โรคไข้ไม่ทราบสาเหตุ (Fever of Unkown Origin หรือFUO) เป็นโรคที่มีอาการเหมือนกับโรคไข้หวัดทั่วไป นอกจากนั้นยังมีอาการที่คล้ายกับโรคอื่นๆ ขึ้นอยู่กับประเภทของเชื้อโรคที่มีการติดเชื้อ โดยพบว่ามักเกิดจากโรคติดเชื้อ
โดยในประเทศไทยมักพบในกลุ่มของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้สูง อุณหภูมิมากกว่า 38.3 องศา หรือ มากกว่า 101 องศาฟาเรนไฮต์ นานกว่า 7 วัน โดยมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ อาการปวดหัวเรื้อรัง อ่อนเพลีย เมื่อยตัวกล้ามเนื้อ ง่วง มีอาการสั่นหรืออาการกดเจ็บ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ไข้เฉียบพลีน (Acute Febrile illness) ที่เป็นการติดเชื้อทั้งระบบที่ไม่ใช่การติดเชื้อเฉพาะที่หรือสามารถระบุตำแหน่งติดเชื้อได้ แต่เกิดพร้อมกันหลายจุด หรือเรียกทางการแพทย์ว่า “ไข้เฉียบพลัน หรือ ไข้ไม่ทราบสาเหตุชนิดเฉียบพลัน”
ไข้ไม่ทราบสาเหตุอาจเกิดการติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ โดยกลุ่มโรคที่มีการติดเชื้อ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้รากสาดน้อย ไข้รากสาดใหญ่ ไข้มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ ไข้ออกผื่น หัดเยอรมัน ไข้ติดเชื้อไวรัส ไข้โรคฉี่หนู เป็นต้น ส่วนกลุ่มโรคที่ไม่มีการติดเชื้อ แต่มีอาการเป็นไข้ ได้แก่ โรคเอสแอลอี โรคภูมิต้านทาน โรคมะเร็ง เป็นต้น
ทั้งนี้หากมีการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์มักจะไม่พบโรคหรือสาเหตุของโรค ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวแต่อย่างใด และไม่สามารถอธิบายสาเหตุของไข้ได้ ซึ่งแพทย์จะให้ยาตามอาการไปก่อนควบคู่กับการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ทราบสาเหตุ ของโรคที่แท้จริง แต่วิธีการดังกล่าวถือเป็นการเสี่ยงต่อผู้ป่วยหากยังไม่ทราบถึงสาเหตุของโรค
โรคไข้ไม่ทราบสาเหตุเป็นปัญหาของแพทย์ที่ไม่สามารถตรวจวินิจฉัย และระบุถึงสาเหตุของโรคได้อย่างชัดเจน ซึ่งมักเป็นอาการของโรคต่างๆในระยะเริ่มแรกที่มีลักษณะอาการคล้ายๆกัน คือ อาการเป็นไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย เป็นต้น ซึ่งกว่าจะทราบอาการที่แท้จริงหรือตรวจพบสาเหตุที่แท้จริงอาจต้องใช้เวลาใน การวินิจฉัยนานหลายวัน ซึ่งโรคที่ต้องเฝ้าระวังร่วมกับโรคไข้ไม่ทราบสาเหตุ ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้ไทฟอยด์ ไข้เลือดออก ไข้ออกผื่นต่างๆ เป็นต้น สำหรับประเภทของไข้ไม่ทราบสาเหตุ ปัจจุบันทางการแพทย์แบ่งประเภทออกเป็น 4 ชนิด คือ
1. Classic FUO
2. Nosocomial FUO
3. Immuno-deficient or neutropenic FUO (not HIV-related)
4. HIV-related FUO
การป้องกัน และการรักษา
สำหรับหลักในการป้องกันไข้ไม่ทราบสาเหตุซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ได้แก่
1. ควรกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
2. ควรทำความสะอาดบ้านเรือน รวมถึงอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้อย่างสม่ำเสมอ
3. ควรดูแลทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำ รวมถึงเครื่องนุ่งห่มต่างๆ
สำหรับการรักษาที่ถูกต้อง แพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยให้ทราบสาเหตุของโรคเสียก่อน และจะให้ยารักษาตามอาการที่ปรากฏเพื่อบรรเทาอาการของโรค เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด เป็นต้น แต่โดยปกติ หากเราเป็นไข้จะหายเองภายใน 3-7 วัน แต่ถ้าหากหลังวันที่ 7 ไปแล้วอาการดังกล่าวยังไม่หายดีให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ ของโรคเป็นการดีที่สุด แต่ทั้งนี้หากมีอาการไม่สบายเป็นไข้ในช่วงระยะ 2-3 วันแรก ทางที่ถูกต้อง และเหมาะสมที่สุดก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุได้แล้ว ซึ่งไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง