อิทธิบาท 4 หมายถึง หลักธรรม 4 ประการ สำหรับการทำงานหรือทำสิ่งใดๆ เพื่อให้งานประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้ ซึ่งประกอบด้วย
1. ฉันทะ (ความรัก และความพอใจ)
2. วิริยะ (ความเพียร)
3. จิตตะ (ความเอาใจจดจ่อ ความเอาใจใส่)
4. วิมังสา (การใช้ปัญญาไตร่ตรอง ตรวจสอบ)
1. ฉันทะ หมายถึง ความรัก และความพอใจในสิ่งนั้นๆ คือ เมื่อทำสิ่งใดก็ทำด้วยความพอใจ ด้วยความรักในสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้นด้วยความเต็มใจ ไม่เบื่อหน่ายในกิจที่ทำ (การเต็มใจ )
2. วิริยะ หมายถึง ความเพียรในการกระทำสิ่งนั้นๆ คือ เมื่อทำสิ่งใดก็ทำด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความพยายาม และมีมานะอุตสาหะ ไม่ทอดทิ้งกิจที่ทำนั้น (การแข็งใจ )
3. จิตตะ หมายถึง ความเอาใจใส่ ความเอาใจจดจ่อในสิ่งที่ทำ ไม่วางธุระในสิ่งนั้นๆ คือ เมื่อทำสิ่งใดก็ทำด้วยความรู้จักไตร่ตรอง ทำด้วยปัญญา รู้จักพิจารณาใคร่ครวญ รู้จักพินิจพิเคราะห์ ทดลอง ทดสอบ ตรวจหาสาเหตุด้วยความรอบคอบ (การเข้าถึง)
4. วิมังสา หมายถึง การใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง ตรวจสอบในสิ่งนั้นๆ คือ เมื่อทำสิ่งใดก็ทำด้วยความรู้จักไตร่ตรอง ทำด้วยปัญญา รู้จักพิจารณาใคร่ครวญ รู้จักพินิจพิเคราะห์ ทดลอง ทดสอบ ตรวจตราหาสาเหตุด้วยความรอบคอบ (การเข้าใจ )
“อิทธิบาท” มาจากคำว่า
– อิทธิ หมายถึง ความสำเร็จ
– บาท หมายถึง วิถีทางที่จะนำไปสู่
ดังนั้น คำว่า “อิทธิบาท” หากแปลตามคำจึงหมายความว่า วิถีทาง หรือ หลักการ ที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางหรือไปสู่ความสำเร็จได้ ซึ่งมี 4 ประการ หรือเรียกว่า อิทธิบาท 4
อิทธิบาท ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้ประสบความสำเร็จตามความประสงค์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นหลักใกล้เคียงกับหลักการพึ่งตนเอง แต่แสดงให้เห็นว่าพึ่งตนเองอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ ซึ่งคำว่า อิทธิ นอกจากจะแปลว่า สำเร็จแล้ว ยังแปลว่า ฤทธิ์ของมนุษย์ที่แสดงได้ จะโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์หรือจิตศาสตร์ก็ตาม ซึ่งต้องอาศัยหลักอิทธิบาท 4
พุทธทาสภิกขุ อธิบายว่า การทำงานแบบใดๆ โดยไม่รู้สึกตัว มีระดับมากน้อยแตกต่างกัน คนที่ทำงานด้วยความพอใจ ขยันขันแข็ง เอาใจใส่ใคร่ครวญอยู่เสมอนั้น เรียกว่า มีอิทธิบาท 4 ประการ มีการปฏิบัติโดยไม่ได้ตั้งตัว ซึ่งอิทธิบาททั้ง 4 ประการนี้ ถ้าปฏิบัติได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ย่อมที่จะประสบความสำเร็จดังประสงค์
อิทธิบาท 4
1. ฉันทะ (aspiration)
ฉันทะ แห่งอิทธิบาท 4 คือ ความพอใจ รักใคร่ เต็มใจ และฝักใฝ่ในงานอยู่เสมอ ทุ่มเทความสามารถ และปรารถนาเพื่อที่จะทำงานนั้นให้ดีที่สุด ด้วยการรักในงานของตน ชอบในงานของตน งานในที่นี้หมายถึง สิ่งที่เราทำ ผู้ใดมีงานอะไรแล้วมีความรักใคร่พอใจในงานนั้น เรียกว่า มีฉันทะ คนที่ขาดฉันทะ ไม่พอใจในงานของตน มักจะทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อยใจ และชอบทิ้งงานให้จับจดและคั่งค้าง
ความอยากหรือความฝักใฝ่ที่เกิดจากฉันทะนี้ มิได้มีความหมายเหมือนกับความอยากได้เพื่อให้ได้มาซึ่งการเสพเสวยแก่ตนในทุกสิ่งทุกอย่าง หรือที่เรียกว่า ตัณหา เพราะความอยากที่เกิดจากฉันทะนั้น เป็นความอยากในทางสุจริตที่ต้องมีการทุ่มเทกำลังกาย และกำลังใจเพื่อให้สิ่งนั้นสำเร็จตามความมุ่งหมาย ภายใต้พื้นฐานของคุณธรรม และความดี
องค์ประกอบของฉันทะ
1. ความยินดีในสิ่งที่ทำ นั้นๆ
2. ความพอใจในสิ่งที่ทำ นั้นๆ
3. ความเต็มใจในขณะที่ทำสิ่งนั้นๆ
4. ความมีใจรักในขณะที่ทำสิ่งนั้นๆ
5. ความอยากหรือฝักใฝ่ที่จะทำสิ่งนั้นๆให้บรรลุถึงจุดหมาย
ทั้งนี้ ลักษณะของฉันทะที่เกิดขึ้นมิได้เพียงใช้สำหรับการกระทำในการงานเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำไปใช้เป็นหลักการดำเนินชีวิตในด้านอื่นๆได้ด้วยเช่นกัน ได้แก่
– ความยินดี และพอใจในฐานะทางครอบครัว
– ความยินดี และพอใจในทรัพย์สินที่ตนมี
– ความยินดี และพอใจในความสามารถของตน
– ความยินดี และพอใจในคู่ครองของตน
– ความยินดี และพอใจในตำแหน่ง และหน้าที่ของตนในสังคม
– ความยินดี และพอใจในศาสนาหรือลัทธิที่ตนนับถือ
ฯลฯ
ฉันทะ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตภายใต้หลักธรรม คือ โยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักคิด วิเคราะห์ หรือคิดในทางที่ถูก และเหมาะสมเพื่อให้เกิดความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ภายใต้สภาวะแห่งเหตุ และผล ดังนั้น เมื่อเกิดฉันทะ คือ ความพอใจหรือยินดีในสิ่งนั้นแล้ว ย่อมทำให้เป็นผู้ที่รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ คือ การคิดวิเคราะห์หาแนวทางที่จะดำเนินต่อไป ซึ่งจะนำมาสู่การเกิดวิริยะ คือ ความเพียรในแนวทางนั้น ต่อไป
2. วิริยะ (exertion)
วิริยะ แห่งอิทธิบาท 4 คือ ความเพียรพยายาม ความอุตสาหะ และมานะบากบั่น ที่จะทำงานหรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ดีที่สุด ไม่ท้อถอยเมื่อเกิดอุปสรรค และความยากลำบากต่างๆ ด้วยการมองปัญหาหรืออุปสรรคที่ขัดขวางต่อการทำสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย และต้องเอาชนะให้สำเร็จ
วิริยะ เป็นความเพียรที่ประกอบความดี มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ทอดธุระ เป็นเครื่องพยุงความพอใจไม่ให้ท้อถอยในการทำงาน เพราะว่างานทุกชนิดมักจะง่ายตอนคิด แต่มักจะติดตอนทำจึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จตามความพอใจที่ปลูกไว้
วิริยะ หรือ ความเพียรนี้ มีความจำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานหรือการกระทำต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะนั้น เพราะหากต้องการความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ก็ต้องจำเป็นต้องมีความพยายามเป็นสำคัญ แต่ความพยายามนี้ มิใช่หมายครอบคลุมถึง การปฏิบัติหรือการกระทำที่ไม่มีวันหยุด หรือ ไม่รู้ซึ่งพื้นฐานของตนเอง ที่มาจากหลักธรรมแห่งโยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุ และผลในคันรองคลองธรรม เช่นกัน
ประเภทของวิริยะ
1. สังวรปธาน หมายถึง เพียรระวัง คือ การกระทำสิ่งใดๆจะต้องรู้จักพึงระวังรอบคอบด้วยการรู้จักเหตุ และผล ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทหรืออกุศลกรรมทั้งปวง
2. ปหานปธาน หมายถึง เพียรละ คือ การรู้จักละ ลด หรือหลีกเลี่ยงจากอกุศลกรรมทั้งปวงที่จะเป็นเหตุทำให้การกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ประสบความสำเร็จ
3. ภาวนาปธาน หมายถึง เพียรบำเพ็ญ คือ การรู้จักเพียรตั้งมั่น และอุทิศตนต่อการกระทำในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างเสม่ำเสมอ
4. อนุรักขนาปธาน หมายถึง เพียรตามรักษาไว้ คือ รู้จักรักษาหรือทำให้ความเพียรในสิ่งนั้นๆคงอยู่กับตนเป็นนิจ
องค์ประกอบของวิริยะ
1. ความเพียรในการทำสิ่งนั้นๆในทางที่ถูกตามเหตุ และผล ภายใต้พื้นฐานตามหลักคุณงามความดี
2. การมีความกล้า และความแน่วแน่ที่จะทำในสิ่งนั้นๆ
3. การไม่ละทิ้งซึ่งการงานหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่
4. การความอุตสาหะ และอดทนต่อความยากลำบากอย่างเป็นนิจ
ทั้งนี้ ลักษณะของวิริยะที่เกิดขึ้น มิได้อยู่ในกรอบสำหรับการงานเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นหลักการดำเนินชีวิตในด้านอื่นๆ ได้แก่
– ความเพียรในการเจริญธรรม การเจริญภาวนา หรือการรักษาศีล
– ความเพียรในการศึกษาเล่าเรียน
ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้ วิริยะจึงเป็นหลักที่มีความสำคัญอันจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติในการงานหรือการกระทำต่อสิ่งใดๆ ภายใต้พื้นฐานของหลักการเหตุ และผลที่เกิดจากโยนิโสมนสิการ เพื่อมุ่งให้สิ่งนั้นๆดำเนินไปสู่จุดหมาย และสำเร็จตามที่ได้ตั้งไว้ โดยมีความเพียรที่ดำเนินไปในลักษณะของการปฏิบัติตามหลักปธาน 4 ในข้างต้น
แต่ทั้งนี้ ความเพียรที่มีมากเกินไป มักจะทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน ความไม่มีสติ ความเหน็ดเหนื่อย จนนำไปสู่การการเกิดอุปสรรค และปัญหาในสิ่งนั้น ส่งผลต่อความท้อแท้ตามมาได้ นอกจากนั้น หากมุ่งเพียรต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป มักจะทำให้เกิดการลืมที่จะกระทำต่อสิ่งอื่นได้ง่ายเช่นกัน
3. จิตตะ (thoughtfulness)
จิตตะ แห่งอิทธิบาท 4 คือ การเอาใจใส่ และให้ใจจดจ่ออยู่กับอยู่กับสิ่งที่ทำ มีสมาธิมั่นคงอยู่กับงาน ไม่ปล่อยปละละเลยในงานที่ทำ และทำงานด้วยความตั้งใจที่จะให้งานนั้นสำเร็จ แต่หากใครทำการสิ่งใดด้วยความเป็นคนประมาท ไม่เอาใจใส่กับงานที่ตนทำ ทำอะไรทิ้งๆ ขว้างๆ งานนั้นย่อมไม่สำเร็จตามเป้าประสงค์หรือหากสำเร็จ แต่ก็เป็นความสำเร็จที่ไม่มีประสิทธิผลในงาน
ทั้งนี้ จิตตะ หมายถึง จิตใจ คือ ส่วนที่ทำหน้าที่รู้สำนึก รู้คิด ซึ่งความรู้ที่เกิดมาจากจิตนั้น เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อดีตกาล หรือกำลังจะเกิดในอนาคต ล้วนเป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในจิต หรือที่ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น หมายถึง จิตสั่งสมความรู้ให้เกิดขึ้นในกาลทั้ง 3 นั่นเอง ส่วนจิตตะในที่นี้ หมายถึง สภาวะทางอารมณ์ที่สะท้อนมาจากจิต อาทิ ความแข้มแข็ง ความมั่นคง ความมุ่งมั่น และความจดจ่อ ต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำอยู่นั้น
องค์ประกอบของจิตตะ
1. มีความสนใจในสิ่งที่จะทำนั้นอย่างจริงจัง
2. การเอาใจใส่ในขณะที่กระทำสิ่งนั้นๆ
3. การมีใจที่เป็นสมาธิในขณะที่กระทำสิ่งนั้นๆ
4. การที่มีจิตใจมุ่งมั่น และแน่วแน่ในขณะที่กระทำสิ่งนั้นๆ
ทั้งนี้ ลักษณะของจิตตะที่เกิดขึ้น มิได้อยู่ในกรอบสำหรับการงานเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้านอื่นๆ ได้แก่
– การเอาใจใส่ และมุ่งมั่นในการเจริญธรรม
– การเอาใจใส่ และมุ่งมั่นในการศึกษาเล่าเรียน
ฯลฯ
จิตตะ มีความสัมพันธ์กับสมาธิ คือ หมายถึง จิตเป็นเครื่องผลักดัน และควบคุมการเกิดของสมาธิ โดยสภาวะจิตที่มีความแน่วแน่ และจดจ่อต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ภาวะที่เกิดขึ้นกับจิตนี้จึงเรียกว่า สมาธิ ซึ่งเป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการจะกระทำสิ่งใดๆให้ประสบความสำเร็จ เพราะจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังทำ อยู่ โดยไม่เกิดความฟุ้งซ่าน ย่อมทำให้งานประสบความสำเร็จได้ดี ไม่ผิดพลาด และมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่วางไว้
4. วิมังสา (investigation)
วิมังสา แห่งอิทธิบาท 4 คือ การสอบสวน ไตร่ตรอง และพิจารณาตรวจสอบในสิ่งที่กำลังทำนั้นๆ รวมถึงการรู้จักค้นคว้า ทดลอง คิดค้น และรู้จักคิดแก้ไขปรับปรุงงาน ให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำสิ่งใดๆ ย่อมเกิดจากปัจจัยจากข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการใช้วิมังสา คือ การคิด วิเคราะห์ อย่างมีเหตุ และผล ย่อมทำให้เข้าใจต่อกระบวนการ วิธีการ และแนวทางในการดำเนินงานที่ถูกต้อง เหมาะสม รวมถึงย่อมรู้จักแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ดี แต่หากไม่มีการใช้ปัญญาก่อนทำหรือขณะทำสิ่งใดๆแล้ว ย่อมนำมาซึ่งปัญหา และอุปสรรคในสิ่งนั้นๆ ส่งผลต่อการท้อแท้ การทำสิ่งนั้นไม่สำเร็จ หรือหากสำเร็จก็จะไม่เกิดประสิทธิผลอย่างเต็มที่
องค์ประกอบของวิมังสา
1. การใช้ปัญญาคิด วิเคราะห์ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติหรือระหว่างปฏิบัติในสิ่งนั้นๆ
3. การใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์ในสิ่งนั้นๆ ตามคันรองคลองธรรม
2. การแก้ไข ปรับปรุงข้อบกพร่อง และพัฒนาในสิ่งนั้นๆด้วยปัญญา
ทั้งนี้ ลักษณะของวิมังสาที่เกิดขึ้น มิได้เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการงานเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้านอื่นๆ ได้แก่
– การรู้จักคิด วิเคราะห์ในการเจริญธรรม
– การรู้จักคิด วิเคราะห์ในบทเรียน
– การรู้จักคิด วิเคราะห์ก่อนที่จะพูดหรือทำในสิ่งใดๆ
ฯลฯ
วิมังสา คือ การรู้จักคิด วิเคราะห์ ที่มักคู่กับคำว่า ปัญญา คือ ความรู้ หรือ ความรู้แจ้ง เป็นความรู้ ความเข้าใจ ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในเหตุ และผล รวมถึงองค์ประกอบ และพื้นฐานของสิ่งๆนั้น สามารถตัดสิน และบ่งชี้สิ่งนั้นได้เป็นมาอย่างไร มีลักษณะอย่างไร รวมถึงรู้แยกแยะสิ่งต่างๆว่าถูกผิด ดีชั่ว ดังนั้นแล้ว การมีปัญญาจึงเป็นการรอบรู้ในทุกๆด้าน และพึงใช้ปัญญาก่อนที่จะทำเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และลึกซึ้งก่อน เพื่อให้การนั้นๆดำเนินไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และไม่เกิดปัญหาอุปสรรค พร้อมยังประสิทธิภาพในสิ่งนั้นให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์
ประโยชน์ของอิทธิบาท 4
1. ประโยชน์ของฉันทะ คือ ทำให้เป็นผู้มีความพอใจ และมีใจรักต่องาน ทำให้เกิดความรู้สึกเต็มใจในการทำงาน เกิดการทำงานด้วยความสุข ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายง่าย ไม่เกิดอาการท้อแท้ ช่วยให้งานดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง และเกิดการสร้างสรรค์ในงาน
2. ประโยชน์ของวิริยะ คือ ทำให้เป็นคนมั่นเพียร และขยันในการทำงาน ไม่มีความเกียจคร้าน มุ่งมั่นที่จะทำงานให้เสร็จ ผู้ที่ขาดความขยัน ย่อมทำงานขาดๆเกินๆหรือมักทำงานนั้นไม่สำเร็จ หรือหากสำเร็จก็สำเร็จล่าช้า และไม่มีประสิทธิภาพ
3. ประโยชน์ของจิตตะ คือ ทำให้เป็นคนมีความมุ่งมั่น และจดจ่อกับงานที่ทำ จิตมีความแน่วแน่ และมั่นคงต่อปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ช่วยให้งานดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องตามกระบวนการ ทราบความเป็นไปของงานอยู่เสมอ
4. ประโยชน์ของวิมังสา คือ ทำให้เป็นผู้ที่รู้จักคิด วิเคราะห์ในงาน ช่วยทำให้ทราบ และเข้าใจในกระบวนการของงาน และหากเกิดปัญหาก็ย่อมเกิดแนวทางในการแก้ปัญหานั้นได้อย่างง่ายดาย งานไม่ผิดพลาด และทำงานตามกรอบที่วางไว้ให้ประสบความสำเร็จ ถ้าขาดวิมังสาจะทำให้เป็นคนทำงานไม่มีหลักการ ทำงานไม่มีแนวทาง ไม่มีแบบแผน ซึ่งยากที่จะเกิดความสำเร็จได้โดยง่าย
ดังนั้น ฉันทะ และวิริยะ เป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยให้บุคคลมีความมั่นใจในการที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา และอุปสรรคในการทำงาน และมีจิตตะ และวิมังสา เป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยในการเอาชนะปัญหา และอุปสรรคในการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น