น้ำลาย (saliva) หน้าที่ และประโยชน์น้ำลาย

34220

น้ำลาย (saliva) เป็นสารคัดหลั่งที่ผลิตมาจากต่อมน้ำลายในช่องปาก ได้แก่ ต่อมน้ำลายพาโรติด (parotid gland) และต่อมน้ำลายซับแมนดิบูล่า (submandibular gland) ซึ่งเป็นต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ รวมถึงต่อมน้ำลายขนาดเล็กอื่นๆ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ น้ำลายชนิดใส และน้ำลายชนิดเหนียว

น้ำลายประกอบด้วยส่วนที่เป็นน้ำ และเศษเล็กๆของเยื่อบุผิว แบคทีเรีย และเศษอาหารรวมอยู่ด้วย โดยส่วนที่เป็นน้ำ คือ น้ำลายที่หลั่งออกมาจากต่อมน้ำลาย ประกอบด้วยเกลือแร่ และโปรตีนชนิดต่างๆ [1] นอกจากนั้น น้ำลายยังมีส่วนผสมของน้ำเหลืองที่มาจากเหงือก

%e0%b8%95%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a2

หน้าที่ และประโยชน์ของน้ำลาย
น้ำลาย มีส่วนประกอบของสารต่างๆหลายชนิดที่ช่วยรักษาสภาพของช่องปาก และฟันให้อยู่ในสภาวะปกติ ความสำคัญของน้ำลายที่เห็นได้ชัด ได้แก่ ในผู้ป่วยที่มีน้ำลายน้อย (hyposalivation) จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาในการเคี้ยว และการกลืนอาหารลำบาก รวมถึงเกิดปัญหาในการพูดที่เกิดจากการอักเสบของลิ้น และเยื่อบุภายในช่องปาก รวมถึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องปากเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอกคัส เชื้อแลคโตบาซิลลัส และเชื้อราแคนดิคา อัลบิแคนส์ ที่ส่งผลทำให้เกิดโรคฟันผุ และโรคในระบบทางเดินอาหารต่างๆตามมา โดยมีบทบาทที่สำคัญ ได้แก่
1. บทบาทต่ออาหาร
– น้ำลาย ทำหน้าที่ช่วยในการย่อยอาหาร ด้วยเอนไซม์หลายชนิดที่เป็นส่วนประกอบ อาทิ เอนไซม์อะไมเลส (amylase) ทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้ง
– น้ำลาย ช่วยในการรับรู้รส ด้วยเอนไซม์ในน้ำลายที่ช่วยกระตุ้นการรับรู้รส อาทิ เอนไซม์กัสติน (gustin)
– น้ำลาย ช่วยในการรวมตัวให้เป็นก้อนของอาหารที่เคี้ยวแล้ว ด้วยน้ำลายมีสภาพเหนียวจึงทำหน้าที่ช่วยให้เศษอาหารที่เคี้ยวแล้วเกิดการรวมตัวกันได้ดี ลดการเกาะ และตกตกค้างในช่องฟัน

2. บทบาทต่อช่องปาก และลิ้น
– น้ำลายช่วยล่อลื่นอวัยวะในช่องปาก ป้องกันไม่ให้ปากแห้ง
– น้ำลายช่วยในการเคลื่อนไหวของลิ้น ช่วยให้พูดชัดถ้อยชัดคำ เป็นไปตามธรรมชาติ

3. บทบาทต่อฟัน
– น้ำลาย มีความสามารถเป็นบัพเฟอร์ที่ดี (buffer capacity) โดยมีไบคาร์บอเนตเป็นสาระสำคัญ ที่ทำให้เกิดความสมดุลของกรด-ด่างในน้ำลาย ทำให้ค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ในช่วง 6.5-7.5 หรือเฉลี่ยประมาณ 6.7 ช่วยลดการกัดกร่อนฟันได้โดยตรง แต่หากน้ำลายมีค่าความเป็นกรดหรือด่างสูงจะมีผลต่อการกัดกร่อนฟัน ทั้งนี้ ความสามารถในการเป็นบัพเฟอร์ของน้ำลายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอัตราการไหลของน้ำลาย กล่าวคือ หากน้ำลายไหลเร็วจะมีค่าบัพเฟอร์ที่ดี หรือ มีความเป็นกลางสูง เข้าใกล้ 7 แต่หากไหลช้าจะมีค่าความเป็นกรดสูง ประมาณ 5.3 และเป็นด่างสูง ประมาณ 7.8 โดยมีไบคาร์บอเนตเป็นสาระสำคัญในการควบคุมกรด-ด่าง
– น้ำลาย ทำหน้าที่เป็นสารหล่อลื่นฟัน (lubrication) โดยมีสาระสำคัญทำหน้าที่เป็นสารหล่อลื่น ได้แก่ มิวซิน (mucin) และ โปรลีนริชไกลโคโปรตีน (proline-rich glycoprotein) ช่วยลดการสึกกร่อนของฟันจากการเสียดสี และกระแทกกัน
– น้ำลายช่วยป้องกันการละลายของแร่ธาตุบนผิวฟัน และช่วยส่งเสริมการสะสมแร่ธาตุให้เคลือบผิวฟัน อาทิ ช่วยการเกาะติดของแคลเซียมบนผิวฟัน แต่หากเกาะติดมากจะทำให้ฟันเหลือง และเป็นคราบหินปูน
– น้ำลายมีโปรตีน และไกลโคโปรตีนที่ทำหน้าที่เกาะรวมกันเป็นแผ่นฟิล์มเคลือบฟัน ช่วยป้องกันการสูญเสียแร่ธาตุออกจากฟัน
– ช่วยรักษาระดับความสมดุลของแร่ธาตุในน้ำลาย และฟัน
– ปรับสภาพความเป็นกรดหรือด่างของอาหารให้เป็นกลาง ช่วยป้องกันสภาพดังกล่าวในการกัดกร่อนฟัน

หน้าที่ป้องกันการเกิดฟันสึกกร่อนของน้ำลาย
1. ละลายและชะล้างอาหารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน
2. ปรับสภาวะความเป็นกรดของอาหารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนให้มีสภาพเป็นกลาง
3. รักษาระดับความอิ่มตัวอย่างยิ่งยวดของแคลเซียมและฟอสเฟตที่ผิวฟัน
4. ช่วยป้องกันการสูญเสียแร่ธาตุออกจากผิวฟันและส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคืนกลับของแร่ธาตุ
5. สร้างแผ่นฟิล์มอยู่บนผิวเคลือบฟัน โดยการดูดซับโปรตีนและไกลโคโปรตีนในน้ำลายมาสร้างเพื่อป้องกันการสูญเสียแร่ธาตุออกจากผิวฟัน

4. บทบาทการต้านจุลชีพในช่องปาก และระบบทางเดินอาหาร
– น้ำลายช่วยลดการเติบโต และการแพร่จำนวนของเชื้อจุลชีพก่อโทษในช่องปาก ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราช่วยให้ช่องปากเกิดความสมดุล ไม่มีการแพร่จุลชีพก่อโรคมาก และไม่ให้เกิดโรคในช่องปาก นอกจากนั้น น้ำลายยังมีคุณสมบัติช่วยลดการติดต่อ และแพร่กระจายของเชื้อเอดส์ โดยมีรายงานหลายฉบับที่ช่วยสนับสนุนว่า น้ำลายของผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ยังไม่แสดงอาการนั้น จะพบเชื้อไวรัสเอดส์อยู่น้อยมาก แต่สามารถติดต่อผ่านน้ำลายได้ หากน้ำลายมีเลือดของผู้ติดเชื้อปะปน [2]
– น้ำลายช่วยยับยั้งการเกาะของเชื้อจุลชีพบนเยื่อบุในช่องปาก และบนผิวฟัน ช่วยป้องกันโรคเหงือกอักเสบ และโรคฟันผุ

%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a2

องค์ประกอบของน้ำลาย
1. น้ำ พบประมาณ 99.5% ทำหน้าที่เป็นตัวทำละลาย
2. เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ทำหน้าที่ย่อยแป้งให้มีโมเลกุลขนาดเล็ก
3. น้ำเมือก (Mucus) ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตผสมกับโปรตีน ทำหน้าที่ช่วยให้อาหารรวมกันเป็นก้อน ทำหน้าที่ล่อลื่นอวัยวะภายในช่องปาก ช่วยไม่ให้ปากแห้ง และช่วยให้กลืนอาหารได้สะดวก

องค์ประกอบของน้ำลาย เปรียบเทียบกับค่าปกติในพลาสมา

น้ำลาย (มิลลิโมล) พลาสมา (มิลลิโมล)
สารอนินทรีย์
– แคลเซียม (Ca2+ ) 1-2 2.5
– แมกนีเซียม (Mg2+ ) 0.1-0.2 1
– โซเดียม (Na2+ ) 20-30 140
– โพแทสเซียม (K+ ) 17-20 4
– แอมโมเนีย (NH4+ ) 0.2-0.7 0.03
– ไฮโดรเจนฟอสเฟต (H2PO-4 +HPO2-4) 2-5 1
– คลอไรด์ (Cl-) 20-23 103
– ไบคาร์บอเนต (HCO-3) 2-30 27
– ฟลูออไรด์ (F-) 0.01 0.01
สารอินทรีย์
– ยูเรีย (Urea) 2-6 5
– กรดยูริก (Uric acid) 0.15 3
– ครีเอทินิน (Creatinine) < 0.07 0.07
– กรดอะมิโน (Amino acid) 0.12 0.3
– กลูโคส (Glucose) 0.04 5.5
– แลคเตท (Lactate) 0.33 1.1
 
สารโมเลกุลขนาดใหญ่
– โปรตีน (Protein) 150 250
– Protein-bound carbohydrate 11-30 140
– ไขมันทั้งหมด (Total lipid) 2-3 550
– กรดไขมัน (Fatty acids) 1 300

 

– ไบคาร์บอเนต ฟอสเฟต และยูเรียจะทำหน้าที่เป็นบัพเฟอร์ ช่วยปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างของน้ำลาย
– โปรตีนขนาดใหญ่ และมิวซีน จะทำหน้าที่จับ และทำลายเชื้อโรค โดยนำเชื้อโรคมารวมตัวมิวซีน จนตกตะกอน ก่อนกลืนเข้าไปทำลายในกระเพาะอาหาร
– แคลเซียม ฟอสเฟต และโปรตีน จะทำหน้าที่ปรับสมดุลของแร่ธาตุที่มีอยู่ระหว่างน้ำลายกับฟัน ช่วยป้องกันการสูญเสียแคลเซียม และฟอสฟอรัสในฟัน
– อิมมูโนกลอบูลิน เอนไซม์ และโปรตีน จะทำหน้าที่ร่วมกันในการกำจัด และทำลายเชื้อจุลชีพก่อโรค

โปรตีนในน้ำลาย
1. อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin)
• แหล่งกำเนิด : เซลล์พลาสมา (plasma cell) ที่อยู่รอบๆ เซลล์ท่อและเซลล์ต่อมของต่อมน้ำลาย
• ลักษณะเฉพาะ : อิมมูโนโกลบูลินส่วนใหญ่ที่พบในน้ำลายเป็นชนิดซีครีทอรีอิมมูโนโกลบูลินเอ (secretary immunoglobulin A, SlgA)
• หน้าที่ : จับกับแบคทีเรีย/ส่วนประกอบของแบคทีเรียโดยตรง ทำให้เกิดการเกาะกลุ่มและชะล้างออกจากช่องปาก แย่งจับกับแบคทีเรีย จึงลดการเกาะติดของเชื้อภายในช่องปาก

2. มิวซีน (Mucin)
• แหล่งกำเนิด : เซลล์มิวคัส (mucous) เซลล์ซีรัส(serous) เซลล์เดมิลูน (demilune) ของต่อมน้ำลาย
• ลักษณะเฉพาะ : ไกลโคโปรตีนที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง มีโครงสร้างเป็นแกนโพลีเปปไทด์ (polypeptide backbone) เชื่อมกับแขนงคาร์โบไฮเดรต (carbohydrate sidechain) จำนวนมาก
• หน้าที่ : หล่อลื่นเนื้อเยื่อภายในช่องปาก สร้างแนวขวางกั้นการแทรกผ่าน ป้องกันการแห้งของเนื้อเยื่อเมือก จับกับแบคทีเรีย/ส่วนประกอบของแบคทีเรียโดยตรง ทำให้เกิดการเกาะกลุ่มและชะล้างออกจากช่องปาก แย่งจับกับแบคทีเรียจึงลดการเกาะติดของเชื้อภายในช่องปาก

3. เพอร็อกซิเดส (Peroxidase)
• แหล่งกำเนิด : เซลล์อะซินาร์ (acinar cell) ของต่อมน้ำลายหลัก (major salivary gland) และลิวโคซัยท์ (leukocyte) ที่ผ่านมาทางร่องงเหงือก (gingival crevice) หรือจากเยื่อบุช่องปาก (oral mucosa)
• ลักษณะเฉพาะ : เอ็นไซม์ที่มีฮีม (heme) เป็นส่วนประกอบ
• หน้าที่ : สร้างไฮโปไทโอไซยาไนท์ (hypothiocyanite) ซึ่งเป็นพิษต่อแบคทีเรีย

4. ไลโซไซม์ (Lysozyme)
• แหล่งกำเนิด : เซลล์ท่ออินเตอร์คาเลท (intercalated duct cell) ของต่อมน้ำลายหลัก พลาสมาโยผ่านมาทางน้ำเหลืองเหงือก(crevicular fluid)
• ลักษณะเฉพาะ : เอนไซม์ที่มีคุณสมบัติในการต้านจุลชีพ
• หน้าที่ : ไฮโดรไลซ์ พันธะเบตา 1-4 ระหว่างกรดเอ็น-อะซิติลมูโคซามีน ซึ่งอยู่ในชั้นเปปทิโดไกลแคนของผนังเซลล์

5. แลคโตเฟอริน (Lactoferrin)
• แหล่งกำเนิด : เซลล์ซีรัสของต่อมน้ำลาย นิวโทรฟิล (Nutrophill)
• ลักษณะเฉพาะ : เป็นโปรตีนที่มีความสามารถในการจับกับธาตุเหล็ก
• หน้าที่ : แย่งจับกับธาตุเหล็กซึ่งเป็นปัจจัยร่วมที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย

6. แอกกลูตินิน (Agglutinin)
• แหล่งกำเนิด : เซลล์ซีรัสของต่อมน้ำลายใต้คาง (submandibular) และต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (sublingual) รวมถึงเซลล์ท่อ(ductal cell) ของต่อมน้ำลายพาโรติด(parotid)
• ลักษณะเฉพาะ : ไกลโคโปรตีนมีขนาดใหญ่ มีความหนืดมาก
• หน้าที่ : เข้าจับกับเชื้อจุลชีพ ทำให้จุลชีพไม่สามารเกาะจับกับเยื่อบุช่องปากได้ รวมถึงทำให้จุลชีพเกาะรวมกัน และชะล้างง่ายขึ้น

7. ซิสตาติน (Cystatins)
• แหล่งกำเนิด : เซลล์อะซินาร์ของต่อมน้ำลายใต้คางและต่อมน้ำลายใต้ลิ้น
• ลักษณะเฉพาะ : โปรตีนที่มีซิสเตอีน (cysteine) เป็นส่วนประกอบอยู่เป็นจำนวนมาก
• หน้าที่ : ปกป้องเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปากด้วยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรทีเอส ทั้งที่หลั่งออกมาจากร่างกายระหว่างกระบวนการอักเสบ หรือหลั่งออกมาจากเชื้อจุลชีพ

8. อีสตาติน (Histatins)
• แหล่งกำเนิด : เซลล์ซีรัสของต่อมน้ำลายพาโรติด ต่อมน้ำลายใต้คาง และต่อมน้ำลายใต้ลิ้น
• ลักษณะเฉพาะ : เปปไทด์ขนาดเล็กที่มีประจุบวก
• หน้าที่ : ต้านเชื้อจุลชีพไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย หรือเชื้อราในช่องปากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ โดยการทำให้เกิดรูขึ้นที่เยื่อหุ้มเซลล์ (pore forming)

9. ดีเฟนซิน (Defensins)
• แหล่งกำเนิด : นิวโทรฟิล ต่อมน้ำลาย เซลล์เยื่อบุของเหงือก ลิ้น และกระพุ้งแก้ม
• ลักษณะเฉพาะ : เปปไทด์ขนาดเล็กที่มีประจุบวก มีลักษณะ แอมพิฟาติก (amphipathic) คือมีทั้งส่วนที่ชอบน้ำ (hydrophplic) และส่วนที่ไม่ชอบน้ำ(hydrophpbic)
• หน้าที่ : ต้านเชื้อจุลชีพได้อย่างกว้างขวาง ทั้งแบคทีเรียและไวรัส โดยทำให้เกิดรูขึ้นที่เยื่อหุ้มเซลล์ ทั้งต่อต้านเซลล์มะเร็ง (anticancer) กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ

10. แอลแอลสามสิบเจ็ด (LL-37)
• แหล่งกำเนิด : แกรนูลของนิวโทรฟิล ต่อมน้ำลาย เยื่อบุช่องปาก
• ลักษณะจำเพาะ : เปปไทด์ขนาดเล็กที่มีประจุบวกโครงสร้างมีลักษณะแอมพิฟาติก
• หน้าที่ : ต้านเชื้อจุลชีพได้อย่างกว้างขวางทั้งแบคทีเรีย เชื้อราและเชื้อไวรัส โดยการทำให้เกิดรูขึ้นที่เยื่อหุ้มเซลล์ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ

การหลั่งน้ำลาย
การหลั่งน้ำลายมีผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ เพศ อายุ อาหาร อารมณ์ ฤดูกาล และแสงสว่าง รวมถึงภาวะของโรค และการใช้ยา

น้ำลายที่หลั่งออกในแต่ละวันจะแตกต่างในแต่ละคนตามปัจจัยที่กล่าวข้างต้น โดยทั่วไปจะหลั่งออกมาประมาณ 1-1.5 ลิตร/วัน โดยจะไหลประมาณ 0.1-0.5 มิลลิลิตร/นาที ในขณะพักตัว และหากมีอัตราการไหลน้อยกว่า 0.1 มิลลิลิตร/นาที ถือว่าน้ำลายไหลน้อย เกิดภาวะผิดปกติ ส่วนภาวะถูกกระตุ้น เช่น กลิ่นอาหาร น้ำลายจะมีอัตราการไหลเร็ว ประมาณ 1.1-3.0 มิลลิลิตร/นาที และหากไหลต่ำกว่า 0.7 มิลลิลิตร/นาที ถือว่าเกิดความผิดปกติ

บัฟเฟอร์ในน้ำลาย
องค์ประกอบของน้ำลายจะมีความผันแปรขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่น อัตราการไหล ที่มาของต่อมน้ำลายที่มีความแตกต่างกัน จังหวะหรือช่วงเวลาในแต่ละวัน ระยะเวลา และชนิดของสิ่งเร้า และอิทธิพลของอาหาร องค์ประกอบของน้ำลายทั้งหมดจะทำหน้าที่ร่วมกัน

ไบคาร์บอเนต ฟอสเฟต และยูเรียจะทำหน้าที่ร่วมกันในการปรับสภาวะความเป็นกรด – ด่างในช่องปากและทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์คาพาซิตี้ของน้ำลาย โปรตีนโมเลกุลขนาดใหญ่ และมิวซินจะทำหน้าที่เป็นตัวจับเชื้อโรค โดยทำให้เชื้อโรครวมตัวกับมิวซินจนตกตะกอน และถูกกำจัดโดยการกลืนแคลเซียม

ฟอสเฟต และโปรตีนจะทำหน้าที่ร่วมกันในการรักษาสมดุลของสภาวะอิ่มตัวอย่างยิ่งยวดระหว่างแร่ธาตุในน้ำลาย และในฟัน โดยป้องกันการสูญเสียแร่ธาตุออกจากฟัน และส่งเสริมการกลับคืนของแร่ธาตุเข้าสู่ฟัน

อิมมูโนกลอบูลินโปรตีน และเอนไซม์ จะทำหน้าที่ร่วมกันในการกำจัดแบคทีเรีย

บัฟเฟอร์คาพาซิตี้มีความสำคัญในการรักษาระดับความเป็นกรด – ด่างในน้ำลาย และแผ่นคราบจุลินทรีย์ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระบบด้วยกันคือ ระบบไบคาร์บอเนต (H2CO3 / HCO3 ) ระบบฟอสเฟส (H2PO4 / HPO2-4) และระบบโปรตีน โดยความสามารถในการเป็นบัฟเฟอร์ขึ้นอยู่กับอัตราการไหลของน้ำลาย

1. ระบบไบคาร์บอร์เนต (H2CO3 / HCO3 )
ระบบที่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ ระบบไบคาร์บอร์เนต เนื่องจากในสภาวะปกติน้ำลายที่ไม่ถูกกระตุ้น อัตราการไหล 0.3 มิลลิลิตร/นาที จะมีปริมารไบคาร์บอเนตเพียง 5 มิลลิโมล/ลิตร แต่กลับเพิ่มมากขึ้นเมื่อน้ำลายสภาวะกระตุ้นมีอัตราการไหลมากกว่า 2 มิลลิลิตร/นาที ปริมาณไบคาร์บอเนตเพิ่มขึ้นถึง 24 มิลลิโมล/ลิตร และพบว่า ระบบไบคาร์บอเนต จะทำงานได้ดีที่สุดที่ค่าความเป็นกรด – ด่าง 6.1

กลไกลการทำงานของระบบไบคาร์บอเนตอธิบายได้ด้วยสมการข้างล่าง เมื่อไฮโดรเจนไอออน (H+) แตกตัวออกมาจากกรดไบคาร์บอเนต (HCO3) จะเข้ามาจับตัวกลายเป็นกรดคาร์บอนิก (H2CO3)และสลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ โดยเอนไซม์คาร์บอนิกแอนไอเดรส (Carbonic anhydrase) จะเร่งให้ไบคาร์บอเนต (HCO3 ) จับตัวกับกรดมากขึ้น ดังสมการ

CO2 + H2O ⇌ H2CO3 ⇌ HCO3 + H+

2. ระบบฟอสเฟต (H2PO4 / HPO2-4)
ความเข้มข้นของฟอสเฟตจะขึ้นกับอัตราการไหลของน้ำลายเช่นกัน แต่จะตรงกันข้ามกับระบบไบคาร์บอเนต (H2CO3 / HCO3) คือ น้ำลายสภาวะพักจะมีฟอสเฟตประมาณ 5 มิลลิโมล/ลิตร มากกว่าสภาวะกระตุ้นซึ่งมีประมาณ 3 มิลลิโมล/ลิตร ฟอสเฟตจะอยู่ในรูปของไดไฮโดรเจนฟอสเฟต (H2PO4 ) และ ไฮโดรเจนฟอสเฟต (HPO42- ) โดยที่ระบบฟอสเฟตจะทำงานได้ดีที่สุดที่ค่าความเป็นกรด – ด่าง 7.21 ดังแสดงในสมการข้างล่าง

H3PO4 ⇌ H2PO4 + H+
H2PO4 ⇌ HPO42- + H+
HPO42- ⇌ PO43- + H+

3. ระบบโปรตีน
โปรตีนทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์ เมื่อสภาวะในช่องปากมีความเป็นกรดสูงคือค่าความเป็นกรด-ด่าง ต่ำกว่า 5 มีการศึกษาที่พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของโปรตีนที่มากขึ้นกับการมีคุณสมบัติเป็นบัฟเฟอร์คาพาซิตี้ที่ดีในช่วงค่าความเป็นกรด – ด่างที่ลดลงจาก 5.5 ถึง 4.0 อย่างไรก็ตามเมื่อใช้โปรตีนเพียงอย่างเดียวในการทำหน้าที่บัฟเฟอร์กลับไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดี จึงเป็นไปได้ว่าในการทำหน้าที่ของโปรตีน ตัวโปรตีนอาจจะทำปฏิกิริยากับสารบางอย่างในน้ำลายทำให้ทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์ได้

เอกสารอ้างอิง
[1] กรัณฑ์รัตน์ ทิวถนอม, 2543, การวัดระดับยาในน้ำลาย : ทางเลือกใหม่ของการติดตามผลการรักษาด้วยยา, วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, ปีที่ 19-20 ฉบับที่ 2.
[2] ชัชศรี เขื่อนสุวรรณ ประไพ ศิวโมกษธรรม และวิจิตร คำอ้าย, การตรวจหาการติดเชื้อเอดส์จากน้ำลาย –
ในผู้ป่วยที่มารับการรักษาทางทันตกรรม, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.