โรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) และการรักษา

19327

โรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) หมายถึง โรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณสมองทำให้เกิดโรคต่างๆของหลอดเลือดในสมอง ได้แก่ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ (ischemic stroke) และโรคหลอดเลือดในสมองแตก (Intracranial hemorrhage) ทำให้เกิดภาวะขาดเลือดของสมองจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือทำให้เกิดความผิดปกติต่อสมอง และระบบประสาทได้ง่าย

โรคหลอดเลือดในสมอง (stroke) มีชื่อเรียกที่เป็นภาษาอังกฤษอย่างอื่นคือ Cerebrovascular Disease (CVD), Cerebrovascular Accident (CVA), Brain attack เป็นโรคที่ทำให้เป็นสาเหตุของตายมากเป็นอันดับต้นของโลก โดยพบมีโอกาสที่จะพบโรคนี้ได้สูงถึง 1 ใน 6 ของคนทั้งโลกเลยทีเดียว และเป็นโรคที่พบได้ทั้งในเพศชาย เพศหญิง แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกัน และรักษาได้

องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นกลุ่มอาการของโรคที่ประกอบด้วยความผิดปกติของระบบประสาทที่เกิดขึ้นทันทีหรือมีอาการแสดงนานกว่า 24 ชั่วโมง โดยมีสาเหตุมาจากสมองขาดเลือดหรือมีเลือดออกทางสมองที่ไม่รวมสาเหตุอื่น ที่ทำให้สมองอุดตันหรือแตก เช่น บาดเจ็บ เนื้องอก และการติดเชื้อในสมอง ทั้งนี้ ไม่รวมภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว และความบกพร่องทางระบบประสาท ที่อาการจะเกิดขึ้น และหายไปใน 24 ชั่วโมง

โรคหลอดเลือดในสมอง

สำนักโรคไม่ติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2552) ให้ความหมายของโรคหลอดเลือดสมองว่า โรคที่เกิดจากภาวะสมองขาดเลือด จากการตีบ แตกของหลอดเลือดในสมอง จนเกิดการทำลายหรือการตายเนื้อสมอง ทำให้สมองทำงานผิดปกติ เป็นผลทำให้เกิดอาการตามตำแหน่งที่ขาดเลือดไปเลี้ยง ความรุนแรงขึ้นอยู่กับลักษณะการทำลายของเนื้อสมอง เช่น แขน ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด มึนงง เดินเซ หรือการทรงตัวไม่ดี ซึ่งจะเกิดอาการนานกว่า 24 ชั่วโมง

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
1. ปัจจัยที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้
• อายุ จัดเป็นความเสี่ยงที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง เมื่ออายุมากขึ้นมักมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดในสมองมากขึ้นตามวัย
•  เพศ พบเพศชายมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดในสมองมากกว่าเพศหญิง
• ชาติพันธุ์ พบโรคหลอดเลือดในสมองในคนผิวดำมากกว่าคนผิวขาว
•  พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติที่บิดาหรือมารดาเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มักมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ตามมามากกว่าคนปกติ

2. ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้
•  ความดันเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญรองจากอายุ การควบคุมระดับความดันเลือดให้น้อยลงหรืออยู่ในระดับปกติจะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดในสมองได้สูง
•  โรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีความเสี่ยงเป็น 2 เท่า ของคนปกติ
•  โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคเหล่านี้ทำให้มีความเสี่ยงที่เป็นโรคหลอดเลือดในสมองมากกว่าคนปกติ ถึง 2 เท่า
•  ผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดในสมองมาก่อน พบว่า ร้อยละ 6 – 7 ของคนที่เคยเป็นจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก และความเสี่ยงกลับมาเป็นซ้ำจะสูงขึ้นตามระยะเวลาที่เคยเป็น
•  การตีบแคบของหลอดเลือดแดง อันเกิดจากสาเหตุต่างๆ จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง การตีบแคบตั้งแต่ร้อยละ 75 ของความกว้างของหลอดเลือด จะมีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองประมาณร้อยละ 1.3 ต่อปี  ถ้าตีบแคบมากกว่าร้อยละ 75 จะมีความเสี่ยงเพิ่มเป็นร้อยละ 3.3 ต่อปี
•  การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงการเป็นโรคนี้มากถึง 1.5 เท่า ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีควันบุหรี่ จะมีความเสี่ยงเกิดโรคนี้เท่ากับผู้ที่หยุดสูบบุหรี่ 2 ปี
•  ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งในการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง เนื่องจากการมีคอลเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูงจะทำให้เกิดการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดที่ไม่สะดวกตามมา

•  ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ดื่มสุรา การใช้ยาคุมกำเนิด โรคอ้วน การพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

Stroke

ประเภทของโรคหลอดเลือดสมอง
1. แบ่งตามลักษณะพยาธิสรีรวิทยา
• ภาวะเลือดออกในสมอง (hemorrhagic stroke) พบในปริมาณน้อย ประมาณร้อยละ 15 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด แบ่งเป็น 2 ภาวะ  คือ
– การมีเลือดออกในเนื้อสมอง (intracerebral hemorrhage)
– การมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มอะแรคนอยด์ (subarachnoidal hemorrhage)

• ภาวะสมองขาดเลือด (ischemic stroke) พบมากที่สุดประมาณร้อยละ 85 แบ่งเป็น 3 ภาวะ คือ
– การมีหลอดเลือดอุดกั้น (thrombosis) เป็นสาเหตุให้เนื้อสมองตาย
– การมีลิ่มเลือด (embolism) ที่เป็นลิ่มเลือดจากหลอดเลือดอื่นๆ มาอุดกั้นหลอดเลือดสมอง
– ภาวะสมองขาดเลือด เนื่องจากสาเหตุอื่นๆ เช่น หลอดเลือดอักเสบ อุบัติเหตุ เป็นต้น

2. แบ่งตามระยะเวลาการเกิดโรค
• Transient Ischemic Attack (TIA) เป็นชนิดที่แสดงอาการเกิดขึ้น และหายไปภายใน 24 ชั่วโมง
• Reversible Ischemic Neurological Deficit (RIND) เป็นชนิดที่แสดงอาการเกิดขึ้น และอาการแสดงนานเกิน 24 ชั่วโมง แต่หายเป็นปกติภายในเวลา 3 – 4 สัปดาห์
• Stroke in Evolution เป็นชนิดที่แสดงอาการเกิดนานขึ้นเรื่อยๆ มักเกิดจากหลอดเลือดอุดกั้นเพิ่มขึ้น
• Completed Stroke หมายถึงเป็นชนิดที่แสดงอาการเกิดขึ้น และคงที่แล้ว

3. แบ่งตามตำแหน่งหลอดเลือดที่เกิดโรค
• โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหลอดเลือดทางด้านหน้า ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงครึ่งซีกบริเวณใบหน้า แขน และขา และอาการอื่นๆ เช่น ใบหน้าชา พูดจาไม่ชัดเจน และมองไม่เห็นภาพ
• โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหลอดเลือดทางด้านหลัง ทำให้เกิดความผิดปกติหลายอย่าง ได้แก่ เดินเซ ชาตามแขน ขา และมีอาการอ่อนแรงบริเวณซีกตรงข้ามหรือซีกเดียวกับตำแหน่งหลอดเลือดทางด้านหลัง มึนงง เวียนศรีษะ พูดจา และมองเห็นภาพไม่ชัด

อาการโรคหลอดเลือดในสมอง
อาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองมักจะแสดงอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีน้อยรายที่จะมีอาการเตือนก่อน อาการหลังเกิดโรคหลอดเลือดในสมองเป็นที่รู้จักกันดี คือ อาการอัมพาตครึ่งซีกหรือชาครึ่งซีก เนื่องจากสมองแต่ละซีกทำหน้าที่คุมร่างกายซีกตรงข้าม และอาการอื่นๆที่มักตามมา เช่น มองไม่เห็นครึ่งซีก, พูดจาไม่ชัด, กลืนอาหารหรือน้ำลำบาก, ไม่รู้สึกตัว เป็นต้น
• Ischemic Stroke คือ อาการสมองขาดเลือดที่ขึ้นกับปัจจัยต่าง ได้แก่ ตำแหน่งการขาดเลือดของสมอง (location of ischemia) ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะสัมพันธ์กับตำแหน่งการขาดเลือด
• บริเวณเนื้อสมองที่ขาดเลือด (area of ischemia) ถ้าเนื้อสมองมีการขาดเลือดเป็นบริเวณมาก มักจะเกิดอาการได้หลายแบบกว่าการขาดเลือดในพื้นที่ขนาดเล็ก
• การไหลเวียนของเลือดใน collateral ดี จะสามารถทดแทนส่วนที่ขาดเลือด ทำให้มีโอกาสเกิดอาการได้น้อยลง
• Hemorrhagic stroke เป็นอาการที่มักเกิดขณะที่ทำกิจกรรม ซึ่งจะเกิดอาการขึ้นทันที ผู้ป่วยจะซึมหรือหมดสติ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความดันในกะโหลกศีรษะอย่างรวดเร็ว  อาการที่ตามมา ได้แก่ ปวดศีรษะ วิงเวียน และอาเจียน

การเกิดโรคหลอดเลือดในสมองทำให้เกิดภาวะขาดเลือดในสมองตามมาทั้งที่เป็นแบบเรื้อรัง และแบบเฉียบพลันจากภาวะเส้นเลือดในสมองมีการอุดตันหรือตีบ หรือที่เรียกภาวะนี้ว่า โรคหลอดเลือดในสมองตีบ (ischemic stroke) และการขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดในสมองแตกหรือที่เรียกภาวะนี้ว่า โรคหลอดเลือดในสมองแตก (Intracranial hemorrhage) สำหรับอาการของผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง ได้แก่
– ปวดศรีษะ มึนงง และหน้ามืดบ่อย
– เดินเซ ทรงตัวไม่ได้
– มีอาการเพลีย ชา และอ่อนแรงในครึ่งซีกใดซีกหนึ่ง
– ตาพล่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีภาพซ้อน
– พูดจาไม่ชัดเจน จับไม้ได้ภาษา
– หากอาการรุนแรงอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
– หากมีอาการรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลันจากภาวะสมองขาดเลือด

ผลของโรคหลอดเลือดในสมอง
เมื่อเกิดโรคหลอดเลือดในสมองขึ้น ในระยะเริ่มแรกจะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากอาการปวดหัว หน้ามืด นอนไม่หลับ เกิดภาวะการแทรกซ้อนของโรคอื่นได้ง่าย แต่หากปล่อยให้โรคมีอาการหนักมากขึ้นอาจส่งผลทำให้เกิดการเสียชีวิตอย่างกระทันหัน หรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดในสมอง แพทย์จะใช้แนวทาง ดังนี้
1. การซักประวัติทั่วไป ประวัติอาการทางระบบประสาท เพื่อคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง ปละประกอบการวินิจฉัยในขั้นตอนถัดไป
2. การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจระบบหัวใจ และหลอดเลือด (cardiovascular system) เช่น การตรวจชีพจร การตรวจความดันโลหิต การตรวจการไหลเวียนเลือด การตรวจระบบประสาท เป็นต้น
3. การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่ การวินิจฉัยภาวะเลือดออกในสมอง เพื่อหาสาเหตุของหลอดเลือดตีบด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT of the head) ทำให้เห็นบริเวณที่เกิดหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกจากภาพเอกซเรย์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 วัน หรือนานกว่า

การตรวจด้วย CT-scan ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน รวมถึงการบอกตำแหน่งการเกิดโรค ขนาดของโรค ระยะของโรค ซึ่งมีประโยชน์ในการวางแผนการรักษา

ctscan

การป้องกัน และการรักษา
การป้องกันโรคหลอดเลือดในสมองใช้แนวทางทั่วไปของการป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือดเพื่อป้องกันภาวะการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด และเส้นเลือดตีบ ซึ่งได้แก่
1. การงดดื่มเหล้า
2. งดสูบบุหรี่
3. การหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน แป้ง และน้ำตาล และกินอาหารประเภทผัก และเส้นใยให้มาก
4. พยายามไม่ให้เกิดความเครียด
5. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิต่ำหรือเย็นจัด
6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอาการที่มีความแตกต่างระหว่างอุณหภูิมิที่มีความแตกต่างกันเกิน 2 องศาเซลเซียส ในเวลาอันสั้น เช่น ไม่ออกจากห้องแอร์ที่เย็นสู่ภายนอกที่ร้อนอย่างกะทันหัน
7. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การรักษา

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง ทั้งโรคหลอดเลือดในสมองตีบ และโรคหลอดเลือดในสมองแตกต้องได้รับการรักษาภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อลดอัตราความพิการการจากภาวะสมองขาดเลือด โดยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบ มักมีความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว จากกลไกของร่างกายที่ต้องการเพิ่มเลือดไปเลี้ยงที่สมอง ที่เป็นผลมาจากการอุดตันที่หลอดเลือดในสมอง ดังนั้น การรักษาจะให้ยาที่มีฤทธิ์ในการละลายเลือด คือ ยากลุ่ม thrombolytic ประมาณ 3-4.5 ชั่วโมง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาในกลุ่มอื่นร่วมด้วย เช่น ยาต้านเกล็ดเลือดแอสไพริน

ส่วนโรคหลอดเลือดในสมองแตกจะได้รับการรักษาเพื่อประคองอาการด้วยการผ่าตัดบริเวณที่เส้นเลือดแตกให้ทันถ่วงที  โดยพบว่า การผ่าตัดในระยะที่ไม่มีการกดสมองจะให้ผลดี

• แนวทางการรักษา
1. การใช้ยาเพื่อลดอาการตีบตันของหลอดเลือด เช่น ยาต้านเกร็ดเลือด เช่น  ไดไพริดาโมล (dipyridamole) หรือยาลดการแข็งตัวของเลือด เช่น วาฟาริน (warfarin)
2. การผ่าตัดอวัยวะที่เกี่ยวเนื่องกับโรค เช่น การผ่าตัดหัวใจ หรือการผ่าตัดสมองหากสมองบางส่วนเกิดการบวม รวมไปถึงการผ่าตัดเส้นเลือดบางแห่งที่ส่งเลือดเลี้ยงสมองเกิดการตีบตัน เช่น เส้นเลือดบริเวณคอ เป็นต้น
3. การทำกายภาพบำบัดสำหรับอวัยวะที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตจากภาวะของโรค