สิวเสี้ยน และการรักษา

11360

สิวเสี้ยน (Trichostasis spinulosa) ถือเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมรูขุมขน (pilosebaceous follicles) ทำให้มีการหนาตัวของชั้นขี้ไคล ร่วมกับการสะสมของขนอ่อนในรูเปิด ทำให้มีลักษณะคล้ายสิวอุดตัน หัวดำ (back comedone) หรือมีกระจุกขนเล็กๆ 5-50 เส้น ในรูขุมขนหรือแทรกอยู่ในสิวอุดตัน

กระจุกตัวขนอ่อนที่แทรกอยู่ในรูขุมขนทำให้มองเห็นเป็นลักษณะจุดดำๆ เล็กๆ ตามใบหน้าหรือจมูกตามระยะของรูขุมขน บางจุดอาจมีกระจุกขนอ่อนยื่นออกมาเหนือรูขุมขน โดยเฉพาะบริเวณรูขุมขนที่มีขนาดใหญ่ เช่น บริเวณจมูก หน้าผาก และข้างแก้ม โดยอาการของสิวเสี้ยนจะพบมากในวัยกลางคน และวัยผู้สูงอายุ ซึ่งมีโอกาสเกิดได้เท่ากันทั้งชาย และหญิง แต่จะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ และพันธุกรรมเป็นสำคัญ

อาการของสิวเสี้ยน

อาการสิวเสี้ยนแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. แบบคลาสสิก (classic variant) เป็นลักษณะสิวเสี้ยนที่มีลักษณะเป็นสิวอุดตัน (comedone) โดยไม่มีอาการคันร่วมด้วย มักพบมากบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณจมูก
2. แบบคัน (pruritic variant) เป็นลักษณะสิวเสี้ยนที่เป็นตุ่มขุมขนนูน ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด โดยมีอาการคันร่วมด้วย มักพบมากบริเวณแขนขา ลำตัว โดยพบในระยะหนุ่มสาวมากที่สุด

สิวเสี้ยน

ลักษณะปัญหาสภาพผิวของวัยหนุ่มสาวทั้งชนิดที่แสดงอาการ และไม่แสดงอาการที่เกิดมากหรือน้อยเพียงใดมักทำให้คนในวัยนี้เข้ามาพบแพทย์เป็นส่วนใหญ่ อาจเนื่องจากความกังวลในเรื่องความสวย ความงามเป็นหลัก แต่ในบางรายอาจพบอาการเป็นมาก และมีอาการคันที่รุนแรง โดยเฉพาะเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

ลักษณะการเติบโตของผมหรือเส้นขน
1. ผมชุดแรกเกิด (Lanugo hair) เป็นเส้นขนขนาดเล็ก ไม่มีสี ไม่มีแกนกลางของเส้นผม และจะหลุดร่วงเองภายใน 3-4 สัปดาห์ ก่อนคลอด
2. ขนอ่อน (Vellus hair) เป็นเส้นผมที่เกิดหลังจากการหลุดร่วงของเส้นผมแรกเกิด มีลักษณะเป็นขนอ่อน ขนาดเล็ก ไม่มีสีหรือสีอ่อน ไม่มีแกนกลางเส้นผม ยาวประมาณ 2 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.03 มม.
3. เส้นผม (Terminal hair) เป็นเส้นผมขนาดใหญ่ ยาว แข็ง และหยาบมากกว่าชุดผมชุดแรก มีลักษณะของสีที่เข้มข้น และมีแกนกลางเส้นผม

สาเหตุการเกิดสิวเสี้ยน

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดสิวเสี้ยน แต่เชื่อว่าเกิดจากเซลล์มีการผลิตขนขนาดเล็กที่มากขึ้น โดยเส้นขนขนาดเล็กมีการรวมตัวหนาภายในรูขุมขน ทำให้เกิดอุดตันในส่วนของอินฟันดิบูลัมจนไม่สามารถพลัดเส้นขนออกไปได้

สิวเสี้ยนที่เกิดขึ้นจะเกิดในส่วนของอินฟันดิบูลัมของรูขุมขนที่มีการขยายตัวจากการรวมตัวกันแน่นของเส้นขน โดยที่ไม่มีการพลัดขนเก่าออก ซึ่งอาจมีปัจจัยต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องได้ อาทิ การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงสาเหตุมาจากพันธุกรรม

สาเหตุเสี่ยงต่อการเกิดสิวเสี้ยน
1. กระเปราะขนถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น
2. รูขุมขนมีกระเปาะขนมากกว่า 1 กระเปาะ
3. การเคลื่อนตัวของแกนรูขุมขน
4. ความผิดปกติของเมทาบอลิซึม และความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ
5. การขาดวิตามิน
6. ความมัน ความสกปรก ฝุ่น ความร้อน สารเคมี และสภาพแวดล้อม
7. การติดเชื้อบริเวณรูขุมขน
8. การกระตุ้นของฮอร์โมนเพศ และการทำงานของต่อมไขมันผิดปกติ
9. การถูกรบกวนผิวมากเกินไป เช่น การขัดถูแรงๆที่ทำให้รูขุมขนขยายตัว เป็นต้น
10. การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
11. พันธุกรรมของร่างกาย

ลักษณะรูขุมขนในเซลล์ต่อการเกิดสิวเสี้ยน
1. ชนิดรูขุมเดียว ที่มีลักษณะการทำมุมของรูขุมขนทำให้มีการเกิด และพลัดขนอย่างรวดเร็ว
2. ชนิดหลายรูขุมขน ที่ประกอบด้วยกระเปาขนหลายกระเปราะจนทำให้เกิดรูขุมขนหลายรู

ลักษณะทางเนื้อเยื่อต่อการเกิดสิวเสี้ยน
ผู้ที่เป็นสิวเสี้ยนมักตรวจพบกลุ่มขนขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มขนเหล่านี้จะถูกห่อหุ้มด้วยเคราตินอยู่ภายในรูขุมขน ลักษณะรูขุมขนที่เกิดมีการขยายตัว มีการอุดตัน และสะสมของไขมัน การตรวจสอบชิ้นเนื้อเยื่อตามแนวตั้งมักพบกระเปราะขนหลายกระเปราะภายในผนังของรูขุมขนเดียว มีการอักเสบของผนังรูขุมขน เส้นขนมีลักษณะผิดปกติ

การศึกษาจำนวนขนอ่อนจากผู้เป็นสิวเสี้ยน สามารถพบจำนวนขนอ่อนตั้งแต่ 4 เส้น จนถึง 86 เส้น ภายในรูขุมขนเดียว ซึ่งจะรวบตัวกันเป็นกระจุกอัดแน่น และถูกหุ้มด้วยเคราติน และกลุ่มไขมันรวมตัวกันภายในรูขุมขนเดียวจนมองเห็นเป็นลักษณะจุดสีดำเป็นจุดๆตามรูขุมขน

ผลกระทบจากสิวเสี้ยน

1. รูขุมขนขยายตัวกว้างทำให้เกิดการฝังตัวของสิ่งสกปรก และจุลินทรีย์ได้ง่าย
2. เกิดการติดเชื้อ และอักเสบของรูขุมขนได้ง่าย
3. เกิดสิวอุดตัน และติดเชื้ออักเสบ
4. ใบหน้า จมูก หรือบริเวณที่เกิดสิวเสี้ยนแลดูเป็นจุดดำ
5. มีอาการคันตามบริเวณใบหน้า จมูก และบริเวณที่เกิดสิวเสี้ยนจนทำให้เกิดความรำคาญ
6. ผิวหน้าหรือบริเวณที่เกิดสิวเสี้ยนมีลักษณะเป็นหลุม ขรุขระ
7. ใบหน้าแลดูดำคล้ำ และแลดูแก่เกินวัย

การรักษาสิวเสี้ยน

1. การใช้กรดวิตามินเอ (retinoic acid) เป็นสารที่ช่วยลดการอุดตันของไขมันบริเวณรูขุมขน และการเกาะตัวของเซลล์ขน และทำให้สิวเสี้ยนหลุดออกง่าย แต่มีข้อเสีย คือ อาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ผิวหนังแสบ ผิวหนังแห้ง และแดงได้ รวมถึงผิวมีความไวต่อแสงแดดมากขึ้น ระยะเวลาการรักษาอาจนาน 3-4 เดือน ควรใช้ภายในบ้านหรือเฉพาะเวลากลางคืน และหากออกนอกบ้านหรือสัมผัสแสงแดดควรทาครีมกันแดดทุกครั้ง

2. ยาทาในกลุ่มเบนซิลเปอร์ออกไซด์ (benzoly peroxide) ยาชนิดนีมีผลต่อการละลายไขมัน และลดการอุดตันไขมันหรือสิ่งสกปรกบริเวณรูขุมขน ด้วยการทาทั่วใบหน้าหรือบริเวณที่เกิดสิวเสี้ยน ทิ้งไว้ 5-10 นาที ก่อนการล้างหน้าหรืออาบน้ำ เช้า-เย็น หรือวันละครั้ง การใช้ยานี้มีข้อเสียเหมือนการใช้กรดวิตามินเอ ซึ่งต้องใช้ในปริมาณไม่เข้มข้น และเว้นระยะห่างของการใช้

3. การใช้แผ่นลอกสิวเสี้ยน เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตออกมาจำหน่ายสำหรับการลอกสิวเสี้ยนโดยเฉพาะ มีลักษณะเป็นแผ่นสีดำหรือสีขาวหรือสีอื่นๆ ลักษณะตัดเว้าตามส่วนโค้งของจมูก ด้านหนึ่งของแผ่นถูกเคลือบด้วยสารที่มีลักษณะเหนียวเหมือนกาว ชนิดกาวไซยาโนอะคริเลต (cyanoacrylate polymer glue) ทำหน้าที่ในการยึดเกาะกับกลุ่มขนหรือกลุ่มไขมันที่อยู่ภายในรูขุมขน เวลาแปะจะต้องกดรีดเบาๆให้ทั่วแผ่น และปล่อยทิ้งไว้ 5-10 นาที ก่อนค่อยๆดึงแผ่นกาวออก ซึ่งสิวเสี้ยนหรือกลุ่มไขมันจะถูกยึดติดกับแผ่นกาวหลุดออกมานอกรูขุมขน ทั้งนี้ ประสิทธิภาพการกำจัดจะไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบางรูขุมขนที่สิวเสี้ยนมีการอุดตัน และอยู่ลึกมากจะไม่ถูกยึดติดกับกาวได้

แผ่นลอกสิวเสี้ยน

4. การมาส์กด้วยไข่ขาว ถือเป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน ราคาถูก และประหยัดเงิน ด้วยการทาไข่ขาวบางๆบนผิวหน้า จมูก หรือส่วนที่เกิดสิวเสี้ยน พร้อมนำกระดาษทิชชูหนึ่งชั้นแปะทับ และทิ้งไว้ให้แห้ง 10-15 นาที ก่อนค่อยๆดึงลอกกระดาษทิทิชชูออก ซึ่งสิวเสี้ยน และกลุ่มไขมันจะหลุดออกเหมือนกับการใช้แผ่นลอกสิวเสี้ยนที่มีการจำหน่าย

5. การใช้เครื่องมือกดสิว (comedone extractor) เป็นวิธีการกดด้วยการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆกดบริเวณรอบข้างของรูขุมขนที่เป็นสิวเสี้ยน ซึ่งแรงกดจะดันให้สิวเสี้ยนหรือกลุ่มไขมันดันตัวออกมานอกรูขุมขน นอกจากการใช้เครื่องมือกดแล้วยังรวมถึงถึงการกดหรือบีบด้วยมือ ซึ่งคนทั่วไปมักทำกัน ข้อเสียวิธีการนี้ คือ อาจทำให้เกิดแผลบริเวณรอยกดหรือบีบหากกดแรงเกินไป การกดด้วยนิ้วมือที่มีเล็บยาวหรืออุปกรณ์ที่มีลักษณะคมอาจทำให้เกิดแผลได้ แรงกดที่แรงอาจทำให้เซลล์ผิวบอบซ้ำ มีอาการบวมแดง และเจ็บ

6. การใช้กรดผลไม้ เป็นวิธีการใช้น้ำผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรดสำหรับการทาล้างหน้าหรือลอกหน้า เช่น น้ำมะนาว น้ำมะกรูด น้ำมะเฟือง เป็นต้น น้ำผลไม้เหล่านี้มีฤทธิ์เป็นกรดทำให้เกิดการละลายตัวของไขมันได้ ลดการอุดตันของรูขุมขนได้ แต่อาจเกิดการระคายเคือง และอาการแพ้ เป็นผื่นแดง และแสบได้

7. การกำจัดด้วยเครื่อง IPL (intense pulse light) เป็นเครื่องมือที่ผลิตขึ้นเพื่อกำจัดสิวเสี้ยน โดยสามารถกำจัดสิวเสี้ยนที่กระจุก และอัดตัวแน่นภายในรูขุมขนได้ดี และไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด

8. การใช้เลเซอร์ เป็นวิธีการกำจัดสิวเสี้ยนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และหากทำหลายๆครั้งจะสามารถกำจัดได้เกือบหมด แต่มีผลข้างเคือง คือ เกิดรอยแดงบริเวณรูขุมขน แต่จะหายเองภายใน 2-3 วัน และเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีอื่นๆ

ทูสชี และคณะ 2010 ได้ทดลองใช้เลเซอร์ 755 nm รักษาสิวเสี้ยนจากกลุ่มตัวอย่าง 31 คน จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน พบว่า จำนวน 16 คน มีปริมาณสิวเสี้ยนลดลงมากกว่า 50% หลังการใช้เลเซอร์ครั้งสุดท้าย 20 สัปดาห์ โดยไม่มีผลข้างเคียง และพบบางรายมีการเกิดสิวเสี้ยนกลับมา

9. การใช้ยาทากลุ่มเรตินอยด์ เป็นสารอนุพันธุ์ของกรดวิตามินเอ ทำหน้าที่สำหรับการผลัดผิวตื้น และช่วยละลาย และลดการสะสมของไขมันบริเวณรูขุมขน โดยมีคุณสมบัติ คือ

– เป็นสารกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวของชั้นหนังกำพร้า

– เป็นสารลดการสร้างเม็ดสีของชั้นผิวหนัง

10. การใช้ยาทาในกลุ่มเคราติน (keratolytics) ได้แก่
10.1 สาร AHA (Alpha Hydroxy Acid) เป็นกรดอินทรีย์ธรรมชาติ ใช้สำหรับการลอกผิวชั้นตื้น ช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิว และทำให้สีผิวขาวสม่ำเสมอ
10.2 กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid หรือ beta hydroxy acid เรียกย่อว่า BHA )  เป็นกรดอินทรีย์ที่เป็นอนุพันธ์ของสารฟีนอล สามารถสังเคราะห์ และสกัดได้จากธรรมชาติ เช่น เปลือกต้นวิลโล ใช้ผสมในเครื่องสำอางสำหรับการผลัดเซลล์ผิวตื้น และทำให้สีผิวขาวสม่ำเสมอ