ไตรลักษณ์ 3 ประการ

71219

ไตรลักษณ์ (three characteristics of existence) หมายถึง สภาพที่เป็นปกติวิสัยหรือเป็นไปตามธรรมชาติ หรืออาจเรียกว่าเป็นทฤษฎีแห่งความเหมาะเหมือน (the law of identity) เพราะทุกสิ่งบนโลกจะอยู่ในกฎหรือภาวะเช่นนี้เหมือนกันทั้งหมด ไตรลักษณ์จึงเป็นหลักสัจธรรมทางพระพุทธศาสนาที่มุ่งสอนให้เข้าใจชีวิตที่เป็นไปตามธรรมดาตามความเป็นจริง ทำให้ตระหนักรู้ และเกิดความเข้าใจว่าชีวิตเป็นอย่างไร เกิดความรู้เท่าทัน และรับรู้ต่อทุกอาการของการปฏิบัติตน

ในพระพุทธศาสนามีหลักสัจธรรมหรือคำสอนที่สำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนอยู่เป็นจานวนมาก โดยไตรลักษณ์เป็นหลักคำสอนที่สำคัญประการหนึ่งที่มุ่งให้ระลึกถึงความเป็นปกติธรรมดาของสรรพสิ่งบนโลก สอดรับกับคำว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นอาการสามัญของทุกสรรพสิ่งทั้งนามธรรม และรูปธรรม

คำว่า ไตรลักษณ์ เป็นคำสันสกฤตที่นำมาใช้เป็นภาษาไทย (สะกดด้วยตัวอักษรโรมันแบบถ่ายเสียงได้เป็น tri-laksana) ตรงกับคำบาลีว่า ติลักขณะ (ti-lakhana) ซึ่งมาจากคำว่า ไตร หรือ ติ ที่แปลว่า 3 รวมกับคำว่า ลักษณะ หรือ ลักขณะ ที่แปลว่า ลักษณะ (ที่เป็นสามัญทั่วไป) รวมกันแล้วจึงหมายความว่า ลักษณะที่สามัญทั่วไป 3 ประการ

ไตรลักษณ์ 3 ประการ
1. อนิจจัง/อนิจจตา (impermanence)
อนิจจัง/อนิจจตา แห่งไตรลักษณ์ 3 คือ ความเป็นของไม่เที่ยง หมายถึง ความไม่เที่ยง ความไม่ถาวรคงที่แน่นอน ความไม่คงที่อยู่ได้ในสภาพเดิมตลอดไป ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายแปรปรวนไป กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งคงที่อยู่อย่างเดิมได้ตลอดไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเปลี่ยนแปลงช้าหรือเปลี่ยนแปลงเร็วเท่านั้น แต่ที่แน่ๆ ก็คือสิ่งต่างๆ ทั้งหมดจะถูกกาลเวลาทำให้เปลี่ยนแปลงเปลี่ยนสภาพไปอย่างแน่นอน สิ่งใดมีการเกิดขึ้นในตอนต้น สิ่งนั้นแม้จะคงมีอยู่ในท่ามกลาง แต่ก็ยังต้องมีความเสื่อมสลายดับไปในที่สุด นี่นับเป็นสิ่งธรรมดาแท้ของโลก

หลักอนิจจตา (ความไม่เที่ยง) จะปรากฏขึ้นเมื่อสรรพสิ่งไม่ว่าจะมีรูปร่าง (รูปธรรม) หรือไม่มีรูปร่าง (อรูปธรรม) ก็ตาม มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับสูญสลายไป ถ้าบุคคลใส่ใจพิจารณาให้ดีในตนเอง และสรรพสิ่งรอบข้างก็จะเห็นได้ คนเรามักจะเข้าไปยึดติดสิ่งต่างๆ จนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า สิ่งที่ตนเห็นหรือเกี่ยวข้องมีตัวตนจริงๆ แล้วถือมั่นยึดมั่นพยายามรักษาป้องกันมิให้สิ่งที่ตนชอบ พอใจ รักใคร่ เปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ตนไม่ชอบ หรือไม่รักใคร่ก็จะพยายามให้สิ่งนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ภาวะของความไม่เที่ยงมีสภาพเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว ขึ้นอยู่กับการสมมติบัญญัติ แต่ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเจริญหรือเสื่อม ก็คือความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

พระพุทธศาสนาสอนหลักอนิจจตา มิใช่ให้คนยึดติดหรือหลีกหนีความไม่เที่ยง แต่สอนเพื่อให้บุคคลเห็นหรือเข้าใจกฎธรรมชาติของความไม่เที่ยงว่า ทุกสิ่งเป็นไปภายใต้กฎของการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ถาวรอยู่อย่างเดิมได้ตลอดไป เมื่อมองเห็น และเข้าใจกฎธรรมชาตินี้แล้วก็จะเกิดความรู้เท่าทัน สามารถดึงเอาคุณค่าของความจริงข้อนี้มาปฏิบัติดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม โดยการไม่เข้าไปยึดมั่นว่าเป็น “ตัวนั้น สิ่งนั้น สิ่งนี้” อันจะทำให้เกิดความยึดมั่นต่อไปว่า “ของเรา” และโดยการไม่ประมาทในกาลเวลา ในชีวิตและวัย เป็นต้น การรู้และเข้าใจจนเกิดความรู้เท่าทันต่อกฎของความไม่เที่ยงอย่างนี้ จะช่วยให้บุคคลไม่เกิดความทุกข์เกินสมควรในยามเมื่อเกิดความเสื่อม ความสูญเสียหรือพลัดพรากขึ้นกับตน และไม่หลงจนเกิดความประมาทในความเจริญและความสุขสบาย

ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ เปลี่ยนแปลง ของหลักอนิจจตา ปรากฏขณะที่สรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับสลายไปใน 3 จังหวะ คือ สิ่งที่เป็นรูปธรรมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สังเกตได้จาก 3 จังหวะนี้ คือ
1) อุปจยะ มีการเกิดขึ้น
2) สันตติ มีการสืบต่อ
3) ชรตา มีการตาย แตกดับ และสลายไป

ส่วนสิ่งที่เป็นนามธรรมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นสังเกตได้จาก 3 จังหวะ คือ
1) อุปปาทะ มีการเกิดขึ้นของความรู้สึกจำได้หมายรู้ คิดนึก และรับรู้ในทางจิต
2) ฐิติ มีการตั้งอยู่ชั่วขณะของความรู้สึกจำได้หมายรู้ คิดนึก และรับรู้ในทางจิต
3) ภังคะ มีการแตกดับสิ้นสุดไปของความรู้สึกจำได้หมายรู้ คิดนึก และรับรู้ในทางจิต

อนิจจัง

2. ทุกฺขัง/ทุกขตา (stress and conflict)
ทุกฺขัง/ทุกขตา แห่งไตรลักษณ์ 3 คือ ความเป็นทุกข์ หมายถึง ความผิดหวังที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความประสงค์ของตนเอง รวมถึงภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นของเหตุอันไม่พึงประสงค์ เกิดสภาพฝืนทน และขัดแย้งอยู่ในตัว กล่าวคือ สิ่งต่างๆ ที่มีองค์ล้วนมีประกอบจากปัจจัยต่างๆที่ไม่สามารถดำรงอยู่ตามสภาพเดิมได้ มีเปลี่ยนแปลง เสื่อมถอย และสลายไปตามกาลเวลา

หลักทุกขตา (ความเป็นทุกข์) จะปรากฏขึ้นเมื่อสรรพสิ่งไม่ว่าจะมีรูปร่าง (รูปธรรม) หรือไม่มีรูปร่าง (อรูปธรรม) ก็ตาม กำลังตั้งอยู่หรือดำเนินไป ถ้าบุคคลใส่ใจพิจารณาให้ดีในตนเอง และสรรพสิ่งรอบข้างก็จะได้เห็นคำว่า “ทุกข์” ที่หมายถึงในหลักไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณะนี้ มีความหมายกว้างทั่วไปทั้งแก่สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต มีการจัดแบ่งประเภทของทุกข์ไว้หลายแบบด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในเรื่องของทุกข์ มีข้อควรทำความเข้าใจอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ
1. ประการแรก
ทุกข์ในไตรลักษณ์ กับ ทุกข์ในอริยสัจ 4 กล่าวคือ ทุกข์ที่ปรากฏอยู่ในหมวดธรรมสำคัญ 3 หมวด คือ
1.1 เวทนา เรียกว่า “ทุกขเวทนา” ประกอบด้วย เวทนา 3 คือ
– ทุกข์
– สุข
– อุเบกขา และเวทนา 5
– ทุกข์
– สุข
– โทมนัส
– โสมนัส
– อุเบกขา
1.2 ไตรลักษณ์ เรียกว่า “ทุกขลักษณะ”
– อนิจจัง
– ทุกขัง
– อนัตตา
1.3 อริยสัจ 4 เรียกว่า “ทุกขอริยสัจ”
– ทุกข์
– สมุทัย
– นิโรธ
– มรรค

2. ประการที่สอง
ลักษณะของทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรามักเป็นทุกข์ในอริยสัจ 4 เพราะเป็นทุกที่เกิดจากสภาพจิตที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยปุถุชนไม่สามารถหลีเลี่ยงได้ ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวข้องในไตรลักษณ์ 3 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต หรือการงานอาชีพโดยตรง

ดังนั้น ทุกข์ในข้อนี้จึงหมายถึง ทุกข์ในไตรลักษณ์ที่หมายรวมทั้งสิ่งมีชีวิตคือ มนุษย์และสัตว์ และไม่มีชีวิต เช่น บ้านเรือน ภูเขา ก้อนหิน ฯลฯ ซึ่งต้องมีความทุกข์ มีการทรุดโทรม หรือแก่ชราเป็นธรรมดา ทุกข์ชนิดนี้สัมพันธ์กับข้องเกี่ยวกับหลักอนิจจตา เป็นต้นว่า ความคงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นทุกข์ก็เพราะสรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเหตุแห่งปัจจัย (อนิจจัง)

3. อนัตตา/อนัตตตา (soullessness หรือ non-self)
อนัตตา/อนัตตตา แห่งไตรลักษณ์ 3 คือ ความเป็นอนัตตา หมายถึง ความไม่ใช่ตัวตน หรือ ความไม่มีตัวตนแท้จริงของสรรพสิ่ง และไม่สามารถควบคุมให้คงอยู่ได้ตามความมุ่งหมายของตน กล่าวคือ ชีวิตหรือร่างกายนี้มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวตนแท้จริงของบุคคล เพราะที่เรามองเห็นเป็นรูปร่างหรือเป็นชีวิตนี้ก็เพราะมีการรวมกันของขันธ์ 5 คือ
1. รูปหรือรูปขันธ์ 1 อันเป็นส่วนรูปหรือกาย มีส่วนประกอบคือ มหาภูตรูป 4 คือ
– ดิน
– น้ำ
– ลม
– ไฟ
2. อุปทายรูป 24 และนามหรือนามขันธ์ 4 ส่วน คือ
– เวทนา
– สัญญา
– สังขาร
– วิญญาณ

นามขันธ์ทั้ง 4 นี้ เป็นส่วนนามหรือจิต เมื่อส่วนประกอบด้านรูปขันธ์หรือนามขันธ์ทั้ง 5 ประกอบรวมกันเข้า จึงเป็นรูปร่างหรือชีวิตเกิดขึ้นก่อนในเบื้องต้น อยู่ได้เพียงชั่วขณะเท่านั้น และย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ทรุดโทรม จนในที่สุดก็แตกดับสลายสูญสิ้น ซึ่งเป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุกสรรพสิ่ง

ทั้งนี้ สรรพสิ่ง หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่บนโลก และในจักรวาล รวมทั้งตัวจักรวาลเองด้วยก็ตกอยู่ภายใต้ความเป็นอนัตตาเช่นกัน โดยสรุปก็คือ ไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่เป็นอนัตตา

ทั้งนี้ คำว่า สรรพสิ่ง ที่มีความหมายครอบคลุมสรรพสิ่งที่ว่านี้เป็น 2 ประเภท คือ
1. สิ่งที่เป็นสังขตธรรม คือ สิ่งที่มีเงื่อนไขปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดำรงงอยู่ เสื่อมลง และดับสลายไป มีลักษณะเฉพาะตนคือ
2. สิ่งที่เป็นอสังขตธรรม คือ สิ่งที่คงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีเงื่อนไขปัจจัยอะไร ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดอื่นๆ มีลักษณะตรงกันข้ามกับสังขตธรรม คือ ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับสลาย และเมื่อดำรงอยู่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงปรากฏ ได้แก่ นิพพาน

อนัตตา

หลักอนัตตาที่เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ
1) ไม่เห็นพ้องกับลัทธิที่เห็นว่าทุกสิ่งมีความเที่ยงหรือยั่งยืน (สัสสตวาท)
2) ไม่เห็นพ้องกับลัทธิที่ถือตนเองว่ามีเทพเจ้าสูงสุดเป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ และกำหนดโชคชะตาของมนุษย์ (อิศวรนิรมิตวาท)
3) ไม่เห็นพ้องกับลัทธิที่แบ่งวรรณะของมนุษย์ เพราะทุกชีวิตล้วนแต่เป็นอนัตตา
4) เป็นหลักธรรมที่สอดคล้องกับหลักธรรมอื่นๆในพุทธศาสนาที่สอนมนุษย์ให้ยึดหลักในเหตุ และ
5) ไม่เห็นพ้องกับโชคชะตา โชคลาภ ที่ยังมิได้เกิดขึ้น และเป็นไปอย่างเลื่อนลอย

ไตรลักษณ์ทั้ง 3 ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นสิ่งชาวพุทธพึงระลึกได้ หากเกิดทุกขัง คือ ความทุกข์ที่เกิดซ้ำไปซ้ำมาแล้ว ให้พึงใช้ปัญญามองให้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งบนโลก คือ อนิจจัง ซึ่งจะนำไปสู่ความเห็นแจ้งในอนัตตา คือ ความไม่มีตัวตนที่ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ได้โดยไม่มีวันเสื่อมสลาย

อย่างไรก็ตามหลักสัจธรรมไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนา ยังเป็นหลักธรรมที่กล่าวถึงทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรมล้วนย่อมตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน คือ มีการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และการดับสูญ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อันเป็นกฎของธรรมชาติที่ไม่อาจปฏิเสธได้

เพิ่มเติมจาก ธรากร (2557)(1)

เอกสารอ้างอิง
1. ธรากร จันทนะสาโร, 2557. นาฏยศิลป์จากแนวคิดไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนา.