กัลยาณมิตร เพื่อนแท้/มิตรแท้ 4 ประการ

40430

กัลยาณมิตร หมายถึง เพื่อนแท้ หรือ มิตรแท้ ที่มีความพรั่งพร้อมแห่งคุณธรรมความดีงาม เป็นผู้ห่างไกลจากสิ่งอันเป็นข้าศึก ในการพัฒนาศักยภาพชีวิต และตั้งตนอยู่อย่างเหมาะสมแห่ง การเคารพ รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุข และคุณธรรมความดีงามต่างๆให้แก่เพื่อนหรือคนรอบข้างด้วยความเข้าใจ จนเป็นแรงเหนี่ยวนำให้เพื่อนหรือคนรอบข้างเกิดการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาไปสู่ประโยชน์ และความสุขในระดับต่างๆ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ตลอดจนยินดีในการช่วยเหลือ เกื้อกูล ส่งเสริม และการพัฒนาชีวิตผู้อื่น ดังนี้จึงเรียกว่า กัลยาณมิตร หรือ มิตรแท้

กัลยาณมิตร มาจากคำว่า
กัลยาณะ” หมายถึง ความดีงาม
มิตร” หมายถึง เพื่อนหรือคนรอบข้างที่ชอบพอกัน มีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ความหมายของกัลยาณมิตรอื่นๆ
กรมการศาสนา กล่าวว่า กัลยาณมิตร หมายถึง องค์ธรรมหรือคุณธรรมภายในอันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวถึง กัลยาณมิตร หมายถึง มิตรทั้งหลายที่เป็นผู้มีคุณงามความดี เพียบพร้อมไปด้วยคุณความดีทั้งหลาย

พระณรงค์ กิตติธโร (เด่น ประเสริฐ) กล่าวถึง กัลยาณมิตร หมายถึง องค์ที่ประกอบด้วยกลุ่มบุคคล ผู้ทำให้เกิดการเรียนรู้ มีความเพียบพร้อมด้านคุณสมบัติที่สามารถให้คำอบรมสั่งสอน ช่วยแนะนำ ชี้แจง ชักจูง ช่วยบอกเส้นทาง หรือเป็นบุคคลที่สามารถเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต นำไปสู่หนทางการเรียนรู้ ฝึกฝนที่ถูกต้อง ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะตัวบุคคล แต่ยังรวมถึงหนังสือ สิ่งแวดล้อมทางสังคมโดยที่เกื้อกูล ชักจูงส่งเสริม เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการเรียนรู้ มีปัญญาด้วยการฟัง ด้วยการสนทนาหรือซักถามข้อสงสัยด้วยการอ่าน การค้นคว้า

เดือน คำดี กล่าวถึง กัลยาณมิตร หมายถึง มิตรที่คบเราโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ กล่าวคือ เมื่อมีความผูกพันเกิดขึ้นแล้วก็คิดถึงแต่ประโยชน์ของผู้รับเท่านั้น คือ พยายามทุกวิถีทางในการที่จะพัฒนาของอีกฝ่ายให้ได้ โดยไม่มีความคิดเรื่องผลประโยชน์มาสอดแทรก

ความสำคัญของกัลยาณมิตร
1. เอื้อต่อการพัฒนาชีวิต
2. เป็นหลักธรรม และบุคคลก็มีความสำคัญอย่างที่สุดในการนาผู้อื่นให้เข้าสู่มรรคาแห่งพุทธธรรม
3. เป็นบ่อเกิดแห่งกุศลธรรม
4. เป็นการเข้าถึงประโยชน์ในปัจจุบัน และอนาคต
5. เป็นการพัฒนาใน 4 ด้าน คือ
– การพัฒนาทางกาย เพื่ออบรมการใช้กายสัมผัสทั้งห้าในทางที่เป็นคุณ โดยปราศจากโทษ และให้ได้รับซึ่งโลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์อย่างถูกต้องชอบธรรม
– การพัฒนาศีล เพื่อให้มีความเป็นปกติในแต่ละระดับ ทั้งศีลในระดับโลกียะ และพัฒนาสู่ศีลในระดับโลกุตร
– การพัฒนาจิต ให้เป็นสัมมาสมาธิ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง สดชื่น เบิกบาน สุขในชีวิต และใช้สมาธิจิตในทางกุศล พร้อมทั้งเป็นบาทฐานแห่งการพัฒนาปัญญาต่อไป
– การพัฒนาปัญญา เพื่อให้ได้ซึ่งโลกียปัญญาในระดับสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา เพื่อมีความฉลาดในการแก้ปัญหาอุปสรรคของชีวิตตามความสามารถ
6. ประโยชน์ที่เป็นสภาวะแท้จริงอันเป็นจุดหมายสูงสุดอันยวดยิ่ง คือ ปรมัตถประโยชน์ ทำให้เข้าถึงสภาวะที่ไม่ตกเป็นทาสในสิ่งต่างๆ ปราศจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองไปตามลำดับอริยผลจนได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพานอันเป็นอุดมธรรมของพระพุทธศาสนา

หลักการของกัลยาณมิตร
1. สันติสุขของสังคมเกิดขึ้นจากการที่บุคคลมีน้าใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันนักเรียน ครู พ่อ แม่ ชุมชน ต่างมีน้ำใจต่อกัน มีเมตตาธรรม พร้อมที่จะเข้าใจ ร่วมมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
2. การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทั้งโดยตนเอง และการเรียนรู้จากผู้อื่น มนุษย์สามารถเรียนรู้ และฝึกฝนตนเองให้อยู่รอดได้โดยสัญชาติญาณ มนุษย์ได้เรียนรู้จากการเผชิญปัญหา การลองผิดลองถูก การเลียนแบบ การฝึกหัดทำซ้ำๆ เรียนรู้ข้อผิดพลาดเก็บไว้เป็นประสบการณ์ การเรียนรู้เช่นนี้จะพัฒนาได้มากขึ้นถูกต้องรวดเร็วขึ้นถ้ามีผู้คอยชี้แนะ และช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษา
3. การระดมความคิด การแลกเปลี่ยนความคิดจากสมาชิกในกลุ่ม ย่อมช่วยแก้ปัญหาได้ดีกว่าการคิดเพียงลำพัง หลักการนี้ เน้นกระบวนการกลุ่มในการแก้ปัญหา เมื่อบุคคลเผชิญปัญหาที่รุมล้อมรุนแรง จิตที่ทะยานยาก ความโกรธ และความหลงผิดนั้นทำให้บุคคลมีอารมณ์วู่วาม ขาดการพินิจพิจารณา ใช้อารมณ์ ตัดสิน โดยเข้าข้างตัวเองเป็นใหญ่ สงสารตนเอง มีอคติ การแก้ไขปัญหาจึงมักผิดพลาด ซ้ำเติม ผลร้ายรุนแรงเพราะความเก็บกดของตนเอง การได้มีโอกาสระบายความรู้สึกนึกคิด มีผู้รับฟังปัญหา และมีใครสักคนหนึ่งแสดงความเห็นใจ เข้าใจและช่วยแนะทางแก้ปัญหานั้น นับเป็นโชคอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาเวลาที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มจะช่วย ผู้อื่นผ่อนคลายความเครียด และอารมณ์ สามารถเข้าใจเหตุปัจจัยของปัญหา ในมุมมองของผู้อื่นด้วย
4. คุณธรรมเกิดได้ด้วยการรู้จักเตือนตนเอง รู้จักบังคับตนเอง และการที่มีผู้คอยเตือน และชี้แนะ ย่อมทำให้ผู้นั้นสามารถคิด และปฏิบัติได้ถูกต้องตามคุณธรรมมากขึ้น การยอมรับซึ่งกันและกัน ลดอัตตาการยึดมั่นถือมั่นทะนงตน ลดความหวาดระแวง
5. เมื่อคนเราเผชิญปัญหา และตกอยู่ในสถานการณ์ที่คับขันมักทำให้เกิดความสับสน ความทุกข์ใจ ความไม่พึงพอใจ ย่อมทำให้ผู้นั้นขาดเหตุผล มีอคติ และขาดความรอบคอบ จนนำไปสู่การตัดสินใจแก้ปัญหาในทางที่ผิด การมีผู้คอยชี้แนะ ด้วยหลักการที่ดี ย่อมช่วยให้แก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ถูกต้องได้

ประเภทของมิตร
1. มิตรเทียม 4 ประการ
1.1 ผู้ที่มุ่งเอาแต่ประโยชน์แก่ตนฝ่ายเดียว มี 4 ลักษณะ ได้แก่
– ผู้ที่มีเจตนาหวังเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว โดยมิหวังเสียเปรียบ
– ผู้ที่มีเจตนาหวังเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์จากผู้อื่นด้วยการเสียประโยชน์ของตนแต่เพียงเล็กน้อย เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่มากกว่า
– ผู้ที่กระทำประโยชน์แก่เพื่อเมื่อยามทุกข์ร้อนเพื่อหวังให้เพื่อนช่วยเหลือ แต่เมื่อพ้นทุกข์ พ้นภัยแล้วก็พยายามปลีกตัวหนีไป
– ผู้ที่คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ทรัพย์หรือประโยชน์ต่อตน
1.2 ผู้ที่มีดีแต่คำพูด มี 4 ลักษณะ ได้แก่
– กล่าวยินดี และสรรเสริญกับเรื่องที่เป็นอดีตไปแล้ว
– กล่าวยินดี และสรรเสริญกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึง
– กล่าวยินดี และสรรเสริญกับสิ่งที่หาประโยชน์มิได้
– ไม่ยินดี และไม่สนับสนุนในกิจที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าหรือกิจที่ทำให้ตนเสียประโยชน์
1.3. ผู้ที่ชอบประจบ มี 4 ลักษณะ ได้แก่
– ผู้ที่กล่าวชื่นชมหรือสนับสนุนเพื่อน เมื่อเพื่อนกระทำชั่วเป็นนิจ
– ผู้ที่กล่าวชื่นชมหรือสนับสนุนเพื่อน เมื่อเพื่อนกระทำดีเป็นนิจ
– ผู้ที่กล่าวชื่นชมหรือสนับสนุนเพื่อนต่อหน้าเป็นนิจ
– ผู้ที่กล่าวนินทาลับหลังเป็นนิจ
1.4. ผู้ที่ชักนำหรือส่งเสริมเพื่อนในทางเสื่อม มี 4 ลักษณะ ได้แก่
– ผู้ที่ชักนำเพื่อนให้มัวเมาในการดื่มหรือเสพสุรา และเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาทเป็นนิจ
– ผู้ที่ชักนำเพื่อนให้มัวเมาในการออกเที่ยวในยามวิกาลเป็นนิจ
– ผู้ที่ชักนำเพื่อนให้มัวเมาในการเที่ยวดูสิ่งบันเทิงเป็นนิจ
– ผู้ที่ชักนำเพื่อนให้มัวเมาในการพนันเป็นนิจ

กัลยาณมิตร

2. มิตรแท้/เพื่อนแท้ (สุหทมิตร) หรือ กัลยาณมิตร 4 ประการ
2.1 มิตรมีอุปการะ เป็นมิตรมีใจดี มี 4 ลักษณะ คือ
– ปกป้องเพื่อนมิให้เป็นผู้ประมาทหรือปกป้อง และช่วยเหลือเพื่อนที่กระทำผิดในความประมาท
– ปกป้องทรัพย์ของเพื่อได้
– สามารถพึ่งพาอาศัยได้เมื่อยามทุกข์หรือมีภัย
– เมื่อมีกิจร่วมกันกับเพื่อน ผู้นั้นยินดีต่อการออกทรัพย์เท่ากันหรือมากกว่า

2.2 มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข เป็นมิตรมีใจดี มีลักษณะ 4 ประการ คือ
– บอกสิ่งที่เพื่อควรรู้แก่เพื่อน เรื่องที่เป็นความลับของตนที่ไม่สามารถบอกแก่ผู้อื่นได้ แต่สามารถบอกแก่เพื่อนของตนได้
– เก็บรักษาความลับของเพื่อนได้ ย่อมรักษาความลับของเพื่อนเพื่อไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้
– ไม่ละทิ้งเพื่อนในยามทุกข์ หรือ ในยามประสบอันตราย
– สามารถสละความสุข และชีวิตของตนเพื่อความสุข และชีวิตของเพื่อนได้

2.3 มิตรแนะประโยชน์มีลักษณะ 4 ประการ คือ
– ห้ามเพื่อนมิให้ประพฤติในความชั่ว
– แนะนำให้เพื่อนประพฤติอยู่ในความดี
– ให้รู้ในสิ่งที่เพื่อนยังไม่เคยรู้ และช่วยอธิบายให้เข้าใจ
– บอกทางสวรรค์ให้มิตร ด้วยการแนะนำ และอธิบายให้เพื่อนทั้งหลายกระทำกรรมดีแล้วย่อมเกิดในสวรรค์

2.4 มิตรมีความรักใคร่ เป็นมิตรมีใจดี มีลักษณะ 4 คือ
– ไม่ยินดีกับความเสื่อมของเพื่อน
– ยินดีในความเจริญของเพื่อน
– ห้ามปรามคนที่นินทาหรือติเตียนเพื่อน หรือช่วยแก้ต่างให้
– ยินดี และส่งเสริมผู้ที่สรรเสริญเพื่อน

กัลยาณมิตร

ลักษณะผู้มีกัลยาณมิตร 7 ประการ
1. ปิโย คือ ความน่ารัก หมายถึง ผู้ที่เข้าถึงจิตใจของเพื่อนด้วยความรัก และเมตตา โดยมิหวังสิ่งตอบแทนใดๆ จนทำให้เพื่อนนั้น รู้สึกอบอุ่นใจ มีความสบายใจ และอยากคบหา อยากเข้าไปปรึกษา ผู้ที่ประพฤติเช่นนี้ ย่อมเป็นที่รักของเพื่อน และคนรอบข้าง

2. ครุ คือ น่าเคารพ หมายถึง ผู้ที่มีความประพฤติดี เหมาะสมแก่ฐานะ และบทบาททางสังคม เป็นผู้มีความประพฤติเป็นแบบอย่างของเพื่อน และผู้อื่น อันนำมาสู่ความรู้สึกอบอุ่นใจ และหวังเป็นที่พึ่งของเพื่อนหรือคนรอบข้างได้ในยามทุกข์ รวมถึงความเคารพที่บริสุทธิ์ใจต่อผู้นั้นที่ประกอบอยู่ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา อย่างสม่ำเสมอ ผู้ที่ประพฤติเช่นนี้ ย่อมได้รับความเคารพจากเพื่อน และคนรอบข้าง

3. ภาวนีโย คือ น่าเจริญใจในคุณธรรม หมายถึง ผู้ที่น่าได้รับการยกย่อง ด้วยการตั้งอยู่ศีล สมาธิ และปัญญา อย่างสม่ำเสมอ จนถือเป็นแบบอย่างแก่เพื่อน และคนรอบข้าง อันนำไปสู่ความเจริญในภายภาคหน้า ผู้ที่ประพฤติเช่นนี้ ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญจากเพื่อน และคนรอบข้าง

4. วัตตา คือ รู้จักพูดให้ได้ผล หมายถึง ผู้ที่รู้จักใช้คำพูดหรือถ้อยคำในการชี้แจงหรืออธิบายให้แก่เพื่อนหรือคนรอบข้างเกิดความเข้าใจต่อปัญหานั้น จนนำมาสู่การปฏิบัติที่ให้ผล และมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ประพฤติเช่นนี้ ย่อมถือว่า เป็นนักพูดที่ดี

5. วจนขโม คือ อดทนต่อถ้อยคำ หมายถึง ผู้ที่พร้อมที่จะรับฟังคำพูดของผู้อื่น อันได้แก่ คำถาม คำเสนอแนะ และคำวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่โต้แจ้งทั้งที่ผู้อื่นยังกล่าวไม่จบ หรือมีกิริยาที่ไม่สนใจ แต่พึงยอมฟังคำพูดของผู้อื่น และนำมาไตร่ตรองอยู่เสมอ ผู้ที่ประพฤติเช่นนี้ ย่อมถือเป็นผู้ฟังที่ดี

6. คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา คือ แถลงเรื่องลึกล้ำได้ หมายถึง ผู้ที่สามารถใช้ความรู้ และสติปัญญาในการชี้แจงหรืออธิบายให้แก่เพื่อนหรือคนรอบข้างเกิดความเข้าใจ และรู้แจ้งถึงปัญหานั้นๆที่ซับซ้อนได้จนนำไปสู่การตั้งอยู่ในความไม่ประมาทของการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของคุณธรรมอันงาม ผู้ที่ประพฤติเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้รู้จริง และมีปัญญา

7. โนจัฏฐาเน นิโยชเย คือ ไม่ชักนำสู่ทางเสื่อม หมายถึง ผู้ที่ไม่ใช้ความรู้กล่าวชักนำเพื่อนหรือคนรอบข้างไปในทางที่ผิดต่อคุณธรรม อันจะทำให้ผู้นั้นเกิดความเสื่อมเสีย ผู้ที่ประพฤติเช่นนี้ ย่อมถือเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดี

กัลยาณมิตร1