โอวาท 3 หมายถึง หลักธรรมที่เป็นหัวใจในทางพระพุทธศาสนา 3 ประการ อันเป็นพุทธโอวาทที่สอนให้เราละเว้นความชั่ว ทำแต่ความดี และหมั่นฝึกจิตให้บริสุทธิ์ เบิกบาน มีศรัทธา และเชื่อในเรื่องของกรรมของตน (การกระทำ)
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธพึงยึดปฏิบัตินั้นมีมากมาย และหลักธรรมแต่ละหมวดก็เหมาะสมสำหรับบุคคล และเหตุการณ์ต่างๆ แต่พุทธโอวาท 3 เป็นหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่มีหลักอยู่ 3 ประการ ที่ให้พึงถือปฏิบัติ 3 ประการ เปรียบเสมือนหัวใจของพุทธศาสนา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ (2543, หน้า 440) โอวาทเป็นลักษณะคำที่หมายถึง
– คำสอน
– คำแนะนำ
– คำตักเตือน
โอวาท 3 ของพระพุทธเจ้า คือ
1. พึงเว้นจากทุจริต คือ ไม่ประพฤติชั่วทั้งกาย วาจา ใจ (ไม่ทำชั่ว)
2. พึงประพฤติด้วยการสุจริต คือ ประพฤติโดยชอบด้วยทั้งทางกาย วาจา ใจ (ทำแต่ความดี)
3. พึงทำใจของตนให้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสทั้งปวง อันได้แก่ โลภ โกรธ หลง เป็นต้น (ทำจิตให้บริสุทธิ์)
ความสำคัญของโอวาท 3
1. ช่วยให้ปุถุชนทั้งหลายไม่ทำความชั่ว เช่น ไม่ประพฤติในการลักขโมย ไม่ฉ้อโกงผู้อื่น ไม่ประพฤติผิดในงาม ไม่ยุแย่ให้เกิดความแตกแยกในหมู่คณะ และพึงละเว้นจากการกระทำความชั่วทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และใจ
2. ช่วยให้ปุถุชนทั้งหลายรู้จักทำความดี เช่น การให้ทาน การรักษาศีล 5 การมีเมตตาจิตต่อเพื่อมนุษย์ และสรรพสัตว์ รวมถึงพึงประพฤติตามหลักธรรมอื่นอย่างเป็นนิจ
3. ช่วยให้ปุถุชนทั้งหลายมีจิตใจให้ผ่องใส บริสุทธิ์ ด้วยการฝึกจิตให้มีสติ มีสมาธิ และจิตที่สงบเพื่อทำให้จิตใจไม่เกิดความทุกขเวทนา จิตไม่เศร้าหมองต่อสิ่งใดๆที่มากระทบทั้งปวง ผู้ที่ปฏิบัติได้เช่นนี้ ย่อมเป็นผู้มีจิตที่สงบ มีสมาธิ นำไปสู่การงานที่สำเร็จรุร่วง และเกิดความสุขต่อตนเอง และคนรอบข้าง
โอวาท 3 ประการ
1. เว้นจากการทำชั่ว
ความชั่ว แห่งโอวาท 3 คือ การกระทำที่ไม่ดี การกระทำที่เป็นปาบ เป็นสิ่งเลวร้าย ย่อมมีผลทำให้เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจ รวมถึงเกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง และผู้อื่น ดังนั้น จึงพึงละเว้น และหลีกเลี่ยงจากการระทำความชั่วทั้งปวง ทั้งทางด้านกาย วาจา และจิตใจ
2. ให้ทำความดี
ความดี แห่งโอวาท 3 คือ การกระทำที่ดีงาม เป็นบุญแก่ตัวเอง มีผลทำให้เกิดความสุขความสบายใจ เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่น โดยพึงต้องหมั่นกระทำแต่ทำความดี ซึ่งเป็นการพัฒนาตนให้มีความประพฤติที่งดงาม เรียกว่า คุณธรรม และจริยธรรม
3. มีจิตใจบริสุทธิ์
จิตใจบริสุทธิ์ แห่งโอวาท 3 หมายถึง พึงตั้งมั่นในจิตที่งดงาม คนที่มีจิตใจดีงาม มีการกระทำ และคำพูดที่ดี ด้วยการฝึกใจของเราให้มีความบริสุทธิ์ มีสติ และมีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน คิดในสิ่งที่ดี ไม่คิดร้าย ไม่คิดอิจฉาริษยาคนอื่น เราหมั่นฝึกทำสมาธิจะทำให้ใจเราสงบ และมีสติ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ (2543, หน้า 140-141) การทำความดีที่ควรประพฤติคู่กันไปกับการรักษาเบญจศีล ดังนี้
– เมตตากรุณา
– สัมมาอาชีวะ
– กามสังวร (ความสำรวม และไม่ประพฤติผิดในกาม)
– สัจจะ
– สติสัมปชัญญะ
– เบญจธรรม
– หิริ โอตตัปปะ
– สังคหวัตถุ 4
– ฆราวาสธรรม 4
– กตัญญูกตเวที คือ รู้จักสงเคราะห์ต่อบิดา-มารดา และครู อาจารย์
– กตัญญู คือ สงเคราะห์ต่อญาติพี่น้อง
พจนานุกรมพุทธศาสน์(2543,หน้า 141 )ไม่ทำความชั่วด้วยการประพฤติในเบญจศีล ศีล 5
1. เว้นฆ่าสัตว์
2. เว้นลักทรัพย์
3. เว้นประพฤติผิดในกาม
4. เว้นพูดปด
5. เว้นของเมา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ (2543,หน้า 43) จิตที่เป็นธรรมชาติรับรู้อารมณ์ตามสภาพที่นึกคิด แบ่งตามหลักฝ่ายอภิธรรม จำแนกจิตเป็น 89 ได้แก่
– อกุศลจิต 12
– กุศลจิต 21
– วิปากจิต 36
– กิริยาจิต 20
แบ่งโดยภูมิ ได้แก่
– กามาวรจิต 54
– รูปาวจรจิต 15
– อรูปวจรจิต 12
– โลกุตรจิต 8
สันทนา พัธนาวิน (2553,หน้า 42) การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วยการประพฤติ 3 แนวทาง คือ
1. การเจริญสติ เป็นการฝึกสติให้เกิดกับตนเอง เพื่อป้องกันความผิดพลาด คนที่มีสติย่อมประสบผลสำเร็จในการทำงาน และการศึกษาเล่าเรียน
2. การสวดมนต์ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้จิตมีสมาธิ ด้วยจิตที่สงบ และเพ่งต่อการภาวนา
3. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เป็นการฝึกจิตให้ผ่องใสด้วยการฝึกสมาธิ เพื่อขัดเกลาจิตใจให้สงบนิ่ง และเกิดจิตที่บริสุทธิ์
แนวทางอื่นๆ
– พึงเรียนรู้เพื่อให้รู้จักความหมาย และประโยชน์ของสติ และสมาธิ
-พึง ฝึกสวดมนต์ ไหว้พระ และแผ่เมตตาอย่างสม่ำเสมอ
– พึงฝึกสมาธิด้วยการอ่าน
– พึงฝึกสมาธิด้วยเพ่งจิตจับอาการการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างมีสติ
ดังนั้น โอวาท 3 จึงเปรียบเสมือนหัวใจของพุทธศาสนา เป็นหลักการประพฤติ ปฏิบัติ มี 3 ข้อ คือ 1. การละเว้นจากการกระทำความชั่วทั้งปวง
2. พึงกระทำแต่ความดี
3. พึงฝึกจิตให้ผ่องใส และบริสุทธิ์
โอวาท 3 ประการนี้ เป็นหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ควรยึดปฏิบัติ