โรคตาแดง หมายถึง โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาทำให้เกิดอาการตาแดง น้ำตาไหล เจ็บตา และมีขี้ตา โดยเกิดจากสาเหตุต่างๆ อาทิ การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และภูมิแพ้
ทั้งนี้ โรคตาแดงสามารถแบ่งตามสาเหตุของการเกิดโรคเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. การติดเชื้อไวรัส
เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตาแดง ได้แก่ เชื้อไวรัสอะดิโน (adenovirus) ที่การฟักตัวที่ 2-14 วัน เชื้อไวรัสเอนเทอโร ชนิด 70 และไวรัสคอกแซกก์เอ ชนิด 24 ซึ่งส่วนใหญ่การเกิดโรคตาแดงจะเป็นการระบาดของเชื้อไวรัสคอกแซกก์เอ ชนิด 24 ที่ระยะฟักตัว 8-48 ชั่วโมง
2. การติดเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคตาแดง เช่น เชื้อสะเตรปฟิโลคอคคัส เอพิเดอร์มิส (strepphylococus epidermidis) สเตรปฟิโลคอคคัส ออเรียส (strepphylococus aureus) นิวโมคอคคัส (pneumococus) โกโนคอคคัส (gonococus) และฮีโมฟิลัส อินฟลูเอนซาร์ (haemophilus influenza) มักพบทำให้เกิดอาการตาแดงข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วลามไปอีกข้างหนึ่ง
3. ภูมิแพ้
เป็นภาวะที่ภูมิต้านทานไวของร่างกายเกินปกติ ชนิด ที่ 1 ซึ่งเป็นภูมิแพ้ที่เกี่ยวข้องกับโรคตาอักเสบจาการแพ้ เช่น การแพ้ฝุ่นควัน การแพ้ละอองเกสรดอกไม้ เครื่องสำอาง ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตาแดง
1. การอยู่รวมกัน
การอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะหรืออยู่ร่วมกันหลายคน เป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค และการแพร่กระจายของโรค เนื่องจากโรคตาแดงสามารถติดต่อ และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วจากการสัมผัสหรือการใช้สิ่งของร่วมกัน
2. อายุ และภูมิต้านทาน
โรคตาแดงมักพบมากในวัยเด็ก เนื่องจากอุปนิสัยที่ชอบหยิบจับ และไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด ประกอบกับวัยเด็กเป็นวัยที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสเกิดโรคตาแดง และแพร่กระจายติดต่อกันได้ง่ายกว่าวัยอื่น
3. ความสะอาด
เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เชื้อโรคตาแดงมีการแพร่กระจายติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว หากร่่างกายหรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงอุปกรณ์ส่วนตัวต่างๆที่มีความสกปรก และติดเชื้อ ดังนั้น จึงต้องมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น สบู่ ผงซักผ้า น้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และอุปกรณ์ส่วนตัวต่างๆ
4. ฤดูกาล
โรคตาแดงมักระบาดหนักในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีอากาศอับชื้น ฝนตก ทำให้เชื้อโรคเติบโต และเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับร่างกาย เสื้อผ้า รวมถึงเครื่องใช้มักเปียกหรืออับชื้นทำให้เชื้อเกาะติด และอาศัยอยู่ได้ง่ายขึ้น จากสถิติผู้ป่วยโรคตาแดงจะมีอัตราซุกชุมในช่วงเดือนมิถุนายน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงเดือนสิงหาคม หลังจากนั้น อัตราการเกิดโรคจะค่อยลดลง
ลักษณะของการเกิดโรค
1. เส้นเลือดขยายตัว (vasodilation) และสีเข้มข้น (hyperemaia) เป็นอาการตาแดงโดยมีเส้นเลือดฝอยบริเวณเยื่อบุตามีการปล่อยน้ำเข้าสู่เนื้อเยื่อ และเคลื่อนที่ผ่านผนังเส้นเลือดของเม็ดเลือดขาว นอกจากนั้น ในบางรายจะพบมีเม็ดเลือดแดงถูกปล่อยออกมาด้วย ทำให้เป็นจุดสีแดง กลม แต่ไม่นูน บางรายอาจเกิดอาการอักเสบรุนแรงมีเลือดออกใต้เยื่อบุตาด้วย
2. อาการบวมของชั้นใต้เยื่อบุผิวของเยื่อบุตา ซึ่งจะพบการบวมที่เยื่อบุตาทางด้านหน้าของลูกตา และเยื่อบุตาถัดจากเปลือกตามายังลูกตา เป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นด้วยการผ่านเยื่อขวางกั้นลูกตา
3. ชั้นเยื่อบุผิวของเยื่อบุตาขยายตัวมากขึ้น ชั้นเยื่อบุผิวด้านนอกมีการแบ่งตัว และหลุดลอกมาทำให้เกิดขี้ตา ผู้ป่วยบางรายที่เกิดโรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรียนั้น ในขี้ตาจะประกอบด้วยเซลล์ต่างๆที่อักเสบออกมา เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซท์ เซลล์ของเหลวของหลอดเลือด และน้ำเหลือง เซลล์ของนิวเคลียส ทำให้เกิดเป็นหนองขึ้นได้
4. ชั้นเยื่อบุผิวของเยื่อตาบริเวณเปลือกตาด้านในจะเกิดเส้นเลือดงอกใหม่ขึ้น เส้นเลือดเหล่านี้มีลักษณะตั้งฉากกับแนวเดิมของเส้นเลือดเยื่อบุตา พร้อมกับเกิดเนื้อเยื่อของชั้นเยื่อบุตาล้อมรอบเส้นเลือดที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้เกิดลักษณะของเยื่อบุตาที่หยาบคล้ายกำมะหยี่ ลักษณะเส้นเลือดที่เกิดนี้เรียกว่า เส้นเลือดขยายตัวตรงกลาง ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบอย่างรุนแรงหรือเกิดปานกลาง
5. ในผู้ป่วยบางรายจะพบเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่มีลักษณะเป็นเม็ดใสๆเหนือชั้น epithelium ซึ่งจะเกิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อ
6. เมื่อแผลหายจะพบการอักเสบ และจำนวนเชื้อที่ลดลง
อาการของโรค
1. อาการโรคตาแดงจากเชื้อไวรัส
– อาการตาแดงจากเชื้อไวรัสอะดิโนมักจะเป็นทั้งสองข้าง
– อาการตาแดงเริ่มแรกจะพบที่ข้างเดียวก่อน และจะติดต่อไปยังตาอีกข้างภายในสัปดาห์แรก
– อาการหลังการติดเชื้จะพบอาการตาแดง ปวดตา มีการเคืองตา และน้ำตาไหล
– มีอาการต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโต และปวด เปลือกตา และเยื่อบุตาบวม และมีเลือดออก
– ในช่วง 5-14 วัน จะอาการกลัวแสง มองแสงนานไม่ได้ มีอาการแสบตาหากสัมผัสแสง จากการอักเสบของกระจกตา
– ลักษณะตาแดงจากการอักเสบจะหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่การอักเสบของกระจกตาอาจใช้เวลานานกว่าที่ 3-5 สัปดาห์
สำหรับอาการตาแดงจากการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโร 70 และไวรัสค็อกแซกกีเอ 242
– อาการตาแดงจะเกิดประมาณ 5-7 วัน พบมีการปวดตา กลัวแสง เคืองตา และน้ำตาไหล
– ต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโต ม่านตาอักเสบ มีเลือดใต้เยื่อบุตาขาว อาการเลือดออกจะหยุดภายใน 7-12 วัน
– ปวดเมื่อตามตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ร่างกายอ่อนแรง ตัวร้อน และมีไข้ตามมาด้วย
– อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดแผลที่กระจกตา กระจกตาเป็นหนอง ม่านตาอักเสบ มีเลือดออกบริเวณในตา
2. อาการโรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรีย
ลักษณะอาการตาแดงจะเข้มมาก มีขี้ตาออกสีเหลืองหรือสีเขียว ซึ่งจะเกิดมากหลังการตื่นนอน มักทำให้ลืมตาไม่ขึ้นเนื่องจากขนตาบน และขนตาล่างติดกันจากขี้ตาที่ไหลออกมา อาการอักเสบมักจะเกิดขึ้นทั้งสองข้างของตา มักพบไม่ค่อยมีอาการปวดตา เคืองตา และอาการขันตามาก ดังนั้น หากการเป็นโรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรียเมื่อตื่นนอนตอนเช้าจะพบว่าตาจะลืมไม่ขึ้น
3. อาการโรคตาแดงจากภูมิแพ้
อาการตาแดงที่เกิดจากภูมิแพ้จะไม่ค่อยทำให้ตาแดงมากนักเหมือนการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และไวรัส ตาขาวจะมีสีแดงเรื่อๆ และมีน้ำตาไหลออกมาในช่วงแรกๆ ซึ่งจะมีลักษณะใส ต่อมาน้ำตาจะเหนียว ไม่พบมีขี้ตา แต่จะมีอาการคันตามาก โดยเฉพาะตรงหัวตาทำให้ต้องขยี้ตาบ่อย ซึ่งการขยี้ตามากนี้เองมักจะทำให้เกิดการบวมซ้ำของเยื่อบุตา และการติดเชื้อตามมา อาการตาแดงจากภูมิแพ้มักจะเป็นๆหายๆในระยะเวลาสั้นๆไม่นานเหมือนอาการตาแดงจากการติดเชื้อ
การรักษา
1. การรักษาจากการติดเชื้อไวรัส
การรักษาโรคตาแดงประเภทนี้ให้ทำการรักษาตามอาการ ได้แก่
– การประคบน้ำเย็น
– การใช้ยาหยอดตาที่มีสารต้านฮีสตามีน เช่น แอนต้าโซลีนไฮโดรคลอไรด์
– หากมีอาการแสบตา และน้ำตาไหลมากให้หยอดตาด้วยซิ้งค์ซัลเฟต
– หากเกิดขี้ตาอาจใช้ยาปฏิชีวนะป้ายตาก่อนนอน
– หากมีอาการปวดเมื่อยร่างกาย ตัวร้อน และเป็นไข้ อาจใช้การรับประทานยาแก้ปวด และลดไข้
– ควรพบแพทย์ และปรึกษาแพทย์
2. การรักษาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
– การใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดทำความสะอาดตา
– การหยอดตาด้วยยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น sulfacetamide sodium หรือ chloramphenical ครั้งละ 1 หยด วันละ 4 ครั้ง
– การใช้ขี้ผึ้งป้ายตาก่อนอน
– ควรพบแพทย์ และปรึกษาแพทย์
3. การรักษาจากการเป็นภูมิแพ้
– ให้หลีกเลี่ยงการขยี้ตา และประคบด้วยน้ำเย็นเพื่อลดอาการคัน
– การหยอดตาเพื่อลดอาการคัน อาการตาแดง และการติดเชื้อตามมา เช่น hista-oph eye drop หรือ alomide eye drop ครั้งละ 1 หยด วันละ 4 ครั้ง
– ควรพบแพทย์ และปรึกษาแพทย์
การป้องกันโรคตาแดง
1. หลีกเลี่ยงการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่เชื้อโรคมีโอกาสแพร่กระจายได้ง่าย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของ ร่างกายของผู้เป็นโรคตาแดง
2. หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่น
3. ทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว รวมถึงสถานที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มักมีอากาศอับชื้น สำหรับสถานศึกษาของนักเรียนในวัยเด็กซึ่งเป็นสถานที่ที่มักมีเกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ควรมีมาตรการในการป้องกันโรคตาแดง อาทิ การล้างมือทำความสะอาด การคัดแยกกลุ่มเด็กผู้ป่วย การทำความสะอาดอุปกรณ์ และสถานที่เป็นระยะ
4. ควรเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดภายในบ้านหรือเป็นเครื่องใช้ส่วนตัวสำหรับทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และอุปกรณ์อื่นๆให้พร้อม และพอเพียงเสมอ
5. ควรทำความสะอาดมือเวลาหยิบจับสิ่งของ หรือก่อนรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในฤดูฝนที่เชื้อสามารถเกาะติดตามร่างกายได้ง่าย
การปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วย
1. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตาแดงควรหยุดเรียน หยุดทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ติดต่อสู่คนอื่น
2. ควรอยู่ภายในบ้านหรือที่ร่ม ไม่ควรมองสัมผัสแสงจ้า โดยเฉพาะในระยะที่เยื่อบุตาเริ่มอักเสบ
3. หากสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ หรือก่อนรับประทานอาหาร ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
4. ควรจัดหาอุปกรณ์หรือเครื่องใช้สำหรับทำความสะอาด เช่น สบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อให้เพียงพอ และมั่นทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงสถานที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ และสัมผัสกับเชื้อเพิ่มขึ้น
5. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่ยังไม่เป็นโรคตาแดง
6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตาหากเกิดอาการคันหรือแสบตา เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น