เหงื่อรักแร้ กลิ่นรักแร้ และการรักษา

8307

ภาวะเหงื่อรักแร้ออกมาก อาจเกิดขึ้นในคนปกติสำหรับรักษาอุณหภูมิของร่างกายหรือเกิดขึ้นในภาวะที่ร่างกายผิดปกติจากการเกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคสะเก็ดเงินที่รุนแรง โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น หรือเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นในหลายด้าน อาทิ พันธุกรรม เป็นต้น

ลักษณะต่อมเหงื่อบริเวณรักแร้ และการเกิดกลิ่นรักแร้
ลักษณะโครงสร้างทางกายวิภาคของต่อมเหงื่อบริเวณรักแร้สามารถเปรียบเทียบได้กับต่อมเหงื่อในส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งต่อมเหงื่อสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด
1. ต่อมเหงื่อเอ็คไคลน์ (Eccrine Sweat Glands)
ต่อมเหงื่อเอ็คไคลน์ พบต่อมเหงื่อชนิดนี้ได้มากที่สุด กระจายอยู่ทั่วบริเวณผิวหนังของร่างกาย ประมาณ 1.5-4 ล้านต่อม ยกเว้น บริเวณหูชั้นนอก, ริมฝีปาก, คลิตอริส และ แคมเล็กพบได้หนาแน่นที่สุดบริเวณรักแร้ ฝ่ามือ และฝ่าเท้า โดยที่ฝ่ามือพบประมาณ 500 ต่อม/ตารางเซนติเมตร มีบทบาทสำคัญในการสร้างเหงื่อ เพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกาย สามารถทำงานได้ตั้งแต่แรกเกิด องค์ประกอบของต่อมเหงื่อเอ็คไคลน์ประกอบด้วยตัวต่อมที่มีลักษณะฟันคดเคี้ยวอยู่ในชั้นหนังแท้ (Dermis) ทำหน้าที่สร้างเหงื่อ และตัวท่อขับเหงื่อมีลักษณะเป็นท่อตรงในชั้นหนังแท้ก่อนจะเปิดเข้าสู่ชั้นผิวหนังโดยตรง

เหงื่อที่ผลิตจากต่อมเอ็คไคลน์เป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์ ได้แก่ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) โพแทสเซียมแคลเซียม และไบคาร์บอเนต รวมถึง ส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ โปรตีนต้านจุลชีพ เช่น dermcidin, เอนไซม์ (Proteolytic Enzymes), กลูโคส, ไพรูเวท, ยูเรีย, แอมโมเนีย อีกทั้งสารประกอบอินทรีย์ และโลหะสามารถขับออกทางเหงื่อได้

2. ต่อมเหงื่ออะโพรไคลน์ (Apocrine Sweat Glands)
ต่อมเหงื่ออะโพรไคลน์ พบได้ที่บริเวณรักแร้, หัวนม และขาหนีบ ทำหน้าที่สร้างการที่มีกลิ่นตัวเฉพาะ ทำให้เกิดกลิ่นตัว หรือหากบริเวณรักแร้ก็จะเกิดกลิ่นของรักแร้

องค์ประกอบของต่อมเหงื่ออะโพรไคลน์ประกอบด้วยตัวต่อมที่มีลักษณะฟันคดเคี้ยวอยู่ในชั้นหนังแท้ลึก (Deep Dermis) ทำหน้าที่สร้างของเหลว เหนียว ข้น มีกลิ่น และตัวท่อเปิดเข้าสู่รากขน (Hair Follicle) ต่อมเหงื่อชนิดนี้ เริ่มทำงานเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น โดยสารที่สร้างขึ้นจะเป็นอาหารของพวกแบคทีเรียซึ่งจะทำให้กลิ่นชัดเจนยิ่งขึ้น และมีเซลล์จำเพาะไมโออีพิเลี่ยวเซลล์ (Myoepithelium Cell) ช่วยในการขับสารที่สร้างขึ้นจากต่อมไปที่รากขน ทำงานสัมพันธ์กับฮอร์โมนซึ่งถูกควบคุมโดยระบบประสาท

3. ต่อมเหงื่ออะโพรเอ็คไคลน์ (Apoeccrine Sweat Glands)
ได้มีการกล่าวถึงต่อมเหงื่ออะโพรเอ็คไคลน์ ในปี ค.ศ. 1987 โดยซาโต ได้ค้นพบต่อมเหงื่อชนิดนี้ที่รักแร้ของผู้ใหญ่ แต่ไม่พบในเด็ก โดยพบว่า มีลักษณะรูปร่าง และการทำงานแบบต่อมเหงื่อทั้งสองชนิด อย่างไรก็ตามงานวิจัยในระยะหลัง พบว่า เมื่อตัดชิ้นเนื้อที่รักแร้มาทำการตรวจโดยการย้อมพิเศษ ไม่พบต่อมเหงื่อชนิดนี้

กลไกการหลั่งเหงื่อ และความสำคัญ
การขับเหงื่อ เป็นกระบวนการทางสรีรวิทยา และเป็นกลไกที่จำเป็น เหงื่อส่วนใหญ่ของร่างกาย โดยสร้างจากต่อมเหงื่อเอ็คไคลน์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการควบคุมอุณหภูมิ และรักษาสมดุลร่างกาย (Homeostasis) โดยในขณะที่เหงื่อออกมาก จนเกินความจำเป็นในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญต่อผู้ที่เกิดภาวะนี้ในการดำรงชีวิตประจำวัน

การขับเหงื่อเกิดจาก 2 กลไก ได้แก่
1. การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย (Thermoregulatory)
นอกเหนือจากมนุษย์ มีเพียงสัตว์เพียงไม่กี่ชนิด ที่สามรถระเหยความร้อนผ่านการทำงานของต่อมเหงื่อเอ็คไคลน์ เช่น ลิง และม้า เป็นต้น โดยการทำงานของต่อมเหงื่อ ควบคุมโดยระบบประสาทซิมพาเทติค (Sympathetic Nervous System) ผ่านหลายวงจรตอบสนอง (Feedback Loop) ที่มีอยู่ โดยเริ่มต้นจากเซลล์ประสาทที่รับอุณหภูมิที่ผิวหนัง และเซลล์ร่างกายที่รับความรู้สึกส่งสัญญาณประสาทไปที่ศูนย์การไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) เพื่อไปควบคุมการสร้างเหงื่อที่บริเวณต่อมเหงื่อของผิวหนัง

2. ต่อมเหงื่อจากอารมณ์ (Emotional Sweating)
เหงื่อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เป็นกลไกการตอบสนองทางกายภาพต่อสัญญาณ ทางด้านอารมณ์ ประสาทสัมผัส การรับรู้ และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง การขับเหงื่อชนิดนี้ ถูกควบคุมโดยศูนย์ลิมบิค (Limbic Center) นีโอคอร์ติคอล (Neocortical) อารมณ์ ความเครียด กระตุ้นกลไกนี้มาก โดยเฉพาะที่ต่อมเหงื่อบนใบหน้า, รักแร้, ฝ่ามือ และฝ่าเท้า นอกจากนี้ ยังพบความแตกต่างของสองกลไกในการขับเหงื่อ ความสามารถในการควบคุมหลอดเลือด (Vasomotors) เหงื่อออกจากความเครียด ทำให้หลอดเลือดหดตัว (Vasoconstriction) ในขณะที่เหงื่อออกจากการควบคุมอุณหภูมิจะทำให้หลอดเลือดคลายตัว (Vasodiulatation)

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของทั้งสองกลไกการสร้างเหงื่อนี้ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง และมักพบว่า มีอิทธิพลต่อกัน

ปริมาณของการหลั่งเหงื่อ แตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อารมณ์ และสภาพแวดล้อม ภายใต้การกระตุ้นสูงสุด ร่างกายสามารถผลิตเหงื่อได้ถึง 3 ลิตร ใน 1 ชั่วโมง

กลไกขับเหงื่อจากต่อมเหงื่อสู่ผิวหนัง แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1. เซลล์สร้างเหงื่อของต่อมเอ็คไคลน์สร้างเหงื่อที่มีความเข้มข้นเท่ากับภายในเซลล์ (Isotonic)
2. เซลล์ของท่อเหงื่อที่มีการดูดซึมโซเดียมคลอไรด์กลับบางส่วน ส่งผลทำให้เหงื่อที่มีความเข้มข้นสุดท้ายบริเวณผิวหนังชั้นบนมีความเข้มข้นของเกลือต่ำกว่าภายในเซลล์ (Hypotonic) แต่หากมีภาวะหลั่งเหงื่อมากพบว่าโซเดียมคลอไรด์ อาจจะสูงขึ้นเมื่อเหงื่อถูกผลิตในอัตราที่รวดเร็วมากขึ้น

โดยพยาธิสรีรวิทยาของภาวะหลั่งเหงื่อออกมาที่รักแร้ เชื่อว่าเกิดจากการที่สมองสั่งการมากระตุ้นที่ต่อมเหงื่อมากกว่าปกติ ผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ สมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) เป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และเป็นศูนย์ควบคุมอุณหภูมิ โดยสั่งการผ่านระบบประสาทซิมพาเทติค (Sympathetic) ศูนย์เหงื่อตอบสนองต่ออุณหภูมิแกนกลางของตัวเอง (Core Body Temperature) เช่นเดียวกับการกระตุ้นจากภายนอก

เหงื่อทำให้เกิดความผิดปกติทางคลินิก รวมถึงภาวะหลั่งเหงื่อมาก (Hyperhidrosis) เหงื่อออกน้อย (Hipohidrosis) และภาวะไม่มีเหงื่อ (Anhidrosis) ความผิดปกติดังกล่าว ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้าง และการทำงานของต่อมเหงื่อ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการวินิจฉัย และการรักษาความผิดปกติของการขับเหงื่อ

ผลกระทบทางด้านสังคม คุณภาพชีวิต ภาวะหลั่งเหงื่อมากเทียบได้กับโรคสะเก็ดเงินที่รุนแรง โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ในแง่ของผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยมักจะมีปัญหาทางอารมณ์ และไม่มีความหวังในการรักษาโรคมากกว่าโรคผิวหนังอื่นๆ จากการสำรวจ พบว่า ผู้ป่วย 34-47% รู้สึกว่าภาวะหลั่งเหงื่อมากมีผลในระดับปานกลางถึงรุนแรงต่อการประกอบอาชีพในสังคม

การวินิจฉัย และอาการแสดง
แพทย์ผู้ทำการตรวจวินิจฉัย ต้องมีดัชนีของความสงสัยสูง (High Index of Suspicion) ในการวินิจฉัยภาวะนี้ ผู้ป่วยมักประหม่าที่จะขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือไม่ได้ตระหนักว่าภาวะหลั่งเหงื่อมากสามารถรักษาได้จริง แพทย์ต้องให้ความสำคัญกับประวัติดังต่อไปนี้ ได้แก่ ตำแหน่ง ระยะเวลา ความถี่ อาการร่วม หรือโรคร่วม ประวัติครอบครัว อายุ ที่เริ่มมีอาการ และปัจจัยกระตุ้น

1. ภาวะหลั่งเหงื่อมากปฐมภูมิ (Primary Hyperhidrosis)
ภาวะหลั่งเหงื่อมากปฐมภูมิ หรือ การวินิจฉัยภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะที่ มักไม่ต้องวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะที่แบบปฐมภูมิ

การแสดงออกถึงการขับเหงื่อออกมากที่เห็นได้ชัด อย่างน้อย 6 เดือน โดยไม่มีสาเหตุชัดเจนอื่น นอกจากจะมีลักษณะต่อไปนี้ อย่างน้อย 2 ลักษณะ :
– เกี่ยวข้องกับสมมาตรร่างกาย
– มีผลต่อกิจกรรมประจำวันของผู้ป่วย
– เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์
– มีอายุต่ำกว่า 25 ปี
– มีประวัติเกี่ยวข้องกับเครือญาติ
– ไม่มีเหงื่อออกตอนกลางคืน

 

2. ภาวะหลั่งเหงื่อมากทุติยภูมิ (Secondary Hyperhidrosis)
ส่วนภาวะหลั่งเหงื่อมากทุติยภูมิ ปริมาณเหงื่อที่สามารถวัดได้ด้วยวิธีที่สะดวก และนิยมทางคลินิก คือ การทดสอบด้วยไอโอดีน และแป้ง (Starch-Iodine Test) ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการประเมินการรักษาคนไข้ในแต่ละครั้ง อย่างไรก็ตามเป็นเพียงการทดสอบข้อมูลเชิงคุณภาพ

ตัววัดที่จะระบุปริมาณของเหงื่อได้มีการพัฒนาขึ้นมาใช้โดยการนำกระดาษกรองที่แปะที่รักแร้ นาน 5 นาที ไปชั่งน้ำหนักเพื่อวัดเป็นตัวเลขที่ชัดเจน หากปริมาณเหงื่อออกมากกว่า 50 -100 มิลลิกรัม/นาที วินิจฉัยได้ว่า มีภาวะหลั่งเหงื่อมากที่รักแร้

เมื่อนำชิ้นเนื้อผู้ป่วยที่มีภาวะหลั่งเหงื่อมากมาตรวจชิ้นเนื้อ พบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของจำนวน ขนาด และปริมาณต่อมเหงื่อเอ็คไคลน์ เมื่อเปรียบเทียบกับคนปกติ ช่วยสมมติฐานว่า พยาธิสภาพเกิดจากการทำงานของระบบซิมพาเทติคที่มากเกิน

ตารางที่ 2 สาเหตุของภาวะหลั่งเหงื่อมากทุติยภูมิ

Generalized ยาเสพติด, การใช้สารเสพติด, โรคหัวใจและหลอดเลือด, ความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ, การติดเชื้อโรคมะเร็ง, ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ / เมตาบอลิซึม, ระบบประสาท (โรคพาร์กินสัน)
Regional

ความผิดปกติของเส้นประสาท, ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย, ระบบประสาทส่วนกลางหรือระบบประสาทส่วนปลายอาจทำให้เกิดเหงื่อชดเชยในพื้นที่อื่น (โรคหลอดเลือดสมอง, แผลไขสันหลังหลัง, โรคระบบประสาท)

Focal Frey syndrome, การไหลเวียนของเลือดออก, เหงื่อไหล, ความผิดปกติของความวิตกกังวลทางสังคม, โรคทางระบบประสาทหรือเนื้องอก

 

ภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะที่ พบได้ในคนปกติสุขภาพดี ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น โดย 3% ของประชากรที่มีภาวะหลั่งเหงื่อมาก พบถึง 51% ที่เกิดเฉพาะที่บริเวณรักแร้ โดยน่าจะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แบบ Autosomal dominat เนื่องจาก 30% ถึง 60% ของผู้ป่วย มีประวัติคนในครอบครัวมีอาการเช่นกัน โดยภาวะหลั่งเหงื่อมากเกิดจากความผิดปกติซับซ้อนของระบบประสาทซิมพาเทติค และพาราซิมพาเทติค

สาเหตุเหงื่อออกรักแร้มาก
เหงื่อออกเป็นกลไกทางสรีรวิทยา แต่ภาวะหลั่งเหงื่อมาก (Hyperhidrosis) เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความทุกข์ สามารถแบ่งได้เป็นเหงื่อออกมากทั่วทั้งตัว และเหงื่อออกมากเฉพาะที่

โดยสาเหตุที่ทำให้เหงื่อออกทั่วทั้งตัว ได้แก่ ภาวะติดเชื้อ ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ (ไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน วัยหมดประจำเดือน ตั้งครรภ์ เนื้องอกของต่อมหมวกไต) ความผิดปกติทางระบบประสาท (โรคพาร์กินสัน) โรคมะเร็ง (โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งที่ไขกระดูก) จากการกินยาบางชนิด (ยาต้านความซึมเศร้า) ได้รับสารพิษ หรือ อาการถอนยาจากสารเสพติด ดังแสดงในตารางที่ 2 ด้านบน

การรักษาเหงื่อออกรักแร้มาก
นอกจากการรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมาจากสาเหตุของโรคต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังไม่มีการรักษาใดเป็นมาตรฐานในการรักษาภาวะเหงื่อมากโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ได้มีการนำวิธีการรักษาหลายวิธีมาใช้ในการรักษาร่วมกันในปัจจุบัน โดยมีลำดับขั้นในการรักษาวะหลั่งเหงื่อมากที่รักแร้ คือ
– ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในการเลือกใช้ยาระงับเหงื่อ หรือ ยาลดกลิ่นตัว
– แนะนำวิธีการใช้ 10-35% อลูมินัมคลอไรด์ เพื่อลดอาการระคายเคือง
– ฉีดสารโบทูลินัมท็อกซินที่รักแร้
– ผ่าตัด : ตัดต่อมเหงื่ออกเฉพาะที่ หรือ ผ่าตัดปมประสาทโดยส่องกล้องทางทรวงอก

1. การรักษาโดยใช้ยาทา (Medical Treatments)
เนื่องจากภาวะหลั่งเหงื่อมากบริเวณรักแร้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในหลายด้าน โดยเฉพาะผลต่อสภาวะทางจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นในตนเองลดลง และคุณภาพชีวิตต่ำลงด้วย การรักษาโดยการใช้ยาทาจึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

ยาที่ใช้ในรูปทาเพื่อการรักษาภาวะหลั่งเหงื่อบริเวณรักแร้มากนั้น มีเพียง 2 ชนิด ซึ่งมีการนำมาใช้ และได้ผลดี ได้แก่
1.1 เกลืออลูมินัม (Aluminum Salt)
อลูมิเนียมคลอไรด์เฮกซ่าไฮเดรท เป็นสารที่ได้ถูกเพิ่มเข้าไปในยาระงับเหงื่อที่ขายตามท้องตลาด ในขนาดต่ำที่ 1-2% ในการรักษาทางการแพทย์จะใช้ที่สูงขนาด 15-25% ใช้ทาทุกวันก่อนนอน ล้างออกในเวลาเช้า ใช้ 3-7 ครั้ง/สัปดาห์ จนกว่าปริมาณเหงื่อจะปกติ จึงลดการใช้เป็นอาทิตย์ละ 1-3 ครั้ง โดยตัวยาจะเข้าไปอุดกั้นท่อต่อมเหงื่อ จนเกิดการฝ่อของต่อมเหงื่อในที่สุด ที่รักแร้พบว่าได้ผลดีถึงร้อยละ 80

จากงานวิจัย พบว่า เมื่อนำชิ้นเนื้อผู้ที่ใช้ยาทาชนิดนี้เป็นระยะเวลานานไปตรวจ พบว่า ต่อมเหงื่อชนิดอะโพรไคลน์ยังปกติ แต่ต่อมเหงื่อชนิดเอ็คไคลน์มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง โดยโครงสร้าง และการทำงานของต่อมเหงื่อที่เสียไปสัมพันธ์กับอาการทางคลินิกที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามพบว่า ผลการรักษาที่ได้ไม่ถาวร เมื่อหยุดยา จะกลับมาเป็นซ้ำที่หนึ่งสัปดาห์ ผลข้างเคียงจากการรักษา คือ ผิวหนังอักเสบ ผิวไหม้ คัน แพทย์ส่วยใหญ่เลือกนำยาตัวนี้มาเป็นลำดับแรกในการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ในรูปแบบของเกลืออลูมินัมใน 2% ซาลิซิลิคเจล พบว่า ได้ผลดี มีการระคายเคืองน้อย

1.2 สารต้านโคลิเนอจิคชนิดทา (Anticholinergic Substance)
สารต้านโคลิเนอจิคชนิดทา มักใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหลั่งเหงื่อมาก เช่น เฟร์ซินโดรม (Frey’ s Syndrome) ประกอบด้วยสารไกลโคไพโรลเลท (glycopyrrholate) 0.5-1% ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ ระคายเคืองผิวหนัง ส่วนยาสโคโพลามีน (Scopolamine) ไม่นิยมใช้ เพราะสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง

2. การรักษาโดยใช้สารโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum Toxin Injection)
สารโบทูลินัมใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณรักแร้ สารนี้สร้างจากแบคทีเรียชนิดแอนแอโรบิค ชื่อครอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) ทำงานโดยยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาท (Acethylcholine) ที่ตำแหน่งของรอยต่อระหว่างปลายประสาทและกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Junction) และที่รอยต่อของปลายประสาท ทำให้ต่อมเหงื่อเอ็คไคลน์ ไม่ถูกกระตุ้นให้ผลิตเหงื่อ ซึ่งได้ผลดีที่ 4 สัปดาห์ การตอบสนองการรักษาประมาณ 85% และที่ 12 สัปดาห์ ตอบสนองถึง 90%

มีงานวิจัยเปรียบเทียบถึงผลการรักษาของการใช้ยาทาเกลืออลูมินัมเปรียบเทียบกับการฉีดสารโบทูลินัมท็อกซิน พบว่า มีการตอบสนองที่ 4 สัปดาห์ ของยาทาเกลืออลูมินัมประมาณ 33% และสารโบทูลินัมท็อกซินประมาณ 92% โดยองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับรอง (Approved by US FDA) การใช้สารโบทูลินัมฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพื่อรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากบริเวณรักแร้โดยใช้ขนาด 1 ยูนิต/ตารางเซนติเมตร ทั้งหมด 50-100 ยูนิต/รักแร้ 1 ข้าง ผลข้างเคียงจากการรักษา คือ อาการเจ็บเนื่องจาก ต้องฉีดหลายจุด กระจายทั่วรักแร้ทั้งสองข้าง และผลการรักษาที่ไม่ได้ถาวร โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4-7 เดือน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สูงต่อการรักษา

3. การทำไอออนโตโฟเซิสในน้ำ (Tap Water Iontophoresis : TWI)
การทำไอออนโตโฟเซิสในน้ำ เริ่มจากวางมือหรือเท้าสองข้างลงในน้ำ ซึ่งปล่อยขั้วไฟฟ้ากระแสตรง หรือ กระแสสลับขนาด 15-20 มิลลิแอมป์ นาน 20-30 นาที ทำวันละครั้งจนครบ 1 สัปดาห์ เมื่อเหงื่อลดลงจึงลดการทำเป็นสัปดาห์ละครั้ง โดยกระแสไฟฟ้าไปรบกวนการแลกเปลี่ยนอิออนของต่อมเหงื่อ มีผลต่อการสร้างเหงื่อแบบชั่วคราว ซึ่งพบว่า ได้ผล 85% ปัจจุบันมีการใส่ยาบางชนิดเข้าไปร่วมกับการทำไอออนโตโฟเรซีสในน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ผลข้างเคียง คือ อาการแดง ปวด และตุ่มน้ำ ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีนี้ ได้ผลรักษาที่ดีที่มือ และเท้า แต่ไม่เหมาะกับการรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากบริเวณรักแร้

4. การรักษาในรูปยากิน (Systemic Treatment)
ปัจจุบันในการรักษาเหงื่อออกมากทั้งตัว มีการรักษาโดยใช้ยากินในกลุ่มต้านโคลิเนจิค (Anticholinergic Drugs) เช่น ไกลโคไพโลเลท (Glycopyrrolate) ขนาด 1-2 มิลลิกรัม กินสามครั้ง/วัน ซึ่งได้ผลดี ตัวยาไปยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาท (Acethylcholine) ที่ส่งมากระตุ้นการทำงานของต่อมเหงื่อเอ็คไคลน์

จากงานวิจัย พบว่า สารมีแทนเทลิเนียมโบรไมด์ (Methanthelinium Bromide) ขนาด 100 มิลลิกรัม สามารถรักษาเหงื่อออกมากบริเวณรักแร้ได้ และไม่ได้ผลในการรักษาเหงื่อออกมากที่มือ นอกจากนั้น ยาสโคโพลามีน (Scopolamine) และโพรแพนเทลีน (Propantheline) จะได้ผลแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ส่วนผลข้างเคียงของยาเหล่านี้ คือ ปากแห้ง ตาแดง ตาพล่ามัว ปัสสาวะไม่ออก เป็นต้น

5. การผ่าตัด (Surgical Treatment)
การผ่าตัดปมประสาท (Sympathectomy) โดยการส่องกล้องผ่านเข้าช่องทรวงอก เป็นวิธีการรักษาสุดท้ายซึ่งถือเป็น วิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีเหงื่อออกมาก และไม่สามารถควบคุมได้หรือไม่สามารถรักษาด้วยวีธีอื่นๆ

การรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากที่ฝ่ามือฝ่าเท้า จะตัดปมประสาทอัตโนมัติ sympathetic mระดับ T2-T3 ซึ่งได้ผลถึง 98% ส่วนที่บริเวณรักแร้ จะทำที่ระดับ T2-T4 ซึ่งได้ผลดีในการลดปริมาณเหงื่อได้ดี อย่างไรก็ตามรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้ผลแบบถาวร เนื่องจาก พบการกลับเป็นซ้ำได้ และพบผลข้างเคียงอื่น เช่น เหงื่อกลับออกมากกว่าปกติที่ผิวหนัง และร้อยละ 60-70 เหงื่อมีกลิ่น รวมถึงอันตรายจากการผ่าตัด เช่น ปอดทะลุ และหัวใจหยุดเต้นระหว่างการผ่าตัด เป็นต้น

ส่วนการผ่าตัดเฉพาะที่ คือ การผ่าตัดหนังบางส่วนของรักแร้ออก หรือการดูดชั้นไขมันออก โดยการดูดไขมัน (Liposuction) ออก พบว่า ได้ผลดีที่ 50-90% แต่มีความเสี่ยงจากการผ่าตัด คือ ติดเชื้อได้ง่าย แผลเน่า หรือเกิดรอยแผลเป็นตามมา

6. การรักษาด้วยเลเซอร์
การใช้เครื่องเลเซอร์ Lonng Pluse Nd:YAG laser (1320 mm, 1064mm) ในการกำจัดขนรักแร้ พบมีรายงาน ผลการรักษา คือ ปริมาณเหงื่อลดลงด้วย จึงมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคเหงื่อออกรักแร้ด้วย แต่ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน มีงานวิจัย พบว่า ผู้ป่วยบางรายหลังยิงเลเซอร์กำจัดขนด้วย 1064 mm Nd:YGA laser มีปริมาณเหงื่อเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลที่ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

คลื่นวิทยุ (Radiofrequency) โดยใช้ Fractional Microneedle RF มีความสามารถในการส่งผ่านความร้อนไปที่ต่อมเหงื่อ ที่ความลึก 0.5-3.5 มิลลิเมตร ของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง เพื่อก่อให้เกิดการทำลายของต่อมเหงื่อ (sweat gland Thermolysis) ที่อุณหภูมิใต้ผิวหนังมากกว่า 45 °C พบว่า ได้ผลดี

อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดในเรื่องของพลังงานที่ไม่สามารถทำให้สูงกว่านี้ เพื่อป้องกันการไหม้ของผิวหนังชั้นบน เนื่องจากพลังงานความร้อนถูกส่งผ่านจากผิวหนังชั้นบนลงไป ปัจจุบันการใช้อย่างแพร่หลายในการรักษาหลุมสิว แผลเป็น ฟื้นฟูสภาพผิว กำจัดขน ส่วนเกิน เป็นต้น

การรักษาด้วยคลื่นอัตราซาวน์ความเข้มสูง (Hight Intensive Focused Ultrasound)
หลักการ และเหตุผล
ปัจจุบันได้มีการนำคลื่นอัตราซาวน์ความเข้มข้นสูง มาใช้ในการรักษาผิวหนังให้ยกกระชับแน่น โดยใช้หลักของพลังงานกลซึ่งแตกต่างจากแสงเลเซอร์ และวิทยุ โดยคลื่นอัตราซาวน์มีความจำเพาะเจาะจงสูง (Microfocused) ที่ชั้นใต้ผิวหนังให้เกิดความร้อนเฉพาะจุดโฟกัสซึ่งมีความแม่นยำต่อเนื้อเยื่อเป้าหมาย โดยผิวหนังส่วนบน และเนื้อเยื่อรอบข้างไม่ได้รับผลกระทบในตำแหน่งจุดโฟกัสความร้อนสูงถึง 65 องศาเซลเซียส ส่งผลให้คอลลาเจนหดตัว และเปลี่ยนสภาพ กระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนใหม่ หลังจาก 3-6 เดือน การตอบสนองต่อการสมานแผล กระตุ้นให้เกิดการสร้างใหม่ของคอลลาเจน เกิดการยกกระชับแน่นของผิวหนัง ซึ่งสามารถคงอยู่ได้ประมาณ 1 ปี

ด้วยหลักการของคลื่นอัตราซาวน์ความเข้มข้นสูง จึงมีผู้นำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาภาวะหลั่งเหงื่อมากบริเวณรักแร้ เนื่องจาก ต่อมเหงื่ออยู่ในชั้นความลึก ระหว่างชั้นหนังแท้ และเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง ซึ่งได้ผลดีสูง

เครื่องอัตราซาวน์ความเข้มข้นสูง Ulthera
ในปัจจุบัน เครื่องอัตราซาวน์ความเข้มข้นสูงที่นำมาในประเทศไทยมีหลายยี่ห้อ โดยเครื่อง Ulthera เป็นเครื่องเดียวที่ได้รับรองจากองค์การอาหาร และยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) และประเทศไทย โดยองค์ประกอบของเครื่อง Ulthera ประกอบด้วยหน่วยควบคุม (Control unit) มือจับ (Handpiece) และตัวแปลงพลังงาน (Transducer)

เครื่อง Ulthera เป็นระบบที่ช่วยให้แพทย์เห็นภาพของชั้นผิวหนังไปพร้อมกับการรักษาโดยมี 3 ส่วน ประกอบหลัก
1. หน่วยควบคุม (Control unit) ประกอบด้วยหน้าจอสัมผัส 27 นิ้ว แสดงผลปัจจุบันของชั้นผิวลึกถึง 8 มิลลิเมตร พร้อมกับซอฟแวร์ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายของผู้ป่วยโดยไม่รบกวนประสิทธิภาพของตัวเครื่อง มีขนาดเล็กง่ายต่อการเคลื่อนย้าย และเก็บรักษา
2. มือจับ (Handpiece) มีการออกแบบมือจับให้เหมาะสมกับการใช้งานลดอาการเมื่อยล้าของนิ้วมือขณะรักษา โดยสามารถเชื่อมต่อกับตัวแปลงพลังงานได้ถึง 6 ตัว
3. ตัวแปลงพลังงาน (Transducer) ให้การแสดงผลไปที่หน้าจอเครื่อง และให้การรักษาไปในเวลาเดียวกัน มี 3 ความลึกให้เลือกใช้แตกต่างกัน SMAS / platysma (4.5 mm), ชั้นหนังแท้ (3 mm) และหนังแท้ส่วนบน (1.5 mm)

ข้อห้ามในการใช้
มีข้อห้ามในการใช้สำหรับผู้ที่มีบาดแผลเปิดบริเวณหน้า หรือ ตำแหน่งที่ต้องการทำการรักษา

ข้อควรระวังในการรักษา
1. เนื่องจากเครื่อง Ulthera ยังไม่ได้รับการประเมินสำหรับการใช้บนวัสดุต่างๆ ดังนั้น การรักษาจึงไม่แนะนำให้ทำตรงกับพื้นที่ ที่มีสิ่งเหล่านี้
– เครื่องมือกลไกทางการแพทย์ (Mechanical Implants)
– สารฟิลเลอร์
– ฝังอุปกรณ์ไฟฟ้า (Implanted Electrical Devices)
– โลหะที่ใบหน้า และลำคอ (Metal Stents)
2. การรักษาด้วยพลังงานอัตราซาวน์ความเข้มสูง จะไม่แนะนำให้ทำโดยตรงบนแผลคีลอยด์ (Keloid) ที่มีอยู่
3. Ulthera ยังไม่ได้รับการประเมินสำหรับการใช้ในผู้ป่วยที่วางแผนการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด
4. Ulthera ยังไม่ได้รับการประเมินสำหรับการใช้ในผู้ป่วยดังต่อไปนี้
– ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
– เด็ก

ผู้ที่มีโรคต่อไปนี้ :
– ความผิดปกติในการห้ามเลือด
– โรคผิวหนังที่ยังมีการดำเนินโรคอยู่ ในตำแหน่งที่จะรักษา
– เริม
– โรคภูมิคุ้มกันไวเกิน
– โรคเบาหวาน
– โรคลมชัก
– อัมพาตเบลล์ (Bell’ Palsy)

ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงที่มีการรายงานในการประเมินผลทางคลินิกของระบบ Ulyhera พบว่าไม่รุนแรง และมีผลเพียงชั่วคราว ดังต่อไปนี้
1. แดง : พื้นที่ที่ได้รับการรักษาอาจมีสีแดงหลังการรักษาทันที โดยมักจะหายได้เองภายใน 1 – 2 ชั่วโมง หลังการรักษา
2. บวม : พื้นที่ที่ได้รับการรักษาอาจมีอาการบวมขึ้นเล็กน้อย แต่จะหายได้เองภายใน 48 ชั่วโมง ของการรักษา
3. ปวด : ความรู้สึกไม่สบายตัวชั่วครู่ ในขั้นตอนขณะที่พลังงานถูกปลดปล่อยออกไปสู่ผิวหนัง
4. ช้ำ : ช้ำเล็กน้อยที่เกิดจากความเสียหายของเนื้อเยื่ออ่อนที่เส้นเลือด อาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว แต่หายได้เองภายใน 3 – 7 วัน ของการรักษา
5. การบาดเจ็บของเส้นประสาท : อาการชาซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นผลจากความเสียหายให้กับเส้นประสาทรับความรู้สึก อาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว และมักจะหายได้เองภายในไม่กี่วัน รายงานความถี่พบน้อยกว่า 0.5% โดยไม่พบการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทสั่งงาน (Motor Nerves) ที่ใบหน้า
6. แผลเป็น : ความเป็นไปได้สำหรับการสร้างรอยแผลเป็นอาจมีอยู่ถ้าเทคนิคการรักษาที่ไม่ถูกต้องถูกนำมาใช้ อย่างไรก็ตามการเกิดแผลเป็นยังไม่ได้มีรายงาน

การใช้ในสตรีมีครรภ์ และให้นมบุตร
เนื่องจากยังมีการศึกษาถึงความปลอดภัยในการใช้คลื่นอัตราซาวน์ความเข้มสูงเพื่อการรักษาโรคเหงื่อออกมากทั้งในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ไม่เพียงพอ ปัจจุบันจึงจัดการให้เครื่อง Ulthera อยู่ในระดับความปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์ และให้นมบุตรหมวดเฝ้าระวัง (Precaution) เหมือนการใช้เครื่องเลเซอร์ทุกชนิด