โรคเบาหวาน และการรักษา

10624

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) เป็นโรคที่เกิดจากภาวะไม่สมดุลของฮอร์โมนที่ชื่อ อินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่กระบวนการเผาพลาญเพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย ภาวะไม่สมดุลนี้คือ การมีน้อยไม่เพียงพอหรือมีมากกว่าปกติที่ไม่สามารถออกฤทธิ์การทำงานได้เต็มที่ จึงทำให้เกิดภาวะเช่นเดียวกับมีน้อย ทำให้น้ำตาลเข้าไปถึงเซลล์ไม่ได้ ส่งผลต่อภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ เกิดภาวะเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อ อาการที่พบ คือ ปัสสาวะบ่อย ทานอาหารบ่อย หิวน้ำบ่อย และร่างกายอ่อนเพลีย

ชนิดที่ 1 (type 1 DM) คือ โรคเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน insulin-dependent diabetes mellitus (IDDM) เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากภาวะที่ตับไม่สามารถผลิตอินซูลินได้หรือผลิตได้ น้อยไม่เพียงพอกับปริมาณที่ร่างกายต้องการใช้ จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณอินซูลินให้แก่ร่างกาย โดยเบาหวานชนิดนี้มักเกิดกับเด็กหรือคนที่มีลักษณะผอม สาเหตุของการเกิดเบาหวานชนิดนี้ ได้แก่ พันธุกรรม ความเครียด การเจ็บป่วย การติดเชื้อ การได้รับสารเคมีอันตราย เป็นต้น

ชนิดที่ 2 (type 2 DM) ชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน non-insulin-dependent diabetes mellitus (NIDDM)  เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากภาวะตับสามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มหรืออาศัยฮอร์โมนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่ฮอร์โมนที่ผลิตได้จะไม่มีประสิทธิภาพในการนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่กระบวน การเผาพลาญพลังงานของร่างกาย โดยมักมีอาการ มีปัสสาวะมาก มักกระหายน้ำบ่อย ตามัว แผลหายช้า มีภาวะน้ำตาลในปัสสาวะสูง ซึ่งเบาหวานชนิดนี้มีสาเหตุเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น กรรมพันธุ์ การได้รับสารเคมี การเจ็บป่วย การติดเชื้อ ซึ่งอาจมีลักษณะเหมือนกับเบาหวานชนิดที่ 1 สำหรับคนที่เป็นเบาหวานชนิดนี้มักเป็นในคนที่มีอายุสูง อ้วน น้ำหนักมาก ไม่ค่อยออกกำลังกาย สูบบุหรี่ มีความเครียด เป็นต้น

ชนิดที่ 3 เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestation Diabetes Mellitus)
เป็นเบาหวานที่เกิดในเพศหญิงที่ไม่พบประวัติเป็นโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ2 ซึ่งจะเกิดในขณะตั้งครรภ์เท่านั้น มักตรวจพบในสัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์ โดยในช่วงนี้เป็นภาวะที่มารดามีการผลิตฮอร์โมนมากเพื่อให้เพียงพอกับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนอินซูลินทำให้ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอจึงเกิดภาวะโรคเบาหวานเกิดขึ้น แต่หลังจากคลอดลูกแล้วภาวะการเป็นเบาหวานก็จะหายไปเอง

โรคเบาหวาน

สาเหตุของโรคเบาหวาน
1. ปัจจัยทางพันธุกรรม
โรคเบาหวานทั้งชนิดพึ่งอินซูลิน (Insulin – dependent diabetes mellitus : IDDM) และชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (Non – insulin dependent diabetes mellitus : NIDDM) สามรถเกิดได้จากสาเหตุจากพันธุกรรมเหมือนกัน
– พันธุกรรมในโรคเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน เป็นโรคเบาหวานจากสาเหตุทางพันธุกรรมที่มีความสัมพันธ์ต่อระบบแอนติเจนเม็ดโลหิตขาว (human leukocyte antigen: HLA) HLA ได้แก่ HLA-D และHLA-RD ผู้ป่วยที่มี HLA จะมีแนวโน้มเกิดอาการตับอ่อนอักเสบเรื้อรังตับทำให้เกิดความบกพร่องในการผลิตอินซูลิน
– พันธุกรรมในโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน มักมีความสัมพันธ์กับเรื่องความอ้วน และการเพิ่มขึ้นของอายุ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับ HLA

2. ปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่พันธุกรรม
ปัจจัยต่่างๆจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่นอกเหนือจากพันธุกรรม ถือเป็นส่วนส่งเสริมให้ยีนของพันธุกรรมเบาหวานแสดงออกมาหรือแสดงออกเร็วขึ้นนเป็นโรคเบาหวานในที่สุด ปัจจัยที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น ได้แก่
2.1 ความอ้วน ภาวะความอ้วนมักพบมีระดับอินซูลินในเลือดสูง แต่ตัวรับอินซูลิน (insulin receptor) ในเซลล์น้อย ทำให้อินซูลินที่มีอยู่ออกฤทธิ์ไม่ได้ประสิทธิภาพ ทำให้เบต้าเซลล์ทำงานหนักขึ้นจนเสื่อมสภาพในที่สุด และผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคเบาหวานตามมา
2.2 ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน และเผาพลาญน้ำตาลในเลือดได้มากขึ้น หากขาดการออกกำลังกายจะทำให้เนื้อเยื่อมีปฏิกิริยาตอบรับอินซูลินได้น้อยลง และจำนวนตัวรับอินซูลินในเซลล์ไขมัน และเซลล์กล้ามเนื้อลดลง
2.3 อาหาร อาหารประเภทที่มีน้ำตาลมากจะกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากเบต้าเซลล์อย่างฉับพลัน หากมียีนของโรคเบาหวานแล้ว โอกาสที่จะเป็นโรคเบาหวานก็มีมากขึ้นตามมา
2.4 การตั้งครรภ์หลายครั้ง (multiparity) ผู้หญิงที่ตอบสนองต่อภาวะกลูโคสในร่างกายต่ำขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes) สามารถชักนำให้เกิดโรคเบาหวานได้ง่าย โดยเฉพาะหญิงที่มียีนโรคเบาหวาน ดังนั้น หญิงที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์บ่อย
2.5 ภาวะความเครียด เครียดถือเป็นสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย เป็นผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตามมา
2.6 การใช้ยา โดยเฉพาะยางบางชนิดที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรือผลต่อตับอ่อน ซึ่งจะมีผลต่อการหลั่งอินซูลินน้อยลงหรือทำให้การออกฤทธิ์ของอินซูลินไม่มีประสิทธิภาพ ยาเหล่านั้น ได้แก่ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาขับปัสสาวะ และยาคุมกำเนิดบางชนิด
2.7 การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อไวรัสของโรคคางทูม เชื้อรูเบลลาของโรคหัดเยอรมัน และเชื้อคอกซากี้ บี เชื้อเหล่านี้มีผลทำให้ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง และทำลาย β-cell ส่งผลต่อการผลิตอินซูลินได้น้อยลง
2.8 การผลิตฮอร์โมนผิดปกติ โดยเฉพาะฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต (growth hormone) ที่ช่วยการสลายไกลโคเจนเป็นกลูโคสเพิ่มมากขึ้น หรือฮอร์โมนคอร์ติโคสตีรอยด์ (corticosteroid) ที่ช่วยเร่งปฏิกิริยาการสร้างกลูโคสจากโปรตีน หรือแคทีโคลามีน (catecholamine) ที่ทำที่ช่วยให้การสลายไกลโคเจนเป็นกลูโคสเพิ่มมากขึ้น ฮอร์โมนเหล่านี้หากมีการหลั่งมากเกินไปจะทำให้เพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
2.9 จำนวนเบต้าเซลล์น้อยลง ที่อาจเกิดจากสาเหตุการขาดโปรตีนอย่างรุนแรง เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ ส่งผลให้เบต้าเซลล์ถูกทำลาย ทำให้การผลิตอินซูลินได้น้อยลง
2.10 โรคตับ อันเกิดจากสาเหตุต่างๆ ทำให้ตับไม่สามารถเก็บกลูโคสไว้ในรูปของไกลโคเจนได้ ส่งผลให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงตามมา

การบ่งชี้การเป็นโรคเบาหวาน
องค์การ อนามัยโลก และสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงการบ่งชี้ภาวการณ์เป็นโรคเบาหวานด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจยืนยันซ้ำในหลากหลายวิธีเพื่อความมั่นใจในการวินิจฉัยโรค ได้แก่
1. โดยใช้ระดับนํ้าตาลกลูโคสในพลาสมาขณะอดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง (fasting plasma glucose-FPG) ที่มีค่าในช่วง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงถึงความผิดปกติของการควบคุมน้ำตาลในเลือด
2. โดยตรวจวัดระดับนํ้าตาลกลูโคส (random plasma glucose) ที่มีค่า  200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป โดยมีกลุ่มของอาการของโรคเบาหวานร่วมด้วย
3. โดยวิธีตรวจ 75 gram oral glucose tolerance test (75g OGTT) ที่มีระดับนํ้าตาลกลูโคส ตั่งแต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป

อาการของโรคเบาหวาน
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถบ่งชี้ด้วยภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเกินว่า แนวทางที่องค์กรอนามัยโลกกล่าวไว้ที่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังการอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งหากเกิดภาวะดังกล่าวมักจะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีภาวะแทรกซ้อนหรือมี อาการ ดังนี้
1. มักปัสสาวะบ่อยและมาก เนื่องจากมีน้ำตาลบางส่วนถูกขับออกมาปนกับปัสสาวะ
2. มีกระหายน้ำ คอแห้ง และดื่มน้ำมาก เนื่องจากภาวะสูญเสียน้ำของร่างกายจากการปัสสาวะบ่อย
3. หิวบ่อยทานจุ แต่น้ำหนักลดและอ่อนเพลีย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้กลูโคสเป็นแหล่งพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องการอาหารประเภทอื่น เช่น ไขมัน โปรตีน เป็นแหล่งพลังงานแทน
4. แผลหายช้า และมักเป็นแผลเรื้อรัง มีการติดเชื้อ  และเกิดแผลได้ที่ผิวหนังได้ง่าย เพราะน้ำตาลในเลือดที่สูงจะขัดขวางการทำงานของเกล็ดเลือด และเม็ดเลือดขาว
5. สายตาพร่ามัว มองสิ่งของเห็นไม่ค่อยชัด เนื่องจากมีน้ำตาลบางส่วนเคลือบที่เลนซ์ตา
6. เมื่อปัสาวะทิ้งไว้มักมีมดดำที่ชอบน้ำตาลมาตอมไต่

ภาวะฉุกเฉินในโรคเบาหวาน
1.  ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ที่อาจเกิดจากการรับประทานหรือฉีดยาเบาหวานเกินขนาด หรือไม่ได้รับประทานอาหาร หรือรับประทานยาแล้วไม่ได้รับประทานอาหาร ทำให้ยาออกฤทธิ์ไปลดระดับน้ำตาลในเลือด อาการที่เกิด มีอาการหัวใจสั่น หน้ามืด วิงเวียน หรืออาจเป็นลมหมดสติ
2. ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ที่อาจเกิดจากการขาดยาจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงมากขึ้น จนเกิดความผิดปกติในร่างกาย มีอาการต่่างๆตามมา อาทิ ภาวะกรดในเลือดสูง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย ผิวแห้ง ปากแห้ง กระหายน้ำ อาจมีไข้ ร่างกายซูบผอม ซึม หรือหน้ามืดหมดสติ

กลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
1. คนที่มีอายุมาก มักพบในช่วงอายุ 30-60 ปี  คิดเป็น 5-10% และคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป พบมากกว่า 15%
2. คนที่มีประวัติญาติมิตรหรือคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคเบาหวาน
3. คนอ้วน มีน้ำหนักตัวมากกว่ามาตรฐานร้อยละ 20 ขึ้นไป
4. คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
5. คนที่เป็นโรคไขมันในเลือดผิดปกติ คือ พบไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ตั่งแต่ 250 มก./ดล.
6. มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ภาวะโรคแทรกซ้อน
1. ภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน ได้แก่ มีภาวะหอบลึก มึนงง หน้ามืด และถึงกับหมดสติ
2. ภาวะแทรกซ้อนทางตา (diabetic retinopathy) ทำให้ตาพล่ามัว เป็นต้อกระจก หรือบอดได้
3. ภาวะแทรกซ้อนทางไต (diabetic nephropathy) ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลงจนถึงไตวายได้
4. ภาวะโรคแทรกซ้อนในช่องปาก ได้แก่ มีอาการแสบร้อน ปากแห้ง  ต่อมนํ้าลายพาโรติดโต โรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์อักเสบ และโรคเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปากอักเสบ
5. ภาวะโรคแทรกซ้อนทางระบบเลือด และหัวใจ เช่น โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดในสมอง และโรคไขมันในโลหิตสูง
6. ภาวะโรคแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย และมีภาวะความดันโลหิตสูง
7. ภาวะโรคแทรกซ้อนทางระบบประสาท ได้แก่ อาการอัมพาต แขนขาชา อาการปวดแสบปวดร้อนร้อนปลายมือปลายเท้า โดยเฉพาะเมื่อเกิดแผล แผลหายช้า เกิดแผลลุกลาม และติดเชื้อง่าย
8. ภาวะโรคแทรกซ้อนทางระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อร่างกาย
9. ภาวะโรคแทรกซ้อนทางระบบขับถ่าย ได้แก่ อาการท้องผูก ท้องเดิน ปัสสาวะเร็ด ไม่มีแรงเบ่งปัสสาวะ ไตเสื่อมสมรรถภาพ
10. ภาวะโรคแทรกซ้อนทางระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ ความรู้สึกทางเพศลดลง มีบุตรยาก
11. มีภาวะติดเชื้อได้ง่าย ภูมิต้านทานต่ำ อาการของโรคอื่นๆลุมลามเร็วขึ้น

การรักษา และแนวทางป้องกัน
การรักษาโรคเบาหวาน แบ่งเป็น 4 วิธี คือ
1. การควบคุมอาหาร ด้วยการเลือกอาหารที่มีแป้งหรือความหวานต่ำ โดยปรับสัดส่วนอาหารให้เหมาะสม เน้นรับประทานผัก ผลไม้ที่ให้น้ำตาลน้อย ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลง
2. การใช้ยารับประทาน เพื่อช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินในการนำกลูโคสมาเผาพลาญเป็นพลังงานมากขึ้น ลดการสร้างกลูโคสส่วนเกินในร่างกาย และยับยั้งการดูดซึมกลูโคสเข้ากระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
3. การฉีดอินซูลิน สำหรับทดแทนอินซูลินที่ขาดหายหรือไม่เพียงพอ เพื่อนำกลูโคสเข้าไปใช้เป็นพลังงานในเซลล์ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
4. การออกกำลังกาย เป็นวิธีการช่วยเผาพลาญพลังงาน กระตุ้นให้ร่างกายดึงกลูโคสในเลือดมาใช้งาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

หลักการปฏิบัติตน
1. การปรับสมดุลร่างกายเป็นการจัดการกับโรคเบาหวานสำคัญ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเพียงพอ กินอาหารตรงเวลา กินอาหารให้ครบวันละ 3 มื้อ และกินตามปริมาณเท่าเดิม หากใช้อินซูลินหรือยาคุมเบาหวานอื่น ๆ ควรกินอาหารว่างก่อนนอนเพิ่มด้วย
2. การเลือกกินอาหารที่มีเส้นใยสูง โดยเฉพาะผักผลไม้ พืชตระกูลถั่ว และเมล็ดธัญพืชเพิ่มขึ้น เพราะอาหารเหล่านี้ให้ไขมันต่ำ มีวิตามิน และเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย อาหารประเภทที่มีไขมันสูงควรกินไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
3. หลีกเลี่ยงการกินโปรตีนมาก เพราะจะทำให้ไตทำงานหนัก ควรกินเนื้อสัตว์ไม่เกินวันละ 170 กรัม จะช่วยให้ร่างกายควบคุมระดับคอเลสเตอรอลได้ด้วย
4. งดอาหารว่าง ขนม อาหารขบเคี้ยว หรือเลือกกินแต่น้อย เพราะเป็นอาหารที่มีแป้ง น้ำตาลสูง
5. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือควรเลือกเครื่องดื่มที่ระดับน้ำตาล และแอลกอฮอล์ต่ำ เช่น เบียร์ชนิดอ่อน ไวน์แห้ง เป็นต้น
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น อาทิ การไหลเวียนเลือดในร่างกาย ความแข็งแรงของหลอดเลือด การควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1 การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวอาจควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ มีผลทำให้เนื้อเยื่อในร่างกายไวต่ออินซูลินมากขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องกินอาหารก่อนหรือระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำอย่างรวดเร็วหลังการออกกำลังกาย
7. การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดคงที่เป็นปกติดีหรือไม่

เบาหวานกับไต
ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะมีผลเสียต่ออวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะไต ซึ่งมักเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไตเสื่อม หรือไตวายมากที่สุด ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตมักพบร่วมกับอาการของโรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน ปัจจุบันพบว่าร้อยละ 30-35 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง สำหรับหลักการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต ได้แก่
1. การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ไม่ต่ำหรือสูงเกินกว่าระดับปกติ
2. การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ให้เกิดโรคอ้วน โดยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย
3. การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
4. การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง
5. การควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ให้เกิดภาวะอ้วน
6. การหลีกเลี่ยงยาที่มีผลข้างเคียงต่อการทำงานของไต

สมุนไพรที่นิยมใช้กับโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานถือเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาในปัจจุบันเป็นวิธีรักษาระดับน้ำตาลในร่างกายไม่ให้สูงขึ้น ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาจึงมีการศึกษาสมุไพรหลายชนิดเพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้แก่
1. ตำลึง ถือเป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าด้านอาหารสูง นิยมใช้ใบ และเถานำมารับประทานที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มาน้ำคั้นดื่มหรือนำมาประกอบอาหารรับประทาน

2. ใบเตย พบสารสำคัญหลายชนิด เช่น เบนซิลอะซิเตต (benzyl acetate), เจอรานิออล (geraniol), ไลนาลิลอะซีเตต (linalyl acetate), ไลนาโลออล (linalool), สารหอมคูมาริน (coumarin) และเอทิลวานิลิน (ethyl vanilin) ใบสดใช้เป็นยาบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ลดการกระหายน้ำ รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

3. มะระ มะระขี้นกของไทย และมะระจีนที่ปัจจุบันนิยมรับประทาน ล้วนมีสรรพคุณลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องด้วยมีสาร charantin ที่สามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลินในตับอ่อนได้ การรับประทานมะระ ควรรับประทานผลดิบไม่แก่จัดจนถึงสุก เนื่องจากผลแก่มากหรือผลสุกจะมีสาร saponin ที่ทำให้เกิดคลื่นไส้อาเจียน

4. กระเทียม สาร allicin (diallyl disulphide oxide) ที่พบในกระเทียมมีฤทธิ์ลดน้ำตาลได้เหมือนกับทอลบูทาไมด์ (tolbutamide) ที่เป็นยารักษาเบาหวานชนิดหนึ่ง โดยจะออกฤทธิ์หลังจากรับประทานไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง

5. กะเพรา ถือเป็นพืชพัก และสมุนไพรที่นิยมนำมาประกอบอาหารมากชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการนำสารสกัดจากกระเพราทดลองลดน้ำตาลในเลือดในหนูทดลอง พบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลได้ถึง 30%

6. รากข้าว  พบในสูตรตำรับยาของภาคเหนือที่นำมาต้มดื่มเพื่อลดอาการเบาหวาน ทั้งนี้ มีการทดลองศึกษาในประเทศญี่ปุ่นจากสารสกัดรากข้าว พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

7. ชะพลู  เป็นพืชขนาดเล็กซึ่งอยู่ทุกภาคในประเทศไทย ชะพลูมีสรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลในกระต่ายได้ดีกว่ายา ถ้าใช้ในระยะยาว (มากกว่า 4สัปดาห์) สำหรับในคน พบว่าชะพลูไม่มีอันตราย แต่ผลการลดระดับน้ำตาลยังทดลองไม่ชัดเจนนัก ในตำราไทยจะมีการเขียนถึงสรรพคุณของชะพลูในการลดระดับน้ำตาลไว้หลายสูตร

8. ชิงช้าชาลี  มีการศึกษาใช้สารสกัดชิงช้าชาลีแก่กระต่าย พบว่า สารสกัดสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้