ทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ และมิจฉาทิฏฐิ

16678

ทิฏฐิ หมายถึง ความเห็น ความเข้าใจที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด อันเป็นสิ่งนำพา ครอบงำ และมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตของแต่ละคนให้ดำเนินไปในทิศทางใด ซึ่งอาจรุ่งเรืองหรือเสื่อมถอย ทั้งนี้ ทิฏฐิ ไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าเป็นความเห็น ความเชื่อที่ถูกต้อง คือ เป็นสัมมาทิฎฐิ หรือ ความเห็น ความเชื่อที่ผิด คือ เป็นมิจฉาทิฎฐิ

ความหมายครอบคลุมของทิฎฐิ
– ทฤษฎี
– ความเห็น
– ความเชื่อ
– ความคิดเห็น
– การเก็ง
– ความจริง
– ความเชื่อแบบสิทธันต์
– ค่านิยม
– ท่าทีหรือทัศนคติ
– ความเข้าใจตามแนวเหตุผล
– ข้อที่เข้ากับความเห็นของตน
– หลักการที่เห็นสม
– ข้อที่ถูกใจ
– ข้อที่เชิดชูเอาไว้
– ความใฝ่นิยม
– อุดมการณ์
– โลกทัศน์ และชีวทัศน์ต่างๆ

ทิฏฐิ เป็นตัวนำพา และกำหนดชีวิต ทั้งในด้านความคิด และการแสดงออก กล่าวคือ ทิฏฐิ นำพาความคิดให้มองเห็น ให้เข้าใจ ให้เชื่อถือ ให้เลื่อมใสต่อสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตอย่างไร ก่อนที่จะกำหนดพฤติกรรมเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร

ลักษณะทิฏฐิในสังคมมนุษย์
1. ปุพเพกตเหตุวาท
ปุพเพกตเหตุวาท คือ ทิฏฐิที่แสดงให้เห็นว่า ความเป็นไปในชีวิตและสังคมมนุษย์ทั้งในส่วนที่จะก่อความสุขหรือความทุกข์ ทั้งในส่วนที่ก่อความเจริญหรือความเสื่อม ล้วนแต่ถูกกำหนดด้วยพลังอำนาจของกรรมเก่า

2. อิสสรนิมมานเหตุวาท
อิสสรนิมมานเหตุวาท คือ ทิฏฐิที่แสดงให้เห็นว่า ความเป็นไปในชีวิตและสังคมมนุษย์ทั้งในส่วนที่จะก่อให้เกิดความสุขหรือความทุกข์ ทั้งในส่วนที่ก่อความเจริญความเสื่อม ล้วนแต่ถูกกำหนดด้วยการบันดาลของเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่

3. อเหตุอปัจจยวาท
อเหตุอปัจจยวาท คือ ทิฏฐิที่แสดงให้เห็นว่า ความเป็นไปในชีวิตและสังคมมนุษย์ทั้งในส่วนที่จะก่อความสุขหรือความทุกข์ ทั้งในส่วนที่ก่อความเจริญหรือความเสื่อม ล้วนแต่เกิดขึ้นเองตามโชคชะตา ไม่มีเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดขึ้น

ทิฏฐิ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นชอบ
2. มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นผิด

สัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิ ในความหมายแห่งอริยะผู้ไม่มีอาสวะ หมายถึง ปัญญาอันเห็นชอบ คือ เห็นรู้ในอริยสัจ 4 อันประกอบด้วยการรู้แจ้งในความทุกข์ (ทุกข) รู้แจ้งในต้นเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) รู้แจ้งในสิ่งที่ใช้ดับทุกข์ (นิโรธ) และรู้แจ้งในแนวทางแห่งการดับทุกข์ (ทุกข) รวมถึงรู้แจ้งว่าไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน

สัมมาทิฏฐิ ในความหมายแห่งปุถุชนผู้ยังมีอาสวะ หมายถึง ความเห็นชอบว่า ทำดีย่อมได้ผลดี ทำชั่วย่อมได้ผลชั่ว เห็นว่าสิ่งใดถูกต้อง เห็นว่าสิ่งใดผิด ภายใต้พื้นฐานแห่งธรรม

มรรค

สัมมาทิฏฐิ มาจากคำว่า
1. สัมมา หมายถึง โดยชอบ หรือ ถูกต้อง
2. ทิฏฐิ หมายถึง ความเห็น หรือ ความเข้าใจ

ระดับสัมมาทิฏฐิ
1. สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ
สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ หมายถึง ความคิดเห็น ความเชื่อหรือความเข้าใจที่นำไปสู่ความความเจริญ อันเกิดจากการยอมรับในการกระทำ และผลแห่งการกระทำของตน ทำให้เกิดมีความสำนึก มีความรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นตามพื้นฐานแห่งธรรมอันดีงาม เรียกสั้นๆว่า กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิระดับโลกีย เป็นขั้นจริยธรรมที่ปุถุชนทั่วไปมีอยู่

2. สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ
สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ หมายถึง ความคิดเห็นหรือความเชื่อหรือความเข้าใจ ที่รู้เห็นในความเป็นไปของสรรพสิ่งตามเหตุแห่งปัจจัยทั้งหลายว่า ทุกสิ่งไม่มีความเที่ยงแท้ แน่นอน ทุกสิ่งย่อเกิด ตั้งอยู่ และดับไปตามเหตุแห่งปัจจัยเหล่านั้น เรียกสั้นๆว่า สัจจานุโลมิกญาณ เป็นสัมมาทิฏฐิระดับโลกุตระ เป็นขั้นสัจธรรมแห่งชนอริยะ และพระอริยะ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ
การเกิดขึ้นของสัมมาทิฏฐิ มิใช่เพียงอาศัยธรรมในประการเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องการสนับสนุนจากธรรมในข้ออื่นๆด้วยเช่นกัน เพื่อให้สัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นในตนมีความเข้มแข็ง และมีกำลังบริสุทธิ์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ 2 แนวทาง ได้แก่
1. ปรโตโฆสะ
ปรโตโฆสะ เป็นปัจจัยภายนอก หมายถึง เสียงจากผู้อื่นหรือสิ่งรู้เห็นจากภายนอก และหมายความรวมถึงสภาพแวดล้อมภายนอกต่างๆ อาทิ หนังสือตำรา คำสอน การเล่าเรียน การรับรู้จากสื่อหรือข่าวสารทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกในสิ่งที่ดีงามที่ช่วยหล่อหลอม และขัดเกลาให้เป็นผู้รู้ และเป็นผู้มีคุณธรรม ประพฤติ ปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงาม โดยเฉพาะการปฏิบัติตามหลัก กัลยาณมิตร 4 ประการ และสัปปุริสธรรม 7 ประการ

2. โยนิโสมนสิการ
โยนิโสมนสิการ เป็นปัจจัยภายใน หมายถึง การคิดในทางที่ถูก คือ การทำในใจโดยแยบคายหรือการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี อาทิ การรู้จักคิดพิจารณาให้เห็น ให้รู้แจ้งในเหตุ และผลอันพึงจะเป็น สืบหาเหตุปัจจัยให้ตลอดสาย แยกแยะสิ่งต่างๆออกให้เห็นเป็นส่วนๆ ตามสภาวะที่สัมพันธ์กัน อันปราศจากอคติแห่งตนหรือความต้องการแห่งตน ซึ่งจะทำให้เกิดความดีงาม และแก้ปัญหาได้ตามมา

สัมมาทิฏฐิ 10 ประการ สำหรับผู้มีอาสวะ ได้แก่
1. ทานที่ให้แล้วมีผล
2. การบำเพ็ญทานมีผล
3. การบูชามีผล
4. กรรมที่ทำไว้ดีและชั่วมีผลวิบาก
5. โลกนี้มี
6. ปรโลกหรือโลกหน้ามี
7. มารดามีคุณ
8. บิดามีคุณ
9. สัตว์เป็นโอปปาติกะ หรือ การเกิดใหม่ของสรรพสัตว์มีจริง
10. พระอรหันต์ผู้ประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบในโลกนี้ และปรโลกมีจริง

ดังนั้น สัมมาทิฏฐิ ถือเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นสิ่งนำพาในการดำเนินชีวิตให้มีความรุ่งเรืองหรือนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ โดยเป็นการพัฒนาชีวิตหรือนำพาชีวิตในคุณธรรมพื้นฐาน 3 ด้าน คือ
1. ด้านศีล (อธิศีลสิกขา)
2. ด้านจิตใจ (อธิจิตตสิกขา)
3. ด้านปัญญา(อธิปัญญาสิกขา)

มิจฉาทิฏฐิ
มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นหรือความเข้าใจที่นำไปสู่ความเสื่อม อันเกิดจากการไม่ยอมรับในการกระทำ และผลแห่งการกระทำของตน ทำให้ไม่มีความสำนึก ไม่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นจนเป็นเหตุ
ให้เกิดการประพฤติ ปฏิบัติที่ไม่สร้างสรรค์ และไม่สอดคล้องกับศีลธรรมอันดีงาม

มิจฉาทิฏฐิ มาจากคำว่า
มิจฉา หมายถึง ผิด หรือ วิปริต
ทิฏฐิ หมายถึง ความเห็น หรือ ความเข้าใจ

ดูการละเล่น

มิจฉาทิฏฐิในสมัยพุทธกาล
1. สัสสตทิฏฐิ คือ เห็นว่าทุกสิ่งเที่ยงแท้แน่นอน
2. อุจเฉททิฏฐิ คือ เห็นว่าทุกสิ่งเมื่อแตกดับแล้ว ก็จะดับสูญไปตลอดกาล ไม่มีการจุติหรือเกิดใหม่ และไม่เกิดสนองในผลแห่งกรรมที่ได้เคยทำไว้
3. อกิริยทิฏฐิ คือ ทฤษฎีที่มีความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ หรือ ไม่ควรจะทำ ด้วยเห็นว่าการกระทำในทุกสิ่งไม่มีผล เช่น หากต้องการทำชั่วแล้ว เมื่อไม่มีคนรู้เห็น ก็เชื่อว่าไม่ควรจะทำ หรือ หากต้องการทำดีแล้ว เมื่อไม่มีคนรู้เห็น ก็เชื่อว่าไม่ควรจะทำ เป็นต้น

ความเห็นว่าไม่ควรจะทำนี้ มีที่มาจากปูรณกัสสปะ ด้วยการปฏิเสธที่จะทำในสิ่งต่างๆ ทั้งความดี และความชั่ว ดังนั้น เมื่อกรรมเกิดขึ้น ย่อมไม่มีผลจากกรรมใดๆ จึงกล่าวว่า ไม่มีบุญ และบาปตามมาด้วยเช่นกัน

4. สัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าทุกสรรพสิ่งมีความเที่ยงแท้ยั่งยืน และคงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคน และสัตว์เมื่อตายไปแล้ว ถึงแม้ว่าร่างกายจะเน่าเปื่อยไป แต่ดวงวิญญาณหรือเจตภูตถือเป็นธรรมชาติที่ไม่ดับสูญ ย่อมถือกำเนิดใหม่สืบไป

ความเห็นว่าเที่ยงนี้ สืบมาจากความเห็นที่ว่า “ทุกสรรพสิ่งไม่มีความเปลี่ยนแปลง ทุกชีวิตเมื่อตายไปแล้วสามารถกลับมาเกิดใหม่ได้ มิได้สูญหายไปไหน” แต่ความเชื่อนี้ ได้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ในเวลาต่อมา ดังนี้
– ฝ่ายที่เห็นว่า คนตายตายจากอะไร จะต้องกลับไปเกิดเป็นอย่างนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น คนที่ตายเป็นคนตาบอด พอตายไปก็จะไปเกิดเป็นคนตาบอดอีก
– ฝ่ายที่เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลง เช่น คนรวยตายไป หลังเกิดใหม่อาจเกิดเป็นคนจนได้ คือ ผลที่เกิดขึ้นในภายหลังสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นได้

5. อเหตุกทิฏฐิ คือ เห็นว่าสรรพสิ่งไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย เป็นความเห็นจากมักขลิโคสาล ทิฏฐินี้ถือว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ความบริสุทธิ์ล้วนเกิดขึ้นมาเอง โดยไม่มีเหตุปัจจัย

มิจฉาทิฏฐิทั้ง 5 แบบเหล่านี้ พระพุทธองค์ได้แจกแจงเป็น ทิฏฐิ 62 หรือ ทิฏฐิชาละ ที่เปรียบเสมือนเหมือนตาข่ายที่คอยดักให้เวียนว่ายตายเกิด

มิจฉาทิฏฐิในสังคมมนุษย์ปัจุบัน
1. มิจฉาวาจา คือ กระทำผิดทางวาจา อาทิ การพูดโกหก การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น
2. มิจฉาวายามะ คือ ความพยายามในทางที่ผิด อาทิ การพยายามทำบาปหรืออกุศลทั้งปวงที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
3. มิจฉาวิมุตติ คือ หาทางหลุดพ้นที่ผิด อาทิ การล้างบาปตนเองด้วยการฆ่าคนอื่นบูชาพระเจ้า เพราะเชื่อว่าพระเจ้าจะช่วยล้างปาปของตนได้ เป็นต้น
4. มิจฉาสติ คือ การระลึกผิด อาทิ การระลึกหรือจินตนาการถึงราคะ โทสะ โมหะให้เกิดขึ้นในจิตตน
5. มิจฉาสังกัปปะ คือ การดำริผิดหรือการกล่าวเจตนาให้ผู้อื่นรับรู้ อาทิ การกล่าวพยาบาทผู้อื่น
6. มิจฉาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพในทางที่ผิด อาทิ การลักทรัพย์ การยักยอกทรัพย์ผู้อื่น การขายสินค้าหนีภาษี เป็นต้น

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ
1. ปรโตโฆสะที่ไม่ดีงาม
ปรโตโฆสะที่ไม่ดีงาม หมายถึง ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่ไม่ดีงามหรือไม่ส่งเสริมให้เกิดความเห็น ความเชื่อในทางที่ถูก อาทิ การไม่ได้เล่าเรียน พ่อแม่ทะเลาะกันให้เห็น คบเพื่อนไม่ดี หรือ สถานที่เที่ยวราตรียามค่ำคืน เป็นต้น

2. อนิโยนิโสมนสิการ
อนิโยนิโสมนสิการ หมายถึง การไม่ทำใจให้แยบคาย หรือ ไม่รู้จักใช้ปัญญาพินิจวิเคราะห์ ทำให้ไม้รู้แจ้งถึงเหตุ และผลแห่งความจริง จนกลายเป็นคนเขลา ซึ่งถูกชี้นำไปในทางที่ผิดได้ง่าย ปัจจัยนี้ ล้วนมีเหตุมาจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ อาทิ การไม่ได้เล่าเรียน การไม่ได้อบรมสั่งสอนจากครูอาจารย์ เป็นต้น