ครอบครัว และการทำให้ครอบครัวมีความสุข

104509

ครอบครัว หมายถึง กลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันซึ่งอาจมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด อันประกอบด้วยบุคคลที่แต่งงานกัน บุตรผู้เป็นทายาท ปู่ย่า ตายายผู้มีอุปการะ และบุคคลอื่นที่มารวมอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ ถูกสานสัมพันธ์ด้วยความรัก ความห่วงใย และบทบาทหน้าที่เพื่อการดำรงอยู่ของครอบครัว

ครอบครัว เป็นสถาบันหนึ่งในสังคมที่ประกอบด้วยสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาอยู่ร่วมกันในครัวเรือนเดียวกันในฐานะสามีภรรยาพ่อแม่พี่น้องมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยการสมรส การสืบสายโลหิตหรือการยอมรับตามกฎหมาย มีการตัดสินใจร่วมกันมีการรับรู้ความทุกข์สุข มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกัน และกัน มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมและจริยธรรมต่างๆเพื่อการดำรงอยู่ในสังคมต่อไป

ครอบครัว

ประเภทของครอบครัว
1. ครอบครัวเดี่ยว (Nuclear families) ประกอบด้วย ชายหญิงอยู่ร่วมกัน และอาจมีบุตรของตนเองหรือมีการรับเป็นบุตรบุญธรรม ครอบครัวเดี่ยวลักษณะนี้ มีมาแต่โบราณ และยังคงเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้มากที่สุด
2. ครอบครัวขยาย (Extended families) ประกอบด้วย บิดามารดา เครือญาติ และอาจ หมายรวมถึง บุคคลที่ไม่ใช่เครือญาติแต่มาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันเสมือนเครือญาติก็ได้
3. ครอบครัวที่ประกอบด้วยบิดามารดาที่ผ่านการหย่าร้าง และได้สร้างครอบครัวใหม่ โดยมีบุตรจากครอบครัวเดิมหรือไม่ก็ได้
4. ครอบครัวที่ไม่มีบุตร
5. ครอบครัวที่บุตรอยู่ร่วมกับบิดาหรือมารดาเพียงผู้เดียว (Lone-parent families)
6. ครอบครัวที่ชายหญิงอยู่ร่วมกันในแบบที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จึงไม่ได้เป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย
7. ครอบครัวเพศเดียวกัน หรือเรียกว่า กลุ่มเกย์สำหรับเพศชายต่อชาย หรือ กลุ่มเลสเบี้ยน สำหรับเพศหญิงต่อเพศหญิง ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายหรือยอมรับตามกฎหมายในบางประเทศ

ลักษณะของครอบครัว
1. มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน
ผู้ที่เป็นสามี หรือ ภรรยา หรือ บุตร จะต้องมีเป้าหมายทางครอบครัวที่เหมือนกัน เช่น ต้องการสร้างครอบครัวให้มี ความสุขปราศจากอบายมุข ทั้งสามี ภรรยา บุตร จะต้องละเว้นจากอบายมุขทั้งปวง ถ้าเช่นนั้นครอบครัวก็จะมีความสุข

2. มีการแบ่งงานกันทำ
การแบ่งงานกันทำระหว่างสมาชิก โดยอาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น ภรรยาทำกับข้าว สามีขับรถ ลูกช่วยทำความ สะอาดบ้าน เป็นต้น

3. มีผู้นำ และกำหนดสถานะ
ในครอบครัวจะมีการกำหนดว่าใครเป็นผู้นำครอบครัว ใครมีบทบาทและสถานะ อย่างไรในครอบครัว เช่น ครอบครัวคนจีนจะเด่นชัดในเรื่องบทบาทและสถานะมาก ระหว่างลูกสาวและลูกชาย

4. มีความร่วมมือกัน
สมาชิกในครอบครัวทุกคน ถึงแม้จะมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน แต่บทบาทเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างขาดมิได้ เพื่อให้ครอบครัวดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

5. มีการสื่อสารกันภายในครอบครัว
การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวนั้น จะขาดการสื่อสารหรือการพูดคุยกันมิได้ จำเป็นต้องสื่อสารหรือพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สมาชิกภายในครอบครัวมีความเข้าใจกัน ทั้งเข้าใจในบทบาทหน้าที่ เข้าใจในแนวทางประพฤติตน และเข้าใจที่จะสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว
บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว คือ การรับรู้ของสมาชิกในครอบครัวต่อการดูแลซึ่งกัน และกันในทางที่เหมาะสม ประกอบด้วยการให้ความรักความอบอุ่น การให้กำลังใจ การเอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัว การให้การศึกษาอบรมสั่งสอน การให้รู้ระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม การให้ความคุ้มครองความปลอดภัย และการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย เป็นต้น
1. ให้การดูแลทางด้านเสรีภาพ เช่น ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ ได้รับประทานอาหารมีที่พักอาศัย ได้รับเครื่องนุ่งห่ม ได้รับการดูแลเมื่อเจ็บป่วย
2. เป็นที่พักพิง ทั้งร่างกาย และจิตใจ คือ ครอบครัวเป็นแหล่งที่มีรายได้ รายจ่าย มีการซื้อสิ่งต่างๆ ของการดำรงชีวิต มีที่พักผ่อนหย่อนใจ ครอบครัวเป็นที่พักพิงทางจิตใจ เช่น เป็นที่ให้ความรักความอบอุ่นเป็นบ่อเกิดของการเคารพนับถือ และมีอำนาจหน้าที่ต่างๆ ร่วมกัน
3. มีการแบ่งหน้าที่ร่วมกันในการทำงาน คือ ครอบครัวควรมีหน้าที่จัดแบ่งว่าใครจะทำอะไร เช่น ใครเป็นผู้หารายได้ ใครเป็นผู้ทำความสะอาดบ้าน ใครเป็นผู้ดูแลบุตรหรือสมาชิกอื่นๆ
4. ทำให้บุคคลในครอบครัวมีโอกาสร่วมสังสรรค์กันในบ้างครั้ง คือ ครอบครัวมีหน้าที่ทำให้สมาชิกได้ร่วมพบปะ พูดคุย หรือทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้เกิดสานสัมพันธ์ของสมาชิกภายในครอบครัว
5. ทำหน้าที่ผลิตสมาชิกใหม่ของครอบครัว คือ ครอบครัวจะต้องมีการวางแผนในการให้กำเนิดบุตรตามความเหมาะสมทำการเลี้ยงดูบุตร ให้การศึกษา ให้ความรักความอบอุ่น ให้อิสรเสรีตามที่เห็นสมควร
6. ครอบครัวควรรักษาไว้ซึ่งความเป็นระเบียบ มีขอบเขตการบริหารในครอบครัว การมีระเบียบที่ให้ทุกคนอยู่กันอย่างมั่นคง
7. ครอบครัวต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคม คือ ครอบครัวควรมีการติดต่อสร้างสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆ หรือแหล่งทางสังคมอื่นๆ เช่น ชุมชนที่เป็นเครือข่ายของตนเองเพื่อจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อมีเหตุการณ์จำเป็น
8. ครอบครัวควรมีแรงจูงใจ และมีศีลธรรมจรรยา คือ ครอบครัวควรมีหน้าที่สร้างแรงจูงใจมีการสนับสนุนให้รางวัลสมาชิกตามความเหมาะสมเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จต่างๆ ครอบครัวควรมีการฝึกให้สมาชิกในครอบครัวมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรักใคร่ซึ่งกัน และกัน ครอบครัวควรเป็นแหล่งที่ทำให้ทุกคนได้รับการตอบสนองความต้องการอย่างเหมาะสม และเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่เป็นภาวะวิกฤตที่รุนแรง ครอบครัวควรเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรค และแก้ปัญหาร่วมกันได้

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเกิดขึ้นจาก
1. การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และรับรู้เรื่องราวต่างๆ หมายถึง การที่ลูกได้มีส่วนร่วมกับพ่อแม่ในการแสดงความคิดเห็นและรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับทุกข์สุขความลับในเรื่องต่างๆ ของพ่อแม่ เช่น ปัญหาการเงินปัญหาการงาน
2. การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หมายถึง บุตรควรมีส่วนร่วมกับพ่อแม่ในการตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ ภายในบ้านเช่นการจัดระเบียบกฎเกณฑ์ภายในบ้าน
3. การพักผ่อนร่วมกันในครอบครัว หมายถึง การที่พ่อแม่และลูกได้มีกิจกรรมร่วมกันในการพักผ่อนหย่อนใจเมื่อมีเวลาว่าง
4. ความรักความห่วงใยของพ่อแม่ หมายถึง พฤติกรรมของพ่อแม่ที่ลูกรับรู้ว่าเป็นพฤติกรรมที่แสดงความรักความห่วงใยที่มีต่อบุตรเช่นการช่วยคลี่คลายปัญหาต่างๆ การให้ความเป็นกันเองต่อลูก
5. การที่ไม่มีข้อกำหนดมากเกินไป หมายถึง การที่พ่อแม่ไม่แสดงพฤติกรรมที่เป็นการกำหนดหรือจำกัดความประพฤติของลูกมากเกินไป
6. การไม่เข้มงวดกวดขันเกี่ยวกับระเบียบวินัยมากเกินไปหมายถึง การที่พ่อแม่ไม่แสดงการกระทำใดๆ ที่ส่อถึงความเข้มงวดในระเบียบวินัยเช่นการลงโทษอย่างรุนแรงการไม่ยืดหยุ่นในระเบียบวินัยบังคับให้ลูกปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัดโดยไม่คำนึงถึงความพร้อม
7. ความกลมเกลียวของพ่อแม่ หมายถึง พฤติกรรมที่พ่อแม่กระทำต่อกันในลักษณะที่ไม่มีความขัดแย้งซึ่งกันและกันมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมีความรักสามัคคีถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
8. การยินดีให้กำลังใจเพื่อความสำเร็จหมายถึงการที่พ่อแม่ให้กำลังใจส่งเสริมหรือกระตุ้นให้ลูกประสบความสำเร็จในการเรียนการทำงานทั้งการกระทำและด้วยคำพูด

การทำให้ครอบครัวมีความสุข
1. การดูแลเอาใจใส่ต่อกัน
การเอาใจใส่ในที่นี้ หมายถึง การคอยช่วยเหลือดูแลในเรื่องสุขภาพ อาหารการกิน เงินทอง ค่าใช้จ่าย การรับส่ง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความอบอุ่นทางใจที่สำคัญ

2. ต้องรู้จักคนที่เรารัก
สามีภรรยาต้องรู้จัก และเข้าใจกันให้ดี สำหรับบุตรบิดามารดาก็ต้องเข้าใจ และมีความรู้เกี่ยวกับบุตร เช่น รู้เกี่ยวกับอุปนิสัย ว่าบุตรชอบหรือไม่ชอบอะไร มีจุดเด่นหรือจุดด้อยอย่างไร

3. การเคารพซึ่งกัน และกัน
การเคารพในที่นี้ หมายถึง การเคารพที่มาจากใจการเคารพในลักษณะนี้มีพฤติกรรมแสดงออกได้หลายอย่างเช่นบุตรเกรงใจบิดามารดาบิดามารดาก็ต้องรู้จักเกรงใจบุตรความเกรงใจนี้รู้สึกว่ามีคุณค่า และจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดีขึ้น

4. การมีความรับผิดชอบ
การมีความรับผิดชอบ หมายถึง การยอมรับความผิดหรือความชอบ เช่น การที่บิดามารดาเป็นต้นแบบที่ไม่ดีแก่บุตร ก็เป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบ การละเลยไม่เลี้ยงดูก็เป็นการไม่รับผิดชอบ เป็นต้น

5. ความไว้วางใจกัน และกัน
ความไว้วางใจ เป็นรากฐานที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัว ความไว้วางใจควรมีต่อกัน ทั้งทางกาย และทางใจ ซึ่งจะช่วยให้คนในครอบครัวมีความสบายใจ ไร้ความวิตกกังวลหรือความกลัว เป็นที่พึ่งพาได้

6. การให้กำลังใจกัน และกัน
การให้กำลังใจก็คือ การเสริมสร้างพลังจิตใจให้แก่สมาชิกในครอบครัว ให้สามารถดำเนินชีวิตไปอย่างมีความสุข การให้กำลังใจอาจเป็นคำพูด และท่าทาง ที่ให้การสนับสนุน และชมเชยเมื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง แนะแนวทางในการหาทางออก เมื่อมีปัญหาไม่ดุด่าหรือกล่าวโทษว่าเป็นความผิด

7. การให้อภัยซึ่งกัน และกัน
สมาชิกในครอบครัวที่อยู่รวมกันหลายคน บางครั้งมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องปกติของสังคม แต่ครอบครัวก็ควรให้อภัยแก่กัน ครอบครัวที่มีบุตรประพฤติผิด บิดามารดาไม่ควรจดจำความผิดนั้น แล้วนำไปต่อว่าบุตรในโอกาสต่อๆ ไปเพราะเมื่อบุตรได้รับฟังความผิดของตนอยู่เสมอก็จะเกิดความโกรธความไม่สบายใจ และบางครั้งอาจนึกไปว่าบิดามารดาไม่รักตน

8. ควรใช้เวลาด้วยกันอย่างมีคุณค่า
สมาชิกในครอบครัวควรหาเวลาที่จะอยู่ด้วยกัน มีการพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบระหว่างกัน ช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ มีกิจกรรมร่วมกัน เช่น การไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ด้วยกัน เป็นต้น

9. ต้องรู้จักการสื่อสารในครอบครัว
การสื่อสารในครอบครัวนั้น ควรใช้คำสุภาพ ทั้งระหว่างสามีกับภรรยา และบิดามารดากับบุตร การสื่อสารอาจจะมีทั้งรูปแบบที่ใช้ภาษาพูดท่าทาง และภาษาเขียน แต่การตำหนิกันก็ทำได้ แต่ควรเป็นคำตำหนิที่ใช้ถ้อยคำที่น่าฟัง

10. ต้องมีการปรับตัวตามภาวะที่เปลี่ยนแปลงของบุคคล
สภาวะของครอบครัว และสภาวะของสมาชิกมิได้อยู่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นจะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา บิดามารดาจะต้องปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของบุตร และตัวของบิดามารดาเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยเช่นกัน

11. การรู้จักภาระหน้าที่ในครอบครัว และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
การอยู่ร่วมกันในครอบครัว ต่างคนต่างมีบทบาท และหน้าที่ที่ต่างกัน ซึ่งบทบาท และหน้าที่เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ตนเองต้องกระทำเพื่อให้ครอบครัว และสมาชิกในครอบครัวดำรงอยู่ได้ตลอดไป ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวจะต้องตกลงกันให้ดีว่า เรื่องนี้ใครรับผิดชอบ เรื่องนั้นใครรับผิดชอบ มีสัดส่วนอย่างไร และมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น

12. การให้ความใกล้ชิดทางสัมผัส
การให้ความใกล้ชิดทางสัมผัส เช่น การโอบกอดกันเกี่ยวแขนกัน เป็นการแสดงถึงความรักความอบอุ่นตามธรรมชาติของคน แต่การแสดงออกควรกระทำในครอบครัวระหว่างคนใกล้ชิด และแสดงความใกล้ชิดจริงๆ การสัมผัสนี้จะทำให้บุตรมีความอบอุ่น และเพิ่มความมั่นใจเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาการของบุตรการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่-ลูกในครอบครัวนั้น

ที่มา : 1), 2)

ครอบครัว1

เอกสารอ้างอิง
1