กระดูกเชิงกราน (bony pelvis) และกระดูกเชิงกรานหัก

41739

กระดูกเชิงกราน (bony pelvis) ประกอบด้วยกระดูกกระเบนเหน็บ (sacrum) กระดูกก้นกบ (coccyx) และกระดูกตะโพก (hip bones) 2 ชิ้น กระดูกสะโพกแต่ละชิ้นประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วน คือ กระดูกปีกสะโพก [ilium] กระดูกก้น [ischium] และกระดูกหัวหน่าว [pubis] ) ขนาบทั้งสองด้านเป็นวงปิด ที่เชื่อมกันดันหน้า โดยกระดูกอ่อนหัวหน่าว (pubis symphysis) และเชื่อมกันด้านหลัง โดยเอ็นข้อต่อระหว่างกระดูกใต้กระเบนเหน็บ และกระดูกปีกสะโพก ที่เรียกว่า interosseous และ posterior sacroiliac (SI) ligaments ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กระดูกเชิงกราน นอกจากนี้ ยังมีเอ็นอีกหลายอันที่ช่วยเสริมความแข็งแรง ได้แก่ sacrotuberous, lumbrosacral, iliolumbar และ anterior SI ligaments ซึ่งในผู้ใหญ่กระดูก 3 ส่วนนี้ จะเชื่อมติดกันในบริเวณที่เรียกว่า acetabulum ซึ่งจะเป็นบริเวณที่รองรับหัวของกระดูก femur กระดูกตะโพก และกระดูกกระเบนเหน็บจะต่อกันทางด้านหลังที่ sacro-iliac joint ส่วนหน้ากระดูก pubis จะเชื่อมต่อกันด้วย fibrocartilaginous disc เรียกว่า pubic sysphysis

กระดูกเชิงกรานเป็นโครงของช่องเชิงกราน (pelvic cavity) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดย pelvic brim คือช่องเชิงกรานไม่แท้ (false pelvis หรือ greater pelvis) อยู่ทางส่วนบน และช่องเชิงกรานแท้ (true pelvis/lesser pelvis) หรือ ทางส่วนล่าง

• Pelvic inlet (pelvic brim/superior aperture) ประกอบด้วยส่วนของ pubic sysphysis , ขอบนูนของกระดูกกระเบนเหน็บ (sacral promontory) และขอบของกระดูก ilium และ pubis ที่เรียกว่า arcuate line หรือ iliopectineal line

• Pelvic outlet (inferior aperture) เป็นส่วนล่างของเชิงกรานแท้ประกอบด้วยกระดูกก้นกบ (coccyx) , sacrotuberous ligaments , ischial tuberosities และ pubic arch

• Ppelvic axis เป็นเส้นโค้งที่เชื่อมระหว่างจุดกึ่งกลางของเส้นที่ลากจากหน้าไปหลังของ inlet และ outlet

• Conjugate vera เป็นเส้นที่ลากจากจุดกึ่งกลางของ sacral promontory ไปยังจุดกึ่งกลางของขอบบนของ pubic symphysis

กระดูกเชิงกรานมีการเจริญเติบโตมาตั้งแต่ระยะเอ็มบริโอที่อายุ 5 สัปดาห์ โดย mesenchyme จะมีการรวมตัวหนาแน่นขึ้น และก่อรูปเป็น blastomal masses ซึ่งจะกลายเป็น pelvic girdle ต่อไป เมื่อ primordium เจริญเข้าสู่ระยะ cartilaginous ในสัปดาห์ที่ 7 และสัปดาห์ที่ 8 ก็จะมีการ ossification

ทารกแรกเกิดทั้งชาย และหญิงจะมีกระดูกเชิงกรานขนาดเล็ก ilium เล็ก และแคบ อยู่ในลักษณะตั้งตรงมากกว่าผู้ใหญ่ มี iliac fossa แคบ และตื้น ขนาดเล็ก กระดูกกระเบนเหน็บเล็ก และแคบ มีส่วนโค้งน้อยมาก มี promontory ยื่นออกมาไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ขนาดของกระดูกเชิงกรานจะสัมพันธ์กับขนาดของขา ซึ่งจะมีขนาดเล็กเหมือนกันด้วยภายหลังจากอายุ 1 ปี เมื่อเด็กเริ่มหัดเดินขาเจริญมากขึ้น และมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรับน้ำหนักของร่างกายในขณะยืน และเดิน ขนาดของกระดูกเชิงกรานก็จะใหญ่ขึ้นด้วย ในทารกแรกเกิดช่องเชิงกรานแท้มีขนาดเล็ก ดังนั้น อวัยวะภายในช่องเชิงกรานต่างๆ เช่น มดลูก ,รังไข่ ,กระเพาะปัสสาวะ จะอยู่ใน abdomen proper จนกระทั่งอายุ 6 ปี ขนาดของเชิงกรานจะมีขนาดใหญ่พอที่จะบรรจุอวัยวะต่างๆภายในช่องเชิงกรานได้ และเมื่อเข้าสู่ในระยะวัยเจริญพันธุ์ก็จะมีการเจริญของ castilaginous bone ใน acetabulum , sacroiliac joint และ symphysis pubis

การเปลี่ยนแปลงกระดูกเชิงกรานในเด็กเริ่มหัดเดิน
1. ส่วนบนของกระดูกเชิงกรานจะหมุนไปข้างหน้าและ sarovertebral angle เป็นมุมป้านเล็กลง
2. ส่วนล่างของกระดูกกระเบนเหน็บจะรับน้ำหนักตัวและจบอยู่ระหว่างกระดูกตะโพกทั้งสองข้างมากขึ้น
3. กระดูกกระเบนเหน็บมีส่วนโค้งเพิ่มมากขึ้น
4. กระดูกสะโพกจะโค้งออกทำให้ขอบเขตของช่วงเชิงการแท้กว้างและชัดเจนมากขึ้น
5. Acetabulum ลึกมากกว่าเดิม ทำให้ข้อตะโพกมีความมั่นคงมากขึ้น
6. ilium ส่วนที่อยู่ระหว่าง acetabulum และ auricular surface ซึ่งจะเป็นตัวรับน้ำหนักและส่งผ่านไปยัง femur จะมีความแข็งแรงมากขึ้น

ความแตกต่างระหว่างเชิงกรานของเพศชาย และเพศหญิงที่สามารถจำแนกได้ คือ เชิงกรานของผู้ชายโดยทั่วไปจะมีน้ำหนักมากกว่าของผู้หญิง ในผู้หญิงเชิงการทั้งหมดจะยื่นไปข้างหน้ามากกว่า และเส้นตึงที่ลากจาก public symphysis ในผู้หญิงจะผ่าน Anterior superior iliac spine (ASIS) แต่ไม่ผ่านในผู้ชาย ส่วนเส้นที่ลากในแนวราบจะผ่านกระดูกก้นกบในผู้ชาย แต่ในผู้หญิงจะไม่ผ่าน

ลักษณะความแตกต่างของกระดูกเชิงกรานในชาย และหญิง

  เพศชาย เพศหญิง
False pelvis แคบ กว้าง
True pelvis แคบและลึกกว่า กว้าง
Obturator รูปไข่ รูปสามเหลี่ยม
Greater sciatic notch แคบ กว้าง
Anterior Superior iliac spine โค้งเข้า โค้งออก
Superior aperture รูปหัวใจ รูปไข่
Iliac fossa ลึก ตื้น
Subpubic angle มุมแหลม มุมฉาก

 

ที่มา : [1]

กระดูกเชิงกรานหัก
กระดูกเชิงกรานมักมีสาเหตุจากการบาดเจ็บ โดยเฉพาะจากอุบัติเหตุจากยานพาหนะ และการกีฬา ซึ่งมีผลทำให้โครงร่างกระดูกไม่มั่นคง และเกิดความเสียต่อระบบหมุนเวียนโลหิต โดยลักษณะกระดูกเชิงกรานหัก แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. กระดูกหักที่มั่นคง (Stable pelvic fractures)
กระดูกหักที่มั่นคง ได้แก่ avulsion/apophysea/traction fractures, isolated wing fractures, non-displaced pubic rami, transverse fractures of sacrm below pelvic ring, Os coccyges fractures, pelvic ligament intact มักพบกระดูกหักชนิดนี้ในนักกีฬาวัยรุ่น หรือนักวิ่ง นักเต้นรำที่มีกิจกรรมอย่างหนัก สำหรับในกลุ่มผู้สูงอายุ มักเกิดจากการล้มโดยส่วนใหญ่ไม่ต้องผ่าตัด และให้ผลการรักษาที่ดี

2. กระดูกหักที่ไม่มั่นคง (Unstable pelvic fractures)
กระดูกหักที่ไม่มั่นคง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ไม่มั่นคงบางส่วน และไม่มั่นคงทั้งหมด กระดูกเชิงกรานหักไม่มั่นคงบางส่วน คือ บิดหมุนได้ (Rotationally unstable) กระดูกเชิงกรานหักไม่มั่นคงทั้งหมด คือ ทั้งบิดหมุนและเลื่อนขึ้นลงได้ (Rotationall and vertically unstable)

การแบ่งชนิดกระดูกหักจะช่วยในการพิจารณาการรักษาและพยากรณ์การบาดเจ็บ โดย Tile’s classification จะช่วยบอกลักษณะการบาดเจ็บ และความมั่นคงในทิศทางต่างๆ ของกระดูกเชิงกราน Young’s classification จะสัมพันธ์กับความจำเป็นในการให้สารน้ำ และการบาดเจ็บร่วมหลายแห่งพบว่า APC lll, LC lll และ Vertical Shear สัมพันธ์กับการบาดเจ็บจาก high-energy ยังพบว่า APC lll เป็นกลุ่มที่ต้องให้เลือดปริมาณมากที่สุด

การประเมินการบาดเจ็บกระดูกเชิงกรานหัก
1. สำรวจการบาดเจ็บเบื้องต้น และปฏิบัติการกู้ชีพ (Primary survey and acute resuscitation) : ABCs
จากการศึกษาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 40% ของผู้ป่วยกระดูกเชิงกรานหัก มีอาการตกเลือดความดันโลหิตต่ำตั้งแต่แรกรับที่ห้องฉุกเฉิน จึงไม่ควรละเลยการประเมิน และการกู้ชีพเพราะอาจมีการบาดเจ็บหลายระบบแฝงเร้นรอการค้นหา หากไม่สามารถแก้ไขให้ทันท่วงที ผู้ป่วยอาจไม่อยู่ในสภาพที่จะแก้ไขให้ดีขึ้นได้ หรืออาจจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

2. สำรวจการบาดเจ็บขั้นที่ 2 (Secondary survey) : วินิจฉัยการบาดเจ็บร่วมหลายระบบภายหลังการสำรวจเบื้องต้นและปฏิบัติการกู้ชีพ จนความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ได้แก่
2.1 การบาดเจ็บในอุ้งเชิงกราน
ระบบปัสสาวะ และระบบสืบพันธุ์ (Genito-urinary system s) ในอุ้มเชิงกราน เป็นส่วนที่มีโอกาสบาดเจ็บได้มากที่สุด 14.6% อาการที่แสดงว่ามีการบาดเจ็บ เช่น มีแผลที่ทวารหนักหรือช่องคลอด, เลือดออกทางปัสสาวะ, คลำกระเพาะปัสสาวะได้, ตรวจทางทวารหนักคลำตำแหน่งของต่อมลูกหมาก, คลำได้ชิ้นกระดูกหรือเลือดคั่งจากการตรวจทางทวารหนัก เรียกว่า Earle’s sing

ในกรณีที่มีเลือดออกหลังเยื่อบุช่องท้อง (retroperitoneal hematoma) โคนขาจะขยายออกทั้งสองข้าง (เลือดไหลเซาะลงมาใต้ inguinal ligament) หรือ เลือดข้างในถุงอัณฑะ ( จากurogenital diaphragm ฉีกขาด) เรียกว่า Destot’s sign

2.2 การบาดเจ็บในช่องท้อง
กระดูกเชิงกรานหักชนิดที่มีการบาดเจ็บรุนแรง (Abbra-viated lnjury Scale [AIS] ≥ 4) จะพบการบาดเจ็บในช่องท้อง 30.7% อวัยวะในช่องท้องที่พบการบาดเจ็บบ่อยที่สุด คือ ตับ อาการที่บ่งชี้ชัดเจนว่ามีการบาดเจ็บในช่องท้องคือท้องขยายออก

3. ประเมินการบาดเจ็บ
(1) กระดูกเชิงการเลื่อนชัดเจนจากการตรวจร่างกาย (ในทิศทางใดก็ได้) ทำให้ขาสั้นหรือบิดไปตามเชิงกรานที่เลื่อนไปใน Lateral Compreaaion จะพบว่าระยะห่างระหว่าง greater trochanter ถึง pubic spine ขอข้างที่หักจะลดลงเรียกว่า Roux’s sign
(2) มีร่องรอยการบาดเจ็บกระดูกเชิงกรานด้านหลัง เช่น ห้อเลือด, เลือดคั่งใต้ผิวหนังหรือบวม
(3) กระดูกเชิงกรานขยับเลื่อนได้
– Pelvic distraction จับ iliac crest แยกออกจากกัน ถ้าได้ผลบวก แสดงว่าเป็น open book injury เป็น Type B1
– Pelvic compression บีบ iliac crest เข้าหากัน ถ้าได้ผลบวก แสดงว่าเป็น Lateral compression อาจจะเป็น type B2 หรือ B3
– Push-pull test จับขาผู้ป่วยข้างที่ต้องการตรวจ และให้ผู้ช่วยจับ iliac creat ให้อยู่นิ่งดันขาผู้ป่วยเลื่อนขึ้น และดึงลงมาตามแนวยาวของขา ถ้าเลื่อนขึ้นหรือลงได้แสดงว่าเป็น Vertical Shear เป็น Type C
4. มีการบาดเจ็บร่วมของอวัยวะอื่น เช่น อวัยวะในช่องท้อง หลอดเลือด เส้นประสาทโดยเฉพาะรากประสาทระดับเอวอันที่ 5 และรากประสาทกระเบนเหน็บอันที่ 1 เป็นต้น
5. มีบัตรแผลติดต่อกับรอยหักแบ่งเป็น 3 ระดับ
– ระดับที่ 1 stable pelvis อัตราการเสียชีวิต 0%
– ระดับที่ 2 unstable pelvis, no rectal injury 33%
– ระดับที่ 3 unstable pelvis, with rectal injury 44%

การตรวจเอ็กซเรย์กระดูกเชิงกรานหัก
1. Pelvis AP view ควรเริ่มต้นส่งตรวจภาพถ่ายรังสีในท่านี้เป็นการคัดกรองเบื้องต้น (Preliminary screening) ทุกรายให้ถือเสมือน crest X-ray ในผู้ป่วย Chest injury และ Plain abdomen AP ในผู้ป่วย Abdominal injury โดยเฉพาะในรายที่ Hemodynamic unstable สามารถบอก classification และให้แนวทางการรักษาจาก Pelvis AP ได้ถึง 90% ของผู้ป่วย
2. Pelvis inlet view ยังลำแสงเอกซเรย์ 40-45 องศา ไปยังปลายเท้า (caudad) ให้จุดส่งศูนย์กลางของลำแสงอยู่กลางเชิงกราน ซึ่งจะเห็นการเคลื่อนไปทางด้านหลัง และการบิดหมุนได้ดีที่สุด
3. Pelvis outlet view ยังลำแสงเอกซเรย์ 40-45 องศา ไปยังศรีษะ (cephalad) ให้จุดศูนย์กลางของลำแสงอยู่กลางเชิงกราน จะเห็นการเลื่อนในแนวบนล่างได้ดีที่สุด ทั้งนี้ ควรจะส่งตรวจทั้ง 3 ท่า เป็นมาตรฐาน เพื่อประเมินกระดูกเชิงกรานหัก และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
4. Pelvis push-pull view ใช้ประเมิน vertical instability โดยเอกซเรย์ยืนยันการเลื่อนตามแนวบน-ล่าง ในขณะที่ทำ push-pull test โดยต้องดมยาสลบ ห้ามทำในกรณีที่เห็นว่ามี sacral fracture zone 2 หรือ 3 และในรายที่ Hemodynamic unstable
5. Pelvis lateral view ใช้ในกรณีหารอยหักบริเวณ sacrum หรือ coccyx
6. Judet oblique views ใช้ในกรณีกระดูกเบ้าตะโพกแตกร่วมด้วย ประกอบด้วย iliac oblique และ obturator oblique view โดยเอียงตะโพกทำมุม 45 องศา (iliac oblique) เอียงตะโพกข้างที่ไม่หักขึ้น ในขณะที่ obturator oblique เอียงข้างที่หักขึ้น

การรักษากระดูกเชิงกรานหัก
1. การรักษากระดูกเชิงกรานหักในระยะแรก (Pelvic fractures: Acute resuscitation)
การรักษากระดูกเชิงกรานหักในระยะแรก เป็นการรักษาสมดุลการไหลเวียนโลหิตของผู้บาดเจ็บ (Hemodynamic stabilization)โดยเบื้องต้นทำการกู้ชีพประกอบด้วย Airwey, Breathing, Circulation การประเมินสภาวะการไหลเวียนโลหิตเป็นสิ่งสำคัญ ร่วมกับการประเมินระบบประสาทโดยเร็ว การประเมินสารน้ำในหลอดเลือดดำ และจะต้องค้นหาปัญหาที่อันตรายถึงชีวิต

ในรายที่การไหลเวียนโลหิตยังไม่คงที่ (Hemodynamic unstable หมายถึง การที่ผู้บาดเจ็บเสียเลือด และต้องได้เลือดมากกว่า 4 units ภายใน 24 ชั่วโมงหรือ 6 units ภายใน 48 ชั่วโมง) ทั้งๆ ที่ได้รับการแก้ไขแล้วก็ยังไม่ดีขึ้นต้องทำการวินิจฉัยโดยเจาะล้างในช่องท้อง (Diagnostic peritoneal lavage, DPL) โดยใช้ supra umbilical technique

ถ้า DPL ได้ผลบวก หรือได้เลือดสดจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เพื่อห้ามเลือดที่ออกจากอวัยวะในช่องท้องถ้า DPL ได้ผลลบ ให้พยายามหาตำแหน่งเลือดออกหลังเยื่อบุช่องท้อง (retroperitoneal hematoma) เนื่องจากกระดูกเชิงกรานหักเป็นการบาดเจ็บที่ค่อนข้างรุนแรง และมีการบาดเจ็บของอวัยวะในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับเลือดจำนวนมาก อาจพิจารณาส่งตรวจ Computer Tomography หรือ Angiography เพื่อหาตำแหน่งเลือดออก และห้ามเลือดในช่องท้อง ร่วมกับดามกระดูกเชิงกราน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงโดยวิธีดามในระยะเร่งด่วนที่ได้ผลดี และใช้เวลาสั้น เสียเลือดน้อย คือ การใช้เหล็กดามภายนอก (External fixator) วิธีนี้ ได้ผลเฉพาะกรณีที่เลือดออกจากกระดูกเชิงกรานหัก และเนื้อเยื่ออ่อนข้างเคียงเท่านั้น

โดยมีข้อบ่งชี้ คือ unstable pelvic fracture type B1 ที่มี pubic diastasis > 2.5 cm. B2, B3, C1, C2, C3, ใน type C การใช้ External fixator เพื่อการดามกระดูกเบื้องต้น เนื่องจาก การยึดตรึงกระดูกเชิงกรานเฉพาะด้านหน้าไม่เพียงพอต้องแก้ไข vertical instability โดยร่วมกับ traction หรือ posterior stabilization ในรายที่เป็น stable fracture เช่น Type A หรือ B1 ที่มี public diastasis < 2.5 cm. ไม่จำเป็นต้องใส่ External fixator

ข้อห้ามสำหรับการใช้ External fixator คือ fracture of iliac bone Ganz C-clamp เป็น pelvic fixator อีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้การเปิดแผลเล็กและใส่ผ่านผิวหนังปลายเหล็กแหลมจะบีบกระดูกเชิงการเข้าหากันในบริเวณใกล้กับ Sacroiliac (Sl) joint ข้อดีคือใช้ เวลาสั้นมาก และใส่ในห้องฉุกเฉินได้ แต่ไม่ควรใช้ใน fracture iliac wing ที่ใกล้กับ Sl joint เฉพาะจะตรงกับตำแหน่งที่ใส่ clamp และไม่ควรใส่นานเกิน 5 วันจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ในหลายสถาบันอาจไม่มี C-clamp ก็สามารถใช้ External fixator ได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องใส่ในห้องผ่าตัดเท่านั้น

แต่ในกรณีที่เลือดออกจากการฉีกขาดของหลอดเลือดหรืออวัยวะภายในฉีกขาด การใส่เหล็กดามไม่สามารถทดแทนการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเข้าไปเย็บซ่อมหลอดเลือด หรืออวัยวะภายในที่ฉีกขาดได้ ดังนั้นการประเมินการบาดเจ็บในระยะแรกจึงมีความสำคัญมาก ที่จะต้องแยกผู้ป่วยที่บาดเจ็บหลายระบบออกจากผู้ป่วยกระดูกเชิงกรานหักเพียงอย่างเดียว

2. การรักษากรณีเฉพาะกระดูกเชิงกรานหัก (Definite Management) มีหลักดังนี้
สำหรับชนิดที่มั่นคง (Type A : Stable fracture ) รวมถึง Tile Type B1-1, B1-2 และ B2-1 (Young Type APC l, LC l) ในกรณีที่
1. ขาสั้นต่างกันเกิน 1.5 cm.
2. ขาบิดหมุนเข้าใน (internal rotation deformity) ที่ไม่สามารถหมุนขาออกหรือหมุนออกได้น้อยกว่า 30 องศาเมื่อเทียบกับข้างปกติ
3. ขาบิดหมุนออก (external rotation deformity) ที่ไม่สามารถหมุนขาเข้าได้เลย
4. ชิ้นกระดูกหักที่ทิ่มบริเวณ perineum หรือ vagina รักษาโดยการผ่าตัดเป็นสำคัญ วิธีการรักษาจะใส่เหล็กดามกระดูกภายใน ตามตำแหน่งที่หัก กล่าวคือ กระดูก เชิงกรานด้านหน้าหักใส่เหล็กดามด้านหน้านิยมใช้ Plate&screws

กระดูกเชิงกรานด้านหลังหัก อาจเลือกใช้ Plate&screws หรือ sacral crews หรือ trans-iliac rod ขึ้นกับชนิดและตำแหน่งที่หักเป็นสำคัญ

กรณีที่หักทั้งด้านหน้าและด้านหลังจะดามทั้งสองด้านโดยเริ่มดามจากส่วนหลังก่อน
ในกรณีกระดูกเชิงกรานหักมีบาดแผล (open fracture of pelvis) มีหลักการสำคัญ คือ
1. การควบคุมเลือดออกจากแผล (control bleeding)
2. การผ่าตัดชำระบาดแผล (debridement) ร่วมกับการเปลี่ยนทางขับถ่าย (fecal diversion)
3. การดามกระดูกหัก (fracture stabilization)

กรณีการบาดเจ็บรุนแรงมากร่วมกับการบาดเจ็บต่อหลอดเลือดใหญ่ ที่ไม่สามารถเย็บซ่อมได้หรือไม่สามารถทนการเสียเลือดจำนวนมากได้ อาจพิจารณาทำ Hemipelvectomy

ภาวะแทรกซ้อนกระดูกเชิงกรานหัก (Pelvic fractures : Complications)
ในระยะแรกที่สำคัญ คือ เสียชีวิต 13.5% เนื่องจาก การบาดเจ็บหลายระบบหรือการบาดเจ็บร่วม (polytrauma, associated injuries)

การบาดเจ็บที่ศีรษะร่วมกับกระดูกเชิงกรานหักที่ต้องผ่าตัดที่ศีรษะ หรือ การบาดเจ็บในช่องท้องร่วมกับกระดูกเชิงกรานที่หักต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง มีอัตราการเสียชีวิต 50% และ 52% ตามลำดับ ถ้ามีการบาดเจ็บทั้งสามแห่งจะมีอัตราการรอดชีวิตเหลือน้อยกว่า 10% ดังนั้น การบาดเจ็บหลายระบบเป็นสิ่งสะท้อนถึงความรุนแรงของการบาดเจ็บ และอัตราการรอดชีวิต นอกจากนี้ การบาดเจ็บในช่องอก ระบบปัสสาวะหรือกระดูกหักหลายแห่งมีอัตราการเสียชีวิต 20 – 22% และมีเพียง 0.5 – 0.8% ที่เสียชีวิตอันเนื่องจากกระดูกเชิงกรานหัก [2]

ขอบคุณภาพจาก realfirstaid.co.uk,

เอกสารอ้างอิง
[1] นันทยา อุดมพาณิชย์, 2539, มิติกระดูกเชิงกรานของคนไทยที่รวบรวมในภาคเหนือ.
[2] ปิยวรรณ จตุปาริสุทธิ์, 2546, กระดูกเชิงกรานหัก, ศรีนครินทร์เวชสาร 18 (2).