โรคเกลื้อน (Tinea Versicolor) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ชื่อ มาลาสซีเซียเฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) พบมากในบริเวณที่เรียกว่า seborrheic area เช่น ใบหน้า ลำตัวด้านหลัง และด้านหน้า คอ และแขน มักพบในวัยผู้ใหญ่ที่ใส่เสื้อผ้าอับหรือหนา ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่การระบายอากาศไม่ดี และการทำงานที่มีเหงื่อมาก
อาการ
บริเวณติดเชื้อจะเกิดผื่นขึ้นเป็นวงเล็กๆ สีขาว หรือสีน้ำตาล สีแดง แต่ทั่วไปมีลักษณะเป็นวงสีขาว มีขอบเขตชัดเจน ที่ผิวมีขุยหรือเสก็ดละเอียด จำนวนวงขึ้นกับการกระจายของเชื้อ อาจพบเป็นวงเดียวหรือหลายวง กระจายทั่วไปตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีเหงื่อออก พบได้ในบริเวณอื่น เช่น รักแร้ ท้อง ขาหนีบ ข้อพับ ในบางรายอาจมีอาการไม่คันหรืออาการคันร่วมด้วย
ลักษณะสีขาวเป็นวงบริเวณติดเชื้อเกิดจากเชื้อรามีการสร้างกรด decarboxylic ที่เป็นสารยับยั้งการทำงานของ tyrosinase และเป็นพิษต่อเมลานิน (melanocytes) ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่มีเม็ดสีเมลานินที่ทำให้เกิดสีเข้มของสีผิว ส่วนในบางรายที่วงมีลักษณะสีเข้มข้นนั้นเกิดจากการเพิ่มจำนวน และขนาดของเม็ดสีเมลานิน และมีการแยกตัวเป็นเซลล์เดี่ยว
การวินิจฉัย
แพทย์วินิจฉัยด้วยตาเปล่าเบื้องต้น โดยจะพบผิวหนังมีลักษณะเป็นแผ่นขุย (Macule) หรือเป็นวงสีต่างๆที่มีขนาดต่างๆ กัน สีที่พบมี 3 กลุ่ม ได้แก่ สีจางหรือสีขาว สีดำหรือน้ำตาล และสีแดง หรือชมพูจาง บริเวณที่ที่ต้องตรวจพิเศษ ได้แก่ ใบหน้า ลำตัวด้านหลัง และด้านหน้า คอ และแขน รวมถึงบริเวณอื่น เช่น รักแร้ ท้อง ขาหนีบ และข้อพับ ลักษณะสีผิวที่เปลี่ยนแปลงจะเกิดต่อเนื่อง และขยายวงกว้าง อาจพบอาการคันหรือไม่มีอาการคัน หรืออาจพบอาการอักเสบผิวหนังแท้ชั้นบนร่วมด้วย
การตรวจในห้องปฏิบัติการ ทำได้ด้วยวิธีการย้อมเซลล์จากเนื้อเยื่อบริเวณที่สงสัยด้วย 10% KOH หรือ methylene blue หากเป็นโรคเกลื้อนจะพบกลุ่มราเป็นแบบพวงองุ่น 4-6 ไมครอน เมื่อตรวจด้วย Wood,s lamp จะพบการเรืองแสงเป็นสีเหลืองทอง
การรักษา
การใช้ยาทาภายนอก ได้แก่
1. สารที่ละลายเคอราติน
– กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) หรือ whitfield,s ointment ที่ประกอบด้วย 6% benzoic acid + 3% salicylic acid ทาวันละ 1-2 ครั้ง ยานี้มีผลข้างเคียง คือ เกิดการระคายเคือง และมีผลต่อการทำงานของไต
– 50% propylene glycon ใช้ทาวันละ 2 ครั้ง 2-4 สัปดาห์ ยาชนิดนี้ไม่มีผลการระคายเคือง
2. สารฆ่าเชื้อที่ไม่ทำให้ผิวหนังลอก
– สารประกอบเกลือซัลเฟต เช่น selenium sulfide suspension ใช้ทาทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วค่อยล้างออก สารนี้มีข้อเสีย คือ มีกลิ่นฉุน ระคายเคืองเล็กน้อย และติดเสื้อผ้า
– สารที่สลายตัวเป็นซัลไฟต์ เช่น 20% sodium thiosulfate solution ใช้ทาหลังอาบน้ำ
– zinc pyrithione shampoo ใช้ทาพอกตัวทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วล้างออก
3. สารที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อราในวงกว้าง
กลุ่ม amidazole
– 2% ketoconazole cream ทาวันละครั้ง ได้ผลร้อยละ 98
– 1% bifonazole cream ทาวันละครั้ง ได้ผลร้อยละ 100
กลุ่ม pyridone-ethanolamine salt
– ครีม cyclopirox olamine ทาวันละครั้ง ได้ผลร้อยละ 100
กลุ่ม alylamines
– ครีม 1% terbinafine ทาวันละครั้ง ได้ผลร้อยละ 70-90
การใช้ยารับประทาน ได้แก่
– ketoconazole 200 และ 400 มก. รับประทานหลังอาหาร ตามด้วยน้ำผลไม้ และงดอาบน้ำไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง รับประทานครั้งเดียว 3 สัปดาห์ สำหรับ 400 มก. ส่วน 200 มก. รับประทานวันละครั้ง 2-4 สัปดาห์ หรือ 3 วันครั้ง ทุกเดือน
– itraconazole 200 มก. วันละ 5 ครั้ง 1-2 เดือน ให้ผลร้อยละ 85 ไม่มีผลข้างเคียง
– fluconazole 400 มก. รับประทานครั้งเดียว 3 สัปดาห์
การป้องกัน
1. มั่นอาบน้ำ ฟอกสบู่ให้สะอาด และเช็ดตัวให้แห้ง โดยเฉพาะเวลาที่เหงื่อออก
2. หลีกเลี่ยงใส่เสื้อผ้าหรือใช้ผ้าเซ็ดตัวที่อับชื้น มั่นซักเสื้อผ้าหรือผ้าอื่นๆเสมอ เช่น ที่นอน หมอน ผ้าห่ม เป็นต้น เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายจะช่วยซับเหงื่อ และความอับชื้นได้ดี
3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อนซื้น สถานที่อับในระยะเวลานาน