โรคมะเร็งปอด (lung cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นของโลก และในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ที่เป็นผลมาจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อปอดมีการกลายพันธุ์ของยีนส์เกิดเป็น เซลล์มะเร็งภายในปอดหรือหลอดลมแขนงภายในปอด ลุกลามจนทำให้พื้นที่ปอดที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนน้อยลงเป็นสาเหตุทำ ให้ผู้ป่วยขาดออกชิเจน และเสียชีวิตในเวลาต่อมาโดยพบเป็นสาเหตุการตายของเพศชายมากในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมด และพบเป็นอันดับสี่ในเพศหญิง
การเกิดมะเร็งปอดเริ่มต้นจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ภายในปอด ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องของหน่วยพันธุกรรม ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นยีนมะเร็งที่มีการเติบโต และลุกลามมากขึ้น ขณะเดียวกันจะทำให้ยีนต้านมะเร็งมีบทบาทการทำงานลดลง การกลายพันธุ์เป็นยีนมะเร็งมักมีความสัมพันธ์กับปัจจัยหลายด้าน อาทิ การสูบบุหรี่ การทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษ การได้รับรังสี การรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เป็นต้น
สาเหตุของโรคมะเร็งปอด
สาเหตุของมะเร็งปอดมีสาเหตุหลักมาก จากการสูบบุหรี่ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด รองลงมาร้อยละ 9-15 เกิดจากการสัมผัสจากอาชีพการงานหรือจากสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษ และการสัมผัสกับสารเรดอนเป็นร้อยละ 10 โดยพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากถึง 20 เท่า ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เนื่องด้วยควันบุหรี่หากสูบเข้ปอดแล้ว ปอดไม่สามารถขับอนุภาคขนาดเล็กของควันบุหรี่เหล่านั้นออกมาได้จึงมีการสะสม ภายในเยื่อบุปอดไปตลอดชีวิต และมีโอกาสกระตุ้นการเกิดเซลล์มะเร็งได้ง่าย โดยควันบุหรี่มีสารพิษที่เป็นอันตรายกับปอดมากกว่าร้อยชนิด เช่น ทาร์ อะซิโตน แอมโมเนีย ไซยาไนด์ สารหนู ฟอร์มัลดีไฮด์ ตะกั่ว พอโลเนียม เป็นต้น
สาเหตุอื่น ได้แก่
1. สาร asbestos ที่พบในโรงงานผลิตฉนวนกันความร้อน โรงงานผลิตผ้าเบรก โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น
2. สาร silica พบได้ตามอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เหมืองหิน โรงโม่หิน เป็นต้น
3. แร่ใยหิน ที่พบในอุตสาหกรรมเหมืองหิน อุตสาหกรรมปูน เป็นต้น
4. ไอระเหย ละอองของโลหะหนักต่างๆที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอด เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม เป็นต้น
5. สารเรดอน ที่เกิดจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี พบมากในเหมืองแร่ยูเรเนียมหรือพื้นที่มีแร่กัมมันตรังสี
6. ฝุ่น และอากาศที่เป็นพิษ
7. การเสพสิ่งเสพย์ติดชนิดต่างๆ
ลักษณะการเกิดโรค
กระบวนการเกิดเซลล์มะเร็งจะต้องใช้เวลา และการสะสมการเปลี่ยนแปลงการกลายพันธุ์เป็นยีนมะเร็ง ร่วมกับการเสื่อมของยีนต้านมะเร็ง (antioncogene) และยีนซ่อมแซมดีเอ็นเอ (DNA repair genes) ที่มีประสิทธิภาพน้อยลง รวมถึงการเสื่อมของเซลล์ในร่างกายที่สำคัญ เช่น ตับ และ ไซโตโครม พี 450 ที่มีบทบาทสำคัญในการกำจัด และทำลายสิ่งแปลกปลอม สารเคมี สารก่อมะเร็งต่างๆที่เข้าสู่ร่างกาย
เซลล์มะเร็งที่ค่อยๆเจริญเติบโตจะไปแย่งพื้นที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนในปอด ทำให้เกิดการอุดตันของท่อลมจนปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ตามปกติ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ข้างใดข้างหนึ่งก่อน และค่อยๆลุกลามไปอีกข้าง ผ่านทางท่อน้ำเหลือง และเนื้อเยื่อใกล้เคียง ในระยะที่มีการแพร่กระจาย เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายผ่านทางเลือดที่หมุนเวียนผ่านปอดจำนวนมากเข้าสู่อวัยวะอื่นของร่างกายด้วยการสูบฉีดของหัวใจ โดยเฉพาะกระดูก สมอง และตับ ซึ่งทำให้เกิดเซลล์มะเร็งในอวัยวะดังกล่าวทำให้เกิดการเสียชีวิตที่รวดเร็วขึ้น
ชนิดเซลล์มะเร็งปอด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. Non-small cell lung cancer (NSCLC) เป็นมะเร็งปอดที่พบมีการเติบโตเป็นเซลล์มะเร็งขนาดใหญ่ และมีการลุกลามมากแล้ว ในต่างประเทศพบร้อยละ 75-80 ส่วนในประเทศไทยพบมากกว่าร้อยละ 90
2. small cell lung cancer (SCLC) เป็นมะเร็งปอดที่พบมีการเติบโตเป็นเซลล์มะเร็งเพียงขนาดเล็ก ยังไม่มีการลุกลามมากนัก มะเร็งประเภทนี้มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ง่าย
อาการบ่งชี้โรคมะเร็งปอด
อาการของมะเร็งปอดในระยะแรกมักไม่ปรากฏอาการหรือไม่แสดงอาการเด่นชัดให้เห็น แต่ในระยะต่อมามักเริ่มแสดงอาการต่างๆ ได้แก่
1. การไอ จากการระคายเคืองในหลอดลมตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยมีการไอติดต่อกันเป็นเวลานานหรือไอเรื้อรัง โดยไม่มีเสมหะ
2. การไอมีเสมหะ เกิดขึ้นในระยะต่อมาที่เซลล์มะเร็งที่การอุดกั้นบางส่วนของปอด เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ปอดจะกระตุ้นปอดให้สร้างมูกสะสมในหลอมลมถัดจากก้อนมะเร็ง ทำให้เกิดการไอแบบมีเสมหะที่เป็นมูกใส และหากมีการติดเชื้อจะมีเสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเขียวตามมา
3. ไอเป็นเลือด เกิดอาการไอ โดยมีเลือดปะปนออกมากับเสมหะ ซึ่งเป็นเลือดที่มาจากส่วนของเซลล์มะเร็งที่ขาดเลือดไปเลี้ยงจนเซลล์ตายเกิดเป็นแผล ละเลือดไหลออกมาปะปนกับเสมหะ
4. อาการหอบเหนื่อย และหายใจลำบาก ในระยะแรกจะไม่ปรากฏอาการนี้ แต่เมื่อเซลล์มะเร็งมีการอุดกั้นหลอดลม เซลล์มะเร็งลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ปอดมีลักษณะแฟบ ทำให้ปอดทำงานแลกเปลี่ยนก๊าซได้น้อยลงจนเกิดอาการหายใจลำบาก อาการหอบเหนื่อยง่ายตามมา โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกายหรือการทำงานหนักที่ปกติไม่มีอาการดังกล่าว
5. อาการเจ็บหน้าอก อาการนี้มักไม่เกิดหากเป็นมะเร็งเฉพาะที่ทั่วไป แต่สำหรับมะเร็งปอดที่อาการลุกลามจนถึงเนื้อเยื่อหุ้มปอดจะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกตามมา โดยเฉพาะเวลาเกร็งหรือสูดหายใจแรงๆ ถือว่าเป็นอาการเด่นชัดของมะเร็งปอด
• อาการแบ่งตามระยะ ได้แก่
1. อาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งโดยตรง เช่น มีอาการไอเรื้อรัง น้ำหนักลด หอบเหนื่อยง่าย มักเจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด
2. อาการเมื่อเซลล์มะเร็งแพร่สู่อวัยวะใกล้เคียง เช่น เสียงแหบ เบื่ออาหาร กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น
3. อาการเมื่อเซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะอื่นบริเวณทรวงอก เช่น อาการชัก อัมพาต อัมพฤกษ์ อาการปวดตามกระดูกกล้ามเนื้อ ตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นต้น
• ภาวะแทรกซ้อน
1. การการติดเชื้ออย่างเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ ฝีในปอด เป็นต้น ทำให้อาการทรุดหนักเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่เร็วขึ้น
2. ก้อนมะเร็งที่ลุกลามไปยังกล่องเสียงจะมีผลทำให้เสียงแหบ กลืนอาหารหรือน้ำลายลำบาก
3 .เซลล์มะเร็งแพร่กระจายสู่หลอดเลือด และหัวใจ ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดผิดปกติ ผู้ป่วยมีอาการมึนงง ปวดศรีษะ หน้ามืด ตาลาย มีอาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ ทรวงอก แขน และขา บริเวณที่เกิดอาการบวมจะมีสีคล้ำ หลอดเลือดดำโป่งพองมองเห็นชัด
ระยะของมะเร็งปอด แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
• ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งยังเป็นที่ปอด ยังไม่มีการแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงในปอด เกิดเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของเนื้อปอด ระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออก โดยไม่ต้องรักษาโดยวิธีอื่นๆ
• ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงในปอด และยังอยู่ในช่องปอด สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจ CTscan หรือการส่องกล้อง การรักษาในระยะนี้จะใช้วิธีการผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งออก พร้อมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองที่ติดเซลล์มะเร็ง และต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงออก และอาจใช้วิธีการรักษาอื่นร่วมด้วย เช่น การฉายรังสี และเคมีบำบัด เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจติดในเซลล์อื่นๆข้างเคียง
• ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณส่วนกลางของปอด แต่ยังไม่แพร่สู่อวัยวะอื่นๆใกล้เคียง แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
– ระยะที่ 3 ช่วง A พบการกระจายของเซลล์มะเร็งสู่ต่อมน้ำเหลืองเพียงจุดเดียว ระยะนี้รักษาด้วยด้วยการฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัดก่อน เมื่อก้อนมะเร็งค่อยๆลดขนาดจะใช้วิธีการผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งออก
– ระยะที่ 3 ช่วง B พบการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งสู่ต่อมน้ำเหลืองหลายจุด จนรักษาด้วยการผ่าตัดไม่ได้ การรักษาจะใช้การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด
• ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งสู่ต่อมน้ำเหลืองหลายจุด และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด และอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ กระดูก และสมอง การรักษาจะใช้การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด
การวินิจฉัยโรค
ทางการแพทย์มักทำการตรวจประวัติผู้ป่วยที่อาจสื่อไปถึงภาวะเสี่ยงต่อการ เกิดโรคมะเร็งปอด เช่น ประวัติการสูบบุหรี่ อาชีพการงานหรือการสัมผัสกับสารเคมีหรือมลพิษที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์ มะเร็ง ร่วมกับการตรวจในห้องปฏิบัติการ เช่น การเอกซเรย์ปอด ทรวงอก การส่องด้วยกล้อง การตรวจน้ำในเยื่อหุ้มปอด และการตรวจการทำงานของต่อมน้ำเหลือง
การวินิจฉัยภาพถ่ายหรือการส่องกล้อง
1. หากพบก้อนเนื้อขนาดใหญ่มีโอกาสเป็นเซลล์มะเร็งได้สูง
2. วินิจฉัยจากอัตราการโตของก้อนเนื้อ หากพบลักษณะต่อไปนี้มีโอกาสเป็นเซลล์มะเร็งสูง คือ มีอัตราการโตขึ้น 2 เท่า ในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 6 สัปดาห์ และมักเกิดการอักเสบ และติดเชื้อร่วมด้วย ส่วนก้อนเนื้อที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงน้อยในระยะ 2 ปี อาจเป็นระยะเริ่มแรกของเซลล์มะเร็งปอด ซึ่งเซลล์มะเร็งปอดจะมีอัตราการโตเป็น 2 เท่า ในระยะเวลาไม่เกิน 6 ถึง 12 เดือน เท่านั้น
3. ลักษณะการบ่งชี้ภาวการณ์เริ่มเกิดเซลล์มะเร็ง ได้แก่ การมีหินปูนมาเกาะตรงกลางก้อนเนื้อ มีลักษณะเกาะซ้อนเป็นวงหรือเกาะเป็นหย่อมๆ
4. ลักษณะขอบของก้อนเนื้อเรียบ และชัดเจน
กลุ่มผู้ที่มีก้อนเนื้อที่ปอด และเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดสูง
1. มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุมากและประวัติสูบบุหรี่ เช่น
– คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีก้อนที่ปอดขนาด 1.5-2.2 ซม. และเคยสูบบุหรี่หรือเลิกบุหรี่ไม่เกิน 3 ปี มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด ร้อยละ 50
– คนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีก้อนที่ปอดขนาด 1.5-2.2 ซม. และเคยสูบบุหรี่วันละ 1-2 ซอง มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด ร้อยละ 80
– คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีก้อนที่ปอดขนาด 2.3-3.2 ซม. และเคยสูบบุหรี่ 1-2 ซอง มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด ร้อยละ 80
– คนที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป มีก้อนขนาด 2.3-3.2 ซม. และเคยสูบบุหรี่ตั้งแต่ 2 ซองขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดร้อยละ 96
2. มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน
3. มีประวัติการทำงานในพื้นที่ และสัมผัสสารก่อมะเร็งชนิดต่างๆ
การรักษา
1. การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเซลล์มะเร็งออกจากปอดซึ่งสามารถผ่าตัดเซลล์มะเร็งได้ทั้งสอง ประเภทขึ้นอยู่กับขนาด และการลุกลามของเซลล์มะเร็ง อาทิ การผ่าตัดเซลล์มะเร็งประเภทก้อนเนื้อขนาดเล็กจะทำการผ่าตัดออกเฉพาะส่วนที่ เป็นก้อนเนื้อเท่านั้น ทำให้มีการสูญเสียพื้นที่ปอดน้อยที่สุด หากเซลล์มะเร็งมีขนาดใหญ่อาจทำการผ่าตัดปอดทั้งซีกออกเหลือเพียงปอดซีกที่ ยังไม่เกิดเซลล์มะเร็งก็ได้
2. การบำบัดทางเคมีบำบัด ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการผ่าตัดหรือเป็นระยะที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ อาจเป็นการฉีดเข้าเซลล์มะเร็งโดยตรงหรือฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อฆ่าเซลล์ มะเร็ง
3. การฉายรังสี โดยการฉายรังสียิงเข้าที่เซลล์มะเร็งเพื่อกำจัดเซลล์ และป้องกันการลุกลาม ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการผ่าตัดหรือเป็นระยะที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ มักใช้ร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
4. การให้ภูมิคุ้มกัน พบผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็งปอดมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโต และแพร่กระจายในร่างกายได้ การรักษาด้วยยาหรือการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงต้องอาศัยการเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายเพื่อเสริมสร้างกลไกการต้าน และการกำจัดเซลล์มะเร็งแปลกปลอมด้วยกลไกของร่างกายเองร่วมด้วย ทำให้ประสิทธิภาพการรักษามีมากขึ้น
การรักษาโรคมะเร็งปอดอาจใช้เพียงวิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกันเพื่อให้ เกิดประสิทธิภาพการรักษามากที่สุด และมีผลกระทบต่อร่างกายผู้ป่วยน้อยที่สุด นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยในการสร้างวัคซีนป้องกันมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าอาจใช้เพียงวัคซีนในการป้องกันก็ได้