โรคเก๊าต์ (gout)

    10831

    โรคเก๊าต์ (gout) เป็นโรคของข้อที่เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดมีปริมาณสูงมากเกินไปจนตกตะกอนเป็นผลึกยูเรตสะสมอยู่ตามข้อ ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบ และปวดของข้อตามมา เป็นโรคที่พบบ่อยในเพศชายที่มีอายุตั่งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ส่วนเพศหญิงจะพบมากในวัยที่หมดประจำเดือน ทั้งนี้ สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ต่าง โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ รวมถึงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์

    สาเหตุของโรคเก๊าต์
    สาเหตุของโรคเก๊าต์ที่สำคัญจะมาจากร่างกายมีกรดยูริกมากเกินไป ซึ่งสารนี้เกิดขึ้นจากการเผาผลาญสารพิวรีนที่อยู่ในอาหารบางประเภท ทั้งนี้ สารพิวรีนบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางไต แต่บางส่วนที่ยังสะสมในร่างกายจะเกิดเป็นกรดยูริก ซึ่งจะเกิดกรดนี้ได้ 2 รูปแบบ คือ

    1. สารพิวรีนในอาหาร
    การเกิดกรดยูริกลักษณะนี้จะเกิดจากการเผาผลาญสารพิวรีนที่เป็นองค์ประกอบโปรตีนในอาหารที่รับประทานเข้าไป สารพิวรีน และองค์ประกอบโปรตีนจะพบมากในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ พืชประเภทถั่ว ผักเนื้ออ่อนหรือยอดผัก หากบางส่วนที่ไม่ถูกกำจัดออกไปหรือกำจัดไม่หมดจะเกิดการสะสม และเปลี่ยนเป็นกรดยูริกตามมา นั่นหมายถึงว่า การที่รับประทานอาหารจำพวกที่ให้โปรตีนสูงก็จะทำให้เกิดการสะสมกรดยูริกมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในสภาวะที่ไตทำงานบกพร่อง

    2. การย่อยสลายของเซลล์ร่างกาย
    สารพิวรีนที่เกิดจากการสลายตัวของเซลล์ในร่างกาย และความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญสารพิวรีนที่เป็นองค์ประกอบของกรดนิวคลีอิค (NucleicAcid) ทำให้มีการสะสม โมโนโซเดียมยูเรต หรือที่เรียกว่า ผลึกยูเรต หรือผลึกกรดยูริกในเลือดมากขึ้น ปริมาณกรดยูริกจากการสลายของเซลล์จะเพิ่มขึ้นเมื่อเซลล์ทำงานมากขึ้น หากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินไปหรือไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ก็จะทำให้ปริมาณกรดยูริกคั่งอยู่ในร่างกายมากกว่าผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดการตกผลึกสะสมตามข้อ ไต และอวัยวะอื่นๆ โดยทั่วไปเพศชายจะมีระดับกรดยูริกสูงในช่วงวัยรุ่น ส่วนผู้หญิงจะมีระดับกรดยูริกสูงเมื่อเข้าวัยหมดประจำเดือนแล้ว ซึ่งอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงที่เกิดโรคนี้ประมาณ 10:1

    โรคเก๊าท์

    การศึกษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าต์ พบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งหมด ป่วยเป็นโรคเก๊าต์จากภาวะที่ร่างกายไม่สามารถขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้หมด รวมถึงความบกพร่องของร่างกาย ได้แก่ การเป็นมะเร็งเม็ดขาว โรคธาลัสเซียเมีย เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่มาจากปัจจัยอื่นกว่าร้อยละ 10 เกิดจากการสร้างกรดยูริกเพิ่มขึ้นในเลือด ที่มาจากความเครียด การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง รวมถึงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์

    อาการของโรคเก๊าต์
    ระยะที่ 1 เป็นระยะที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง (Asymptomatic Hyperuricemia) ซึ่งระยะนี้ยังไม่ปรากฏอาการของโรคแต่อย่างใด โดยระดับกรดยูริกจะเพิ่มสูงจากปัจจัยด้านอาหาร และการย่อยสลายเซลล์ของร่่างกาย ซึ่งระยะนี้จะใช้เวลานานหลายสิบปีจึงจะแสดงอาการ ทั้งนี้ อาการของโรคอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากเกิดการสะสมของกรดยูริกในปริมาณที่มากพอจนทำให้เกิดการตกตะกอนเป็นผลึก

    ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของข้อเฉียบพลัน (Asymptomatic Hyperuricemia) ระยะนี้กว่า ร้อยละ 85 ของผู้ป่วยจะมีอาการของข้ออักเสบเฉียบพลันแบบข้อเดียว (Monoarthritis )นำมาก่อน และค่อยๆเริ่มมีอาการในบริเวณข้ออื่นๆตามมา ซึ่ีงเกิดขึ้นเมื่อมีการตกตะกอนของกรดยูริกเป็นผลึกยูเรต ทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน

    ลักษณะอาการข้ออักเสบของโรคเก๊าต์จะมีลักษณะอาการผิวหนังตึง อาการบวมแดง และร้อนบริเวณข้อ รวมถึงบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆข้อ บางรายข้อจะบวมมากจนเดินไม่ไหว โดยลักษณะเด่นของอาการของโรคเก๊าต์ คือ เมื่ออาการการทุเลาจะเกิดอาการคัน และมีการลอกของผิวหนังบริเวณข้อ อาการปวดข้อมักเกิดตอนกลางคืน และหลังจากการดื่มเหล้าเบียร์

    อาการโรคเก๊าต์

    อาการข้ออักเสบมักเกิดขึ้นบริเวณส่วนปลายของขา เช่น บริเวณโคนหัวแม่เท้า ข้อเท้า และบริเวณเข่า เนื่องจากบริเวณดังกล่าวถือเป็นจุดที่มีอุณหภูมิต่ำ และมีปริมาณกรดสะสมมากกว่าเมื่อเทียบกับบริเวณข้อในส่วนอื่นๆ

    ข้ออักเสบระยะเฉียบพลันนี้ ในระยะแรกๆจะมีอาการรุนแรงประมาณ 1-2 วัน หลังจากนั้นอาการจะทุเลาลง และหายเองโดยไม่ได้รับการรักษาภายใน 3-5 วัน อาการของโรคอาจถูกกระตุ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงระดับกรดยูริกในเลือด ทั้งระดับสูงขึ้นหรือต่ำลง เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) สูง การดื่มเหล้า การรับประทานยาลดกรดยูริก การเกิดภาวะเครียด รวมถึง การถูกกระทบกระเทือนบริเวณข้อที่มีผลึกยูเรตสะสมอยู่ เช่น การออกกำลังกายบริเวณข้อ การใช้งานของข้อนั้นมากๆ ซึ่งอาจทำให้อาการการกำเริบได้

    ระยะที่ 3 ระยะข้อไม่อักเสบ (Intercrinical Gout หรือ Interval Gout) เป็นระยะทิ้งช่วงของการอักเสบ จะเกิดขึ้นในระหว่างการอักเสบของแต่ละครั้ง ระยะนี้อาการข้ออักเสบ และอาการปวดจะหายไป ลักษณะของข้อจะเป็นปกติ ซึ่งบางรายอาจหายได้ในระยะนี้ แต่โดยมากพบว่า อาการข้ออักเสบจะกลับมาอีกครั้ง เป็นๆหายๆ สลับไปมา โดยอาจมีช่วงห่างของอาการนานหลายเดือนหรือเป็นปี

    Gutman (Gutman AB.Gout and Gouty Arthritis,1958) ได้ศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยกว่าร้อยละ 62 ที่มีอาการกลับเป็นซ้ำในปีแรก ร้อยละ 16 มีอาการกลับเป็นซ้ำในระยะ 1-2 ปี และร้อยละ 11 มีอาการกลับซ้ำเป็นใน 2- 5 ปี ร้อยละ 4 มีอาการกลับเป็นซ้ำใน 5-10 ปี และร้อยละ 7 ไม่มีอาการกลับเป็นซ้ำตลอดระยะเวลา 10 ปี และพบว่า ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ระยะเหล่านี้จะสั้นลงเรื่อยๆ

    ระยะที่ 4 ระยะข้ออักเสบเรื้อรัง (Chronic Tophaceous Gout) เป็นระยะที่พบมีการอักเสบของข้อในบริเวณจุดต่างๆพร้อมกัน และระยะนี้มักไม่พบอาการของข้อไม่อักเสบหรือระยะที่ 2 โดยมักปรากฏก้อนบนเส้นเอ็นบริเวณข้อ และใต้ผิวหนัง ซึ่งเรียกก้อนนี้ว่า โทฟัส (Tophus) ที่เกิดจากการสะสมของผลึกยูเรต มองเห็นเป็นลักษณะก้อนสีขาว หากผ่าตัดหรือเกิดแผล จะพบก้อนนี้มีลักษณะเป็นก้อนผงสีขาวของยูเรตคล้ายผงซ็อล์กเหลว แผลที่เกิดจะหายช้า เป็นแผลอักเสบเรื้อรัง ข้อจะค่อยๆพิการ และใช้งานไม่ได้ ระยะเวลาเริ่มตั้งแต่มีอาการข้ออักเสบครั้งแรกจนกระทั่งเริ่มเป็นโทฟัสนั้นจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน

    Gutman พบว่า กว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยจะมีโทฟัส ใน 5 ปีแรก ร้อยละ 50 ใน 10 ปี และ 70 ใน 20 ปี  การเกิดโทฟัสจะขึ้นกับระดับความเข้มข้น และระยะเวลาของการสะสมของกรดยูริก โดยพบผู้ป่วยจะมีอาการข้ออักเสบก่อนจะมีโทฟัสโทฟัส เนื่องจากมีผลึกเกลือยูเรตที่เป็นกรด ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่มีโทฟัสถูกทำลาย อาทิ เส้นเอ็น กระดูกอ่อน และกระดูก ทำให้เกิดการผิดรูป และพิการของข้อ

    การรักษา แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
    1. การรักษาข้ออักเสบ เป็นการรักษาผู้ป่วยในระยะมีการอักเสบของข้อโดยการใช้ยาเพื่อลดปริมาณกรดยูริก และเพื่อรักษาอาการปวดของข้อ ได้แก่ ยาโคลซิซิน และตัวยาอื่นๆ ทั้งนี้ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน เพราะยาชนิดนี้มีผลต่อการขับกรดยูริกออกจากไตได้น้อยลงทำให้มีโอกาสกรดยูริกสะสมในข้อได้มากขึ้น

    2. การควบคุมอาหาร และหลีกเลี่ยงอาหารประเภทมีสารพิวรีนสูง ซึ่งจะลดปริมาณการสะสมของกรดยูริก ร่วมกับการขับออกตามธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งจะทำให้ปริมาณกรดยูริกลดลง และอยู่ในปริมาณที่ไม่เกิดการตกผลึกทำให้เกิดการอักเสบของข้อได้

    การป้องกัน
    1. การควบคุมประเภทอาหาร
    อาหารถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเพิ่มปริมาณของกรดยูริก หากรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดกรดยูริกน้อยได้ก็จะทำให้ลดโอกาสของโรคเก๊าท์เช่นกัน ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มอาหารได้ 3 กลุ่ม คือ

    กลุ่มที่ 1 อาหารที่มีพิวรีนน้อย  เป็นกลุ่มอาหารที่มีพิวรีนน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/100 กรัม อาหาร ได้แก่ ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากนม ผักผลไม้ ไขมัน เมล็ดธัญพืช ยกเว้น พืชตระกูลถั่ว รวมถึงอาหารอื่นๆที่มีปริมาณโปรตีนน้อย

    กลุ่มที่ 2 อาหารที่มีพิวรีนปานกลาง เป็นกลุ่มอาหารที่มีพิวรีนในช่วง 50 -150 มิลลิกรัม/100 กรัม อาหาร ได้แก่ เนื้อสัตว์ใหญ่พวกหมู โค กระบือ เนื้อสัตว์น้ำบางชนิด โดยเฉพาะปลาขนาดใหญ่ พืชบางชนิด เช่น หน่อไม้ เป็นกลุ่มของอาหารที่มีปริมาณโปรตีนปานกลาง

    กลุ่มที่ 3 อาหารที่มีพิวรีนสูง เป็นกลุ่มอาหารที่มีพิวรีนมากกว่า 150 มิลลิกรัม/100 กรัม อาหาร ได้แก่ เครื่องในสัตว์ สัตว์น้ำจำพวกปลาเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะปลาขนาดเล็ก พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลันเตา กระถิน รวมถึงอาหารอื่นๆที่มีปริมาณโปรตีนสูง

    กลุ่มที่ 4 อาหารที่มีพิวรีนสูงมาก เป็นกลุ่มอาหารที่มีพิวรีนสูงมากกว่ากลุ่มที่ 3 หลายเท่า มักเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการสกัด การเคี่ยวให้เข้มข้น ของอาหารในกลุ่มที่2 และ3 จึงทำให้มีองค์ประกอบของสารพิวรีนสูงมาก เช่น น้ำซุปไก่ น้ำซุปกระดูก น้ำซุปของถั่ว เป็นต้น

    ไก่ทอด

    ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคเก๊าต์ควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกในกลุ่มที่ให้สารพิวรีนปานกลาง สูง และสูงมาก รวมถึงคนทั่วไปเพื่อป้องกันมิให้เกิดการสะสมของกรดยูริกจากการรับประทานอาหารในกลุ่มที่มีสารพิวรีนสูง

    ผู้ชายมักพบมีโอกาสเป็นโรคเก๊าต์สูงกว่าผู้หญิงอันเนื่องมาจากปัจจัยที่ สำคัญอย่างหนึ่ง คือ พฤติกรรมชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเครื่องดื่มเบียร์ที่ให้สารพิวรีนสูง

    2. การควบคุมปริมาณอาหาร
    นอกจากการลดโอกาสเกิดโรคเก๊าท์จากการเลือก และหลีกเลี่ยงตามประเภทของอาหารแล้ว ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การรับประทานอาหารในปริมาณที่พอดี ไม่รับประทานอาหารมากจนเกินอิ่ม

    3. การดื่มน้ำ และหลีกเลี่ยงยา

    การดื่มน้ำมากๆ และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาโดยไม่จำเป็นเพื่อให้ไตทำงานไม่หนัก และสามารถกำจัดสารพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 3 ลิตร และควรหลีกเหลี่ยงการใช้ยาทุกชนิดโดยไม่จำเป็น

    4. ลดน้ำหนัก
    คนอ้วนมักมีปัญหาในเรื่องนำหนักตัวที่มาก จึงมีผลต่อการทำงานของข้อที่หนักขึ้น เพื่อหลีกเหลี่ยงปัญหาดังกล่าว จึงควรลดน้ำหนักลงทีละน้อย โดยไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป เพราะเซลล์จะสลายตัวเร็ว และร่างกายสร้างกรดยูริกมากขึ้นตามมา ซึ่งอาจทำให้ข้ออักเสบกำเริบได้ และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการทำงานหนักนานๆ  เพราะทำให้เกิดข้ออักเสบรุนแรงมากขึ้น และอาการจะหายช้า

    5. การงดอาหารบางประเภท
    ขณะที่มีอาการปวดตามข้อ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นเก๊าต์ ต้องงดดื่มเหล้า เบียร์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกออล์ รวมถึงาหารที่มีกรดยูริกสูง

    แนวทางในการควบคุมอาหาร
    การบริโภคอาหารสำหรับผู้ที่มีกรดยูริกในร่างกายสูง ในเพศชายไม่ควรเกิน 7.0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในอาหาร และในเพศหญิงไม่เกิน 6.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในอาหาร ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูงๆ

    1. อาหารประเภทโปรตีน
    อาหารประเภทโปรตีน ควรได้รับ ไม่เกิน 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาหารเนื้อสัตว์ประเภทโปรตีนที่มีสารพิวรีนสูง ควบคุมได้โดยการกำหนดส่วนประกอบในการปรุงอาหาร โดยให้มีส่วนของผักชนิดต่างๆมากกว่าเนื้อสัตว์ เพราะพืชผักมีคุณสมบัติเป็นด่าง และช่วยให้เลือดมีความเป็นด่าง ช่วยบรรเทาโรคเก๊าต์ได้ เช่น ผลไม้ และผักสีเขียว

    2. อาหารประเภทไขมัน
    อาหารไขมันควรได้รับประมาณวันละ 60 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากได้รับไขมันมากเกินไปจะทำให้เกิดการสะสมของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายขับถ่ายกรดยูริกได้ไม่ดี โดยเฉพาะคนอ้วนที่มีกรดยูริกสูง หากลดน้ำหนักลง กรดยูริกในเลือดก็จะลดลงด้วย

    3. คาร์โบไฮเดรท
    อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท สามารถรับประเภทได้ทุกประเภท แต่ระมัดระวังในอาหารประเภทที่มีโปรตีนประกอบด้วย เช่น แป้งจากเมล็ดถั่ว หรือเมล็ดธัญพืชที่ให้โปรตีนสูง แนะนำให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากผลไม้เป็นหลัก

    4. พลังงาน
    พลังงานที่ได้รับในแต่ละวันจะมาจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และไขมันเป็นหลัก ซึ่งควรได้รับในแต่ละวันให้พียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน และเพียงพอต่อการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

    5. เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
    เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ทุกชนิด เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ที่มีกรดยูริกสูงหรือผู้ป่วยโรคเก๊าต์ เพราะมื่อร่างกายเผาผลาญแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดกรดแลคติคมากขึ้น มีผลทำให้ร่างกายมีระดับกรดยูริกมากขึ้น และเกิดอาการของโรคเก๊าต์กำเริบตามมา