ธงโภชนาการ คือ สื่อที่ช่วยอธิบาย และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนบัญญัติ 9 ประการ สำหรับนำไปสู่การปฏิบัติในการรับประทานอาหารเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และเป็นประโยชน์ต่อร่างกายให้มากที่สุด
ความเป็นมาธงโภชนาการ
ภาวะขาดสารอาหาร และการได้รับโภชนาการเกิน ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชากรทุกประเทศ จนนำมาสู่การกำหนดข้อปฏิบัติการกินอาหารของแต่ละประเทศ (Food Based Dietary Guidelines : FBDG) และในปี พ.ศ.2535-2539 (1992) องค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) มีมติในการประชุมที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ประกาศ และจัดทำแผนเป้าหมายการลดปัญหาใน 3 ประเด็น ได้แก่ ภาวะขาดสารอาหาร ภาวะขาดสารอาหารเรื้อรัง และการติดต่อของโรคที่เกิดจากการกินอาหาร โดย FBDG เป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา และให้เป็นแนวทางนำไปใช้สำหรับแต่ละเทศ ส่วนในแถบประเทศยุโรปได้กำหนด FBDG จำนวน 12 ข้อ ได้แก่
1. การกินอาหารให้ครบ และหลากหลาย
2. กินนมปัง สลับกับข้าว มันฝรั่ง และ pasta
3. กินผักผลไม้เป็นประจำ
4. ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกาย
5. กินอาหารที่มีไขมันพอเหมาะ
6. หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม
7. หลีกเลี่ยงอาหารรสหวา่นจัด
8. กินเนื้อสัตว์ เนื้อปลาไม่ติดมัน และพืชตระกูลถั่ว
9. ดื่มนม และผลิตภัณฑ์นม
10. ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
11. ปรุงอาหารให้สุก สะอาด
12. ทารกควรกินนมมารดา
สำหรับประเทศไทย หลังมีการกำหนดให้แต่ละประเทศนำ FBDG ไปใช้เป็นแนวทางในการลดปัญหาในเรื่องโภชนาการ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) ในด้านอาหาร และโภชนาการ ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนมีภาวะโภชนาการที่ดี มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น นำไปสู่การเกิดความรู้ และมีเจตคติด้านอาหาร และโภชนาการที่ถูกต้อง ประกอบกับในช่วงก่อนปี 2540 ประชากรในประเทศยังประสบปัญหาทางด้านโภชนาการอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดสารอาหารที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น โรคขาดสารไอโอดีน โรคโลหิตจาง เป็นต้น รวมถึงปัญหาทางด้านการได้รับโภชนาการเกินหรือสารปนเปื้อนจากอาหาร เช่น โรคอ้วน โรคท้องร่วง โรคมะเร็ง เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ควรมีการปรับปรุงคำแนะนำการบริโภคอาหารที่เหมาะสม และได้ประสิทธิภาพแก่ประชาชนสำหรับนำไปปฏิบัติ
โดยกองโภชนาการ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านอาหาร และโภชนาการ ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกันในหลายครั้ง จนในปี พ.ศ. 2542 จึงได้ข้อสรุป และได้ร่วมการจัดทำ “ข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย” หรือใช้คำเรียกว่า “โภชนบัญญัติ 9 ประการ”
ต่อมา นักวิชาการต่างๆ พบว่า โภชนบัญญัติ 9 ประการ ยังมีข้อจำกัด คือ ไม่ได้บอกปริมาณหรือสัดส่วนการกินอาหารว่ากินมากน้อยเพียงใด ต่อมาปี พ.ศ. 2543 จึงได้ร่วมกันพัฒนาแบบจำลองแนวทางการกินอาหารให้อยู่ในรูปสื่อที่สามารถสื่อสาร และทำความเข้าใจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยใช้ชื่อเรียกสื่อดังกล่าวว่า “ธงโภชนาการ” เพื่อแนะนำสัดส่วน ปริมาณ และความหลากหลายของอาหารที่ควรบริโภค โดยใช้หน่วยวัดที่นิยมใช้ในครัวเรือน
แนวทางการพัฒนาธงโภชนาการ พ.ศ. 2543
1. กำหนดโดยใช้เกณฑ์ตัดสินระดับความเพียงพอที่ระดับเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณที่ควรได้รับโดยเทียบกับสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับประชาชนชาวไทย และสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทย อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป
2. กำหนดหน่วยตวงวัดระดับครัวเรือนของไทย เช่น ทัพพี ช้อนกินข้าว และช้อนชา
3. กำหนดปริมาณอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับ 3 ระดับพลังงาน คือ1600, 2000 และ2400 กิโลแคลอรี
4. มีการแนะนำจำนวนส่วนในอาหารหมวดต่างๆ ที่เหมาะตามระดับพลังงานต่อวัน โดยใช้กระบวนการสำรวจความนิยมของประชาชน ตามสัดส่วน ขนาด และจัดทำข้อมูลให้ถูกต้องในกรณีที่มีการสูญเสียคุณค่าทางอาหารในการปรุงอาหาร/การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ
5. ประเมินคุณค่าสารอาหารตามจำนวนที่แนะนำของแต่ละกลุ่มอาหารในแต่ละกลุ่มอายุ โดยคำนวณจากสารอาหารที่ควรได้รับต่อวันเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดในข้อที่ 1
6. การพัฒนารูปภาพ ได้ใช้รูปภาพกลุ่มอาหารชนิดต่างๆ ตามวัฒนธรรมไทย และแสดงให้เห็นตามสัดส่วนกลุ่มอาหาร ทดสอบความเข้าใจและการยอมรับ จัดทำโดยคำนึงถึงความหลากหลายทางการศึกษา และกลุ่มอาชีพ
7. นำไปปฏิบัติเป็นเครื่องมือทางการศึกษาแก่หน่วยงานสาธารณะ เช่น โรงเรียน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล โรงแรม และสถานที่สาธารณะโดยทั่วไป สนับสนุนโดยกระทรวงสาธารณสุข
8. การติดตาม และประเมินตามช่วงการทดสอบความรู้ ทัศนคติ และการฝึกปฏิบัติ ระหว่างกลุ่มตัวอย่างในโรงเรียน วัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่กำหนด ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการศึกษาอื่นๆ
ลักษณะธงโภชนาการ
ธงโภชนาการเป็นสื่อประเภทรูปภาพ มีลักษณะเป็นธงสามเหลี่ยมกลับหัว มีฐานอยู่ด้านบน และปลายสามเหลี่ยมอยู่ด้านล่าง ประกอบด้วยรูปภาพ 4 ชั้น ที่แสดงกลุ่มของอาหาร และสัดส่วนในการรับประทาน ที่แสดงภายใต้ขนาดของพื้นที่ของแต่ละกลุ่มอาหาร คือ พื้นที่กลุ่มอาหารที่มีพื้นที่มากแสดงถึงสัดส่วนในการรับประทานมาก โดยเฉพาะบริเวณฐานด้านบน ส่วนพื้นที่กลุ่มอาหารที่มีพื้นที่น้อยแสดงถึงสัดส่วนในการรับประทานน้อย โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณปลายแหลมของธง
สื่อความหมายในธงโภชนา
• ความหลากหลายของอาหาร (Variety) แสดงโดยใช้ภาพอาหารที่หลากหลายชนิดในแต่ละกลุ่ม
• สัดส่วนของอาหาร (Proportionality) แสดงโดยใช้การแบ่งขนาดพื้นที่ใหญ่-เล็กในชั้นเดียวกัน
• ปริมาณของอาหาร (Moderation) แสดงโดยใช้ตัวเลขบ่งบอกด้วยหน่วยวัดในครัวเรือน
ชั้นของธงโภชนาการ 4 ชั้น เรียงจากด้านบนส่วนฐานลงมาด้านล่าง ดังนี้
ชั้นที่ 1 หมู่คาร์โบไฮเดรต
เป็นชั้นบนสุด ประกอบด้วยอาหารประเภทข้าว เผือก มัน ธัญพืชทุกชนิด ขนมปัง แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สำหรับรับประทานเป็นอาหารหลัก โดยเน้นที่ข้าวเป็นหลัก 8-12 ทัพพี/วัน หรือปรับเปลี่ยนเป็นอาหารประเภทผลิตภัณฑ์แป้งเป็นครั้งคราว
ชั้นที่ 2 หมู่วิตามิน และแร่ธาตุ
ชั้นที่ 2 มีลักษณะผ่าครึ่งเป็น 2 ซีก ซ้าย-ขวา โดยให้ฝั่งซ้ายของผักมีสัดส่วนมากกว่าฝั่งขวาที่เป็นซีกของผลไม้เล็กน้อย สำหรับเป็นแหล่งให้วิตามิน และแร่ธาตุ โดยเน้นที่รับประทานพืชผัก 4-6 ทัพพี/วัน ควบคู่กับอาหารชั้นแรก และรับประทานผลไม้หลังอาหารหรือรับประทานเป็นครั้งคราว 3-5 ส่วน/วัน
ชั้นที่ 3 หมู่โปรตีน
ชั้นที่ 3 ชั้นที่ผ่าครึ่งเป็น 2 ซีก ซ้าย-ขวา โดยให้ฝั่งขวาของกลุ่มเนื้อสัตว์ และธัญพืชโปรตีนมีสัดส่วนมากกว่าฝั่งซ้ายของนม โดยเน้นรับประทานอาหารประเภทที่ให้โปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ และเมล็ดธัญพืชที่มีโปรตีนสูง 6-12 ช้อน/วัน ควบคู่กับการดื่มนมเป็นประจำ 1-2 แก้ว/วัน
ชั้นที่ 4 หมู่ไขมัน และอาหารรสจัด
ชั้นที่ 4 เป็นชั้นล่างสุด ประกอบด้วยอาหารประเภทไขมัน และอาหารที่ให้รสจัด เช่น เกลือ และน้ำตาล โดยให้รับประทานเพียงเล็กน้อย เท่าที่จำเป็น
จากแนวทางของสื่อธงโภชนาการที่เพียงบ่งบอก และให้แนวทางการรับประทานอาหาร ซึ่งจะใช้ประกอบตามแนวทางของโภชนบัญญัติ 9 ประการ เป็นหลัก
หน่วยเปรียบเทียบ
หน่วยทัพพี
– ข้าวสุกหรือผักสุก 1 ทัพพี จะมีปริมาตรประมาณครึ่งถ้วยตวง
ช้อนกินข้าว
– เนื้อสุก 1 ช้อน จะมีปริมาตรประมาณ 15 กรัม
ส่วน
– สารอาหารที่เทียบเท่าในปริมาตรหรือน้ำหนักที่แตกต่างกัน มีหน่วยเป็นผลหรือชิ้น เช่น 1 ส่วน จะมีค่าเท่ากับเงาะ 4 ผล หรือ มะละกอ 6-8 ชิ้น (พอคำ)
ตัวอย่างปริมาตรอาหารต่อหน่วยครัวเรือน
– ข้าว 1 จาน มีปริมาตรเท่ากับ 3 ทัพพี
– ก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม มีปริมาตรเท่ากับ 2 ทัพพี
– ขนมจีน 2 จับ มีปริมาตรเท่ากับ 2 ทัพพี
– ข้าวเหนียว 1 ปั้น มีปริมาตรเท่ากับข้าวจ้าว 1 ทัพพี
การกินอาหารแบบสับเปลี่ยน
อาหารในหมู่เดียวกัน แต่ต่างชนิดกัน ย่อมมีคุณค่าทางอาหารที่แตกต่างกัน ดั้งนั้น เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่หลากหลาย และได้รับในประมาณที่เพียงพอจึงควรสับเปลี่ยนชนิดอาหารในแต่ละมื้อที่รับประทาน ภายใต้ระดับโภชนาการที่ร่างกายควรได้รับที่เหมาะสมในแต่ละวัน โดยมีแนวทางการเปรียบเทียบ ดังนี้
กลุ่มข้าว-แป้ง ที่ให้สารอาหารเท่ากัน
– ข้าวสุก 1 ทัพพี
– ก๋วยเตี๋ยว 1 ทัพพี
– ข้าวเหนียวครึ่งทัพพี
– ขนมจีน 1 จับ
– ขนมปัง 1 แผ่น
– บะหมี่ 1 ก้อน
กลุ่มผัก ที่ให้สารอาหารเท่ากัน
– ฟักทองสุก 1 ทัพพี
– คะน้าสุก 1 ทัพพี
– ผักบุ้งจีนสุก 1 ทัพพี
– แตงกวาดิบครึ่งลูก (ผลกลาง)
กลุ่มผลไม้ ที่ให้สารอาหารเท่ากันใน 1 ส่วน
– เงาะ 4 ผล
– ฝรั่งครึ่งลูก (ผลกลาง)
– มะม่วงดิบครึ่งลูก
– กล้วยน้ำว้า 1 ผล
– ส้มเขียวหวาน 1 ผล (ผลใหญ่)
– มะละกอ/สับประรด/แตงโม 6-8 ชิ้น (พอคำ)
กลุ่มเนื้อสัตว์ ที่ให้สารอาหารเท่ากัน
– เนื้อปลาทู 1 ช้อน
– เนื้อหมู 1 ช้อน
– ไข่ไก่ครึ่งฟอง
– เต้าหู้แข็งครึ่งชิ้น
– ถั่วสุกแห้ง 2 ช้อน
กลุ่มนม ที่ให้สารอาหารเท่ากัน
– นมสด 1 แก้ว
– โยเกิร์ต 1 ถ้วย
– นมพร่องมันเนย 1 แก้ว