การฝากครรภ์ และขั้นตอนการฝากครรภ์

19872

การฝากครรภ์ หมาย ถึง การดูแลการตั้งครรภ์ของสตรีมีครรภ์ และทารกในครรภ์ โดยใช้ความรู้ทางการแพทย์ในด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคมของหญิงตั้งครรภ์ เพื่อเฝ้าระวัง และติดตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งการใก้ความรู้ และคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ โดยมีการนัดตรวจติดตามสุขภาตลอดระยะการตั้งครรภ์

การฝากครรภ์ตามเกณฑ์ หมายถึง การมารับบริการตรวจครรภ์เป็นระยะจนกระทั่งคลอด โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้้ว่า หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจครรภ์อย่าง น้อย 4 ครั้ง ขึ้นไปตลอดระยะการตั้งครรภ์จึงจะเป็นไปตามเกณฑ์การฝากครรภ์

การฝากครรภ์

จุดประสงค์การฝากครรภ์
• เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ และการคลอดปกติ
• ส่งเสริมคุณภาพร่างกาย และจิตใจของมารดาระหว่างการตั้งครรภ์
• วินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ พร้อมค้นหาสาเหตุ และหาแนวทางการแก้ไข
• ป้องกัน และลดอาการแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์
• เพื่อคัดกรองโรค
• เพื่อลดอัตราการตายของมารดา และทารกในครรภ์ เช่น การคลอดผิดปกติ การเสียเลือด การติดเชื้อ การคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
• เพื่อช่วยให้ทารกคลอด และมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์
• ให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติตนระหว่างการตั้งครรภ์ในด้านสุขศึกษา โภชนาการ การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ความผิดปกติจากการตั้งครรภ์เพื่อลดความกังวล และส่งเสริมสุขภาพขณะตั้งครรภ์

ระยะการตรวจครรภ์
กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางของช่วงระยะการเข้ารับการตรวจครรภ์ไว้ดังนี้
• ครั้งที่ 1 ในช่วงอายุครรภ์ 1-27 สัปดาห์
• ครั้งที่ 2 ในช่วงอายุครรภ์ 28-31 สัปดาห์
• ครั้งที่ 3 ในช่วงอายุครรภ์ 32-35 สัปดาห์
• ครั้งที่ 4 ในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 36 สัปดาห์ ขึ้นไป

จำนวนครั้ง และความถี่การนัดตรวจครรภ์ตามคลีนิกหรือสถานพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้หลักเกณฑ์ ดังนี้
– อายุครรภ์ไม่เกิน 28 สัปดาห์ ให้นัดทุก 4 สัปดาห์
– อายุครรภ์ระหว่าง 28-36 สัปดาห์ ให้นัดทุก 2 สัปดาห์
– อายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ ขึ้นไป ให้นัดทุก 1 สัปดาห์

กิจกรรมขณะฝากครรภ์
การฝากครรภ์ครั้งแรก
โดยแนะนำให้มาฝากครรภ์ทันทีหลังทราบการตั้งครรภ์ และควรเป็นการฝากครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ 1-27 สัปดาห์ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
– การประเมินอายุครรภ์ที่แน่นอน
– การประเมินความเสี่ยงทั้งทางด้านร่างกาย และจิตสังคมของหญิงตั้งครรภ์ โดยการซักประวัติ และตรวจร่างกาย
– การประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆของทารกในครรภ์ โดยการตรวจร่างกายของมารดา และทารกในครรภ์
– การให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการฝากครรภ์ และข้อปฏิบัติที่ดีขณะตั้งครรภ์

การฝากครรภ์ ครั้งที่ 2-4
เป็นการฝากครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ ขึ้นไป จนถึงการคลอด เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และติดตามความผิดปกติขณะตั้งครรภ์โดยมีกิจกรรมการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ดังนี้
– การตรวจปัสสาวะ
– การชั่งน้ำหนัก
– การวัดความดันเลือด
– การตรวจวิเคราะห์เลือด
– การให้วัคซีน
– การตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจอายุครรภ์ และการยืนยันเพศทารก รวมถึงตรวจสภาพความผิดปกติของทารกในครรภ์
– การวางแผนการคลอด และให้คำแนะนำการปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์

1. การซักประวัติ
การซักประวัติส่วนตัว ประกอบด้วย
– อายุ
– อาชีพ
– ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต
– ประวัติการใช้ยา และแพ้ยา
– ประวัติการคุมกำเนิด
– โรคทางพันธุกรรม และโรคติดต่อ
– ประวัติการตั้งครรภ์ การคลอด
– ประวัติการแท้ง และการขูดมดลูก
– ความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์
– ประวัติทารกดิ้น และประวัติการใช้ยา
– ประวัติการคลอดครั้งก่อนๆ และจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์
– ประวัติการคลอดก่อนกำหนด
– ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ และการคลอด
– ระยะเวลาของการคลอดแต่ละครั้ง และการนอนโรงพยาบาล
– ภาวะของเด็กหลังคลอด น้ำหนักแรกเกิด การเจริญเติบโตของเด็ก
– การผ่าตัดเกี่ยวกับมดลูก รวมทั้งการผ่าท้องคลอดจากสาเหตุต่างๆ
– การซักประวัติเด็กดิ้น ซึ่งครรภ์แรกมารดาจะเริ่มรู้สึกว่าเด็กดิ้น เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18 สัปดาห์ และครรภ์หลังประมาณ 16 สัปดาห์

2. การตรวจร่างกายทางสูติกรรม และการตรวจครรภ์
กิจกรรมการตรวจร่างกายด้วยเปรียบเทียบขนาดมดลูกกับระยะการขาดประจำเดือน เพื่อวินิจฉัยสภาพของเด็กในครรภ์มารดาว่าอยู่ในลักษณะใด เด็กมีชีวิตอยู่หรือไม่ และเพื่อเป็นการวินิจฉัย ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมกับการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์แฝด ก้อนทูมในช่องท้อง ฯลฯ ในการตรวจทุกครั้ง ต้องซักประวัติและตรวจร่างกายดังนี้
• ทารก
– อัตราการเต้นหัวใจทารก (Fetal heart rate)
– ขนาดของทารก (Size of fetus)
– ปริมาณน้ำคร่ำ (Amount of amniotic fluid)
– ส่วนนำ และท่าของเด็กในช่วงหลังของการตั้งครรภ์
– การดิ้นของทารก (Fetal activity)
• มารดา
– ความดันโลหิต
– น้ำหนัก
– อาการผิดปกติ ได้แก่ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนมีเลือดออก มีน้ำออกทางช่องคลอด และปัสสาวะแสบขัด
– ระยะระหว่าง uterine fundus และ symphysis pubis
– การตรวจภายในช่วงใกล้คลอดเพื่อยืนยันส่วนนำ สภาพปากมดลูกเพื่อประเมินวันที่คลอด และเพื่อเตรียมความพร้อม

สำหรับการนัดตรวจ ใน 28 สัปดาห์แรก นัดทุก 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นนัดทุก 2 สัปดาห์ จนถึง 36 สัปดาห์ และนัดทุก 1 สัปดาห์จนคลอด แต่ถ้าเป็นครรภ์เสี่ยงสูงอาจต้องนัดถี่กว่านี้ ขึ้นอยู่กับความผิดปกติ

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การฝากครรภ์ครั้งแรกจะได้รับการตรวจเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพมารดา เมื่อพบความผิดปกติอาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการ
การตรวจสตรีที่มาฝากครรภ์ครั้งแรก ได้แก่
– การตรวจ complete blood count
– การตรวจ blood group และ Rh type
– การตรวจ VDRL (syphilis screen)
– การตรวจ Hepatitis B virus screen
– การตรวจ Rubella antibody titer
– การตรวจ Anti HIV
– การตรวจ cervical cytology
– การตรวจคัดกรองซิฟิลิส (Syphilis) และตรวจ hematocrit หรือ hemoglobin ซ้ำเมื่ออายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์
– การตรวจคัดกรองเบาหวาน ใช้ตรวจเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ โดยการกินกลูโคส 50 กรัม หลังจากนั้นเจาะหาระดับกลูโคสในพลาสมาหลังผ่านไป 1 ชั่วโมง ถ้าเกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตรถือว่ามีความเสี่ยง
– การตรวจทารกเพื่อหาโครโมโซมผิดปกติ โดยการเจาะน้ำคร่ำมาเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อตรวจโครโมโซม ใช้ตรวจเมื่ออายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์

4. การวินิจฉัยความเสี่ยงสูง
การวินิจฉัยภาวะครรภ์เสี่ยงสูงของมารดา และทารกในครรภ์ที่อาจเกิดอันตรายหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ และขณะคลอดได้ โดยสตรีตั้งครรภ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง ได้แก่
• อายุ สตรีที่อายุน้อยกว่า 20 ปี มีโอกาสที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย และการคลอดยาก จากมารดาเกิดภาวะขาดโภชนาการที่อาจมีผลต่อการพัฒนาของร่างกาย โดยเฉพาะกระดูกเชิงกรานที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่วนสตรีที่อายุมากกว่า 35 ปีมีความเสี่ยงของการคลอดบุตรที่มีโครโมโซมผิดปกติเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสตรีที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี
• จำนวนการคลอดบุตร สตรีตั้งครรภ์ที่เคยคลอดบุตรมากกว่า 4 คนขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะ placenta previa สูงขึ้น และเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอดสูง
• ความสูง สตรีตั้งครรภ์ที่สูงน้อยกว่า 140 เซนติเมตร มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ cephalopelvic disproportion
• น้ำหนัก สตรีตั้งครรภ์ที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 7 กิโลกรัม ตลอด การตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะทารกน้ำหนักตัวน้อยหรือภาวะทารกเจริญเติบโตช้าใน ครรภ์ (intrauterine growth restriction)
• ความผิดปกติทางสูติกรรม ได้แก่ การมีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์ การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด ภาวะ pre-eclampsia และ eclampsia ครรภ์แฝด ครรภ์แฝดน้ำ ทารกมีความพิการแต่กำเนิด ทารกตายในครรภ์ เป็นต้น
• ผลตรวจเลือดผิดปกติ เช่น VDRL ให้ผล reactive, HBsAg ให้ผลบวก หรือ Anti HIV ให้ผลบวก
• โรคเบาหวาน หรือมีประวัติเป็นโรคเบาหวานในครอบครัว หรือมีประวัติเคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 4,000 กรัม
• โรคทางด้านเลือด ได้แก่ โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และโรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น
• โรคแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจเกิดขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และโรคทางอายุรกรรมอื่นๆ
• ประวัติความผิดปกติในครรภ์ก่อนๆ ได้แก่ การผ่าตัดคลอดหรือผ่าตัดมดลูก คลอดบุตรก่อนกำหนด ทารกตายในครรภ์ มดลูกแตกหรือภาวะมีเลือดออกก่อนคลอด เป็นต้น

5. การให้คำแนะนำในสตรีตั้งครรภ์
การให้คำแนะนำสำหรับการปฏิบัติตนที่ดี ได้แก่ คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร การพักผ่อนนอนหลับ การขับถ่าย การออกกำลังกาย เสื้อผ้าที่สวมใส่ สันทนาการ การมีเพศสัมพันธ์ การงดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การมาตรวจครรภ์ตามนัด และสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบมาพบแพทย์ ได้แก่
– มีเลือดออกทางช่องคลอด
– บวมตามใบหน้าและนิ้วมือ
– ปวดศีรษะรุนแรง
– ตาพร่ามัว
– ปวดท้องจุกแน่นยอดอก
– อาเจียนรุนแรง
– ไข้ หนาวสั่น
– ปัสสาวะแสบขัด
– มีน้ำออกทางช่องคลอด
– ทารกดิ้นลดลง ทั้งความถี่ และความแรง

ขั้นตอนการฝากครรภ์
สำหรับขั้นตอนการฝากครรภ์จะไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากนัก โดยส่วนมากคลีนิก และสถานพยาบาลจะทำการคัดกรองประเภทของหญิงที่มาฝากครรภ์ก่อน โดยมีขั้นตอนดังแผนภาพด้านล่าง

ฝากครรภ์1

ฝากครรภ์2

ขอบคุณภาพ และขั้นตอนการฝากครรภ์จาก ศูนย์อนามัยที่ 2 สระบุรี

สำหรับค่าใช้จ่าย หากเป็นคลีนิกจะเก็บแพงกว่าของสถานพยาบาลภาครัฐ ขึ้นอยู่กับการตกลงราคา และการให้บริการ มีทั้งในราคาหลักพัน-หลักหมื่น ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ ส่วนสถานพยาบาลเอกชนมักจัดเป็นแพกเกจให้เลือก ส่วนสถานพยาบาลภาครัฐมักมีโครงการฝากครรภ์ฟรี และมีเสียค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าของสถานพยาบาลเอกชน และคลีนิก