อทินนาทานา หมายถึง การลักทรัพย์ โดยการกระทำที่มีเจตนา
ประเภทอทินนาทานา
1. โจรกรรม
โจรกรรม หมายถึง กิริยาถือเอาทรัพย์สินที่เจ้าของไม่ยินยอมให้ด้วยอาการเป็นโจร 14 ลักษณะ ดังนี้
1) ลัก คือ การถือเอาทรัพย์ผู้อื่นเมื่อลับหลังที่เจ้าของไม่อยู่
2) ฉก คือ การถือเอาทรัพย์ต่อหน้าเจ้าของทรัพย์ที่เจ้าของไม่ยินยอม
3) กรรโชก คือ การขู่ด้วยวาจาหรือใช้กำลังให้เจ้าของทรัพย์กลัว เพื่อมอบทรัพย์ให้
4) ปล้น คือ การใช้อาวุธหรือเครื่องประหารทำให้เจ้าของทรัพย์กลัว เพื่อมอบทรัพย์ให้ ทั้งกระทำเพียงคนเดียวหรือกระทำเป็นหมู่คณะ
5) ตู่ คือ การกล่าวอ้างว่าทรัพย์ของคนอื่นเป็นของตน
6) ฉ้อ คือ การใช้อุบายเป็นขั้นตอนที่ทำให้เจ้าทรัพย์ตามไม่ทัน เพื่อมอบทรัพย์ให้
7) หลอก คือ การแต่งเรื่องที่ไม่ใช่ความจริงจนเจ้าของทรัพย์หลงเชื่อเพื่อมอบทรัพย์ให้
8) ลวง คือ การใช้ทรัพย์หรือสิ่งของที่มีค่าน้อยกว่าในการแลกเปลี่ยนกับทรัพย์ของผู้อื่นที่มีค่ามากกว่า ด้วยการหลอกให้เชื่อว่าทรัพย์นั้นมีค่าเท่ากันหรือมากกว่า
9) ปลอม คือ การใช้ทรัพย์หรือสิ่งของที่ไม่ใช่ของแท้ในการแลกเปลี่ยน การจำหน่ายจนได้ทรัพย์ที่มีค่ามากกว่าให้แก่ตน
10) ตระบัด คือ การไม่รักษาคำมั่นสัญญาเพื่อให้ทรัพย์ผู้อื่นอยู่กับตนเอง
11) เบียดบัง คือ การปิดบังทรัพย์ของผู้อื่น จนเจ้าของหมดอาลัยแล้วถือเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง
12) สับเปลี่ยน คือ การนำทรัพย์หรือสิ่งของที่มีค่าน้อยกว่าสับเปลี่ยนกับทรัพย์ผู้อื่นที่มีค่ามากกว่า หรือเพียงเพื่อต้องการทรัพย์นั้นมาเพราะความคล้ายคลึงกัน
13) ลักลอบ คือ การทำให้เกิดทรัพย์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ด้วยการหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือกฎระเบียบ เช่น การนำเข้าสินค้าหนีภาษี
14) ยักยอก คือ การนำทรัพย์สินส่วนรวมมาเป็นทรัพย์ของตนเอง ด้วยการใช้อำนาจ หรือใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตน
ทั้งนี้ การกระทำเพียงข้อใดข้อหนึ่งจากทั้ง 14 ข้อ ถือเป็นโจรกรรมที่ลุซึ่งอทินนาทานาได้โดยง่าย
2. อนุโลมโจรกรรม
อนุโลมโจรกรรม หมายถึง การกระทำที่ส่งเสริมโจรกรรมอันผิดต่อศีลธรรมอันดีงาม แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1) สมโจร คือ การส่งเสริมให้คนอื่นลักทรัพย์เพื่อตนจะได้ทรัพย์นั้นหรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์นั้น ด้วยการขอหรือซื้อต่อ
2) ปอกลอก คือ การคบหาหรือตีสนิทเพื่อหวังในทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่จริงใจ
3) รับสินบน คือ การรับเอาทรัพย์สินจากคนอื่น เพราะเขามอบให้เพื่อเป็นค่าตอบแทนที่ช่วยเหลือเขา
3. ฉายาโจรกรรม
ฉายาโจรกรรม หมายถึง การกระทำเพื่อทำทรัพย์สินของผู้อื่นเสื่อม โดยหวังเพื่อให้ตกเป็นของตนเอง และการหยิบเอาทรัพย์สินของคนอื่น เพียงเพราะนึกไปเพียงฝ่ายเดียวว่าเจ้าของจะไม่ว่าอะไร แบ่งเป็น
1) ผลาญ คือ การทำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสื่อมหรือสูญหาย เพื่อหวังให้ตกมาเป็นของตน
2) หยิบฉวย คือ การถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น โดยนึกว่าเจ้าของทรัพย์จะไม่ว่าอะไร
การกระทำเพื่อให้ลุแก่อทินนาทานา ประกอบด้วยองค์ 5 ประการ คือ
1. ปรปริคคหิตัง คือ ทรัพย์สินหรือสิ่งของนั้นมีเจ้าของ
2. ปรปริคหิต สญฺญิตา คือ รู้ว่าวัตถุสิ่งของนั้นมีเจ้าของ
3. เถย ยจิตตัง คือ มีเจตนาที่จะลักทรัพย์
4. ปโยโค คือ มีความพยายามที่จะลักทรัพย์นั้น
5. อวหาโร คือ ได้ทรัพย์นั้นมาแล้วด้วยความเพียรนั้น
องค์แห่งการลุซึ่งอทินนาทานา หากครบทั้ง 5 องค์ แล้ว ถือว่าได้ลุซึ่งอทินนาทานาแล้ว แต่หากขาดองค์ใดองค์หนึ่ง ย่อมไม่เป็นการลุซึ่งอทินนาทานา
ความพยายามของอทินนาทานา
1. สาหัตถิกะ หมายถึง การลักทรัพย์ด้วยตนเอง
2. อาณัตติกะ หมายถึง การจ้างวานคนอื่นลักทรัพย์ให้
3. นิสสัคคิย หมายถึง การวางทรัพย์หรือแกล้งวางทรัพย์ไว้เพื่อให้พวกพ้องถือเอา อันตนจะได้ทรัพย์นั้นหรือได้ประโยชน์ทรัพย์นั้นจากพวกพ้อง
4. ถาวระ หมายถึง สั่งสมัครพรรคพวกไว้ ได้โอกาสให้พยายามลักทรัพย์นั้นมา
5. วิชชามยะ หมายถึง การลักทรัพย์ด้วยการร่ายมนต์คาถาเพื่อให้เจ้าของทรัพย์หลงใหลหรือไม่มีสติ แล้วมอบทรัพย์ให้แก่ตน หรือร่ายคาถาให้หลับ แล้วหยิบเอาทรัพย์นั้นมา
6.อิมธิมยะ หมายถึง การใช้อิทธิฤทธิ์ต่างๆเพื่อให้ได้ทรัพย์นั้นมา
น้ำหนักปาปแห่งอทินนาทานา
1. มูลค่า และความสำคัญของทรัพย์ : ทรัพย์ที่มีมูลค่าหรือมีคุณมาก ย่อมปากมาก ทรัพย์ที่มีมูลค่าหรือคุณค่าน้อย ย่อมปาปน้อยลงมา
2. คุณธรรมของเจ้าของทรัพย์ : เจ้าของทรัพย์เป็นผู้มีคุณธรรม ประพฤติแต่ในหลักศีลธรรมอันงาม การลักทรัพย์จากผู้นั้น ย่อมมีปากมาก แต่หากเจ้าของทรัพย์เป็นผู้ไม่มีศีลธรรม เป็นคนไม่ดีในสังคม ย่อมได้รับปาปลดลงมา
3. ที่มาของทรัพย์ : ทรัพย์นั้นได้มาด้วยความสุจริต ย่อมได้รับปาปตามสภาพทรัพย์ และเจ้าของทรัพย์ ส่วนทรัพย์ที่ได้มาจากการโจรกรรม ย่อมได้รับปาปลดน้อยลง
4. เจตนาในการลักทรัพย์ : ผู้ลักทรัพย์มีเจตนาอันแรงกล้าที่จะกระทำ ย่อมได้รับปาปมาก แต่หากไม่มีเจตนาหรือมีเหตุบังคับในเบื้องหลัง ย่อมได้รับปาปลดน้อยลง
ผลกรรมแห่งอทินนาทานา
1. เกิดชาติหน้ามักเป็นคนจน มีทรัพย์น้อย
2. มักเป็นคนอดอยาก
3. มักไม่มีโชคลาภ
4. ทรัพย์สินมักถูกลักขโมย
5. ทรัพย์สินมักเสื่อ สูญหาย หรือเกิดภัยพิบัติ
6. เสื่อมเสียชื่อเสียง
7. ผู้คนดูถูก
8. ไม่มีใครไว้วางใจ
9. ถูกกักขัง จองจำ
– ฯลฯ