สติสัมปชัญญะ/ความระลึกได้ และความรู้ตัว

59548

สติสัมปชัญญะ หมายถึง ความระลึกได้ และการรู้สึกตัวอยู่เสมอ ทั้งในขณะคิด ขณะพูด และในขณะกระทำสิ่งใดๆ ด้วยความระลึกในขณะนั้นว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ โดยมิให้ความคิด และการกระทำมัวเมาอยู่ภายใต้ความประมาท

สติ หมายถึง ความระลึกหรือนึกคิดในกิริยาหรือสิ่งที่ตนกระทำอยู่
สัมปชัญญะ หมายถึง ความรู้ตัวหรือรู้ในกิริยา รู้ในการกระทำของตนทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว กำลังเกิดขึ้น และที่กำลังเกิดในอนาคต

พระมหาวีระวงศ์ ให้ความหมาย สติ คือ ความระลึกได้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิดความยั้งคิด รอบคอบในกิจการ ความจำการที่ทำและคำที่พูดแล้วแม้นานได้ไม่หลงลืม ชื่อว่าความไม่ประมาท บุคคลผู้ขาดสติมักทำผิด พูดผิด คิดผิด มักหุนหัน ไม่รอบคอบแล มักหลงลืมไม่อาจเชื่อมโยงเหตุผลข้างหน้ากับหลังให้เนื่องถึงกัน จึงไม่อาจเปรียบเทียบพิสูจน์ผลแห่งการงานให้ถูกต้องได้ การทำงานจึงเป็นการเสี่ยง อาจได้ผลไม่เต็มที่หรือไม่ได้เลยก็เป็นไปได้ บุคคลผู้ขาดสติเช่นนี้ จัดว่าเป็นผู้ประมาท

สติ1

หลวงกถิน อัตถโยธิน ให้ความหมายของ สติ หมายถึง ความนึกเสียก่อน ในเมื่อจะทำ จะพูด จะคิดอะไร ให้การทำ การพูด การคิดนั้นๆ ดำเนินไปแต่ในทางที่ชอบ หากว่าพลาดหรือเฉียดเข้าไปต่อความพลาดก็ยั้งไว้ นี้เป็นลักษณะของสติ ได้แก่ การคิดที่คอยห้าม คอยกันไม่ได้ การทำ การพูด การคิดหันไปในทางที่ผิด ดุจคอยคิดคอยวาดเรือไม่ให้เหไปผิดทาง

ส่วนสัมปชัญญะ หมายถึง ความรู้ตัวในเวลาทำ เวลาพูด ให้การทำการพูดนั้นเป็นไปในสัมปชัญญะ ได้แก่ ความคิดที่คุมเอาไว้ ชะลอเอาไว้ซึ่งสตินั่นเอง ให้ใช้การได้ตลอดในเรื่องนั้น ๆ สติสัมปชัญญะย่อมมีอุปการระมากแก่บุคคล ประดุจมารดาและบิดาย่อมมีอุปการระมากแก่บุตรนั้น อธิบายว่ามารดาบิดาย่อมห้ามบุตรไม่ให้ทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดีและคอยป้องกัน เมื่อบุตรมีความประมาทพลาดพลั้ง ข้อนี้มีอุปมาฉันใด แม้สติสัมปชัญญะก็มีอุปไมยฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นท่าน จึงกล่าวว่า “มีอุปการะมาก”

ปิ่น มุทุกันต์ กล่าวว่า สติ คือ อาการที่จิตนึกขึ้นได้ถึงการที่ทำ คำที่พูดไว้ก่อนตรงกันข้ามกับอาการที่เรียกว่าลืมนึกหรือเผลอ ส่วนสัมปชัญญะ แปลว่า ความรู้ตัว คือ รู้ตัวว่าตัวกำลังทำอะไร

พุทธทาสภิกขุ ให้ความหมายของสติ แปลว่า ความระลึกได้ ระลึกได้ทันควัน

อมร โสภณวิชุญฐ์วงศ์ และกวี อิศริวรรณ ให้ความหมายของ สติ แปลว่า ระลึกได้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด เพื่อเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง การทำ การพูด การคิดนั้นให้เป็นไป ในทางที่ถูกต้อง ไม่ให้เป็นไปในทางที่ผิด สัมปชัญญะ แปลว่า ความรู้ตัว คือ รู้ตัวในขณะทำ ขณะพูดการคิด ดำเนินไปในทางที่ถูกต้องที่สุด สติสัมปชัญญะ เป็นธรรมคู่กันในกรณีที่พูดถึงสติอย่างเดียวก็หมายความรวมถึงสัมปชัญญะด้วย สอดคล้องกับพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า สติสัมปชัญญะ รวมอยู่ด้วยกันทั้ง 2 อย่าง เรียกว่า สติ สติเป็นธรรมที่จะแก้ปัญหาในทุกกรณี จนถึงกับมีหลักขึ้นมาว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา หมายถึง สติเป็นธรรมที่พึงปรารถนา

อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน ได้กล่าวถึง สติ แปลว่า ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ แปลว่า ความรู้ตัว สติเป็นคุณธรรมใช้ระลึกก่อนจะทำ พูด คิด เพื่อความรอบคอบ ป้องกันความผิดพลาดพลั้งเผลอ ส่วนสัมปชัญญะเป็นคุณธรรมเพื่อรู้ตัวขณะที่กำลังพูด กำลังกระทำ และกำลังคิด เพื่อความรอบคอบ สติและสติสัมปชัญญะ จึงได้ ชื่อว่า เป็นธรรมมีอุปการะมาก เพราะเป็นคุณธรรมทำมิให้เกิดความประมาทเกิดขึ้น เมื่อบุคคลมีสติสัมปชัญญะย่อมไม่มีความประมาท เมื่อสติสัมปชัญญะขาดหายไป ความประมาท ย่อมเข้ามาแทนที่บุคคลย่อมตกอยู่ในอันตราย

สติสัมปชัญญะในพระไตรปิฎก
อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
ธรรมอันน่าอัศจรรย์ 20 ประการ ของพระพุทธองค์ พระอานนท์อธิบายธรรมอันน่าอัศจรรย์ที่ได้สดับมาเฉพาะพระพักตร์ว่า พระโพธิสัตว์
1. เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ และไปจุติในสวรรค์ชั้นดุสิต
2. เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ จึงได้อาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต
3. เป็นผู้อาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตตลอดกัปของอายุ
4. เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะมาตั้งแต่ขณะจุติลงจากสวรรค์มาสู่ครรภ์ของพระมารดา
5. ขณะลงมาจุติจากสวรรค์สู่พระครรภ์มารรดา ได้เกิดแสงสว่างทั่วทั้งเทวภูมิ มารภูมิ พรหมภูมิ โลกภูมิที่ประจักษ์ต่อหมู่มนุษย์ สัตว์ และเทวดา เกินกว่าเทวานุภาพทั้งปวง
6. เวลาลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา เทพบุตร 4 องค์ เข้าไปอารักขา โดยอยู่ประจำทั้ง 4 ทิศ มิให้มนุษย์หรืออมนุษย์ เบียดเบียนพระโพธิสัตว์หรือพระมารดา
7. พระมารดาทรงศีล 5 คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่ถือเอาสิ่งของผู้อื่นที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่เสพน้ำเมา เมรัย
8. พระมารดาไม่ทรงรู้สึกทางกามารมณ์ในขณะตั้งพระครรภ์ ไม่มีผู้ใดสามารถล่วงเกินได้
9. พระมารดาพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ 5 ในขณะตั้งพระครรภ์
10. พระมารดาไม่มีอาการเจ็บพระครรภ์ และรับรู้ถึงพระโพธิสัตว์ที่อยู่ในพระครรภ์
11. เมื่อพระองค์ทรงประสูติได้ 7 วัน พระมารดาได้ทรงสวรรคต และพระมารดาทรงได้ไปจุติในสวรรค์ชั้นดุสิต
12. พระองค์ทรงประสูติจากพระครรภ์พระมารดาที่มีอายุพระครรภ์เพียงครบ 10 เดือน เท่านั้น
13. ขณะประสูติ พระมารดามิได้นอนประสูติ แต่ทรงประทับยืนประสูติ
14. หลังจากการประสูติออกมาแล้วมีทวยเทพทำพิธีต้อนรับ
15. ขณะที่พระมารดาทรงยืนประสูติ พระองค์ได้ทรงประสูติออกมา โดยไม่สัมผัสกับแผ่นดินด้วยมีทวยเทพ 5 องค์ ช่วยกันประคอง และวางพระองค์ไว้เบื้องพระพักตร์ของพระมารดา
16. เวลาที่พระองค์ประสูติ พระองค์ไม่สัมผัสด้วยน้ำเมือกเลือด
17. หลังจากประสูติแล้ว มีธารน้ำในอากาศ คอยไหลชำระพระกายพระองค์ และพระมารดา
18. หลังจากประสูติแล้ว พระองค์ทรงได้ประทับยืน และทรงเสด็จดำเนินได้ 7 ก้าว พร้อมกับเปล่งอาสภิวาจาในความหมายว่า พระองค์ทรงเป็นผู้เจริญ ชาตินี้จึงเป็นชาติสุดท้าย ชาติหรือภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว
19 . หลังจากทรงกล่าวเช่นนั้นแล้ว ได้เกิดแสงสว่างพร้อมทั้งภูมิต่างๆ และเกิดแผ่นดินไหว 10 สหัสสี และครั้น เมื่อพระอานนท์อธิบายจบ พระพุทธองค์ทรงเพิ่มข้อที่ 20 ว่า
20. เพราะเหตุนั้น เธอจงจำธรรมอันน่าอัศจรรย์นี้ไว้ เวทนา สัญญา วิตกของตถาคตย่อมปรากฏเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

ลักษณะผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ
1. รู้ตัวว่า สิ่งนั้นที่ตนกำลังทำอยู่จะเป็นประโยชน์หรือไม่
2. รู้ตัวว่า สิ่งนั้นที่ตนกำลังทำอยู่จะเหมาะกับตนหรือไม่
3. รู้ตัวว่า สิ่งนั้นที่ตนกำลังทำอยู่จะเป็นความทุกข์หรือสุขอย่างไร
4. รู้ตัวว่า สิ่งนั้นที่ตนกำลังทำอยู่จะเป็นความงมงายหรือไม่
5. รู้ตัวว่า สิ่งนั้นที่ตนกำลังทำอยู่จะสำเร็จหรือไม่ หรือ เป็นเรื่องเลื่อนลอย ไร้สาระ

สติกับสัมปชัญญะ ธรรมะ 2 ประการนี้ ต่างกันตรงที่
1. สติระลึกถึงเรื่องที่ล่วงมาแล้วและที่ยังมาไม่ถึง (อดีตกาลและอนาคตกาล)
2. สัมปชัญญะ รู้ตัวในขณะที่กำลังทำ พูด คิดอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ สติ และสัมปชัญญะ ต่างก็ช่วยเหลือซึ่งกัน และกัน คือ เมื่อสติระลึกขึ้นมาแล้วว่า จะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไร ก็ลงมือกระทำ พูด และคิด ในสิ่งนั้นด้วยความรู้ตัวอยู่เสมอ เช่น เราจะหยิบปากกามาเขียนหนังสือ การนึกหรือการระลึกขึ้นมาได้ว่า ปากกามีรูปร่างอย่างนั้น ตัวหนังสือหรือข้อความที่จะเขียนต่อไปจะว่าด้วยเรื่องนั้นๆแล้วก็ไปหยิบปากกามาได้ถูก และเขียนหนังสือ การนึกหรือการระลึกขึ้นมาได้ว่า ปากกามีรูปร่างอย่างนั้นตัวหนังสือหรือข้อความที่จะเขียนต่อไปจะว่าด้วยเรื่องนั้นๆแล้วก็หยิบปากกามาได้ถูก และเขียนได้ถูกต้อง ขณะที่กำลังหยิบปากกามาก็รู้ว่าตนกำลังหยิบปากกามาเมื่อกำลังเขียนอยู่ก็รู้ว่าตนกำลังเขียนเรื่องอะไรอยู่

สติ

ดังนั้น สติกับสัมปชัญญะจึงเป็นธรรมที่เป็นเครื่องค้ำจุนกัน และเป็นธรรมที่ช่วยค้ำจุนมนุษย์ให้คิด พูด และกระทำในสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความไม่ประมาท หากขาดธรรมใน 2 ประการนี้แล้ว มนุษย์ก็จะกระทำในสิ่งใดไม่สำเร็จ ไม่ต้องตามจิตประสงค์ และอาจส่งผลเสียย้อนกับสู่ตนได้

ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้กระทำ ให้พูด ให้คิด ด้วยการมีสติ และไม่ประมาท คือ ให้พึงระลึกได้ และสัมปชัญญะ คือ ให้พึงรู้ตัวอยู่เสมอว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ แต่จะทำอะไรก็ตามนั้น สิ่งนั้นไม่ควรรีบร้อนหรือเร่งด่วนจนเกินพอดี ควรไตร่ตรองให้รอบคอบ ทำด้วยความสุขุม รอบคอบ และอย่างมั่นใจ จึงจะทำให้ผลที่ดีตามมา

สติ และสัมปชัญญะนี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ ความไม่ประมาท นั้นเอง และคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ทั้งหมดล้วนรวมลงในความไม่ประมาท คือ การมีสติรอบคอบนั้นเอง ชีวิตของผู้ไม่ประมาท มีสติรอบคอบระมัดระวังในทุกสถานแล้ว ชีวิตก็จะดำเนินด้วยความสุขสงบมากขึ้น

ที่มา : พระมหาสว่าง จตฺตมโล (ถุนกระโทก), 2554 อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ (1)

เอกสารอ้างอิง
1