โรคกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer)

12329

โรคกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่เกิดจากภาวะที่มีเยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย และเกิดแผลบริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหาร สามารถพบโรคนี้ได้ทุกเพศทุกวัย ตำแหน่งที่เกิดพบได้ เช่น หลอดอาหารส่วนล่าง กระเพาะอาหาร รวมไปถึงลำไส้เล็กส่วนต้นที่ติดกับกระเพาะอาหาร แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. โรคกระเพาะอาหารแบบเฉียบพลัน (Acute ulcer)
เป็นโรคกระเพาะอาหารที่มีลักษณะเป็นแผลตื้นไม่ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร มักพบเป็นแผลหลายจุด เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และหายเองประมาณ 6 สัปดาห์ โดยมักพบมากในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหรือมีโรคติดเชื้อรุนแรง

2. โรคกระเพาะอาหารแบบเรื้อรัง (Chronic peptic ulcer)
เป็นโรคกระเพาะอาหารที่มีลักษณะเป็นแผลลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร แผลมีลักษณะเรื้อรัง ขอบแผลนูนบวม เมื่อแผลหายจะเกิดรอยแผลเป็น แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
– แผลที่กระเพาะอาหาร (Gastric ulcer) เป็นแผลที่พบได้ในทุกส่วนของตัวกระเพาะอาหาร ทั้งส่วนกระเพาะอาหาร ฟันดัส ไพโรริก และแอนทรัม มักพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ทั้งเพศหญิง และเพศชายพบในอัตราที่เท่ากัน โดยสาเหตุมักพบเกิดจากความสามารถในการป้องกันกรด และเปปซินของกระเพาะอาหารลดลงทำให้เกิดแผลได้ง่าย

โรคกระเพาะอาหาร

– แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcer) เป็นชนิดที่มีแผลเกิดบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นที่มีสาเหตุมาจากการหลั่งกรดที่มากขึ้น ซึ่งมักพบได้ในทุกวัย โดยเฉพาะคนที่มีภาวะความเครียดสูง อารมณ์แปรปรวน และมีความวิตกกังวลมาก รวมถึงพฤติกรรมการดื่มสุรา และสูบบุหรี่

สาเหตุของการเกิดโรค
1. กรด และเปปซิน เกิดเนื่องจากร่างกายมีการผลิตกรด และเปปซินมากกว่าปกติทำให้เกิดการหลั่งกรดมาก ร่วมด้วยกับความผิดปกติของความต้านทานของเยื่อบุกระเพาะอาหารลดลงจึงทำให้เกิดแผลได้ง่าย
2. กรรมพันธุ์ โดยครอบครัวหรือเครือญาติที่มีประวัติเป็นโรคกระเพราะอาหารก็มักมีโอกาสที่บุตรจะเกิดเป็นโรคกระเพาะอาหารตามมามากด้วยในอัตราถึง 3 เท่า ของคนปกติ โดยคนที่มักเป็นโรคกระเพาะอาหารจะพบในคนที่มีหมู่เลือดกรุ๊ปโอมากกว่าหมู่เลือดอื่น
3. การสูบบุหรี่ คนที่สูบบุหรี่มีผลต่อการผลิตกรด และเปปซินที่มากขึ้น นอกจากนี้การสูบบุหรี่จะมีผลต่อการยับยั้งการผลิตพรอสตาแกรนดิน (Prostaglandin) ทำให้มีโอกาสเกิดแผลได้ง่ายขึ้น แผลจะหายช้า และมีโอกาสกับมีแผลอีกครั้งง่ายกว่าคนทั่วไป
4. การดื่มแอลกอฮอล์ มีผลต่อการกัด และทำลายเนื้อเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารได้ง่าย โดยเฉพาะการดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูง เช่น สุราขาว สุราหมักพื้นบ้าน
5. ยาชนิดต่าง เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบ ยาสเตรียรอยด์ ยาเหล่านี้มีผลต่อการกัด และทำลายเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารได้ง่าย โดยเฉพาะการรับประทานยาขณะท้องว่าง
6. เครื่องดื่มประเภทโคล่า ชา กาแฟ การดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ในความเข้มข้นสูงหรือดื่มติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีผลต่อการผลิตกรด และเปปซินที่มากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน
7. อาหาร การรับประทานอาหารที่ผิด อาทิ รับประทานอาหารประเภทไขมัน และแป้งมากเกินไป การรับประทานอาหารที่ย่อยยากประเภทเนื้อสัตว์ การรับประทานอาหารรสจัด เช่น รสเค็ม รสเผ็ด รสเปรี้ยว พฤติกรรมการรับประทานอาหารเหล่านี้มีผลต่อการกระตุ้นการผลิตกรด และเปปซินในปริมาณที่มากขึ้น รวมถึงอาหารบางประเภทมีฤทธิ์กัดกร่อน และระคายเคืองต่อเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารได้ง่าย
8. พฤติกรรมการรับประทานอาหาร ได้แก่ การรับประทานอาหารไม่ตรงต่อเวลา การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด การอดอาหารการรับประทานอาหารก่อนเข้านอน สิ่งเหล่านีั้มีผลต่อการกระตุ้นการผลิตกรด และเปปซินที่มากเกินไปหรือมีการหลั่งของกรดขณะท้องว่างมากเกินไป
9. ความเครียด อันเกิดจากความวิตกกังวล ความขัดแย้งทางจิตใจมีผลต่อการเร่งการผลิตกรด และเปปซินที่เพิ่มขึ้นหรือมีการผลิตกรดขณะท้องว่างที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย
10. การติดเชื้อ เชื้อโรคบางชนิด เช่น Helicobacter Pyroli หรือ Campyrobacter Pyroli ประเภทแกรมลบ รูปร่างเป็นเกลียว มักพบในมูกที่เคลือบกระเพาะอาหาร ถือเป็นเชื้อหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบที่กระเพาะอาหาร เชื้อนี้สามารถพบได้ในอาหาร และเครื่องดื่มทั่วไปที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ

อาการที่บ่งบอกถึงการเป็นโรค
อาการของโรคกระเพาะอาหารสามารถสังเกตได้อย่างง่าย ได้แก่
1. การปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ มีลักษณะปวดแสบปวดร้อนเป็นๆหายๆ หรือมีอาการปวดกลางดึก จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอึด มีลมในท้อง คลื่นไส้อาเจียน อาการปวดท้องจากแผลในกระเพาะอาหารนี้สังเกตได้ง่ายเมื่อมีอาการปวดแสบหลัง จากรับประทานอาหารหรือท้องว่าง และที่สำคัญจะปวดเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน
2. การอาเจียนเป็นเลือด ซึ่งอาจเกิดขณะป่วยหรือร่างกายมีการอาเจียน ซึ่งจะสังเกตได้จากเศษอาหารที่อาเจียนออกมา
3. การถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือเป็นสีดำ อาจบ่งบอกถึงภาวะที่มีแผลในระบบทางเดินอาหารที่มักมีเลือดออกปะปนมากับอุจจาระด้วย
4. มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด กินอาหารไม่ค่อยได้
5. อาจเกิดการช๊อค เนื่องจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กทะลุ

อาการต่างๆข้างต้นที่กล่าวมานั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะไม่มีความสัมพันธ์กับอาการที่เกิดขึ้น เช่น บางรายมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงแต่อาจมีแผลในกระเพาะอาหารเพียงเล็กน้อย หรือบางรายที่ไม่มีอาการปวดท้องเลยอาจมีแผลในกระเพาะอาหารขนาดใหญ่ก็เป็นไป ได้

การวินิจฉัยโรค
ในทางการแพทย์เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นโรคกระเพาอาหารได้อย่างแท้จริงต้องต้องทำการวินิจฉัยด้วยวิธี ดังนี้
1. การตรวจประวัติคนไข้ทั้งเรื่องการกินอาหาร ประวัติคนที่เคยเป็นโรคกระเพาะอาหารในเครือญาติ เป็นต้น
2. การส่องกล้อง เป็นวิธีที่สามารถรู้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งแพทย์จะใช้กล้องขนาดเล็กสอดผ่านลงสู่กราเพาะอาหารเพื่อตรวจหาแผล
3. การเอกซเรย์ จะเป็นการใช้รังสีในการตรวจหาแผล

การรักษาโรค และการบรรเทาอาการเบื้องต้น
1. การรักษาด้วยยา
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารจะใช้การรักษาโดยวิธีการกินยา ยาที่ใช้มี 4 ประเภท คือ
– ยาลดกรด ที่เป็นยาผสมระหว่างอลูมินัมไฮดรอกไซด์กับแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
– ยายับยั้ง และลดการหลั่งกรด ได้แก่ ไซเมทิดีน (cimetidine) และรานิติดีน (ranitidine)
– ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ได้แก่ ซูคราเฟต (sucralfate) และคาร์เบนนอกโซโลน (carbenoxolone)
– ยายับยั้งการหลั่งกรด และป้องกันฤทธิ์จากกรด ได้แก่ นูเออร์ (neuer) และพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins)

การรับประทานยาควรรับประทานยาให้ถูกต้อง รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง ข้อสำคัญหลังการรับประทานยาแล้วเมื่อมีอาการดีขึ้นไม่ควรหยุดรับประทานยาถ้า หากยายังไม่หมด เพราะอาจส่งผลให้แผลในกระเพาะอาหารเกิดอาการกำเริบขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากมีอาการแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารทะลุ หรือกระเพาะอาหารมีการอุดตัน ควรได้รับการรักษาแบบผ่าตัด ซึ่งจะดีกว่าการใช้ยาในการรักษาโรค

2. การผ่าตัด ได้แก่
– การผ่าตัดแผลบางส่วนออก
– การผ่าตัดเพื่อตัดทางผ่านของสัญญาณประสาทไปที่พาไรตัลเซล และแอมทรัม

3. การรักษาทั่วไป
การรักษาทั่วไปตามคำแนะนำของแพทย์ และการปฏิบัติตัวที่ถูกวิธี ได้แก่
– การออกกำลังกาย
– การพักผ่อนจิตใจ และลดความเครียด
– การงดดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ เป็นต้น
– การรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงการรับประทานยาขณะท้องว่าง
– การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และไม่รับประทานมากเกินไป
– การเลี่ยงรับประทานอาหารรสจัด

สำหรับการบรรเทาอาการของโรคเบื้องต้นนั้น ผู้ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และรับประทานอาหารให้ตรงเวลา หากเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนให้รับประทานอาหารอย่างใดก็ได้เพื่อรองท้อง เช่น นมถั่วเหลือง กล้วยสุก การดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารรสอ่อนชนิดต่างๆ ซึ่งจะสามารถลดอาการปวดท้องได้

แนวทางการป้องกัน
สำหรับแนวทางการป้องกันนั้นถือเป็นวิธีที่ดีเพื่อมิให้เกิดโรคนี้ มีแนวทางได้แก่
1. เราควรรับประทานอาหารให้เป็นมื้อเป็นเวลา ไม่ปล่อยให้ท้องว่างหรือหิวมากๆ เพราะอาจทำให้ร่างกายเกิดการหลั่งกรดออกมาทำลายเยื่อบุระบบทางเดินอาหารได้
2. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด ทั้งเผ็ดจัด เปรียวจัด และเค็มจัด
3. งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึง ชา กาแฟด้วย งดการสูบบุหรี่ หลีกเหลี่ยงการรับประทานสิ่งต่างๆที่มีผลต่อการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร
4. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ พักผ่อนให้ตรงเวลา รวมถึงการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอเพื่อลดความเครียด และหากเมื่อพบอาการที่อาจก่อให้เกิดโรคไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนได้

ภาวะแทรกซ้อน
1. เลือดตกในทางเดินอาหารส่วนบน ที่เกิดจากแผลลึกจนทำให้เกิดการตกเลือดซึ่งสังเกตุอาการได้ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีเลือด
2. กระเพาะอาหารรั่ว เกิดในกรณีที่แผลลึกมากจนกระเพาะอาหารทะลุ อาการนี้มีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบอื่น และในกระแสเลือดได้ง่าย
3. ลำไส้อุดตัน เกิดขึ้นในบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นที่เป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรังของแผลบริเวณลำไส้เล็ก และแอนทรัมจนมีผลต่อการเคลื่อนไหว หูรูดของไพโรรัสไม่เปิด และการบวมของเนื้อเยื่อจนเกิดการอุดตันของลำไส้ตามมา
4. แผลลุกลาม อันเกิดจากรูทะลุต่อกันใน 2 อวัยวะ เช่น ตับอักเสบ
5. มะเร็งกระเพาะอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้จากการเป็นแผลเรื้อรังจนทำให้เซลล์เนื้อเยื่อกระเพาะอาหารกลายเป็นเนื้อร้าย