โรคขาดสารไอโอดีน/โรคคอพอก และการรักษา

17488

โรคขาดสารไอโอดีน (iodine deficiency disorders, IDD)  หรือที่เรียกอีกชื่อตามอาการอย่างหนึ่งที่แสดงออกว่า โรคคอพอก (simple goiter) หมายถึง โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์อันเกิดจากภาวะการขาดสารไอโอดีนของร่างกายทำให้มีลักษณะโคโตหรือคอพอกตามมา

ปัจจุบันภาวะการขาดสารไอโอดีนของประชากรไทยได้ลดลงไปมากจนเกือบไม่พบแล้ว แต่ยังมีพบได้บ้างในพื้นที่บางส่วนที่การคมนาคมเข้าไม่ถึง พื้นที่ที่มีความทุระกันดานมาก เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาการขนส่งทั้งทางเรือ และทางน้ำได้เกือบครอบคลุมทั้งประเทศแล้ว จึงมีการขนส่งเกลือ และอาหารทะเลได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ และส่วนหนึ่งเกิดจากการผลิต และบริโภคเกลือในปัจจุบันเป็นเกลือที่ผลิตจากทะเลหรือหากเป็นเกลือสินเธาว์ ที่ไม่มีไอโอดีนก็มีการเติมไอโอดีนเพิ่มเติมก่อนส่งจำหน่ายหรือบริโภค

สาเหตุของโรค
ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) ถือเป็นต่อมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีลักษณะเป็นกลีบ 2 กลีบ คล้ายปีกผีเสื้อ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร หนักประมาณ 30 กรัม อยู่ด้านหน้าของหลอดลม บริเวณใต้ลูกกระเดือกเล็กน้อย เคลื่อนไหวขึ้นลงได้ตามการเกลือนของหลอดอาหาร

ไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของระบบประสาท และสมอง และระบบเนื้อเยื่อของร่างกายด้วยฮอร์โมนไทร๊อกซิน (thyroxine) โดยอาศัยสารไอโอดีนช่วยในการสร้างฮอร์โมน โดยต่อมไทรอยด์เองสามารถดึงไอโอดีนจากส่วนต่างๆของร่างกาย และเก็บกักไว้ภายในต่อมตัวเองได้ทำให้มีปริมาณไอโอดีนในต่อมสูงมากกว่าเลือดกว่า 30 เท่า

หากร่างกายขาดสารไอโอดีนจะทำให้ระบบประสาท และสมอง ระบบกล้ามเนื้อไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ อัตราการเผาผลาญพลังงานน้อย ร่างกายเจริญเติบโตช้า สมองทึบ ไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยง่าย นอกจากนั้น อาการที่เด่นชัด คือ เกิดภาวะต่อมไทรอยด์บวมโต 4-5 เท่า ของขนาดปกติ ซึ่งเรียกว่า คอพอก หรือโรคขาดสารไอโอดีน

สารไอโอดีน เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่พบมากในทะเล รวมถึงพืช และสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล จากการละลาย และชะล้างจากพื้นดินลงสู่ทะเล พบได้น้อยในดิน และแหล่งน้ำจืด โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่หุบเขา และห่างไกลจากทะเลจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชากรในพื้นที่เหล่านี้มักเกิดภาวะร่างกายขาดสารไอโอดีนคอพอก

ปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดสารไอโอดีน
1. สภาพภูมิประเทศ โดยพบประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่ห่างไกลจากทะเลมีโอกาสเสี่ยงต่อการขาดสารไอโอดีนมากกว่าพื้นที่ที่อยู่ใกล้ทะเลจากการคมนาคมที่ไม่สะดวก ภาวะเศรษฐกิจ ความรู้ และการศึกษาที่เข้าไปไม่ถึง ถึงแม้จะมีการพัฒนาในด้านคมนาคม และเศรษฐกิจของประเทศแล้วก็ตาม
2. สภาพเศรษฐกิจ จากปัจจัยความยากจนที่ไม่สามารถซื้ออาหารทะเลมารับประทานได้
3. การคมนาคม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ทุระกันดานการคมนาคมเข้าไปไม่ถึงทั้งทางบกหรือทางน้ำ ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะได้รับสารไอโอดีนได้
4. พฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะคนที่ไม่ชอบรับประทานอาหารทะเลหรือไม่ชอบรับประทานเกลือถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขาดสารไอโอดีนได้ง่าย
5. ร่างกายได้รับสารบางชนิด โดยเฉพาะสารที่ออกฤทธิ์ต่อกระบวนการดูดซึมไอโอดีนของร่างกายเข้าสู่กระแสเลือด และการทำงานของต่อมไทรอยด์ เช่น กำมะถัน และไธโอชัยแอนเนท ที่มีผลต่อการดูดซึมไอโอดีนของต่อมไทรอยด์

อาการของโรค

 

อาการการของโรคในแต่ละช่วงอายุ
1. ทารกในครรภ์ และมารดา
ลักษณะมารดาที่มีภาวะการขาดสารไอโอดีนหรือได้รับปริมาณไอโอดีนไม่เพียงพอ ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดอาการแท้งหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ รวมถึงมารดาเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ง่าย

2. ทารกแรกเกิด
ทารกแรกเกิดในช่วง 0-2 ปี หลังจากการคลอดที่เกิดจากภาวะการขาดสารไอโอดีนขณะอยู่ในครรภ์ และการขาดสารไอโอดีนหลังการคลอดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมักทำให้ร่างกายผิดปกติหลังคลอด เกิดอาการคอพอก ภาวะฮอร์โมนไทร๊อกซินต่ำ เด็กเกิดความผิดปกติของระบบประสาท สมอง และทางร่างกาย ปัญญาอ่อน หูหนวก แขนขากระตุก ตาเหล่ เป็นต้น

3. เด็ก และวัยรุ่น
หากเกิดภาวะการขาดสารไอโอดีนในช่วงที่มีการเจริญเติบโต และพัฒนาทางด้านร่างกาย เด็กมักมีอาการคอพอก ฮอร์โมนไทร๊อกซินต่ำ ร่างกายแคระแกร็น สูบผอม สติปัญญาต่ำ

4. ผู้ใหญ่
เมื่อเกิดภาวะขาดสารไอโอดีนในวัยผู้ใหญ่มักมีอาการคอพอก ฮอร์โมนไทร๊อกซินต่ำ อ่อนแรง เหนื่อยง่าย เชื่องซึม ไม่กระฉับกระเฉง ผิวหนังแห้ง ท้องผูก ทนหนาวไม่ได้ และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆได้ง่าย

การตรวจคอพอก
1. การเตรียมการตรวจ
– สถานที่ตรวจต้องมีแสงสว่างเพียงพอหรือต้องมีอุปกรณ์ให้แสงสว่างที่มากพอ
– ผู้รับการตรวจต้องหันหน้าเข้าหาแสงสว่าง
– ผู้รับการตรวจต้องหันหน้าเข้าหาผู้ตรวจ
– ระดับสายตาผู้ตรวจอยู่ในระดับคอผู้เข้ารับการตรวจ

2. ขั้นตอนการตรวจ
– มองบริเวณคอเพื่อหาดูว่ามีก้อนเนื้อโตหรือไม่
– หากมีก้อนเนื้อโต ให้ผู้รับการตรวจกลืนน้ำลาย หากเป็นคอพอกก้อนเนื้อโตจะเคลื่อนที่ลง
– หากก้อนเนื้อที่โตมีลักษณะเล็ก มองแยกไม่ชัดเจน ให้ผู้รับการตรวจแหงนคอ และกลืนน้ำลาย
– หากไม่พบก้อนเนื้อโตในลักษณะปกติ ให้ผู้รับการตรวจแหงนคอ และใช้วิธีการคลำแทน

วิธีตรวจคลำคอเพื่อตรวจการขาดสารไอโอดีน
1. สังเกตตำแหน่งต่อมไธรอยด์ทั้งด้านหน้า และด้านข้าง และให้กลืนน้ำลายสังเกตการเคลื่อนไหวของต่อมไธรอยด์ โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจนั่งท่าปกติ หันไปข้างหน้า และเงยคางเล็กน้อย
2. ผู้ตรวจหันหน้าเข้าหาผู้รับการตรวจ ใช้นิ้วหัวแม่มือจับกลีบไธรอยด์ กดนิ้วหัวแม่มือ ค่อยๆดันไปด้านขวา กดเบาๆ แล้วผลักต่อมไธรอยด์เล็กน้อย และถ้าให้กลืนน้ำลายร่วมด้วยจะเห็นชัดเจนขึ้น
3. ใช้นิ้วคลำกลีบต่อมไธรอยด์ โดยใช้นิ้วมือสัมผัสกับต่อมด้านใน นิ้วที่เหลือสัมผัสด้านนอกต่อมด้านข้างลำตัวผู้เข้ารับการตรวจ
4. อาจใช้วิธีอ้อมไปด้านหลังผู้ตรวจ และใช้วิธีคลำกลีบไธรอยด์ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วมืออื่นๆคลำคลำกลีบต่อมทีละข้าง

การแบ่งระดับคอพอก
ระดับ 0 ไม่พบคอพอก คลำต่อมไธรอยด์ได้ปกติ ขนาดเท่าหัวแม่มือของแต่ละคน
ระดับ 1A คลำได้ก้อนโตกว่าหัวแม่มือของผู้เข้ารับการตรวจ หากแหงนคอจะมองไม่เห็น แต่หากกลืนน้ำได้จึงสามารถมองเห็น
ระดับ 1B คลำพบคอพอก มองเห็นขณะแหงนคอ และตรวจในท่าตะแคงข้างจะเห็นชัดเจน ระยะนี้ต่อมไธรอยด์จะโตขนาด 2-3 เท่า ของหัวแม่มือ
ระดับ 2 เห็นคอพอกชัดเจนในท่าธรรมดา โดยไม่ต้องคลำ
ระดับ 3 คอพอกโตมาก มองเห็นชัดเจนในระยะมากกว่า 5 เมตร

นอกจากการตรวจคอพอกด้วยวิธีการคลำแล้ว ยังสามารถตรวจด้วยวิธีอื่น ได้แก่
– การตรวจหาไอโอดีนที่ขับออกมาในปัสสาวะที่ 24 ชั่วโมง
– การวัดการดักจับไอโอดีนด้วยกัมมันตรังสี
– การตรวจหาระดับฮอร์โมนในเลือด
– การหาปริมาณไธรอยด์สติมูเลทติ้งฮอร์โมน (TSH)

การรักษา
1. การให้สารไอโอดีนร่วมกับอาหาร และน้ำดื่ม โดยให้สารไอโอดีนทีละน้อย อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน ในรูปของเกลือที่ปรุงอาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ

2. การให้สารไอโอดีนที่มีความเข้มข้นสูง ด้วย 2 วิธี คือ
– การกิน เป็นลักษณะการกินสารไอโอดีนที่มีความเข้มข้นสูงที่อยู่ในรูปแคปซูลขนาด 200 มิลลิกรัม เป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งสารไอโอดีนจะถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด และเข้าสู่ต่อมไทรอยด์ต่อไป ซึ่งจะช่วยป้องกันการขาดสารไอโอดีนได้หลายปี
– การฉีด ด้วยการฉีดสารไอโอดีนที่มีความเข้มข้นสูงเข้าบริเวณกล้ามเนื้อขาหรือแขน ซึ่งจะสะสมอยู่ตามกล้ามเนื้อ และไขมันของร่างกายก่อนที่จะเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดเข้าสู่ต่อมไทรอยด์ 1 ซีซี ขนาด 480 มิลลิกรัม

3. การรับประทานอาหารทะเล
โดยทั่วไป อาหารที่มีสารไอโอดีน และเหมาะสำหรับร่างกายมักเป็นอาหารทะเล ทั้งอาหารทะเลที่เป็นพืช และสัตว์ เช่น สาหร่ายทะเล 100 กรัม จะพบสารไอโอดีนประมาณ 200 ไมโครกรัม ปลาทะเล 100 กรัม จะมีสารไอโอดีนประมาณ 50 ไมโครกรัม ส่วนสารไอโอดีนที่พบในพืช และสัตว์บก ขึ้นกับปริมาณที่สัตว์รับสารไอโอดีนเข้าไปหรือขึ้นกับปริมาณที่พืชดูดซึม ไอโอดีน

4. การผ่าตัด
ในผู้ป่วยบางรายที่อาการของโคพอกมาก มีลักษณะบวมโตจนมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร และการกลืนกินอาหาร รวมถึงมีผลต่อระบบทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบาก แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และการให้สารไอโอดีนหลังการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

สารไอโอดีนที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
– มารดาให้นมบุตร ประมาณ 200 ไมโครกรัม
– หญิงตั้งครรภ์ ประมาณ 175 ไมโครกรัม
– ผู้ใหญ่ ประมาณ 150 ไมโครกรัม
– เด็กวัยเรียน ประมาณ 120 ไมโครกรัม
– เด็กอายุ 6เดือน – 6 ปี ประมาณ 50-90 ไมโครกรัม
– เด็กอายุแรกเกิด-6เดือน ประมาณ 40 ไมโครกรัม