โรคมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณตับอ่อน ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหลังช่องท้องทำให้สามารถตรวจพบได้ยากมาก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายรายกว่าจะตรวจพบก็มักมีอาการมากแล้วหรืออยู่ในระยะสุดท้าย โรคนี้มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในช่วงอายุ 50-70 ปี ที่มักมีพฤติกรรมชอบสอบบุหรี่ ดื่มเหล้า และผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
หน้าที่ของตับอ่อน
1. สร้างน้ำย่อย สำหรับย่อยสารอาหารจำพวกแป้ง โปรตีน และไขมัน ที่เกิดขึ้นในลำไส้เล็ก
2. สร้างอินซูลิน เพื่อใช้สำหรับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ดังนั้น ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนจึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานตามมา
สาเหตุ
โรคมะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มักพบผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ดังนี้
1. ผู้ที่ชอบดื่มเหล้า และสูบบุหรี่จัด
2. ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทไขมันสูงทำให้ตับอ่อนทำงานหนัก
3. ผู้ที่ทำงานหรือมีโอกาสสัมผัสกับแหล่งสารมลพิษต่างๆ เช่น การทำงานที่มีโอกาสสัมผัสกับสาร betanaphthylamine และ benzidine
4. พันธุกรรมของเครือญาติที่มักพบการป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน
5. ผู้ที่มีภาวะโรคต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคตับ
6. ภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง
ลักษณะพยาธิวิทยา
– พบเคราสยีน (K-ras mutation) การกลายพันธ์ุของมากกว่าร้อยละ 70-90
– พบโปรตีน p53 มีการสร้างผิดปกติ ร้อยละ 60-70
– โครโมโซมที่ 16 (p16 deletion) มีการขาดหาย โดยพบมากกว่าร้อยละ 80
– พบ SMAD4 gene deletion และ point mutation ร้อยละ 50
อาการของโรค
มะเร็งตับอ่อนมักพบมีการก่อตัวบริเวณท่อตับอ่อน (Pancreatic duct) ที่พบสาเหตุมาจากสภาวะที่ตับอ่อนทำงานหนักจากการหลั่งฮอร์โมน และน้ำย่อยออกมา ระยะเริ่มของอาการ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดท้องบริเวณแถวลิ้นปี่ และปวดหลังเป็นๆหายๆอยู่บ่อยครั้ง บางรายอาจมีอาการปวดหลังเท่านั้น การปวดหลังมักปวดในเวลากลางคืน และจะรู้สึกปวดมากขณะหนอนหงาย ซึ่งในระยะที่มะเร็งเริ่มก่อตัวนี้มักตรวจไม่พบก้อนมะเร็งได้ เนื่องจากตับอ่อนถูกล้อมรอบด้วยอวัยวะอื่นๆ เช่น กระเพาะอาหาร ซึ่งการตรวจด้วยวิธีธรรมดาไม่สามารถตรวจพบอาการหรือเซลล์ที่ผิดปกติได้
ในระยะที่อาการหนักขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายปัสสาวะมีสีเหมือนช็อกโกแลต ใบหน้า ดวงตามีสีเหลือง จากภาวะที่ท่อน้ำดีมีเซลล์มะเร็งอุดตัน ทำให้น้ำดีบางส่วนไหลย้อนกลับออกนอกท่อเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายสู่อวัยวะต่างๆของร่างกาย ซึ่งกว่าจะพบผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบหนักแล้ว ส่วนอาการอื่นๆที่มักตรวจพบ ได้แก่ น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ร่างกายซูบผอม เบื่ออาหาร และปวดท้องบ่อยครั้ง อุจจาระสีซีด คลื่นไส้อาเจียน
ระยะของโรคมะเร็งตับอ่อน แบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งก่อตัวที่ท่อตับอ่อน และลุกลามอยู่ภายในเฉพาะตับอ่อน หากขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร เป็นระยะ 1A หากเกินกว่า 2 เซนติเมตร เป็นระยะ 1B ซึ่งหากมีการตรวจพบในระยะนี้จะมีโอกาสหายค่อนข้างสูง
ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งลุกลามออกนอกตับอ่อน และเนื้อเยื่อรอบบริเวณตับอ่อน โดยแบ่งเป็นระยะ 2A ที่ยังไม่มีการแพร่เข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง หากมีการแพร่เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองจัดเป็นระยะ 2B การพบโรคในระยะนี้มักรักษาด้วยการผ่าตัด
ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าสู่หลอดเลือด และระบบต่อมน้ำเหลืองอื่นๆข้างเคียง
ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าสู่กระแสโลหิตแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆของร่างกาย
การลุกลามในระยะที่3 และ4 การรักษาจะเป็นไปค่อนข้างยาก เพราะมีการแพร่เข้าสู่ระบบกระแสเลิด และอวัยวะต่างๆมากแล้ว
ภาวะแทรกซ้อน
1. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
2. ติดเชื้อในระบบทางเดินน้ำดี
3. ร่างกายขาดสารอาหาร ซูบผอม
4. เกิดโรคเบาหวาน
การวินิจฉัย
1. การตรวจเลือด
2. การอุลตร้าซาวด์ ซึ่งช่วยการวินิจฉัยได้ดีเมื่อตรวจพบก้อนเนื้อที่ใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร รวมถึงสามารถมองเห็นถุงน้ำดีโตกว่าปกติ
3. เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT scan) จะช่วยวินิจฉัยได้ดีเมื่อก้อนเนื้อโตมากกว่า 1 เซนติเมตร
4. MRI cholangiography เพื่อดูทางเดินน้ำดีได้ แต่วิธีนี้ช่วยวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อนได้น้อยกว่า CT scan
5. การย้อมสี และส่องกล้องในท่อน้ำดี และท่อตับอ่อน (ERCP) รวมถึงการเปิดทางท่อน้ำดีที่อุดตันสำหรับรักษาอาการตัวเหลือง
6. EUS (endoscopic ultrasound) เป็นการส่องกล้องด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง สำหรับช่วยวินิจฉัยการแพร่ของเซลล์มะเร็งสู่เส้นเลือด และต่อมน้ำ้เหลือง
7. การตัดชิ้นเนื้อทำเพื่อตรวจสอบทางพยาธิ และลักษณะที่อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
8. การใช้เครื่องเพ็ตสแกน (PET scan) เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง และช่วยวินิจฉัยการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งที่วิธีอื่นไม่สามารถตรวจเห็น แต่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า CT scan
9. การตรวจหาสารบ่งชี้เซลล์มะเร็ง ได้แก่ CEA และ CA 19-9 ที่มีความจำเพาะประมาณร้อยละ 90% ทั้งนี้ CA 19-9 มักพบได้ในเซลล์มะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งรังไข่ และ มะเร็งของระบบทางเดินนา้ดี รวมถึงภาวะที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง เช่น ตับอักเสบ และตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น
การรักษา
การรักษาโรคมะเร็งขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง การซักประวัติ และอาการของโรค นอกจากนี้การตรวจด้วยเครื่องมือ และวิธีทางการแพทย์เพิ่มเติม เช่น การอัลตร้าซาวด์หรือเอกซเรย์จะนำมาประกอบการวินิจฉัยของแพทย์
มะเร็งตับที่ตรวจพบในระยะแรกๆ ซึ่งเซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกสู่กระแสเลือด และอวัยวะอื่นๆ จะทำการรักษาโดยการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งนั้นออกไป
แต่หากตรวจพบในระยะที่มีการแพร่เข้าสู่ส่วนต่างๆของร่างกายแล้ว มักรักษาด้วยการเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งภายหลังการรักษาจำเป็นต้องเข้าพบแพทย์เป็นระยะเพื่อติดตามการรักษา
นอกจากนั้น ในกรณีที่ทำการผ่าตัดไม่ได้ แพทย์จะทำทางเบี่ยงของน้ำดีเพื่อลดอาการดีซ่าน ซึ่งจะสามารถบรรเทาอาการของผู้ป่วย
การผ่าตัดจะต้องพิจารณาลัีกษณะของเซลล์มะเร็ง ดังนี้
1. ไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งออกนอกตับอ่อน
2. ท่อน้ำดี mesenterics หรือ portal vein ไม่มีการอุดตัน
3. ไม่มีการกระจายของเส้นเลือดแดง mesentery และ celiac axis
แนวทางการป้องกัน
1. งดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า และสูบบุหรี่
2. งดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทไขมันสูง
3. หลีกเลี่ยงการอยู่อาศัยหรือสัมผัสกับแหล่งมลพิษต่างๆ
4. รับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ให้มาก
5. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
6. การตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังโรคเป็นประจำทุกปี