สัจจะ หมายถึง ความจริงใจ ความชื่อตรง ในการประพฤติด้วยกาย คือ การกระทำ และการประพฤติด้วยวาจา คือ การพูด และการประพฤติด้วยใจ คือ ความนึกคิด ด้วยความจริง ไม่มีสิ่งแอบแฝงเพื่อวัตถุประสงค์อื่นแก่ตนเอง เช่นนี้เรียกว่า มีความจริงใจ หรือ สัจจะ
ความหมาย สัจจะ จากผู้รู้ต่างๆ
สุชีพ ปุญฺญานุภาพ ได้กล่าวถึง สัจจะ ความมีสัตย์ คือ การแสดงออกด้วยการประพฤติตนในทางเที่ยงตรง เป็นคนจริงตามสภาวะที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นของแท้ และเที่ยงตรง ไม่เป็นอย่างอื่นทางใจ ประกอบด้วย
– จริงใจ ได้แก่ ความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีอย่างอื่นแอบแฝง
– จริงวาจา ได้แก่ พูดจริง
– จริงกาย ได้แก่ ทำจริง
อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับ สัจจะ คือ การยึดถือความสัตย์จริงทั้งในการกระทำ การพูด และจิตที่รู้คิดบนพื้นฐานความเที่ยงธรรมในการทำหน้าที่ไม่ลำเอียง ไม่มีอคติ ความซื่อตรงต่อมิตรสหาย ผู้ร่วมงาน โดยแสดงออกในลักษณะคิดเกื้อหนุนร่วมทุกข์ร่วมสุข คอยตักเตือนให้สติ และมีความรักใคร่ จริงใจ
ประเภทของสัจจะ
คำว่า สัจจะ “ความจริง/ความซื่อสัตย์” ในคำสอนของพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. สมมติสัจจะ
สมมติสัจจะ หมายถึง จริงตามสมมติ กล่าวคือ นามที่ถูกเรียกหรือถูกตั้งให้ด้วยผู้อื่น ได้แก่
– เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย มีชื่อเล่นหรือชื่อจริงว่าอย่างโน้นอย่างนี้
– ทำงานเป็นราชการ ทำงานในเอกชน ถูกเรียกด้วยชื่อตำแหน่งที่เขาตั้งให้ เช่น ผู้จัดการโรงงาน หัวหน้าฝ่ายผลิต หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
– ขอทานผู้อื่นเขากิน คนมักเรียกว่า ขอทาน
– ผู้ปกครองแผ่นดิน ทั้งพระมหากษัตริย์ นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี
สิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ ถือเป็น “สมมติสัจจะ” คือ นามหรือสภาพที่ผู้อื่นตั้งให้ด้วยการสมมติ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการจัดระเบียบทางสังคม ด้วยข้อกฎหมาย และหลักศีลธรรมที่ผูกเกี่ยวในนามสมมตินั้นจึงยังให้ผู้นั้นเกิดสัจจะ ความจริง ความสัตย์ ตามบทบาทหน้าที่ของตนที่เป็นส่วนหนึ่งในสังคม
2. ปรมัตถสัจจะ
ปรมัตถสัจจะ หมายถึง จริงโดยปรมัตถ์ กล่าวคือ สมมติสัจจะที่ประกอบด้วยนามสมมติที่ผู้อื่นตั้งให้ นามสมมตินั้น แต่ละคนล้วนมีความเท่าเทียมกัน คือ ความเป็นมนุษย์ทั่วไป ที่ยังคงมีที่ต้องเผชิญ ทั้งในอายตนะภายใน 6 และอายตนะภายนอก 6 รวมถึงมีขันธ์ 5 ที่เหมือนกันหมด ไม่ต่างกันเลย หรือพระเจ้าแผ่นดินมีอย่างไร คนขอทานก็มีอย่างนั้น ไม่ต่าง แต่เท่ากันหมด สิ่งนี้เป็นปรมัตถสัจจะ คือ สภาพที่เป็นจริงโดยปรมัตถ์
ลักษณะของสัจจะ (พระมหาสว่าง, 2554) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ(1)
การปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาต้องมีสัจจะ มีความจริงต่อการปฏิบัติ ไม่หลงมายาโลก จนกระทั่งเกิด “ความรู้ในสัจธรรม รู้ความจริง ตามความเป็นจริง” เข้าใจสมมติสัจจะ และปรมัตถ์สัจจะ สามารถดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ ตามลักษณะสัจธรรมที่แต่ละบุคคลเข้าถึงได้ความจริง คือ “สภาวะหรือธรรมชาติที่ทรงตัว เป็นของแท้ เที่ยงตรง ไม่เป็นอย่างอื่น
– ทางใจ จริงใจ ได้แก่ ซื่อตรง ความบริสุทธิ์ใจ ทางวาจา
– จริงวาจา ได้แก่ พูดจริง
– ทางกาย จริงกาย ได้แก่ ทำจริง
สัจจะเป็นวาจาที่เป็นถ้อยคำ หรือที่แปลตามรูปศัพท์วาจาว่า คำเปล่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า คือ คำพูด เป็นสื่อในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของบุคคลให้ผู้อื่นได้รับรู้ความคิดของตนด้วยลักษณะของสัจจะที่เป็นคำพูด เป็นทางแห่งทุกข์ และสุขทั้งหลาย ส่วนทางแห่งกุศลกรรมบถ คือ ความประพฤติเป็นกุศล และความประพฤติสม่ำเสมอดี ประกอบด้วย
ลักษณะสัจจะทางกายกรรม 3
การรักษาสัจจะใน “กายกรรม” หมายถึง การกระทำทางกายทั้งทางดี และทางชั่ว ด้วยการสร้างสัจจะกายกรรมทางดี เช่น การประพฤติปฏิบัติภาวนา การทำบุญทำทาน ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก เป็นต้น การละซึ่งสัจจะในกายกรรมทางชั่ว เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
การละซึ่งกายทุจริต 3
1. การเว้นจากการฆ่าสัตว์
การเว้นจากการฆ่าสัตว์ คือ ปาณาติปาตา เป็นศีลข้อที่ 1 ในศีลทั้ง 5 ที่ศาสนิกชนพึงปฏิบัติ ศีลข้อนี้ได้ประกอบด้วย 3 ลักษณะ คือ การเว้นจากการพรากชีวิต เว้นจากการทำร้ายให้เจ็บ และเว้นจากการทำให้ทรมาน โดยการขาดซึ่งศีลนั้นมีการกระทำให้ลุแล้วซึ่งชีวิตด้วยมีเจตนาเป็นที่ตั้ง
2. การเว้นจากการลักทรัพย์
การเว้นจากการลักทรัพย์ คือ อทินนาทานา เป็นศีลข้อที่ 2 ในศีลทั้ง 5 ที่ศาสนิกชนพึงปฏิบัติ ศีลข้อนี้ได้ประกอบด้วย 3 ลักษณะ คือ การโจรกรรม อนุโลมโจรกรรม และฉายาโจรกรรม โดยการลุซึ่งศีลข้อนี้ต้องประกอบขึ้นจากการโจรกรรมเพียงอย่างเดียว ส่วนอีก 2 ลักษณะ ถือว่าไม่ลุซึ่งศีล การโจรกรรมนั้น คือ การถือเอาทรัพย์คนอื่นในขณะที่เขาไม่ได้อนุญาต
3. การเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
การเว้นจากการประพฤติผิดในกาม คือ กาเมสุมิจฉาจารา เป็นศีลข้อที่ 3 ในศีลทั้ง 5 ที่ศาสนิกชนพึงปฏิบัติ ศีลข้อนี้ ท่านบัญญัติไว้ให้ฝ่ายชายพึงละซึ่งการลุแห่งกามในหญิง 3 ประเภท คือ หญิงที่มีสามี หญิงที่มีคนปกครอง และหญิงที่ห้ามด้วยจารีต ส่วนหญิงท่านให้ละซึ่งการลุกามในชาย 2 ประเภท คือ ชายที่มีภรรยา และชายที่ห้าด้วยจารีต
ลักษณะสัจจะทางวจีกรรม 4
การรักษาสัจจะใน วจีกรรม หมายถึง การกระทำทางวาจาในทางดี เช่น พูดคำที่เป็นประโยชน์ พูดสร้างสรรค์สังคม พูดดี เป็นต้น ไม่สร้างสัจจะในวจีกรรมทางชั่ว เช่น การประพฤติพูดเท็จ การประพฤติพูดคำหยาบ การประพฤติพูดส่อเสียด การประพฤติพูดยุยงให้เขาแตกกัน การประพฤติพูดให้ร้าย ป้ายสีเขา
1. การเว้นจากการพูดเท็จ
การพูดเท็จ หมายถึง การพูดด้วยเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง หรือ เรื่องโกหก เรื่องที่ตนแต่งขึ้นมาหรือเสริมความเท็จเพียงให้ตนได้รับประโยชน์
2. การเว้นจากการพูดส่อเสียด
การพูดส่อเสียด หมายถึง การพูดด้วยคำหยาบหรือคำสุภาพ แต่เป็นคำที่กระทบกระทั่งผู้อื่นให้เกิดความเจ็บใจ นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงการพูดยุแย่เพื่อให้คนอื่นหรือหมู่คณะแตกความสามัคคี เกิดความหมองใจ แตกแยกทะเลาะวิวาทกัน
3. การเว้นจากการพูดคำหยาบ
การพูดคำหยาบ หมายถึง การพูดด้วยคำหรือศัพท์ที่ไม่รื่นหู ไม่น่าฟัง มักพูดขณะเกิดโทสะ หรือพูดด้วยความคะนึกคะนอง คำหยาบเหล่านี้ เมื่อพูดออกไปย่อมทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ หรืออาจเกิดโทสะ เกิดโทษแก่ตน และผู้อื่น
4. การเว้นจากการพูดกลับคำ
การพูดกลับคำ หมายถึง การพูดกลับไปกลับมา หาจุดยืนของคำพูดหรือสิ่งที่แท้จริงในครั้งใดไม่ได้ อาจด้วยการสัญญา การรับคำต่อผู้อื่นหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพูดเพื่อบอดเล่าให้ผู้อื่นฟัง แต่กลับคำพูดใหม่เป็นครั้งคราวไป สิ่งเหล่านี้ คือ การพูดกลับคำ เมื่อพูดกลับคำแล้ว ย่อมทำให้ผู้อื่นไม่เชื่อในคำพูดของตน
ลักษณะสัจจะทางมโนกรรม 3
การรักษาสัจจะใน มโนกรรม หมายถึง กรรมทางใจ สร้างสัจจะมโนกรรมในทางดี เช่น คิดทำบุญ ทำกุศล เป็นต้น ไม่สร้างสัจจะมโนกรรมในทางชั่ว เช่น คิดอาฆาตพยาบาท คิดแต่สิ่งที่ไม่ดีไม่เกิดประโยชน์ คิดทำความชั่ว ประกอบด้วย
1. ไม่โลภอยากได้ของเขา
การมีความจริงใจ ละเว้นจิตเพ่งเล็งที่คิดอยากได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์จากผู้อื่นมาเป็นของตน
2. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
การมีความจริงใจโดยไม่คิดร้ายผู้อื่น ไม่เป็นผู้มีจิตพยาบาทคิดร้าย ไม่ใช่ผู้มีจิตคิดจะแก้แค้น ไม่คิดมุ่งเบียดเบียน หรือเพ่งมองในทางที่จะทำลายเขา จิตคิดปรารถนาแต่ว่า “ขอให้สัตว์พวกนี้จงเป็นผู้ไม่พยาบาท ไม่มีทุกข์ มีความสุขรักษาตนอยู่เถิด” พึงตั้งใจปรารถนาดี แผ่ไมตรี มุ่งให้เกิดแต่ประโยชน์สุขแก่กัน
3. มีความเห็นชอบ
การเป็นผู้มีความจริงใจ มีความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม ไม่ใช่เป็นผู้มีความเห็นคล้อยตามอำนาจกิเลส พึงมีความเห็นชอบว่า
– ทานให้หรือบริจาคมีผล
– การเซ่นสรวงมีผล
– การบูชามีผล
เอกสารอ้างอิง