โรคเหา (Head louse) เป็นโรคบนหนังศีรษะที่เกิดจากแมลงที่เรียกว่า เหา เข้าเกาะเพื่อดูดกินเลือด บริเวณหนังศรีษะทำให้เกิดอาการคัน มีตุ่มแดง มีเลือดออก สามารถไต่ติดต่อกับคนอื่นได้ง่าย และมักพบบ่อยในเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่มีผมยาว และไม่ค่อยดูแลหนังศรีษะ และเส้นผมแต่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย
ลักษณะทั่วไปของเหา
เหาเป็นแมลงชนิดหนึ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pediculus humanus มีลำตัวขนาดเล็ก สีเทา เทาดำ น้ำตาลหรือน้ำตาลดำ สีที่เห็นสามารถเปลี่ยนแปลงตามสีของเส้นผมในแต่ละคน แต่ทั่วไปจะมีสีดังที่กล่าวมา ตัวผู้เต็มวัยลำตัวยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ตัวเมียเต็มวัยยาวประมาณ 2.5-3.6 มิลลิเมตร ลำตัวประกอบด้วยส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง มีส่วนหัวเล็กที่สุด ส่วนอกใหญ่กว่าส่วนหัว แต่เล็กกว่าส่วนท้อง มีหนวดสั้น มีปากแบบเจาะดูด ส่วนท้องมีลักษณะเป็นปล้อง 2-5 ปล้อง ไม่มีปีก ขาคู่หน้าบริเวณส่วนต้นของอกใช้เป็นมือเกี่ยวเกาะยึดเส้นผม และ 2 ขา คู่หลังถัดกันมาบริเวณอกใช้สำหรับการเดิน
วงจรชีวิต
เหามีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์ มีเพียง 3 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน (3 ระยะ) และระยะตัวเต็มวัย (ปกติแมลงมี 4 ระยะ คือ เพิ่มระยะตัวหนอน) โดยเหาตัวเมียจะวางไข่ติดกับเส้นผมโดยใช้สารไคตินสำหรับยึดติด (80% บนเส้นผม และ 20% บนวัสดุอื่นใกล้ร่างกาย) สูงจากหนังศรีษะประมาณ 0.6 เซนติเมตร ตัวเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ประมาณ 270-300 ฟอง ไข่มีลักษณะยาวรี สีขาวหรือสีครีม ขนาดยาวกว้างประมาณ 0.8×0.3 เซนติเมตร ปลายด้านหนึ่งมีฝาครอบ และมีรูเปิดขนาดเล็กสำหรับถ่ายเทอากาศ หลังจากนั้นจะฟักเป็นตัวอ่อนประมาณ 5-10 วัน (อุณหภูมิ 27-29 องศา) และประมาณ 5-7 วัน (อุณหภูมิ 29-32 องศา) แต่หากมีอุณหภูมิต่ำกว่า 19 องศา ไข่เหาจะไม่ฟักหรืออาจใช้เวลาในการฟักนานมากกว่า 10 วัน
หลังการฟักออกจากไข่ ตัวอ่อนจะสามารถดูดกินเลือดได้ทันที มีระยะเป็นตัวอ่อนที่ 1-3 ประมาณ 8-9 วัน ด้วยการลอกคราบ และมีช่วงชีวิตตัวเต็มวัยประมาณ 2-4 สัปดาห์ อายุตัวเมียเต็มวัยจะอายุมากกว่าที่ 34 วัน ส่วนตัวผู้ที่ 31 วัน
ตัว อ่อน และตัวเต็มวัยจะดูดกินเลือดเพื่อเจริญเติบโต และผสมพันธุ์บนศรีษะ ขยายจำนวนมากขึ้นเรื่อย หากมีจำนวนเหามากเกินไป เหาบางส่วนจะย้ายหาแหล่งที่อยู่ใหม่ และหากคนเสียชีวิตเหาจะย้ายออกเพื่อหาที่อยู่ใหม่เช่นกันภายใน 1-8 วัน เนื่องจากเลือดของคนเสียชีวิตจะมีอุณหภูมิต่ำ และกลายเป็นเลือดเสีย
การแพร่กระจาย
ตัวเหา และไข่เหา สามารถพบเห็นได้เป็นจุดขาวๆ บริเวณโคนผม และเส้นผม ส่วนใหญ่จะพบบริเวณเหนือใบหู และบริเวณท้ายทอย หากมีจำนวนมากจะมีการเคลื่อนย้ายไปสู่คนใกล้ชิดได้อย่างรวดเร็ว โดยผ่านทางการสัมผัส หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ที่นอน เป็นต้น ซึ่งพบว่าเด็กผู้หญิงวัยเรียนที่มีเหา สามารถแพร่เหาให้แก่เพื่อนๆ ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
อาการจากเหา
เหาที่อาศัยบนหนังศรีษะจะคอยดูดเลือดกินเป็นอาหาร โดยในน้ำลายมีสารที่ทำให้หนังศรีษะระคายเคือง ทำให้เิกิดอาหารคัน มีตุ่มแดงตรงรอยกัด เกิดสะเก็ด หรืออาจมีเลือดออก หากมีจำนวนเหามากจะรู้สึกคันหนังศรีษะอย่างรุนแรง และสร้างความรำคาญมาก ขาดสมาธิในการเรียน นอนไม่หลับ ในบางครั้งหากมีอาการคันมากผู้ป่วยอาจเกาจนทำให้เกิดเป็นแผลถลอกได้ รวมถึงอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณรอยกัด มีอาการอักเสบ เป็นหนอง ต่อมน้ำเหลืองโต
ภาวะแทรกซ้อนจากเหา
รอยแผลจากการกัดของเหาอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีัเรีย เกิดอาการเป็นแผลอักเสบ เป็นหนอง นอกจากนั้น เหายังเป็นพาหะนำโรคสำคัญหลายชนิด อาทิ เชื้อริคเค็ทเซีย (Rickeitsia prowazekii) ของโรคไข้รากสาดใหญ่ (Louse borne typhus) ทำให้มีอาการเป็นไข้สูง ปวดศรีษะ มีอาการไอ และปวดกล้ามเนื้อ ในระยะ 5-6 วัน หลังติดเชื้อจะมีจุดตามผิวหนังบริเวณหน้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า และยังรวมไปถึงการเป็นพาหะนำโรคไข้พุพองอีกด้วย
การกำจัดเหา
1. การใช้ยากำจัดเหา
– เบนซิล เบนโซเอท (benzyl benzoate) เข้มข้น 25% หรือยาฆ่าหิดเหาขององค์การเภสัชกรรม มีราคาถูกกว่าแกมมา เบนซิล เฮกซะคลอไรด์ถึง 3 เท่า แต่จะใช้เวลาชโลมที่นานกว่า 2 เท่า สามารถฆ่าได้ทั้งตัวเหา และไข่เหา ผลข้างเคียงอาจทำให้ปวดหัว และวิงเวียนศรีษะ
– แกมมา เบนซิล เฮกซะคลอไรด์ (gamma benzene hexachloride) เข้มข้น 0.1% สามารถฆ่าได้ทั้งตัวเหา และไข่เหา ผลข้างเคียงอาจทำให้ปวดหัว และวิงเวียนศรีษะ
– ผง ดี.ดี.ที. ขององค์การเภสัชกรรม (ไม่มีการดูดซึมเข้าร่างกาย) ในบางประเทศเลิกใช้แล้ว
2. การใช้สมุนไพร
– น้อยหน่า โดยนำใบสดหรือเมล็ดตำหรือบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันพืชอื่นๆพอเปียกเล็กน้อย แล้วนำมาชโลม และคลุกบนศรีษะ ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงล้างออก ทำติดต่อกัน 3-5 วัน วันละครั้ง เหา และไข่เหาจะตายหมด
– มะกรูด นำผลมะกรูดมาบีบคั้นน้ำ แยกเอาเฉพาะน้ำชโลม และนวดศรีษะ ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ค่อยล้างออก ทำติดต่อกัน 3-5 วัน เช่นกัน นอกจากนั้น สามารถใช้น้ำมันมะกรูดชโลมสระผมเป็นประจำก็สามารถกำจัดเหาได้
– รากหนอนตายหยาก โดยนำรากมาบดหรือตำให้ละเอียด ผสมน้ำหรือน้ำมันพืชชโลม และนวดศรีษะ นาน 1-2 ชั่วโมง ทำเป็นประจำ 2-3 วัน สามารถฆ่าเหา และไข่เหาได้
– ใบยาสูบหรือยาฉุนผสมน้ำมันก๊าซ 3-4 ช้อน นำมาชโลม และนวดทั่วศรีษะ ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วล้างออก ทำเป็นประจำ 2-3 วัน สามารถฆ่าเหา และไข่เหาได้
– ต้น และใบขอบชะนาง ตำผสมกับน้ำมันมะพร้าว 3-4 ช้อน ชโลมผมทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง แล้วค่อยล้างออก ทำติดต่อกัน 3-4 วัน สามารถฆ่าเหา และไข่เหาได้
– พืชสมุนไพรอื่นๆได้แก่ รากหรือเถาของหางไหล ผักเสี้ยน ผลมะขาม เป็นต้น ด้วยวิธีใช้แบบเหมือนกับที่กล่าวมา
สารอื่นๆ เช่น น้ำเกลือ โดยละลายเกลือ 10 กรัม ในน้ำประมาณ 300 ซีซี เติมน้ำส้มสายชูประมาณ 5% นำมานวดชโลมผม ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วล้างออก สามารถฆ่าเหา และทำให้ไข่เหาฝ่อได้
การป้องกัน
1. อาบน้ำ และสระผมเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
2. ไม่อยู่ใกล้ชิดหรือใช้ของร่วมกันกับผู้ที่มีเหา
3. มั่นทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และของใช้ส่วนตัวเป็นประจำ
4. สำหรับเด็กวัยเรียนควรตรวจหาเหาบนศรีษะเป็นประจำทุกอาทิตย์