โรคระบบทางเดินหายใจ

23731

โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ ประกอบด้วยส่วน รูจมูก (Nostrill), โพรงจมูก (Nasal cavity), คอหอย (Pharynx), หลอดลม (trachea), ขั้วปอด (Bronchus) และปอด (alveolu) ตามลำดับ อวัยวะต่างๆเหล่านี้ทำหน้าที่หลักสำหรับช่วยในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนให้กับเลือดผ่านการหายใจเข้า และขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ร่างกายผ่านการหายใจออก โดยกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซจะเกิดขึ้นที่ถุงลมปอด

โรคในระบบทางเดินหายใจโดยส่วนมากจะพบมาจากสาเหตุการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา โปรตัวซัว รวมถึงสารพิษ สารเคมี และการเกิดเนื้องอกมะเร็ง ซึ่งได้แก่โรคต่างเหล่านี้
– โรคหลอดลมอักเสบ
– โรคไอกรน
– โรคนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ
– โรคคอตีบ
– โรคปอดบวม
– โรคปอดอักเสบ
– โรคเชื้อราในปอด
– โรควัณโรค
– โรคหอบหืด
– โรคหวัด
– โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza)
– โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก
– โรคมะเร็งกล่องเสียง
– โรคมะเร็งปอด
– โรคถุงลมปอดโปร่งพอง
– โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
– โรคลิ่มเลือดอุดตันในปอด
– โรคปอดจากโลหะหนัก
– โรคพยาธิใบไม้ปอดระบบทางเดินหายใจ

อวัยวะส่วนต่างๆ และหน้าที่ในระบบทางเดินหายใจ
1. รูจมูก เป็นส่วนนอกสุกของระบบทางเดินหายใจที่เป็นทางผ่านเข้าออกของอากาศ
2. โพรงจมูก (Nasal cavity) เป็นทางผ่านของอากาศที่ถัดมาจากรูจมูก ภายในโพรงประกอบด้วยขนเล็กๆที่เป็นเซลล์เยื่อบุผิวทำหน้าที่ในการอุ่นอากาศ และช่วยกรองละอองฝุ่นขนาดเล็กก่อนเข้าสู่ปอด
3. คอหอย (Pharynx) เป็นส่วนที่อยู่ด้านบนของจุดเชื่อมต่อระหว่างช่องอากาศที่จะเข้าปอด และกล่องเสียงกับหลอดอาหาร
4. หลอดลม (trachea) มีลักษณะเป็นท่อตรงยาวถึงขั้วปอด ประกอบด้วยกระดูกอ่อนเรียงตัวในลักษณะเป็นวงคล้ายรูปเกลือกม้า
5. ขั้วปอด (Bronchus) เป็นจุดแยกของปอดซีกซ้าย และปอดซีกขวา
6. ปอด ประกอบด้วยแขนงขั้วปวดหรือหลอดลมฝอย (Bronchiole) ที่แตกย่อยออกในเนื้อปอด และถุงลมขนาดเล็กในปอด (alveolu) ที่เชื่อมต่อกับหลอดลมฝอย เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ

การเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจทำให้อวัยวะบางส่วนทำงานผิดปกติ และส่งผลต่อกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซ เช่น โรคปอดอักเสบ เป็นต้น แต่โรคบางชนิดที่เกิดขึ้นในระบบนี้อาจไม่กระทบต่อกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซ เช่น โรคหลอดลมอักเสบ เป็นต้น

สาเหตุการก่อโรค
1. การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา โปรตัวซัว และสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่ทำให้เกิดภูมิแพ้
2. การหายใจเอาสารพิษหรือสารเคมี เช่น ไอระเหยของกรด ไอระเหยของโลหะหนัก เป็นต้น
3. การสูบบุหรี่หรือสารเสพติดผ่านทางระบบหายใจ
4. การเกิดอุบัติเหตุที่เกิดการกระแทกอย่างแรงบริเวณอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดทะลุจากอุบัติเหตุ

อาการเบื้องต้นของโรค
1. เป็นหวัด ไอ จาม มีเสมหะ
2. หายใจลำบาก ติดขัด แน่นหน้าอก
3. หายใจตื้น หายใจสั้น
4. หายใจมีเสียงดัง
5. มีการอักเสบของอวัยวะส่วนต้น จมูก โพรงจมูก หลอดลม
6. กลืนอาหารลำบาก
7. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

การตรวจวินิจฉัย
1. การตรวจด้วยการเอกซเรย์ปอด (x-ray)
2. การตรวจเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan)
3. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose computed tomography)เพื่อให้เห็นภาพแบบ 3 มิติ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
4.การตรวจโดยใช้สารกัมมันตรังสีดูความสัมพันธ์ระหว่างการหายใจกับเลือดที่ไปเลี้ยงที่ปอด (ventilation-perfusion scan)
5. การตัดชิ้นเนื้อวิเคราะห์ (biopsy)
6. การส่องกล้อง
7. การตรวจสมรรถภาพปอด (pulmonary function testing)
8. การทดสอบความไวของหลอดลมโดยใช้สารกระตุ้น methacholine
9. การตรวจการนอนหลับ (sleep test) สำหรับประเมิน และวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับนอนหลับ เช่น โรคนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ

การรักษา
การรักษาโรคที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจขึ้นอยู่กับชนิด และสาเหตุของโรค เช่น
– โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคปอดบวม โรคหวัด โรควัณโรค จะใช้วิธีการให้ยาปฏิชีวนะเป็นหลัก
– โรคที่เกิดจากภาวะเนื้อเยื่อผิดปกติ เช่น โรคมะเร็งปอด อาจใช้วิธีการผ่าตัด เคมีบำบัดหรือการฉายรังสี
– โรคที่เกิดภาวะการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) อาจใช้วิธีการให้ยากระตุ้นการขยายตัวของหลอดลม รวมไปถึงยาสเตียรอยด์ชนิดต่างๆ

การป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ
การแพร่ระบาดของโรคในระบบทางเดินหายใจ มักพบมีการแพร่ผ่านการสูดหายใจเอาอากาศที่มีเชื้อโรคปะปนเข้าใป ดังนั้น การป้องกันที่ดีจึงต้องป้องกันที่ทางผ่านของเชื้อที่แพร่กระจายทางอากาศเป็นสำคัญ ซึ่งมีแนวทางในการป้องกัน ดังนี้
1. การสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย เช่น โรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่ที่มีผู้คนแออัดหรือสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
3. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิิดกับผู้ป่วย หากจำเป็นควรสวมผ้าปิดจมูกทุกครั้ง
4. มั่นทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า และสถานที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ