แผลเป็น (scar) หมายถึง รอยแผลที่เกิดหลังจากการหายของแผลจากกระบวนการหายของแผลที่ไม่สมบูรณ์หรือผิดปกติของการซ่อมแซมเนื้อเยื่อทำให้เกิดเป็นรอยแผลเป็นที่มีลักษณะไม่เหมือนกับผิวหนังปกติก่อนเกิดรอยแผล
ชนิดแผลเป็น
1. Mature scars เป็นแผลเป็นที่ไม่มีความผิดปกติ มีลักษณะเป็นแผลเรียบ มีสีผิวหนังใกล้เคียงกับสีผิวหนังปกติ มักเกิดจากแผลที่ถูกของมีคมบาด
2. Atrophic scars เป็นแผลเป็นที่มีลักษณะรอยลึกลงจากผิวหนัง สีผิวหนังของแผลเป็นมีลักษณะใกล้เคียงกับผิวปกติ มักเป็นแผลที่เกิดจากแผลของสิวหรือรอยโรคอีสุกอีใส
3. Stretched scars เป็นแผลเป็นที่มีลักษณะเรียบ มีสีผิวหนังของแผลออกจางมากกว่าสีผิวปกติบริเวณข้างเคียง แผลไม่นูน แข็ง ไม่ขยายขอบแผลมากกว่ารอยแผลเดิม มักเป็นแผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัดบริเวณบริเวณหัวเข่าหรือหัวไหล่
4. Contracted scars หรือเรียก แผลเป็นหดรั้ง เป็นแผลเป็นที่มีลักษณะหดรั้งของชั้นผิวหนัง มักเกิดบริเวณข้อศอก ข้อเข่า ข้อมือ ที่เกิดจากไฟไหม้บริเวณข้อต่างๆ
5. Hypertrophic scars แผลเป็นชนิดนี้มีลักษณะนูนขึ้นเหนือผิวหนังปกติรอบข้างจากการสร้างเซลล์คอลลาเจน ลักษณะสีแผลอาจเป็นสีแดง แดงดำ และสีเข้มกว่าสีผิวปกติ ขอบของแผลเป็นมีขนาดเท่ากับแผลเดิม ไม่ขยายขอบเขต ในระยะแรกมักพบอาการคันร่วมด้วย มักเป็นแผลที่เกิดจากของมีคมบาดหรือแผลฉีกขาดที่เป็นแผลลึก
6. Keloids เป็นแผลเป็นที่มีลักษณะนูนสูงจากผิวหนังจากการสร้างเซลล์คอลลาเจน ขอบเขตแผลมีการขยายกว้าง มากกว่ารอยแผลเดิม ลักษณะสีแผลเป็นจะเข้มกว่าสีผิวปกติ อาจเป็นสีแดง แดงดำ หรือสีจาง ซึ่งในระยะแรกจะมีอาการคันร่วมด้วย
การรักษาแผลเป็น
การรักษาแผลเป็นมีวิธีที่ได้ผลเป็นอย่างดีหากเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ คือ การใช้แผ่นเจลซิลิโคน (Silicone gel sheeting) และการฉีดสารในกลุ่มสเตรียรอยด์ (Intralesional corticosteroids) ทั้งนี้ วิธีการรักษาแผลเป็นประกอบด้วยหลายวิธี แบ่งตามลักษณะการรักษา 2 ลักษณะหลัก คือ
1. การรักษาทางคลีนิควิทยา (Clinical treatment) ได้แก่
1.1 การผ่าตัด (Operations)
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดนิยมใช้มากสำหรับแผลเป็นชนิด Hypertrophic และ Keloids เพราะเป็นแผลที่มีลักษณะนูนเด่นอย่างเห็นได้ชัด วิธีนี้จะใช้ร่วมกับการฉีดสารสเตรียรอยด์ และใช้แผ่นเจลซิลิโคนร่วมด้วย หากใช้วิธีการผ่าตัดเพียงวิธีเดียวจะมีโอกาสกลับมาเป็นแผลเป็นซ้ำอีก มากกว่าร้อยละ 50-100 ซึ่งการรักษาร่วมด้วยทั้ง 3 วิธี จะช่วยลดโอกาสการกลับเป็นแผลเป็นซ้ำได้ลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 50 และหากรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมด้วยจะช่วยลดโอกาสกลับมาเหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
1.2 การฉีดยาในกลุ่มสเตรียรอยด์ (Intralesional corticosteroids)
เป็นการรักษาด้วยการใช้สารในกลุ่มสเตรียรอยด์ฉีดเข้าบริเวณรอยแผลเป็น วิธีนี้มักใช้กับแผลเป็นประเภท Keloids ซึ่งจะให้ผลดีกว่าวิธีอื่นๆ หากใช้วิธีรักษาเพียงวิธีเดียว และจะได้ผลร้อยละ 50-100 มีโอกาสกับมาเป็นซ้ำร้อยละ 9-50 แต่หากใช้วิธีอื่นร่วมด้วยจะลดโอกาสกับมาเป็นซ้ำเพิ่มขึ้น
1.3 หารใช้แรงกด (Pressure therapy)
เป็นวิธีการรักษาเก่าแก่ที่ใช้กันมานานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ด้วยการใช้แรงกดในช่วง 24-30 มม. ปรอท บริเวณรอยแผลเป็น ตลอดช่วงระยะ 6-12 เดือน ต่อเนื่อง นิยมรักษาแผลเป็นประเภท Hypertrophic
1.4 การฉายรังสี (Radio therapy)
เป็นวิธีที่นิยมใช้กับแผลเป็นชนิด Hypertrophic และ Keloids อาจใช้การฉายรังสีวิธีเดียวหรือใช้ร่วมกับวิธีอื่น การใช้วิธีเดียวได้ผลประมาณร้อยละ 10-94 มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำร้อยละ 50-100 โดยเฉพาะแผลเป็นประเภท Keloids ปริมาณรังสีที่ฉายที่ให้ผลดีที่สุดจะอยู่ในช่วง 1500-2000 rads ซึ่งอาจให้ร่วมด้วยกับการผ่าตัด 5-6 ครั้ง หลังการผ่าตัด
1.5 การใช้เลเซอร์ (Laser therapy)
เป็นวิธีการใช้ลำแสงเลเซอร์ยิงทำลายเนื้อเยื่อแผลเป็น แต่การทดลอง พบว่า การใช้เลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ และอาร์กอน กลับรักษาแผลเป็นไม่ได้ผล ส่วนการใช้เลเซอร์ชนิด Neodynium กลับให้ผลร้อยละ 36-40 และในจำนวนผู้รับการรักษา 100 คน ของแผลเป็นประเภท Keloids พบว่า 60 คน มีแผลเป็นแบนเรียบลง และไม่กลับมาเป็นซ้ำ ในช่วง 18 เดือน-5 ปี หลังการรักษาด้วย Neodynium Laser ส่วนการใช้ Flashlamp สามารถให้ผลดีร้อยละ 57-83 สำหรับแผลเป็นประเภท Atrophic
1.6 การใช้ไนโตรเจนเหลว (Cryotherapy)
วิธีนี้มีการศึกษา พบว่า แผลเป็นประเภท Keloids สามารถทำให้แผลราบลงร้อยละ 51-74 จากการรักษาอย่างน้อย 2 ครั้ง และสามารถใช้รักษาแผลจากสิวได้อีกทาง วิธีนี้มีข้อเสีย คือ ต้องใช้เวลานาน มักพบอาการยุบตัวของผิวหนัง และการซีดยางของสีผิว จึงนิยมใช้กับแผลขนาดเล็กเท่านั้น
1.7 การรักษาด้วยการฉีดสาร 3 ชนิด คือ
– Interferon (alpha, beta และ gamma)
– Intralesional 5-fluorouracil
– Bleomycins
2. การรักษาด้วยผลิตภัณฑ์ป้องกัน และลดรอยแผลเป็น (Scars Reduction products) ได้แก่
2.1 การใช้แผ่นเจลซิลิโคน (Silicone gel sheeting)
วิธีนี้ เป็นการใชผลิตภัณฑ์รักษาแผลเป็นด้วยแผ่นเจลซิลิโคน ปิดทับบริเวณรอยแผล ซึ่งสามารถให้ผลดี และปลอดภัยมากวิธีหนึ่งในปัจจุบัน โดยแผ่นเจลซิลิโคนมีลักษณะโครงสร้างที่เชื่อมต่อกันหลายแผ่นทำให้มีความสามารถยืดหยุ่นตามลักษณะการเคลื่อนไหวของผิวหนังได้ดี ซึ่งจากการศึกษาสามารถอธิบายกลไกการรักษาในด้านการช่วยรักษาการสูญเสียน้ำออกจากบริเวณรอยแผล การลดการทำงานของเส้นเลือดฝอย และลดกระบวนการสร้างคอลลาเจนของเซลล์ไฟโบรบลาสต์
การรักษาวิธีนี้มีผลดีต่อเด็ก และผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนต่อความเจ็บปวดจากการรักษาด้วยวิธีอื่น แต่ผลิตภัณฑ์เจลซิลิโคนที่ผลิตออกมาจำหน่ายมีลักษณะคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ทั้ง ประสิทธิภาพการรักษา ความคงทน และการยึดติดผิวหนัง ซึ่งต้องเลือกใช้ชนิดที่มีคุณภาพ
2.2 การผลิตภัณฑ์ยาทารักษาแผลเป็น (Topical products)
วิธีนี้ เป็นวิธีที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ตามร้านขายยาทั่วไปได้ง่าย และวิธีการใช้ก็สะดวก และง่ายด้วยตนเอง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักมีส่วนผสมของสารสำคัญสำหรับการรักษา ได้แก่
– สารสกัดจากหัวหอม ที่มีชื่อว่า Allium cepa ที่ช่วยยับยั้งการอักเสบของแผล ต้านการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และลดการสร้างคอลลาเจนบริเวณรอยแผลเป็น
– สารสกัดจากใบบัวบก ได้แก่ Asiatic acid, Madecassic และ Asiaticoside ที่สามารถช่วยกระตุ้นการหายของแผลได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เกิดความผิดปกติของการซ่อมแซมเซลล์ ช่วยลดการสร้างคอลลาเจนบริเวณรอยแผล และลดการอักเสบของแผล
– วิตามินบี 3 ที่สามารถลดการส่งผ่าน melanosome บริเวณการซ่อมแซมรอยแผล ทำให้ลดสีผิวของแผลไม่ให้เข้มกว่าสีผิดปกติรอบข้าง
– วิตามินอี เป็นสารทีนิยมผสมในผลิตภัณฑ์เนื่องจากเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และกระตุ้นการหายใจของเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์เกิดใหม่ ทำให้เซลล์สามารถซ่อมแซมแผลได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงมีคุณสมบัติต้านการสร้างคอลลาเจนบริเวณรอยแผลเป็น
– สารมิวโคโพลีแซคคาไรด์ (MPS) เป็นสารประกอบน้ำตาลเชิงซ้อน ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดบริเวณรอยแผล ทำให้การซ่อมแซมเซลล์มีความสมบูรณ์