วัยทอง

11122
Doctor with female patient

วัยทอง หมายถึง วัยของผู้หญิง และผู้ชายที่มีอายุในช่วง 40 – 59 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างวัยวัยเจริญพันธุ์และวัยผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ต่อมไร้ท่อของระบบสืบพันธุ์เริ่มเสื่อมทำให้ผลิตฮอร์โมนเพศลดน้อยลง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และมีโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ง่าย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น

1. สตรีวัยทอง
สตรีวัยทอง หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือวัยหมดระดู หมายถึง สตรีในวัย 40 – 59 ปี ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงเนื่องจากรังไข่หยุดทำงานทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร ร่วมด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามมา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะก่อนหมดประจำเดือน (perimenopause)
เป็นระยะเริ่มของการหมดประจำเดือนทำให้สตรีมีประจำเดือนมาผิดปกติ ร่วมกับมีอาการทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์จะแปรปรวน ซึ่งระยะนี้จะเกิดประมาณ 2-3 ปี

2. ระยะหมดประจำเดือน (menopause)
เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่การหมดประจำเดือนมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี

3. ระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause)
เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ช่องคลอดตีบแคบ กระดูกพรุน และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆได้ง่าย

อาการผู้หญิงวัยทอง
1. อาการระยะสั้น
– ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาติดกันหรือห่างจากกันมาก บางรายอาจมีเลือดออกผิดปกติ
– อาการร้อนวูบวาบ จากการแปรปรวนของระดับฮอร์โมนทำให้ร่างกายควบคุมอุณหภูมิผิดปกติ โดยจะมีอาการมากในช่วง 2-3 ปี แรก หลังหมดประจำเดือน และจะค่อยๆ ลดลงใน 1-2 ปี
– นอนไม่หลับ อันเป็นผลของอาการร้อนวูบวาบ
– ด้านจิตใจ มักพบเกิดอาการซึมเศร้า อารมณ์หงุดหงิด มีความวิตกกังวลง่าย
– ช่องคลอดตีบแห้ง จากระดับเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้มีปัญหาในการร่วมเพศ ความต้องการทางเพศลดลง มีอาการคัน อาการการอักเสบของช่องคลอด มดลูก และช่องคลอดหย่อนยาน
– โอกาสมีลูกน้อยลง จากการตกไข่ที่ไม่แน่นอน และไม่สามารถมีลูกได้อย่างถาวร หลังประจำเดือนไม่มาเต็ม 1 ปี
– ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ขาดความยืดหยุ่น เป็นแผล และกระได้ง่าย
– เต้านมเล็กลง หย่อน ไม่เต่งตึง
– ผมร่วง
– ความจำเสื่อม ลงลืมง่าย

2. อาการระยะยาว
– ระบบหัวใจ และหลอดเลือด
หลังหมดประจำเดือน ร่างกายจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมากขึ้น เนื่องจากจากการขาดเอสโตรเจน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่สำคัญในการลดไขมันไม่ดี LDL

– กระดูกพรุน
การขาดเอสโตรเจนของวัยหมดประจำเดือนจะทำให้มีการทำลายเนื้อกระดูกมากขึ้นถึงร้อยละ 5 ต่อปี จนเกิดเป็นโรคกระดูกพรุนตามมา โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก เป็นต้น

– ปัญหาของทางเดินปัสสาวะ
ผลจากระดับกระดูกสันหลังที่ลดลงทำให้เยื่อบุผนังท่อปัสสาวะบางลง และกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน ทำให้มีอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ และมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

– น้ำหนักขึ้นและเริ่มอ้วน
ผลของการลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้มีผลต่อระบบการเผาผลาญอาหาร ทำให้มีการสะสมไขมันบริเวณหน้าท้องมากขึ้น

การรักษา
1. อาการร้อนวูบวาบ
– สังเกต และจดจำสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ และหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
– หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่หรือการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนมาก
– หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารร้อน เครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นให้เส้นเลือดขยายตัว เช่น คาเฟอีน  และแอลกอฮอล์
– รับประทานอาหารที่มีวิตามินอี และบี คอมเพล็กซ์ รวมถึงอาหารเสริมของสารเหล่านี้
– งดสูบบุหรี่
– ผ่อนคลายจิตใจ และหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดมีผลทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น

2. ช่องคลอดแห้ง และปัสสาวะบ่อย
– ใช้สารหล่อลื่น เช่น K-Y Jelly เป็นต้น
– ใช้ครีมเอสโตรเจนทาเพื่อกระตุ้นให้เลือดมาหล่อเลี้ยงช่องคลอดมากขึ้น
– ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยกระตุ้นสภาวะการไหลเวียนเลือดที่ดีในช่องคลอด และทำให้ช่องคลอดยืดหยุ่นมากขึ้น

3. อาการนอนไม่หลับ และอารมณ์แปรปรวน
– ใช้ยาลดอาการซึมเศร้า เช่น ยาในกลุ่ม SSRI รวมถึงทำกิจกรรมนันทนาการเพื่อผ่อนคายความเครียด และทำให้จิตใจแจ่มใส

4. กระดูกพรุน
– หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการทำงานหนัก
– รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดีสูง
– การใช้ฮอร์โมนเสริม แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งมากขึ้น

5. ผมร่วง
– รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อยับยั้งการสร้างไดไฮโดรเทสโทสเตอโรนที่เป็นสาเหตุทำให้รากผมอ่อนแอ
– สระผมอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัด และป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุการทำลายรากผม และหนังศีรษะ รวมถึงใช้ยาสระผมที่มีสารกระตุ้นการงอกใหม่หรือสารที่ช่วยบำรุงเส้นผม

ฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง
ผู้หญิงในช่วงวัยทองจะมีการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก ทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา ปัจจุบันผู้หญิงบางกลุ่มจึงหันมาใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อลดปัญหาจาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และทางด้านอารมณ์ดังกล่าว รวมถึงช่วยป้องกันโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน โรคมะเร็ง เป็นต้น

ฮอร์โมนทดแทนที่มีการใช้ในวัยทอง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ร่างกายขาดไปนั่นเอง นอกจากนั้น ยังใช้สารอื่นที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือ โปรเจสเตอโรน

รูปแบบการใช้ฮอร์โมน
1. โดยการกินยา ทำให้ระดับไขมันที่ดีสูงขึ้น แต่จะทำให้ฮอร์โมนในเลือดไม่คงที่จากตับถูกทำลาย
2. โดยการฉีด ยาจะไม่ผ่านตับ และระดับไขมันที่ดีจะไม่เพิ่มเหมือนชนิดกิน
3. การใช้แผ่นปิด (estrogen-filled patch)โดยใช้ปิดที่แขนหรือก้น สามารถใช้ได้หลายวัน
4. การฝังฮอร์โมน วิธีนี้จะทำให้ฮอร์โมนในเลือดสูงเกินมากกว่าปกติ 2-3 เท่า
5. ครีมฮอร์โมนทาที่ผิวหนัง
6. ครีมฮอร์โมนทาที่ช่องคลอด ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่มีอาการช่องคลอดแห้ง

ประโยชน์ฮอร์โมนทดแทน
1. ป้องกันโรคกระดูกพรุน
2. ป้องกันโรคหัวใจ
3. ลดอาการวัยทอง
4. ลดอาการร้อนวูบวาบ
5. ลดอาการช่องคลอดแห้ง และคัน ทำให้ช่องคลอดเต่งตึง ไม่แห้ง
6. ลดอาการปัสสาวะเล็ด
7. ใช้รักษาอาการร้อนวูบวาบ
8 ใช้ลดอารมณ์แปรปรวน และนอนไม่หลับ
9. ใช้ป้องกันโรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม มะเร็งลำไส้ และลดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยง
1. ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก
2. ผู้ที่เป็นโรคตับ
3. ผู้ที่เกิดลิ่มเลือดที่เท้า
4. ผู้ที่มีประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการข้างเคียง
1. คัดเต้านม
2. ท้องอืด ท้องบวมจากภาวะตับถูกทำลาย
3. มีประจำเดือน

ผลเสียการใช้ฮอร์โมน
1. เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกันนาน 10-15 ปี ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทนไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 ปี
3. มีโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี โดยเฉพาะการใช้แบบรับประทาน หากต้องการป้องกันโรคดังกล่าวควรใช้แบบชนิดปิดหรือชนิดทา

ข้อแนะนำการใช้
1. สำหรับฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดทา ให้ทาวันละ 1 กรัม/ครั้ง
2. ใช้ทาบริเวณหน้าขา หรือแขน และสามารถทาโลชั่นอื่นได้ตามปกติ
3. หลีกเลี่ยงการทาบริเวณหน้าอก หน้าท้อง และอวัยวะเพศ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวใกล้อวัยวะภายใน ตัวยาอาจซึมเข้าสู่อวัยวะภายในผ่านต่อมน้ำนมได้

2. ผู้ชายวัยทอง
ผู้ชายวัยทอง (partial androgen deficiency in aging male) (PADAM) หมายถึง ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 – 65 ปี ที่เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบสืบพันธุ์ คือ การเสื่อมของอัณฑะทำให้ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน และเทสทอสเตอโรนค่อยๆลดลงจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆในระบบร่างกาย และจิตใจ

men-vaitong

อาการผู้ชายวัยทอง
1. ระบบประสาทอัตโนมัติ
มีอาการร้อนวูบวาบ (hot flash) แต่เกิดในบางรายเท่านั้น และมีความรุนแรงน้อยกว่าผู้หญิงวัยทอง อาการมักเกิดประมาณ 2-3 นาที แล้วจึงค่อยๆหายไป มีอาการเหงื่อ อาการหนาวสั่น ทำให้นอนไม่หลับ

2. ระบบหัวใจ และหลอดเลือด
ผลจากระดับฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนต่ำ ทำให้มีการเพิ่มระดับไขมันคอเลสเตอรอล แอลดีแอลคอเรสเตอรอล (LDL – cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) จนมีการสะสม และอุดตันหลอดเลือด หลอดเลือดแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น เลือดไหลผ่านได้น้อยลง

3. ระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก
กล้ามเนื้อทั่วร่างกายมีลักษณะลีบ และเล็กลง อ่อนเพลียง่าย มีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และข้อ และมวลกระดูกลดลงอย่างต่อเนื่อง กระดูกเปราะบาง แตกหักง่าย มีการสะสมไขมันหน้าท้อง จนทำให้อ้วน หรือ เรียกว่า “ลงพุง ”

4. ระบบสืบพันธุ์
ผลจากระดับฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนลดลง มีผลต่อความต้องการทางเพศ และอารมณ์ทางเพศลดลง และองคชาติไม่แข็งตัว

5. ระบบประสาท และสมอง
มักพบการเปลี่ยนแปลงระดับเชาว์ปัญญาที่ลดลง มีภาวะความจำเสื่อม อารมณ์แปรปรวน ไม่เด็ดขาด เครียดง่าย หงุดหงิดง่าย และนอนไม่ค่อยหลับ

6. มีภาวะโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม โรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น