เคมีบำบัด/คีโม (Chemotherapy)

12092

เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือ คีโม หมายถึง การรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้ยาเคมีเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งในบริเวณอวัยวะต่างๆของร่างกาย

คำว่า เคมีบำบัด โดยความหมายของคำ หมายถึง การรักษา และการบำบัดโรคหรืออาการเจ็บป่วยด้วยการใช้ยา ซึ่งหมายความรวมถึงการใช้ยารักษาโรคทุกชนิด ไม่เฉพาะการรักษาโรคมะเร็งเท่านั้น ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจโดยทั่วกันว่า เคมีบำบัด หมายถึง การบำบัดรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้ยาเป็นหลัก

ใช้เคมีบำบัดเมื่อใด
1. เมื่อเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งของอวัยวะอื่น รวมถึงในกรณีที่เซลล์มะเร็งมีการเพิ่มขนาดใหญ่มากจนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหรือการฉายรังสี
2. ใช้สำหรับการป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งที่อาจกลับมาเป็นอีกรอบ ที่เรียกว่า Adjuvant chemotherapy

เคมีบำบัด

หลักการพิจารณาใช้เคมีบำบัด
1. จำเป็นต้องทราบชนิด และระยะของเซลล์มะเร็ง
2. ทราบสภาพของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอมากไม่ควรใช้การรักษาด้วยวิธีนี้ แต่อาจจำเป็นหากผู้ป่วยหมดสติ และเซลล์มะเร็งแพร่กระจายสู่สมองแล้วก็ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้
3. ทราบถึงประสิทธิภาพของยาที่จะใช้ อาทิ หากเคยใช้ยาชนิดนี้แล้วไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคได้อาจเปลี่ยนชนิดของยาในการรักษา รวมถึงควรทราบถึงข้อควรระวังในการใช้ยาในด้านต่างๆ อาทิ ความปลอดภัย อาการแทรกซ้อน ผลข้างเคียง เป็นต้น
4. ผู้ป่วยต้องยินยอมสำหรับการรักษา

ชนิดยาเคมีบำบัด
1. Alkylating agents เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ DNA ของเซลล์มะเร็งแตกสลาย พร้อมกับขัดขวางการสร้าง DNA ของเซลล์มะเร็งขึ้นใหม่ ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไนโตรเจนมัสตาร์ด (Nitrogen mustard) คลอแรมบูซิล (Chlorambucil) และไอฟอสฟาไมด์ (Ifosfamide)

2. Nitrosoureas เป็นยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์คล้ายกับกลุ่ม Alkylating agents เช่น สเตรปโตโซซิน (Streptozocin) และคาร์มุสติน (Lomustin)

3. Plant alkaloids เป็นยาที่ออกฤทธิ์ด้วยการจับกับสารที่ทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ของเซลล์มะเร็ง ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ วินบลาสติน (Vinblastine) และวินคริสติน (Vincristine)

4. ยาปฏิชีวนะยับยั้งเนื้องอก (Antitumor antibiotics) เป็นยาที่จับกับ DNA ของเซลล์มะเร็ง ออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งการสังเคราะห์ DNA และ RNA ตัวอย่างตัวยา ได้แก่ อะเดรียมมัยซิน (Adriamycin) และ แอคทิโนมัยซินดี (Actinomycin-D)

5. ยาต้านเมตาบอลิซึม (Antimetabolites) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ DNA ของเซลล์มะเร็ง ตัวยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชัยโตซาร์ (Cytosar) ไฟว์เอฟยู (5-FU) และเมโทเทรกเซท (Methotrexate)

6. ฮอร์โมน (Hormonal Agents) เป็นสารประเภทฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน (Estrogens) แอนโดรเจน (Androgens) แอนติเอสโตรเจน (Antiestrogens) กลูคอร์ติดอย (Glucocorticoids) และโกนาโดโทรปิน (Gonadotropin) ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

7. ยาเคมีกลุ่มอื่นๆ เช่น โปรคาร์บาร์ซีน (Procarbazine)

วิธีการให้ยาเคมีบำบัด
1. Systemic chemotherapy เป็นวิธีการให้ยาบำบัดด้วยการฉีด แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
– การฉีดเข้าบริเวณหลอดเลือดดำ (Intravenous administration) ด้วยวิธีการฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง และการฉีดเข้าหลอดเลือดดำด้วยการผสมยากับน้ำเกลือ
– การฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

2. Regional chemotherapy เป็นการใส่ยาบำบัดเข้าสู่บริเวณเซลล์มะเร็งผ่านช่องอวัยวะนั้นๆ เช่น ช่องท้องหรือช่องปอดเพื่อให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะบริเวณเซลล์มะเร็งเท่านั้น

3. Intraarterial chemotherapy เป็นการให้ยาเข้าสู่เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงเฉพาะเซลล์มะเร็งเท่านั้น เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะต่อเซลล์มะเร็งโดยตรงก่อนที่ยาจะถูกทำลายก่อนถึงเซลล์มะเร็ง

การตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อเคมีบำบัด
1. การตอบสนองแบบสมบูรณ์ (Complete response) หมายถึง ยามีประสิทธิภาพการออกฤทธิ์อย่างสมบูรณ์ โดยสามารถรักษาเซลล์มะเร็งให้หายหมดจากการตรวจภายใน 2 ครั้ง ที่ระยะเวลาห่างกันไม่ต่ำกว่า 4 สัปดาห์

2. การตอบสนองบางส่วน (Partial response) หมายถึง ยามีประสิทธิภาพไม่มากนัก สามารถรักษาเซลล์มะเร็งให้หายเป็นบางส่วนที่น้อยกว่าร้อยละ 50 หรือ เซลล์มะเร็งสามารถกลับคืนมาได้ไม่เกินร้อยละ 25

3. โรคยังคงดำเนินต่อไป (Progression) หมายถึง ยาไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถออกฤทธิ์รักษาเซลล์มะเร็งได้ เซลล์มะเร็งมีการเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25 หรือมีโรคเกิดขึ้นใหม่อีกระยะ

ผลข้างเคียงของเคมีบำบัด
1. ผลต่อระบบทางเดินอาหาร
ผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารมักพบมีอาการ ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน  ปากเป็นแผล เบื่ออาหาร มีการอักเสบจากบริเวณปากจนถึงทวารหนัก รวมไปถึงตับ และตับอ่อนอักเสบ ซึ่งแพทย์จะให้ยาแก้อาเจียนเข้าช่วยในรายที่มีอาการอาเจียนมาก

2. ผลต่อระบบผิวหนัง
ผิวหนังอักเสบ อาการเริ่มแรกมักพบผิวหนังแห้ง และคัน มีลักษณะสีคล้ำ และจะเริ่มมีอาการแพ้ และระคายเคืองทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบในระยะต่อมา

ผมร่วง ซึ่งเป็นอาการปกติของการใช้เคมีบำบัด เพราะยาทุกชนิดที่ใช้รักษาเซลล์มะเร็งมีผลทำลายรูขุมขุนซึ่งจะทำให้รากผมอ่อนแอ และผมร่วงง่าย โดยอาการผมร่วงจะปรากฏได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังการให้ยาเคมีบำบัด

3. ผลต่อระบบเม็ดเลือด
ยาที่ใช้รักษาเซลล์มะเร็งจะมีผลต่อการสร้างเม็ดเลือด โดยทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดได้น้อยลง ซึ่งจะปรากฏอาการประมาณ 7-14 วัน หลังการให้ยา

4. ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ
ยาเคมีบำบัดเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ส่วนมากจะถูกขับถ่ายออกมาในทางเดินปัสสาวะจึงมีผลต่อการทำลายเนื้อเยื่อไต ทำให้เกิดเส้นเลือดฝอยที่ไตตายเฉียบพลัน โดยพบมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ดังนั้น การดื่มน้ำมากๆร่วมกับยาขับปัสสาวะจะช่วยลดผลข้างเคียงนี้ได้

5. ผลต่อระบบประสาทกล้ามเนื้อ
ยาเคมีบำบัดบางชนิดมีผลต่อระบบประสาทส่วนปลายของร่างกาย เช่น ยาในกลุ่ม Vica alkaloids ที่หากได้รับการรักษาร่วมกับการฉายรังสีด้วยแล้วมักจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น โดยอาการที่พบ เช่น อาการชาตามปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า มีอาการเมื่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง การเคลื่อนไหวผิดปกติจนอาจทำให้เกิดความผิดปกติในการทรงตัว แต่หลังจากการหยุดให้ยาอาการจะกลับมาเป็นปกติภายใน 4-6 สัปดาห์

6. ผลต่อตับ
ยาชนิด L-asparaginase ชนิด Corticosteroids มีผลทำให้ตับอักเสบเรื้อรัง ยาชนิด เมโทเทรก, แอคติโนมัยซิน ดี และ 5-FU มีผลทำให้ตับโต

7. ผลต่อระบบสืบพันธุ์
ผู้หญิงที่ได้รับเคมีบำบัดมักทำให้ไม่มีประจำเดือน จากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน มีผลต่อการเป็นหมัน ไม่มีความรู้สึกทางเพศ หากรักษาในระยะมักทำให้เกิดการแท้งลูก หรือคลอดก่อนกำหนด และมีอาการพิการของทารก

8. ผลต่อสภาพจิตใจ
จากสภาพของโรค ระยะของโรค และอาการข้างเคียงของการรักษาด้วยเคมีบำบัดจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้าโศก มีความวิตกกังวล และเกิดอาการกลัว ไม่สบายใจ ต่ออาการหายของโรค รวมถึงภาวะทางด้านอารมณ์มักมีความหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกำลังใจ และการดูแลเอาใจใส่ของญาติ และผู้ใกล้ชิด