่น 1 กรัม (ไรฝุ่นประมาณ 100 ตัว) ถือมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ และหากมากกว่า 10 ไมโครกรัม/ฝุ่น 1 กรัม (ไรฝุ่นประมาณ 500 ตัว) จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคหอบหืดแบบเฉียบพลัน
การประมาณมูลของไรฝุ่นคิดจากค่าประมาณ ไรฝุ่น 1 ตัว จะถ่ายมูล 10-20 ก้อน/วัน มูล 1 ก้อน มีขนาดประมาณ 10-40 ไมโครเมตร สามารถฟุ้งกระจายในอากาศได้ดี และหากเป็นไรฝุ่นที่มีอายุมากกว่า 30 วัน ส่วนมากจะก่อให้เกิดสารภูมิแพ้ที่มาจากมูลของไรเอง
2. แมลงสาบ (Cockroach)
ฝุ่นที่เกิดจากซากแมลงสาบถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหอบหืด (asthma) และโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) โดยพบเป็นสาเหตุรองลงมาจากไรฝุ่น ซึ่งแมลงสาบที่พบมากในไทยจำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ American cockroach, German cockroach, Common cockroach และ Australian cockroach
การดำรงชีพของแมลงสาบพบชอบอาศัยในสถานที่รก อับชื้น และมีเศษอาหาร เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว เป็นต้น โดยสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ส่วนมากจะเกิดจากมูลของแมลงสาบมากกว่าสารที่มาจากตัวแมลงสาบมากถึง 6 เท่า โดยมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับสารที่ก่อภูมิแพ้ในไรฝุ่น
แมลงสาบสายพันธุ์ German cockroach จะทำให้เกิดสารก่อภูมิแพ้หลัก คือ Bla g 1 และ Bla g 2
แมลงสาบสายพันธุ์ American cockroach จะทำให้เกิดสารก่อภูมิแพ้หลัก คือ Per a 1 และ Per a 2
ค่ามาตรฐานของการได้รับสารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบพันธุ์ German cockroach หากมากกว่า 2 10 ไมโครกรัม/ฝุ่น 1 กรัม จะเสี่ยงต่อการถูกกระตุ้นอาการ และหากมากกว่า 8 ไมโครกรัม/ฝุ่น 1 กรัม จะเกิดอาการภูมิแพ้ ส่วนค่ามาตรฐานของสายพันธุ์ American cockroach ยังไม่มีค่ากำหนด
3. สัตว์เลี้ยง (Pets)
สัตว์ที่มีการเปลี่ยนขนหรือเซลล์ที่หลุดลอกภายในบ้าน เช่น สุนัข แมว นก รวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ สามารถก่อให้เกิดเป็นสารก่อภูมิแพ้ได้ อาทิ สารก่อภูมิแพ้จากแมว Fel d 1 จาก sebaceous gland และ saliva gland ขนาดประมาณ 5 ไมโครเมตร สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นาน เพียงปริมาณ 8 ไมโครกรัม/ฝุ่น 1 กรัม จะทำให้เกิดการตอบสนองต่ออาการภูมิแพ้ได้ ส่วนในสุนัขจะพบสารก่อภูมิแพ้ชนิด Can f 1 ที่พบในขน รังแค และน้ำลาย ปริมาณเพียง 10 ไมโครกรัม/ฝุ่น 1 กรัม จะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้เช่นกัน
4. เกสรจากพืช
– เกสรหญ้า เช่น เกสรหญ้าแพรก เกสรหญ้าขน
– เกสรพืชเพาะปลูก เช่น เกสรข้าวโพด เกสรอ้อย
– เกสรไม้ยืนต้น เช่น เกสรกระถินณรงค์ เกสรกระถิน
– สปอร์ เช่น สปอร์จากเฟิร์น สปอร์จากปรง
5. สปอร์จากเชื้อรา
เชื้อราที่มีสปอร์ทำให้เกิดภูมิแพ้ได้แก่ ไฟลัม Deuteromycetes
สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร
อาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่
– เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวสาลี งา เป็นต้น
– เนื้อปลา
– เนื้อสัตว์น้ำที่มีเปลือก
– นม
– ไข่
– นัทชนิดต่างๆ