โลกธรรม 8 ประการ

29222

โลกธรรม 8 ประการ หมายถึง ความเป็นไปตามความจริงของชีวิตที่มีอยู่บนโลก หรือ ธรรมอันเป็นความจริงของทุกชีวิตบนโลก แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. อิฏฐารมณ์ คือ สิ่งที่ต้องตามปรารถนาหรือสิ่งที่น่าพอใจ 4 ประการ คือ
– ลาภะ คือ การมีลาภ
– ยสะ คือ การมียศ
– ปสังสะ คือ การมีคำสรรเสริญ/ยินยอ
– สุขะ คือ การมีความสุข
2. อนิฏฐารมณ์ คือ สิ่งที่ไม่เป็นไปตามปรารถนา หรือ สิ่งที่ไม่พึงพอใจ 4 ประการ คือ
– อลาภะ คือการเสื่อมในลาภ
– อยสะ คือ การเสื่อมในยศ
– นินทะ คือ การมีคำนินทา
– ทุกขะ คือ การมีความทุกข์

โลกธรรม 8 ประการ
1. การมีลาภ แห่งโลกธรรม 8 คือ การได้มาซึ่งทรัพย์สิน เงิน ทอง โภชนะ และปัจจัยทั้งหลายตามสิ่งที่ตนปราถนา ทั้งที่ได้มาด้วยความสุจริตหรือทุจริต เช่น การถูกหวยรางวัลที่ 1
2. การมียศ แห่งโลกธรรม 8 คือ การได้มาซึ่งสมมติสัจจะ คือ นามที่เขาตั้งให้ เพื่อเป็นนามกำหนดในบทบาทหน้าที่ของตนในสังคม เช่น เป็นตำรวจ เป็นครู เป็นนายอำเภอ เป็นต้น
3. การมีคำสรรเสริญ/ยินยอ แห่งโลกธรรม 8 คือ คำกล่าวที่เขาพูดถึงตนด้วยความบริสุทธิ์ใจในการเชิดชูต่อความดีหรือสิ่งที่ตนได้กระทำเพื่อผู้อื่น สิ่งนี้เรียกว่า คำสรรเสริญ ส่วนคำกล่าวที่เขาพูดถึงตนด้วยความไม่บริสุทธิ์ใจ หรือการแกล้งกล่าว เพียงเพื่อหวังประโยชน์แก่เขา สิ่งนี้ เรียกว่า การยินยอ
4. การมีความสุข แห่งโลกธรรม 8 คือ ความอิ่มเอิบใจในสิ่งที่ได้มาตามความปรารถนาทั้ง 3 ประการ ข้างต้น นอกจากนี้ ความสุขที่มีนั้น ยังครอบคลุมถึงความสุขทางใจในด้านอื่นๆ เช่น ความสุขจากการยินดีในความรัก ความสุขจากความสำเร็จในการงาน การเล่าเรียน เป็นต้น ไม่นับรวมกับความสุขหรือความยินดีในธรรม ซึ่งความสุขเหล่านี้ จัดเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืนเหมือนสิ่งที่ได้มาทั้ง 3 ประการ นั้น

โลกธรรม 4 ประการแรกนี้ จัดเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาหรือน่ายินดี แต่ผู้ที่ได้มาพึงมีอนิจจังเป็นธรรมคู่ในใจ คือ ให้รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีความไม่เที่ยง มีเพิ่ม ย่อมมีลดหรือหมดหายไป ไม่สามารถคงอยู่กับเราได้ตลอดเวลา

โลกธรรม

5. การเสื่อมในลาภ แห่งโลกธรรม 8 คือ ความไม่เที่ยง และไม่คงอยู่ของลาภที่ได้มาทั้งปวง ลาภเหล่านั้น เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ย่อมมีวันลดน้อยหรือหมดไปจากตน เช่น เงิน ทอง หรือ ทรัพย์สินต่างๆ
6. การเสื่อมในยศ แห่งโลกธรรม 8 คือ ความไม่เที่ยง และไม่คงอยู่ของยศถาบรรดาศักดิ์ที่ได้มาทั้งปวง ยศเหล่านั้น เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นนามที่เพียงผู้อื่นเขาตั้งให้แทนตัวตนของเรา และยศเหล่านี้ย่อมหมดไปตามวาระการงานหรือหมดไปตามกายของตน
7. การมีคำนินทา แห่งโลกธรรม 8 คือ คำกล่าวที่ผู้อื่นกล่าวถึงตนในทางเสื่อมเสีย คำเหล่านี้ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของทุกคน แต่เป็นธรรมดาที่หากมีผู้รักย่อมมีผู้เกียจ และนินทาว่าร้าย เป็นของคู่กันกับคำสรรเสริญ/ยินยอ
8 การมีความทุกข์ คือ ความหม่อนหมองหรือขมขื่นใจที่เกิดจากการเสื่อมในลาภ ในยศ และในคำถูกกล่าวนินทา นอกจากนั้น ความทุกยังรวมถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากด้านต่างๆ เช่น ความทุกข์จากคำด่าทอ ความทุกข์จากความผิดหวังในความรัก และความทุกข์จากการสูญเสียในสิ่งต่างๆ เป็นต้น

โลกธรรม 4 ประการหลังนี้ จัดเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของทุกๆคน แต่ผู้ที่ต้องเผชิญกับความเสื่อมทั้ง 4 นี้ ก็ต้องพึงมีอนัตตา คือ ทุกสิ่งล้วนไม่มีตัวตน คือ ย่อมมีวันเสื่อมสลายไปตามอนิจจังอันเกิดจากความเที่ยงแท้ และสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่ตนไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดให้คงอยู่ได้ดั่งใจต้องการ

โลกธรรมทั้ง 8 ประการนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดกับทุกคนบนโลกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่งแล้วย่อมทำให้เป็นที่น่ายินดี อันประกอบด้วย การเกิดลาภ การเกิดยศ การเกิดคำสรรเสริญหรือยินยอ และการเกิดความสุข แต่สิ่งทั้ง 4 ประการนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่มีความเที่ยงแท้ คือ ไม่มีสิ่งใดที่ยั่งยืนหรือคงอยู่ตลอดกาลเวลา จึงต้องมีวันที่จะเสื่อมหายหรือหมดไปในอนาคตภายหน้า คือ การเสื่อมลาภ การเสื่อมในยศ การเกิดคำนินทา และสุดท้าย คือ การเกิดความทุกข์ นั่นเอง

ท้ายสุดนี้ ผู้ที่พึงจะหลุดพ้นหรือคลายจากโลกธรรม 8 ประการเหล่านี้ได้ จึงพึงประกอบขึ้นด้วยไตรลักษณ์ 3 ประการ อ่านเพิ่มเติม